ณีรนุช ไตรจักร์วนิช จากบล็อกเกอร์สาว สู่เจ้าของแพลตฟอร์มท่องเที่ยว “มาคาเลียส”

ธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งจากการห้ามเดินทาง มาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ และพฤติกรรมตามชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส อย่างมาคาเลียส (Makalius) แพลตฟอร์มท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้น

มาคาเลียส เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวที่ก่อตั้งและบริหารงานโดย ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด อดีตผู้ประกาศข่าว และบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว ที่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ในประเทศไทย

“ช่วงที่เป็นผู้ประกาศข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้มีโอกาสทำข่าวท่องเที่ยว และส่วนตัวเป็นคนชอบท่องเที่ยว คุณกอบกาญจน์ (วัฒนวรางกูร) ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยว แนะนำให้ทำบล็อก เริ่มเป็น Travel Blogger มีเพจของตัวเอง ชื่อ Trip and tech – ไปตามน้ำ” ณีรนุช เล่าเส้นทางก่อนเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในนามมาคาเลียส

เพจ Trip and tech – ไปตามน้ำ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวในสไตล์นักท่องเที่ยวขี้สงสัย หรือ Genuine Curious เที่ยวไป เรียนรู้ไป ชอบค้นหาคำตอบเป็นข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยว ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำธุรกิจมาคาเลียสในเวลาต่อมา

สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมาคาเลียสในประเทศไทย ณีรนุช เล่าว่า ได้พบกับ Darius Lebedzinskas เจ้าของแพลตฟอร์ม Makalius ชาวลิทัวเนียในงานอินฟลูเอนเซอร์โลก พูดคุยกันถูกคอ และมีไลฟ์สไตล์ด้านการท่องเที่ยวคล้ายๆ กัน ช่วงแรกจึงร่วมมือกันทำธุรกิจโดยมาคาเลียสส่งกรุ๊ปทัวร์มาท่องเที่ยวในไทย และเราช่วยดูแล อำนวยความสะดวกเรื่องที่พัก และการเดินทางของนักท่องเที่ยว จากนั้นจึงเปิดบริษัท มาคาเลียส ประเทศไทยขึ้นในปี 2562

ช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ มาคาเลียสได้รับการตอบรับดีมาก เพราะสอดรับกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้คนในปัจจุบัน ที่เน้นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ไม่ซื้อแพคเกจทัวร์เหมือนที่ผ่านมา บริษัทจะเน้นตอบคำถามและแก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยวทุกเรื่องเหมือนเวลาที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งพนักงานในช่วงเริ่มต้นมีแค่ 4 คน ทุกคนล้วนมีแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยว และส่วนหนึ่งเป็นบล็อกเกอร์ด้วย เพียงปีแรกมียอดขายถึง 60 ล้านบาทแต่หลังจากนั้น ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตโควิดระลอกแรก แน่นอนธุรกิจมาคาเลียสย่อมได้รับผลกระทบ

เน้นปรับแผน ปรับตัวเร็ว

ณีรนุช เล่าว่า ช่วงแรกที่โควิดเริ่มเห็นผลกระทบ จึงนั่งคุยกับทีมงาน จะปรับแผนกันอย่างไร ข้อดีของมาคาเลียสเป็นองค์กรขนาดเล็ก กระชับ (Lean) มีความยืดหยุ่น และเปิดให้ทุกคนแสดงความเห็นได้ทุกเรื่อง คิดเร็ว ลองเร็ว ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ที่กิน ที่พัก ที่เที่ยว เราเริ่มต้นที่โรงแรมเป็นหลัก พอเจอโควิด รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ก็หันมาโฟกัสที่ร้านอาหาร และวอเชอร์ล่องเรือ (ครูซ) รับประทานอาหาร ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

