ออมสร้างสุข มีเงินก่อนเกษียณ

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายมิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากร้อยละ 78.9 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 ก่อนเกิดโควิด เป็นร้อยละ 88.6 ในไตรมาส 3 ของปี 2563 สะท้อนถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมา

            เมื่อมองปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2566 หรือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นปี 2563 ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 11.6 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้น ที่สามารถพึ่งตัวเองได้ จะเห็นได้ว่าแนวโน้มผู้สูงอายุในประเทศไทยมีโอกาสที่จะเผชิญ “ภาวะเกษียณทุกข์” ได้ในอนาคต

                ขณะที่ผลสำรวจการออมของครัวเรือนไทย พบว่า ครัวเรือนที่มีการออมเงินมี 15.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.9 ครัวเรือนที่ไม่มีการออม 5.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.1 ส่วนวิธีการเก็บออมนั้น ร้อยละ 38.9 มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม ร้อยละ 38.5 ออมไม่แน่นอน และมีเพียงร้อยละ 22.6 ที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า คนไทยมีความรู้ทางการเงินต่ำมาก จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับคนไทย ก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา

รูปแบบออมเงินของคนไทย

                ปัจจุบัน คนไทยที่มีงานทำมีการออมเงินในระบบอยู่ 4 รูปแบบ โดยหากเป็นข้าราชการ จะออมเงินผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ปัจจุบันมีสมาชิก 1.16 ล้านคน หากทำงานในภาคเอกชน มีการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนผู้ที่ทำอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ตลอดจนนักเรียน นักศึษา สามารถออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งถือเป็นกองทุนใหม่  ที่เปิดให้ออมเงินได้ตั้งแต่อายุ 15 – 60 ปี เริ่มต้นออมตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี โดยจะได้รับเงินสมบทจากรัฐบาลสูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

                นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีเงินออมในระดับหนึ่ง สามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเอกชน การลงทุนในหุ้น กองทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สิ่งสำคัญ คือต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมทางการเงินเมื่อถึงวัยเกษียณ ซึ่งผลสำรวจล่าสุดผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมีเพียง ร้อยละ 2.3 ที่พึ่งตัวเองได้ ร้อยละ 34.7 ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน และร้อยละ 31 ยังต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง

                ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 500 แห่ง สร้างพี่เลี้ยงทางการเงินกว่า 6,000 คน ให้ความรู้กับพนักงานในองค์กรไปแล้ว 2.4 ล้านคน ซึ่งในปีนี้มีหลายองค์กรเข้ามาร่วมกับโครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด 19

เปิดโมเดลกู้วิกฤตการเงิน

                บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด 19 จากประสบการณ์ของ ทอปัด สุบรรณรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร ที่เล่าให้ฟังว่า พนักงานสายการบินถือว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้ และยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัว แน่นอนว่าพนักงานทุกระดับได้รับผลกระทบแม้กระทั่งซีอีโอ เบื้องต้นทุกคนถูกลดเงินเดือนลดหลั่นกันไป

                แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น บริษัทให้คำแนะนำสำหรับกลุ่มพนักงานที่มีปัญหาหนี้สินต้องเร่งบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน เพราะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัว จากนั้นได้ประกาศให้พนักงานสามารถทำอาชีพเสริมได้ อาชีพที่สอง ขณะเดียวกันพนักงานที่มีเงินเดือนสูง เช่น นักบิน ลูกเรือ มองหาโอกาสในการลงทุน โดยมีพนักงานจำนวนหนึ่งเข้าร่วมโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน มองหาโอกาสอยู่รอดในระยะยาว

                เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ที่ให้ความสำคัญกับการออมเงินของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานที่มีสมาชิกอยู่กว่า 2 หมื่นคน เปิดให้สมาชิกเก็บออมในสัดส่วนร้อยละ 9 – 15 รวมทั้งมีการแนะนำโครงการลงทุนใหม่ๆ เช่น กองทุนเพื่อการลงทุน กองทุนเปิดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเงินออมของพนักงาน รวมทั้งส่งพนักงานเข้าร่วมโครงการอบรมพี่เลี้ยงการเงินเพื่อนำความรู้มาแนะนำให้สมาชิกอีกต่อหนึ่ง

                ด้านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า กยศ.ได้ให้นักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงินของกยศ.เข้าร่วมโครงการเรียนรู้ทางการเงินกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านระบบ e-Learning ที่มีมากกว่า 15 หลักสูตร เป็นการเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการออมเงิน การลงทุน ซึ่งปัจจุบันเกิดประโยชน์อย่างมากต่อสมาชิกของกยศ.

                ที่ผ่านมา กยศ.ให้นักเรียน นักศึกษากู้เงินเพื่อการศึกษาไปแล้วกว่า 6 ล้านคน มีการปิดบัญชีเงินกู้ไปแล้ว 1 ล้านคน อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3 ล้านคน โดยใช้เงินงบประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กองทุนฯไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ แต่ใช้เงินจากรุ่นพี่ที่ชำระหนี้เป็นเงินทุนหมุนเวียนปีละ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนรู้ การสร้างวินัยทางการเงินของผู้กู้ด้วยระบบการเรียนรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

                สำหรับหลักสูตรพี่เลี้ยงทางการเงินของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระบบการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ e-Learning เน้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางการเงิน ตั้งแต่เคล็ดลับง่ายๆ สู่ความมั่งคั่ง รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ ขยายดอกผล กระบวนการสร้างความมั่งคั่ง ขั้นตอนการวางแผนทางการเงิน เรียนรู้การลงทุน ซึ่งเป็นทางลัดไปสู่ความมั่งคั่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินด้วยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

                นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรคัมภีร์พี่เลี้ยงการเงิน เช่น คัมภีร์ภารกิจพิชิตหนี้ ภารกิจก่อร่างสร้างเกษียณสุข และคัมภีร์สร้างเศรษฐีเงินล้าน เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่จบหลักสูตรพี่เลี้ยงทางการเงินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถสอบเพื่อเป็นผู้แนะนำการลงทุน มีโอกาสได้เงินทุนสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และยึดเป็นอาชีพที่สอง ที่ช่วยส่งต่อความยั่งยืนทางการเงินให้กับคนไทยได้ต่อไป

#ออมสร้างสุข #โควิด #วางแผนการออมเงิน #ออมเงิน #กู้เงิน

you might like

Scroll to Top