ทุนหลักหมื่น ที่จอดรถ 2 คัน ทำสถานีชาร์จได้ด้วย ‘GINKA’ ตู้กิ้งก่าชาร์จรถอีวี  

ถ้าหน้าบ้าน-หน้าร้านอยู่ในทางรถผ่าน มีที่ว่างจอดรถได้ 2 คัน และเงินทุนหลักหมื่นก็เป็นเจ้าของธุรกิจสถานีชาร์จได้แล้ว ด้วย ‘GINKA’ ตู้กิ้งก่าชาร์จรถอีวี เจ้าของเดียวกับตู้เติมเงินบุญเติมและตู้กดเครื่องดื่มเต่าบิน

ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2023 อยู่ที่ 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับ 9,617 คัน ในปี 2565

5 แบรนด์ที่มียอดจดทะเบียน รถไฟฟ้า100% สูงสุด ปี 2023

  • อันดับ 1 BYD  30,650 คัน
  • อันดับ 2 NETA  12,777 คัน
  • อันดับ 3 MG  12,764 คัน
  • อันดับ 4 TESLA  8,206 คัน
  • อันดับ 5 ORA (GWM)  6,746 คัน

ข้อมูลชุดนี้จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ให้เห็นว่า รถอีวีเข้ามาแลนดิ้งในไทยแล้ว

หนึ่งในธุรกิจที่พ่วงมากับรถอีวีคือ ‘สถานีชาร์จแบตเตอรี’

มองเผินๆ อาจเป็นธุรกิจไกลตัว ใช้เงินทุนสูง ต้องมีพื้นที่กว้างขวางเหมือนปั๊มน้ำมัน มีการติดตั้งหัวชาร์จมากมาย ยุ่งยาก ฯลฯ…หรือเปล่า?

‘ตู้กิ้งก่า’ เกิดมาเพื่อแก้ pain point เหล่านี้

ตู้กิ้งก่า หรือ GINKA Charge Point เป็นผลงานของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท ดิสทริบิวชั่น จำกัด เจ้าของเดียวกับแบรนด์ตระกูลตู้และตระกูลสัตว์อย่าง ‘ตู้เต่าบิน’

ถามว่าทำไมต้องชื่อ ‘ตู้กิ้งก่า’

G = อัจฉริยะ

อัจฉริยะด้วยการใช้ระบบเก็บสายชาร์จผ่านสายเคเบิลแบบสปริง เพื่อความสะดวก สะอาดและปลอดภัย

I = นวัตกรรม

เรามองเห็นโอกาสด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกระแสความต้องการของผู้ใช้งาน

N = ธรรมชาติ

ใช้รถพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ทำให้อากาศสะอาด

K = เข้าใจ

สื่อสารทำความเข้าใจระหว่างผู้ใช้งานและเจ้าของกิจการเพื่อเข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

A = ครอบคลุม

ตู้กิ้งก่าใช้กลยุทธ์กระจายตัว ขอแค่มีพื้นที่จอดรถได้ 2 คัน อยู่ในเส้นทางรถอีวีผ่าน ใช้เงินทุนหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนต้นๆ ก็ทำให้พื้นที่ว่างหน้าบ้านก็อาจกลายเป็นสถานีชาร์จรถอีวีไปได้

ตู้กิ้งก่าตั้งเป้าว่าจะมีสถานีชาร์จระบบ AC จำนวน 5,000 สถานี ด้วยระบบกำลังไฟถึง 22 กิโลวัตต์ ที่สามารถชาร์จไฟได้ภายในเวลา 30 นาที วิ่งได้ระยะทางถึง 50 กิโลเมตรภายในปีนี้

เน้นจุดให้บริการให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ขอให้พื้นที่นั้นมีที่จอดรถและวางระบบไฟได้ ทางกิ้งก่าจะนำทีมงานผู้เชี่ยวชาญไปติดตั้งให้ถึงที่

