‘พริกแกงแม่น้อย’ จากพริกแกงถังในตลาด สู่พริกแกงส่งออกผลิตวันละ 3 ตัน 

วันนี้ The Optimized พาผู้อ่านเข้าไปในโลกของพริกแกง ที่เริ่มจาก ‘แม่น้อย’ แม่ค้าที่จับพลัดจับผลูมาเอาดีด้านพริกแกงด้วยวัย 48 ปี จากพริกแกงใส่ถังพลาสติกขายในตลาดสดเชียงราย รสชาติถูกปากจนโด่งดังในเมืองรอบๆ ในที่สุดพริกแกงก็ขึ้นหิ้งสามารถวางขายในห้างโมเดิร์นเทรด และในที่สุดพุ่งทะยานสู่ตลาดส่งออกต่างประเทศ โดยมีกำลังการผลิตถึง 3 ตันต่อวันทีเดียว

ตลอดเส้นทางเผชิญทั้งอุปสรรคและการไม่ยอมรับจากลูกค้า ‘พริกแกงแม่น้อย’ ทำอย่างไรจึงเปลี่ยน ‘น้ำพริกถ้วยเก่า’ บรรจุลงในถังใหม่ แล้วประสบผลสำเร็จกลายเป็นพริกแกงแห่งความภาคภูมิใจทั้งในและต่างประเทศ

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

พริกแกงถ้วยเก่า ยังคงเก๋าเสมอ

จุดเริ่มต้นของ ‘พริกแกงแม่น้อย’ มาจากจังหวัดเชียงราย โดย ‘แม่น้อย’ นางนวลน้อย ธารทองไพบูลย์ ที่ตำพริกตำแกงขายโดยเริ่มเพียงไม่กี่กิโลกรัมในตลาดสด แต่รสชาติจัดจ้านคุณภาพดีเป็นที่เลื่องลือในหัวเมืองเหนือ ปัจจุบันพริกแกงฝีมือแม่น้อยตกทอดไปสู่ทายาทรุ่นที่ 2 ภายใต้บริษัท ภาเบญฟูดส์ จำกัด โดยมีบริษัท ธารทอง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า

แม้ว่าเวลาผ่านไปแต่สินค้าก็ยังคงขายสตอรีเรื่องราว ‘ความเป็นต้นตำรับ’ ทั้งประวัติและฝีมือของแม่น้อย โดยแบรนด์บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนกระทั่งได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ และยังคงเลือกใช้ตราสินค้า ‘พริกแกงแม่น้อย’ มาถึงปัจจุบัน

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

เมื่อพริกแกงถ้วยเก่าถึงคราวต้องใส่ถ้วยใหม่

ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2519 แม่น้อยตื่นตั้งแต่ตี 4 ขายถึง 6 โมงเย็น อาศัยแรงในการทำพริกแกงด้วยการบดโม่พริกแกงเองถึง 12 รอบต่อวัน แต่ก็ได้ปริมาณสินค้าจำกัดและพริกแกงไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เมื่อมาถึงทายาทรุ่นที่ 2 การจะขยายตลาดได้ต้องพัฒนาทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพ จึงหนีไม่พ้นการนำนวัตกรรมต่างๆ มาเพื่อเพิ่มผลิตผลดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือการปรับเปลี่ยนจากพริกแกงสดในตลาดมาเป็นพริกแกงบรรจุซองแบบสุญญากาศเพื่อยืดอายุสินค้า และเพื่อสะดวกต่อการขนส่ง สะดวกต่อการจัดเก็บของลูกค้า แต่นั่นเท่ากับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อลูกค้าพริกแกงในตลาดสดทางภาคเหนือไม่เข้าใจ ‘พริกแกงบรรจุซอง’ และยังยึดติดกับพริกแกงสดแบบเดิมๆ

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

การตลาดแบบลูกทุ่ง

ในขณะที่แบรนด์อยู่ในสถานการณ์ระหว่างจะกลับไปนั่งขายที่ตลาดสดแบบเดิมเพื่อรักษาลูกค้าเก่า หรือเสี่ยงก้าวต่อไปเพื่อให้แบรนด์พัฒนา พริกแกงแม่น้อยเชื่อมั่นในเส้นทางที่ 2 และกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการประชาสัมพันธ์สินค้าแบบตรงๆ ที่แบรนด์เรียกว่า “การตลาดแบบลูกทุ่ง” โดยทีมเข้าไปแนะนำสินค้าภายใต้แพกเกจจิงใหม่นี้กับลูกค้าตรงๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไร เป็นประโยชน์และจะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าในเรื่องการจัดเก็บและยืดอายุการใช้งานได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแบรนด์ใช้เวลาร่วมปีและเกือบถอดใจกว่าลูกค้าจะเปิดใจและยอมรับในสินค้า จนกระทั่งยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

