“อมร ภูเก็ต เพิร์ล” จากไข่มุกร้อยมงสู่ความหวังเส้นทางส่งออก “ไข่มุกอันดามัน”

“ไข่มุก” เป็นอัญมณีชนิดเดียวในโลกที่เป็น “อัญมณีอินทรีย์” หรือถือกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิต และสามารถประจักษ์ความงามได้ด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องผ่านเครื่องมือเจียระไนเหมือนอัญมณีที่มีต้นกำเนิดจากสินแร่อื่นๆ และในประเทศไทย “ไข่มุกอันดามัน” แห่งภูเก็ต ขึ้นชื่อว่าเป็นมุกเม็ดงามในสายตาชาวโลก วันนี้ The Optimized ขอดำดิ่งสู่โลกใต้ท้องทะเลเพื่อไปเยี่ยมชม ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ป กลุ่มบริษัทไข่มุกภูเก็ตเต็มรูปแบบ ที่กว่าจะมาเป็นจ้าวแห่งมุกเม็ดงาม ต้องทำอย่างไรจึงกลายเป็นผู้นำแห่งมุกอันดามัน

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

ต่อยอดไข่มุกอันดามัน

ข้อมูลของ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากรเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 อัญมณี ไข่มุก เครื่องประดับ และโลหะมีค่า เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 5 กว่า 270,404,033,194 บาท โดยไข่มุกอันดามันแห่งเกาะภูเก็ตนั้น เป็นหนึ่งในแรงขับยอดขายที่สำคัญ

จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งทำฟาร์มหอยมุกที่สำคัญของประเทศไทย ด้วยภูมิศาสตร์ที่ส่งผลให้มีกระแสน้ำไหลเวียน และมีเกาะที่บดบังคลื่นลมไม่ให้แรงจนเกินไป จึงอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญของหอยมุก มอบผลผลิตไข่มุกอันดามันคุณภาพดี ทั้งสีสันและขนาดหลากหลายไม่แพ้ประเทศใดๆ ในโลก

คุณอมร อินทรเจริญ ตั้งใจฟื้นฟูธุรกิจจากฟาร์มมุกในครัวเรือนเป็นอาณาจักรภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ป

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

คุณอมร อินทรเจริญ ทายาทรุ่นที่ 3 ตั้งใจฟื้นฟูธุรกิจจากฟาร์มมุกในครัวเรือนเพียงอย่างเดียว จนเปิดเป็นกลุ่มบริษัทในเครือที่ประกอบไปด้วย

  • บริษัทภูเก็ต เพิร์ล อินดัสทรี จำกัด ี่บริหารงานด้านการจัดการฟาร์ม ดูแลผลผลิตและควบคุมคุณภาพไข่มุก
  • บริษัท ภูเก็ต ไข่มุก จำกัด ดูแลด้านการขายและการตลาดโดยเฉพาะ
  • บริษัท เดอะ เพิร์ล จำกัด ดูแลงานในด้านการออกแบบ พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการในตลาดโลก

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

เดิมทีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อสูง จึงขยายตลาดจากการขายไข่มุกเพื่อเป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว  เพิ่มการแปรรูปเป็นเครื่องประดับตลอดจนสินค้าต่างๆ แบบครบวงจร เกิดเป็น อมร ภูเก็ต เพิร์ล แบรนด์ไข่มุกไทยที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเฉิดฉายในหลากหลายเวทีประกวด

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

อมร 100 มง

นอกจากการเป็นผู้นำด้านการผลิตไข่มุกเจ้าแรกของเมืองไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2000 แล้ว ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ปนำมุกอันดามันไปประจักษ์บนเวทีทั้งในและต่างประเทศภายใต้แบรนด์อมร ภูเก็ต เพิร์ล ไม่ว่าจะเป็น

  • มงกุฎของมิสเวิลด์สิงคโปร์ 2012
  • มงกุฎของมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2013 – 2016
  • มงกุฎของมิสเวิลด์สวิตเซอร์แลนด์ 2013
  • มงกุฎของมิสเมียนมาร์เวิลด์ 2015 – 2016
  • มงกุฎของมิสเวิลด์ออสเตรเลีย 2017

และที่เรียกเสียงฮือฮาที่สุดคือ มงกุฎ The Spirit of Andaman มงกุฎสีทองมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ในเวทีประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ต 2023 ซึ่งมงลงที่ เทีย ทวีพาณิชย์พันธุ์

และมงกุฎ The Spirit of Andaman 2024 จากเวทีมิสแกรนด์ภูเก็ต 2024 ก่อนส่งให้ หลิน-มาลิน ชระอนันต์วัย ไปคว้าตำแหน่งสูงสุดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024  ไปครอง

มงกุฎ The Spirit of Andaman มงกุฎสีทองมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ที่ใช้ในเวทีประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ต 2023

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

หลิน-มาลิน ชระอนันต์วัย มิสแกรนด์ภูเก็ต และมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024 สวมมงกุฎ The Spirit of Andaman 2024

Photo: Facebook Miss Grand Thailand

ไข่มุกเกรดส่งออก

ทางบริษัทให้ความสำคัญกับข้อมูลความต้องการของลูกค้า จัดเก็บ วิเคราะห์และนำส่งให้กับฝ่ายออกแบบเพื่อผลิตชิ้นงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม คนไทยชอบเครื่องประดับมุกที่บอกเล่าเรื่องราวตรงๆ ส่วนลูกค้าต่างชาติเน้นความเป็นงานอาร์ตหรืองานคราฟต์

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ปคลอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้นต่อเดือน เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและรับรองตลาดได้ในทุกๆ ระดับ

ภาคการส่งออก ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ปโฟกัสในหลากหลายประเทศ เช่น อิตาลีนิยมสั่งซื้อวัตถุไข่มุกเพื่อนำไปประกอบบนตัวเรือนเครื่องประดับต่างๆ รวมไปถึงในกลุ่มประเทศอาหรับ และประเทศสเปน

ส่วนการทำการตลาดแบบอีบิสสิเนสบริษัทได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

แม้ไทยจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทอัญมณี ไข่มุก เครื่องประดับ และโลหะมีค่า มากถึง 270,404,033,194 บาทในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา แต่ตัวเลขการนำเข้ายังคงสูงกว่า ข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร เผยว่าในช่วงเดียวกันนี้ไทยมีมูลค่านำเข้า นำไปแล้วกว่า 346,232,149,914 บาท

เนื่องจากกำลังการผลิตไข่มุกในประเทศยังคงน้อยอยู่ เพราะมีฟาร์มหอยมุกแบบครบวงจรในประเทศไม่กี่เจ้า หากเทียบกับความต้องการในประเทศในแง่ของการนำวัตถุดิบไข่มุกมาทำเป็นเครื่องประดับ หรือแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกอีกทอด โดยแหล่งนำเข้าหลักไข่มุกมายังไทย ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น

Photo: Facebook Phuket Pearl ภูเก็ต เพิร์ล

แต่ถึงอย่างนั้นภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ปยังคงมุ่งมั่นและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาไข่มุกอันดามันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อรองรับความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นเป็นผู้นำแห่งมุกอันดามันแบบครบวงจรอย่างแท้จริง

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top