‘สีฟ้าทิฟฟานี’ สีที่แพงที่สุดในวงการลักชัวรีของ Tiffany & Co.  

แค่เห็น วินเมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร สวมนาฬิกาหน้าปัดสีฟ้า ก็บอกได้ทันทีว่ามาจาก Tiffany & Co. เป็นแน่ แม้ไม่รู้มาก่อนว่าวินเป็น House Ambassador คนแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแบรนด์จิวเวลรี่จากนิวยอร์กนี้ เพราะ Tiffany Blue คือหนึ่งในสีเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดในโลก และยังเป็นสีที่แพงที่สุดในวงการลักชัวรีอีกด้วย

เรื่องราวของสีฟ้ามหาแพงนี้เป็นมาอย่างไร The Optimized พาย้อนไปในศตวรรษที่ 19 กัน

ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเพราะเหตุใด Charles Lewis Tiffany แห่ง Tiffany & Co. จึงเลือกใช้สีฟ้าไข่นกโรบินเป็นสีประจำแบรนด์จิวเวลรี่ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 1837 มีเพียงหลักฐานเป็น Blue Bookแคตาล็อกเล่มแรกของแบรนด์ซึ่งมีหน้าปกสีฟ้าอันเป็นเอกลักษณ์นี้ที่ทางแบรนด์ส่งไปรษณีย์ไปตามบ้านในปี 1845 และภาพวาดบูธตกแต่งด้วยผ้าสีฟ้าไข่นกโรบินเมื่อครั้งที่แบรนด์ไปออกงาน World’s Fair Trade ที่ปารีส

Blue Book แคตาล็อกเล่มแรกในปี 1845

Photo: www.tiffany.com

แต่สันนิษฐานได้ว่าในช่วงเวลานั้น เทอร์คอยส์คือหินแร่มีค่าที่ได้รับความนิยมมานาน มีการขุดค้นพบเทอร์คอยซ์ในอเมริกามาตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล ตั้งแต่ยังเป็นแผ่นดินของชาวอินเดียนแดงชนเผ่าต่างๆ ก่อนที่พ่อค้าจากเวนิซจะนำเทอร์คอยส์เข้าไปขายในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 17 ด้วยความเชื่อว่าเป็นหินแร่แห่งความโชคดี

หนังสือพิมพ์ The New York Sun รายงานข่าวในปี 1906 ว่า สิ่งหนึ่งที่คุณไม่มีทางใช้เงินซื้อได้จากชาร์ลส์ ลิวอิส ทิฟฟานี แม้จะเป็นเงินจำนวนมากมายเท่าไรก็ตาม นั่นก็คือ ‘กล่อง’ ของเขา เนื่องจากเขาได้ตั้งกฎเข้มงวดไว้ว่าจะกล่องเปล่าสีฟ้าของ Tiffany & Co. จะไม่มีวันออกจากร้านอย่างเด็ดขาด ถ้าลูกค้าไม่ได้ซื้อเครื่องประดับของแบรนด์ ซึ่งกฎนี้ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน รายงานข่าวชิ้นนี้บ่งบอกว่า Tiffany & Co. ใช้สีฟ้าไข่นกโรบินเป็นสีประจำแบรนด์มากว่าร้อยปีแล้ว

 

Photo: IG@winmetawin

วินสวมนาฬิกา Tiffany & Co. รุ่น Union Square โดดเด่นด้วยตัวเรือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส หน้าปัดสี Tiffany Blue และเข็มนาฬิกาได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมที่มีเส้นสายคมกริบของมหานครนิวยอร์ก เมืองอันเป็นถิ่นกำเนิดของแบรนด์

แม้ผู้คนทั่วโลกจะจดจำได้ว่า Tiffany & Co. ใช้สีฟ้าไข่นกโรบินหรือสีฟ้าดอกฟอร์เกตมีนอต จนเรียกกันติดปากมาช้านานว่า Tiffany Blue หรือสีฟ้าทิฟฟานี แต่ต้องรอถึงปี 1998 กว่าที่ Tiffany Blue® จะกลายเป็นสีเครื่องหมายการค้าของแบรนด์อย่างเป็นทางการ และในปี 2001 ทางแบรนด์สั่งทำสีพิเศษจากสถาบันแพนโทน (Pantone®) ให้คิดค้นสีพิเศษสำหรับ Tiffany & Co. เท่านั้น รหัสสีฟ้าทิฟฟานีคือ 1837 Blue โดยตัวเลขคือปีที่แบรนด์ก่อตั้งขึ้นมา