GINKA Charge Point สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าวาง positioning ตนเองให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการขยายธุรกิจ รายได้ยาว กำไรสูง โดยโมเดลธุรกิจมี 2 แบบ คือ ขายขาด และ แบบบริษัทลงทุนเครื่องชาร์จให้

  • แบบขายขาด เจ้าของพื้นที่ใช้เงินลงทุนเป็นเจ้าของเครื่องเอง ณ ตอนนี้มีเครื่องรุ่น 7.2 kWh = 89,000 และ รุ่น 22 kWh= 109,000 รับประกัน 2 ปีแรก
  • แบบบริษัทลงทุนเครื่อง เจ้าของพื้นที่ใช้เงินลงทุนต่ำกว่าแบบขายขาด ฟรีค่าเครื่อง มีแค่ค่าติดตั้ง 7,000 บาท และประกันเครื่องฟรีตลอดอายุการใช้งาน

ตู้กิ้งก่ามี 2 รุ่น ได้แก่ ระบบไฟ AC กำลังไฟ 7.2 kWh และ 22 kWh

กำลังไฟ 7.2 kW ราคา 89,000 บาท

กำลังไฟ 22W ราคา 109,000 บาท

ค่าติดตั้งเครื่องแบบขายขาด ‘ฟรีค่าติดตั้ง’

แบบบริษัทลงทุนเครื่อง ‘ค่าติดตั้ง 7,000 บาท’

มาถึงส่วนแบ่งรายได้กับทางบริษัทกันบ้าง  แบบขายขาด 1 บาท/ต่อหน่วย แบบบริษัทลงทุนเครื่อง 2 บาท/ต่อหน่วย

โดยค่าบริการ 1 บาท ต่อหน่วย และ 2 บาทต่อหน่วยเป็นค่าบริการระบบรับชำระเงิน ระบบริการลูกค้า (Call Center) ระบบสื่อสาร ระบบบริหารจัดการหลังบ้าน การอัปเกรดซอฟแวร์ต่างๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งแบรนด์อื่นเรียกเก็บค่าบริการเช่นกัน โดยจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดชาร์จ หรือเรียกเก็บเป็นค่าบริการคงที่แบบรายเดือน

ทั้งนี้เจ้าของพื้นที่สามารถกำหนดค่าชาร์จไฟได้เอง โดยบริษัทจะเซตระบบค่าชาร์จให้

มาถึงคำถามสำคัญว่า แล้วระยะเวลาคืนทุนล่ะ นานเท่าไร?

แบบขายขาดเครื่องชาร์จรุ่น 7.2 kWh งบลงทุนเบื้องต้น 139,000 บาท

สมมติว่ามีชั่วโมงการชาร์จต่อวัน 5 ชม. กำไรขั้นต้น (ราคาชาร์จ 3 บาทต่อหน่วย) อยู่ที่เดือนละ 3,150 บาท ปีละ 37,800  บาท ระยะเวลาคืนทุนคือ 44 เดือน

ถ้าชั่วโมงการชาร์จต่อวัน 10 ชม. กำไรขั้นต้น (ราคาชาร์จ 3 บาทต่อหน่วย) เดือนละ 6,300 บาท ปีละ 75,600 บาท ระยะเวลาคืนทุนคือ 22 เดือน

แบบขายขาดเครื่องชาร์จรุ่น 22 kWh งบลงทุนเบื้องต้น 179,000 บาท

ถ้าชั่วโมงการชาร์จต่อวัน 5 ชม. กำไรขั้นต้น (ราคาชาร์จ 3 บาทต่อหน่วย) เดือนละ 9,900 บาท ปีละ 118,800 บาท ระยะเวลาคืนทุนคือ 18 เดือน

ถ้าให้บริษัทลงทุนเครื่องให้ในรุ่น 7.2 kWh งบลงทุนเบื้องต้นจะอยู่ที่ 57,000 บาท

ถ้าชั่วโมงการชาร์จต่อวัน 5 ชม. กำไรขั้นต้น (ราคาชาร์จ 3 บาทต่อหน่วย) เดือนละ 2,100 บาท ปีละ 25,200 บาท ระยะเวลาคืนทุนคือ 27 เดือน