“น้องในทีมเสนอไอเดีย ล่องเรือทานอาหารไหม ก็ลองทำเลย เดือนเดียวขายวอเชอร์ได้ 8,000 -9,000 ใบ มีมาตรการแบบไหนมา เราพร้อมปรับเปลี่ยน ทดลองทุกอย่าง เพราะคิดว่าไม่มีอะไรเสียหายไปกว่านี้แล้ว ทั้งขายวอเชอร์บุฟเฟ่ต์ร้านอาหาร หรือแบบอะลาคาร์ท เราได้คีย์ เลิร์นนิ่ง ซึ่งปรากฎว่าสิ่งที่ลูกค้าชอบมากที่สุด คือ บุฟเฟ่ต์ซีฟู้ด” ณีรนุชเล่าถึงการปรับตัวจากวิกฤตในครั้งแรก

ผลจากการปรับแผนข้างต้น ทำให้บริษัทฝ่าวิกฤตมาได้ และเมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนคลาย ผู้คนกลับมาท่องเที่ยวอย่างคึกคักและดูเหมือนจะมากขึ้น เพราะความอัดอั้น ทำให้ยอดขายในปีที่ 2 ของมาคาเลียสปิดที่ 120 ล้านบาท เติบโตเท่าตัว และผลจากการทดลองขายอีวอเชอร์บุฟเฟ่ต์ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นรายได้หลักของบริษัทในปีที่ผ่านมา แต่ปัญหายังไม่จบเมื่อไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่

ทีมงานส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อน

ณีรนุช กล่าวว่า แม้จะผ่านวิกฤตรอบแรกมาได้ แต่วิกฤตครั้งใหม่จากการระบาดระลอก 3 ค่อนข้างหนักหน่วงสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งที่พยายามทำ คือการบริหารงานแบบกระชับ มีความยืดหยุ่น และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ ทีมงานมาคาเลียสยังคงเดินหน้าฝ่าวิกฤตเช่นเดิม เพิ่มเติม คือหันไปช่วยคู่ค้ามากขึ้น คู่ค้าของมาคาเลียสมีทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว จนถึงโฮมสเตย์กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ

ทีมงานของมาคาเลียส ยังคิดแคมเปญใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังการระบาดระลอกใหม่ บริษัทยังคงขายอีวอเชอร์อย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญ Buy Now Stay Later จองก่อนเข้าพักทีหลัง มีแพคเกจโรงแรมที่พักทั่วไทยจัดโปรโมชั่นพิเศษ ราคาเริ่มต้น 400 บาทต่อคนต่อคืน และเข้าพักได้ถึงวันที่ 31 มีนาคมปี 2565 เป็นแคมเปญการตลาดที่ช่วยเพื่อตุนลูกค้าให้กับผู้ประกอบการ แม้ช่วงนี้จะยังไม่สามารถเดินทางได้ก็ตาม โดยหวังว่าเมื่อมีการเปิดการเดินทาง บริษัทพร้อมที่จะเสิร์ฟแพคเกจที่พักให้กับลูกค้าได้ทันที เพราะเชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับคนไทย

นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้มีความเข้มงวดด้านมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมถึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการดึงจุดแข็งการเป็นออนไลน์ทราเวลแพลตฟอร์ม มาช่วยทำการตลาดสร้างความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการท่องเที่ยวที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“สำหรับแผนการช่วยเหลือการท่องเที่ยวดังกล่าว ทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแล กลุ่มลูกค้า นักท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นี้ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวไปได้ด้วยดี” ณีรนุชกล่าว

สำหรับปีนี้ มาคาเลียส วางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 400 ล้านบาท และถึงขณะนี้ยังคงเป้าหมายเดิม เพราะเชื่อว่าหลังวิกฤตผ่านพ้นไป คนจะกลับมาเที่ยวมากขึ้น และด้วยแพคเกจของมาคาเลียสที่ออกแบบมา เพื่อตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่า จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว และช่วยยกระดับการท่องเที่ยวไทยไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

#มาคาเลียส #การท่องเที่ยว #ณีรนุชไตรจักร์วนิช #เพจTripandtech

you might like

Scroll to Top