หรือ Hex code #0ABAB5 ในระบบสี RGB ประกอบไปด้วย สีแดง 3.9% สีเขียว 72.9% และสีน้ำเงิน 71% ส่วนระบบสี CMYK ประกอบไปด้วย สีไซแอน 95% สีมาเจนต้า 0% สีเหลือง 3% และสีดำ 27%

Photo: IG@baifernbah

ใบเฟิร์น – พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยที่เป็น House Ambassador ของ Tiffany & Co. ในเดือนเมษายน 2024 สวมนาฬิกา Tiffany Eternity ตัวเรือนทรงกลมประดับเพชรบริลเลียนต์คัตที่เม็ดมะยมและขอบหน้าปัด เลขโรมันบอกชั่วโมงประดับเพชรคัตแตกต่างกัน ได้แก่ บริลเลียนต์คัตทรงกลม ทรงเหลี่ยมบาแกตต์ ทรงคูชัน ทรง Tiffany True® ทรงมาร์คีส์ ทรงเหลี่ยมแอสเชอร์ ทรงหัวใจ ทรงลูกแพร์ ทรงรี ทรงเหลี่ยมมรกต ทรงสามเหลี่ยม และทรงปริ๊นเซสสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมแหลม โดยได้แรงบันดาลใจจากโฆษณาวินเทจช่วงยุค 1960s และ 1970s ของแบรนด์

Photo: www.tiffany.com

สีฟ้าทิฟฟานี หนึ่งในสีเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดในโลกจะมีค่าเท่าไร?

ย้อนกลับไปในปี 2021 LVMH อาณาจักรแฟชั่นใหญ่ที่สุดในโลกจากฝรั่งเศส เจ้าของแบรนด์ลักชัวรีมากมายปิดดีลซื้อกิจการ Tiffany & Co. ด้วยตัวเลข 16,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าหุ้น 135 ดอลลาร์ต่อหุ้น รวมหนี้สินทางการเงินอีก 700 ล้านดอลลาร์ ทำให้รวมแล้ว Tiffany & Co. มีมูลค่า 16,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการซื้อกิจการที่ LVMH จ่ายมากที่สุด และเป็นดีลมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวงการลักชัวรีเลยทีเดียว

หลังจากซื้อ Tiffany & Co. มาอยู่ในเครือแล้ว ช่วยเติมยอดขาย 6,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ LVMH ในปี 2021 ทำให้ Tiffany & Co. เป็นแบรนด์ใหญ่สุดอันดับ 2 ของ LVMH รองจาก Louis Vuitton

Tiffany & Co. ขยับขึ้นเป็นแบรนด์อันดับ 3 ในวงการจิวเวลรี่ของโลก และอันดับ 8 ในอุตสาหกรรมนาฬิการะดับโลก จากกลยุทธ์ใหม่ของ LVMH ที่หว่านเงิน 350 ล้านเหรียญรีโนเวตบูติก Tiffany & Co. อันโด่งดังในนิวยอร์กที่อยู่ในฉากตำนานเมื่อ Audrey Hepburn ยืนกินขนมปังบาแกตต์พลางส่องดิสเพลย์หน้าร้านในหนังปี 1961 เรื่อง Breakfast at Tiffany’s

นอกจากนี้ยังส่ง Alexandre Arnault ลูกคนกลางจากพี่น้อง 5 คนของท่านประธานบริษัท ให้มานั่งพิทักษ์สีฟ้าทิฟฟานีในตำแหน่ง Executive Vice President of Product and Communications

และเพื่อให้แบรนด์เก่าแก่เกือบ 200 ปีเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น Tiffany & Co. จึงหันไปโปรโมตแบรนด์ทางโซเชียลมีเดีย และดึงคนดังระดับโลกมากมายมาร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น Beyonce, Anya Taylor-Joy, Rosé BLACKPINK, Jimin BTS ไปจนถึง วิน เมธวินและใบเฟิร์น พิมพ์ชนก

Photo: IG@winmetawin

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top