“นี่คุณเครียดหรือเปล่าครับ” ถามด้วยน้ำเสียงเกรงใจ
“อืม” นิ่งคิด “ตอนนี้ยังไม่ค่อย มันมีหลายเรื่องต้องจัดการ ถ้าได้อยู่คนเดียวเงียบคงเครียดค่ะ”
“ครับๆ ไม่อยากให้เครียดนะครับ คุณยังมีแรงทำงานต่อได้”
นั่นคือบทสนทนาระหว่างตำรวจกับเจ้าทุกข์ที่ไปแจ้งความกับตำรวจหลังจากเดินแก๊งโทรศัพท์หลอกให้โอนเงิน
3 ชั่วโมงก่อนหน้า
“สวัสดีค่ะ ติดต่อจาก…ค่ะ ท่านมีพัสดุที่ยังไม่ได้ส่ง รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่กด 0 ฟังซ้ำอีกครั้งกด 1”
หลังจากกด 0 เสียงเจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องราว ขอชื่อ-นามสกุล แล้วแจ้งว่า “คุณมีพัสดุตีกลับจากกรมศุลกากร เนื่องจากในพัสดุมีของผิดกฎหมายค่ะ”
แล้วแจกแจงว่าคุณส่งพาสปอร์ต 7 เล่ม เอทีเอ็ม 7 ใบ เสื้อผ้า 5 ชุด ซึ่ง 2 รายการแรกห้ามส่งไปรษณีย์ ทางศุลกากรจึงตีกลับมาที่บริษัทผู้ให้บริการขนส่งพัสดุดังระดับโลกที่มีโลโก้สีเหลือง
โอเปอเรเตอร์สอบถามอยู่ครู่หนึ่งซึ่งเจ้าทุกข์ยืนยันว่าไม่ได้ส่งก็สรุปว่า “อาจมีผู้แอบอ้างใช้ชื่อคุณในการส่งของผิดกฎหมาย เรื่องนี้จะต้องมีผลทางกฎหมายอย่างแน่นอนค่ะ”
จากนั้นก็บอกว่าต้องไปแจ้งความ จัดการต่อสายไปถึงสถานีตำรวจอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีเสียงร้อยเวรผู้ชายรับสาย “ถ้าไม่สะดวกเดินทางมาแจ้งความด้วยตัวเองที่เชียงใหม่ก็แจ้งความทางไลน์ได้ สะกดไอดีไลน์ด้วยครับ”
‘ร้อยเวร’ Line Call มาและจะบันทึกคำแจ้งความ ห้ามมีเสียงคนอื่นเข้ามาแทรกเด็ดขาด เพราะจะนำเทปบันทึกการแจ้งความไปใช้ทางกฏหมายไม่ได้ เมื่อ ‘แจ้งความ’ เสร็จ ‘ร้อยเวร’ ก็เช็กเลขที่บัตรประชาชนแล้วบอกว่า “ชื่อของคุณไปเกี่ยวพันกับคดีฟอกเงินรายใหญ่ที่เราเพิ่งจับกุมตัวได้ แต่ตอนนี้ยังมีผู้สมคบคิดอีกหลายรายที่เราเตรียมจับกุมเพิ่มเติมอยู่ ผู้ต้องหาบอกว่าคุณร้อนเงินก็เลยขายสมุดบัญชีให้และได้ค่านายหน้า 10% คุณทำจริงหรือเปล่า” จากนั้นสายก็ถูกส่งต่อให้ ‘สารวัตร’ ซึ่งน้ำเสียงเป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่บอกว่า “เราต้องส่งเรื่องไปตรวจสอบเส้นทางการเงิน ถ้าตรวจสอบแล้วคุณไม่เกี่ยวข้องอะไร คุณก็จะหลุดจากการเป็นผู้ต้องสงสัยไปเป็นเจ้าทุกข์ คุณสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนาย…ได้” การตรวจสอบเส้นทางการเงินก็คือให้โอนเงินไปยังบัญชีหนึ่ง “ในช่องหมายเหตุ คุณต้องเขียนด้วยว่า ‘เพื่อดำเนินการตรวจสอบ’ ตรงนี้สำคัญมากนะคะ ห้ามลืมเด็ดขาด” การแจ้งความทาง Line Call ที่ยาวนานเกือบชั่วโมงครึ่งก็จบลง พร้อมเงินที่หายไปจากบัญชีราวๆ 5 แสนกว่าบาท โดยที่เจ้าของเงินเป็นคนโอนให้เองด้วยมือตัวเองและใจที่ยินยอมทำตามเอง
ทุ่มกว่าที่สถานีตำรวจ
“วันนี้ก็เพิ่งมีคนมาแจ้งความ โดนแบบเดียวกับคุณนี่แหละ” ‘ร้อยเวร’ ตัวจริงบอก
“ทำมั้ย…ไปเชื่อเขาได้นะคุณ”
ในอินเตอร์เน็ท ในโซเชียลมีเดีย ในวงเม้ามอย เต็มไปเรื่องราวของเหยื่อแก๊งสแคมเมอร์ แต่ทุกครั้งที่เรารับรู้เรื่องราวก็มักจะคิดว่า ‘เรื่องแบบนี้ไม่เกิดกับเราหรอก’ หรือ ‘เราอาจโดนเข้าสักวัน ต้องมีสติให้มากๆ’