จากเชียงรายสู่โมเดิร์นเทรด

พริกแกงแม่น้อยจึงกลายเป็นพริกแกงเจ้าแรกๆ ในภาคเหนือที่บรรจุในผลิตภัณฑ์สุญญากาศ และง่ายต่อการเสนอขายตามร้านขายส่งต่างๆ  จึงทำให้ขยายตลาดนอกเมืองเชียงรายกระจายไปสู่อำเภอรอบนอกในจังหวัดใกล้เคียง จากนั้นแบรนด์จึงพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้างโรงงานที่มาตรฐาน นำเครื่องจักรทันสมัยมาใช้ในการผลิตเพื่อให้คงมาตรฐานในระดับส่งออกมากที่สุด จนสามารถนำสินค้าไปขายได้ในระดับโมเดิร์นเทรด แม้ว่าช่วงแรกต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้องลงทุนเครื่องจักร ค่าแรงต่างๆ แต่แบรนด์ก็ยังคงเชื่อมั่นในแนวคิด จนค่อยๆ กลับมาทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

พริกแกงไทยไม่แพ้ใครในโลก

โมเดิร์นเทรดไม่ใช่ความฝันสูงสุด เป้าหมายต่อไปของพริกแกงแม่น้อยคือการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยทั้งพริกและสินค้าแปรรูปจากพริกนับว่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าในปี 2563 ประเทศไทยส่งออกพริกและพริกแห้งติดอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดียเท่านั้น

และเมื่อพิจารณาถึงสินค้าแปรรูปจากพริก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ในปี 2564 เผยว่ายอดการส่งออกซอสและเครื่องปรุงรสของไทยมีมูลค่า 29,878 ล้านบาท และในจำนวน 7% นั้นเป็นสัดส่วนการส่งออกเครื่องแกงสำเร็จรูปคิดมูลค่า 1,938 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว โดยตลาดส่งออกหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย และพริกแกงแม่น้อยก็เป็นหนึ่งในแบรนด์พริกแกงส่งออกที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จภายใต้ตัวเลขดังกล่าว

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

ถ้าจะขอบคุณในสิ่งใดเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตนวัตกรรมและการกล้าปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในยุคที่ยังใหม่กับแบรนด์พริกแกง เพราะพริกแกงแม่น้อยมาพร้อมกับแพกเกจซองใสที่สามารถเก็บได้นานประมาณ 16-18 เดือน และแบบบรรจุในถุงฟอยล์ที่จัดเก็บได้ถึง 2 ปี จึงทำให้ง่ายและสะดวกต่อการส่งออกต่างประเทศ

ปัจจุบันพริกแกงแม่น้อยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 40 ชนิด ซึ่งประกอบไปด้วยพริกแกงต้นตำรับทางเหนืออย่าง พริกแกงอ่อม พริกแกงน้ำเงี้ยว พริกแกงข้าวซอย พริกแกงฮังเล ไปจนถึงพริกแกงอื่นๆ อย่างพริกแกงเขียวหวาน พริกแกงคั่ว ฯลฯ และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอื่นๆ ที่สร้างสรรค์และปรับรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างพริกหมาล่า เป็นต้น

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

โดยพริกแกงที่ขายในประเทศไทยนั้นมีเพียง 23 ชนิด นอกนั้นจะรับผลิตในลักษณะของ OEM ในกับแบรนด์น้ำพริกอื่นๆ ภายใต้กำลังการผลิตถึง 3 ตันต่อวัน และพริกแกงแม่น้อยยังเน้นตีตลาดส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ อเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และแถบเอเชีย

Photo: Facebook พริกแกงแม่น้อย

พริกแกงแม่น้อยเป็นเคสตัวอย่างของการทำการตลาดที่ไม่ซับซ้อนใดๆ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การกล้าเปิดรับมุมมองใหม่ๆ แม้ว่าเส้นทางจะเต็มไปด้วยการไม่ยอมรับในยุคแรกๆ ก็ตาม ความเฉลียวฉลาดของแบรนด์คือการสามารถหาจุดที่ลงตัวระหว่าง “ความเป็นต้นตำรับ” และ “นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” แล้วผนึกกำลังกันเข้าเส้นชัย

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

หัวเว่ย ดิจิทัล พาวเวอร์ และลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) ประกาศความสำเร็จโครงการเช่าซื้อเพื่อสนับสนุนการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ เดินหน้าช่วยขับเคลื่อนเส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย

Scroll to Top