ถ้าให้บริษัทลงทุนเครื่องให้ในรุ่น 22 kWh งบลงทุนเบื้องต้น 77,000 บาท

ถ้าชั่วโมงการชาร์จต่อวัน 5 ชม. กำไรขั้นต้น (ราคาชาร์จ 3 บาทต่อหน่วย) เดือนละ 6,600 บาท ปีละ 79,200 บาท ระยะเวลาคืนทุนคือ 12 เดือน

เท่าที่สำรวจตลาดสถานีชาร์จรถอีวีในเมืองไทยตอนนี้ขับเคี่ยวกันอยู่ราวๆ 7 แบรนด์ แล้ว GINKA มีจุดต่างอย่างไร

  • GINKA 1 เครื่อง 2 หัวชาร์จ สามารถให้บริการได้ 2 ช่องจอดพร้อมกัน
  • ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน สามารถใช้บริการได้ที่หน้าจอทันที
  • มี SMS แจ้งเตือนเมื่อชาร์จเสร็จแล้ว
  • มีระบบรับชำระค่าบริการได้หลากหลายช่องทาง ทั้งสแกนจ่าย วอลเลต และจ่ายด้วยกิ้งก่าเครดิต
  • มีระบบกิ้งก่าเครดิต ที่เก็บเงินคงเหลือจากการชาร์จด้วยเบอร์โทรศัพท์
  • มีฝ่ายบริการลูกค้า (Call Center) ตอบข้อซักถาม และรับแจ้งปัญหาตลอด 24 ชม.ใน 7 วัน
  • มีรับประกันสินค้าตลอดการใช้งาน (สำหรับ GINKA ลงทุนเครื่อง)

ไฮไลต์ที่มาแก้ pain point ของเจ้าของรถอีวีก็คือ ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปนี่แหละ เพราะทุกวันนี้ในสมาร์ตโฟนเต็มไปด้วยแอปล้นปรี่ ตู้กิ้งก่ายังมีขั้นตอนการใช้งานที่ง่าย เพียงแค่เสียบสายชาร์จ เลือกวิธีการจ่ายเงิน ก็สามารถชาร์จรถได้ทันที หากเงินที่เหลือจากการชาร์จสามารถเก็บเป็นกิ้งก่าเครดิตในหมายเลขโทรศัพท์เพื่อนำไปใช้ในครั้งต่อไป และเมื่อชาร์จเต็มแล้วสามารถถอดสายชาร์จออกได้ทันที

ถ้าคิดสรตะแล้วอยากเป็นเจ้าของสถานีชาร์จรถอีวี ก่อนอื่นต้องติดต่อให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่ก่อนว่า ลักษณะพื้นที่ติดตั้งต้องเป็นแบบไหน โดยเจ้าของพื้นที่จัดเตรียมพื้นที่จอด 2 ช่อง และจัดเตรียมระบบไฟรองรับตามสเปคของตู้กิ้งก่าแต่ละรุ่น

ในอนาคตจะมีตู้กิ้งก่าที่ระบบ DC ที่มีกำลังไฟแรงขึ้น 40 และ 120 kWh ที่ชาร์จไฟได้เร็วขึ้น และเหมาะกับติดตั้งตามปั๊ม ห้าง หรือพื้นที่ใหญ่ๆ

ตอนนี้มีสถานีตู้กิ้งก่าทั่วไทยแล้ว 73 แห่ง ใน 56 สถานที่ พลาดเป้าจากที่ตั้งไว้ 5,000 สถานีไปเยอะอยู่ แต่ลองไปดูสถานีชาร์จของจริงก่อนตัดสินใจกันได้ที่ https://www.ginkachargepoint.com/

Words: Sritala Supapong

Photos: FB: GINKAChargePoint, https://www.ginkachargepoint.com/

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top