ฉันเคยอ่านข่าวเรื่องนี้ ฉันรู้เรื่องกฎหมาย ฉันรู้เรื่องการเงิน ฉันรู้เรื่องจิตวิทยาการพูด ฉันไม่โดนหลอกหรอกน่า
ทว่า ความรู้ที่ไม่ลึกซึ้งและไม่กว้างขวางพอก็คือความรู้ครึ่งๆกลางๆงูๆปลาๆ ทั้งกลับจะเป็นอีโก้ให้คิดว่าตัวเองรู้แล้ว กลายเป็นตัวขัดขวางความรู้ใหม่
วันหนึ่งในปี 1995 ชายวัยกลางคนร่างใหญ่เดินเข้าไปปล้นธนาคาร 2 แห่งในเมืองพิตส์เบิร์กตอนกลางวันแสกๆ โดยไม่สวมหน้ากาก ไม่มีอะไรปกปิดใบหน้า ซ้ำยังยิ้มให้กล้องวงจรปิดเสียด้วย
หลักฐานแจ่มแจ๋ขนาดนี้ ค่ำวันนั้นตำรวจจึงเข้าจับกุมนายอาร์เธอร์ วีลเลอร์ที่บ้าน ซึ่งเจ้าตัวยืนกรานว่าไม่ได้ปล้น กระทั่งตำรวจให้ดูเทปจากกล้องวงจรปิดที่เห็นหน้านายอาร์เธอร์ขณะปล้นธนาคารอย่างชัดเจนไม่ผิดตัวแน่ๆ นายอาร์เธอร์จึงเริ่มสัมผัสความหายนะที่เลื้อยขึ้นมาตามกระดูกสันหลัง เขาพึมพำอย่างไม่อยากจะเชื่อความเป็นจริงว่า “แต่ผมทาน้ำมะนาวแล้วนี่นา”
ลองเขียนข้อความอะไรบนกระดาษด้วยน้ำมะนาว แล้วเอากระดาษไปอังไฟ กระดาษเปล่าๆก็จะปรากฏข้อความที่เขียนไว้ขึ้นมา น้ำมะนาวจึงเป็น ‘หมึกล่องหน’ ที่หาได้ง่าย ราคาถูก
นายอาร์เธอร์ที่รับรู้ข้อมูลนี้มาจึงเอาน้ำมะนาวมาทาหน้าตัวเองแล้วไปปล้นธนาคารแบบหน้าเปลือยเปล่าอย่างอุกอาจ เพราะเชื่อว่าด้วยสรรพคุณหมึกล่องหนของน้ำมะนาวก็จะไม่มีใครเห็นหน้าของเขาได้
เดวิด ดันนิ่ง นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลอ่านเจอข่าวนี้เข้าและสะดุดใจอย่างแรง จึงชักชวนจัสติน ครูเกอร์ ลูกศิษย์มาร่วมกันทำการทดลองจนนำไปทฤษฎีทางจิตวิทยาอันโด่งดัง ‘Dunning-Kruger effect’ ที่อธิบายว่าทำไมคนที่มีความรู้ความสามารถกลับทำผิดพลาดได้อย่างเหลือเชื่อ นั่นเป็นเพราะคนๆนั้นประเมินความรู้ความสามารถของตัวเองสูงเกินกว่าความเป็นจริง จึงเดินตกหลุมพราง ‘ภาพลวงตาของความมั่นใจ’ ในที่สุด
อดัม แกรนท์ อาจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรจากมหาวิทยาลัยวาร์ตันพยายามเชื้อเชิญให้เราปลดระวางสิ่งที่ตัวเองเคยรู้มาเพื่อจะเปิดรับความรู้ใหม่ออกมาเป็น ‘Think Again’ หนังสือหนา 307 หน้าที่อุทิศให้กับเรื่องนี้เรื่องเดียว
ในบทที่ 3 เรื่อง ‘ความปิติจากทำผิดพลาด’ อาจารย์อดัมยกวาทะของ ดร.เฟรเซียร์ เครน ตัวละครที่เป็นจิตแพทย์จากซิทคอมเรื่อง Cheers และ Frasier มาโปรยว่า “ผมได้ปริญญาจากฮาร์วาร์ด แต่เวลาผมทำผิดพลาดทีไร โลกนี้มันดูเข้าใจยากไปเลย”
ก่อนจะยกภาพการ์ตูนเจ้าไก่จอมจี้ใจดำ Savage Chicken ที่เอาความเป็นจริงมาปาใส่หน้ากันจะจะ บอกกันโต้งๆถึง ‘วิธีหาปัญญาใส่สมอง’ 6 ขั้นตอนคือ
- ใช้ชีวิต
- ทำผิดพลาด
- เรียนรู้จากความผิดพลาด
- ทำข้อ 1 – 3 วนไปจนกว่าจะคิดได้แล้วเกิดปัญญา
- ตระหนักได้ว่าปัญญาที่ได้มาจากข้อ 4 ไม่ใช่ปัญญาแต่อย่างใดเลย ความตระหนักรู้นี้ทำให้เกิดปัญญาใหม่
- ทำข้อ 1 – 5 วนไปตราบจนวันตาย
ทุ่มกว่าที่สถานีตำรวจ
“แล้วนี่คุณมีเงินเหลือมั้ยเนี่ย” ร้อยเวรถาม
“เหลืออยู่ 620 ค่ะ ในบัญชี”
(สีหน้าตกอกตกใจ) “แล้วคุณจะทำยังไงต่อครับเนี่ย”
“อืม” นิ่งคิด “ก็ต้องทำงานต่อไปค่ะ คงต้องเริ่มต้นใหม่ มันเป็นทางเดียวที่จะอยู่รอดได้”.