ผู้เขียนชอบเดินตลาดนัดหรือตลาดถนนคนเดินมาก ซึ่งเมื่อเดินทางไปต่างจังหวัดไม่ว่าจะด้วยงานหรือท่องเที่ยวก็จะบรรจุกิจกรรมเดินตลาดงานวัดลงในแผนด้วยเสมอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นคนชอบกินและชอบซึมซับวิถีชีวิตผ่านอาหาร ขนมหรือไลฟ์สไตล์อื่นๆ อีกส่วนหนึ่งคือเป็นไปเรียนรู้การตลาดอย่างง่ายๆ และได้เห็นไอเดียทำธุรกิจจากเหล่าพ่อค้าแม่ขายอยู่มากโข
ผู้เขียนจึงสรุปมาเป็นบทความการตลาดเชิงไลฟ์สไตล์ เพื่ออัปเดตผู้อ่านที่อยากทำธุรกิจค้าขายก็ดีหรือกำลังหาไอเดียเพื่อต่อยอดธุรกิจก็ดี หวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายบางอย่างให้คุณลุกขึ้นมาลงมือทำ
โซนไฮไลต์ประจำวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ที่หากแม่ค้าได้ทำเลตรงข้ามกับโซนนี้จะมีลูกค้าแวะมาไม่ขาดสาย
Photo: TikTok @raw_culture
เศรษฐกิจงานวัดที่หมุนเวียนเป็นหลักล้านต่อปี
Photo: TikTok @raw_culture
ค่าตัวงานวัดไม่ใช่เล่นๆ
คนข้างตัวของผู้เขียนเป็นพ่อค้าที่มีทำเลขายของประจำ แต่ก็จะปลีกไปลงขายตามอีเวนต์ในห้างบ้างหรือลงตามงานวัดงานเทศกาลบ้าง หากมองเผินๆ การไปขายที่อีเวนต์ในห้างชื่อดังที่มีแอร์เย็นๆ น่าจะมีค่าที่ที่แพงกว่าการขายตามงานวัด แต่ส่วนใหญ่แล้วงานวัดจะมีค่าที่ที่สูงกว่าเนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนได้คล่อง ประกอบกับงานวัดเอื้อให้พ่อค้าแม่ขายมาตั้งร้านขายก่อนงานจริงเป็นระยะเวลากว่าสัปดาห์ และวัดดังๆ ประจำจังหวัดก็จะมีค่าที่สูงกว่าวัดอื่นๆ เนื่องจากมีโอกาสที่คนมาเดินสูงกว่า
ประสบการณ์ย้อนวันวานที่ทุกคนต้องการจากงานวัด
Photo: TikTok @raw_culture
ภายใต้สินค้า 3 แบบ
บรรดาร้านรวงในงานเทศกาลหรืองานวัดซื้อสินค้า 3 แบบด้วยกัน ได้แก่
1.อาหาร สินค้าหรือบริการทั่วไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถหากินได้ไม่ยาก โดยแต่ละร้านจะงัดจุดขายเด่นๆ มาฟาดฟันกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ ชื่อเสียงของร้าน ยอดขายหรือความนิยม ยกตัวอย่าง ผัดไทย หอยทอด ปลาหมึกย่าง ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก เป็นต้น
2.อาหาร สินค้าหรือบริการที่มีความเป็นพื้นเมือง มีความเป็นท้องถิ่นสูง
ในหมวดหัวข้อนี้มักจะเป็นสินค้า อาหารหรือบริการที่นำเสนอของดีประจำท้องถิ่นหรือของดีประจำจังหวัด หลายครั้งเป็นสิ่งที่มอบประสบการณ์ย้อนวันวานให้กับผู้บริโภค เช่น กาละแมพื้นเมือง ข้าวแต๋นน้ำแตงโม หมี่กรอบ กระเป๋าสาน กางเกงลายช้าง ไปจนถึงกิจกรรมสาวน้อยตกน้ำ รถไต่ถัง ฯลฯ
ส้มโอ ของดีประจำจังหวัดนครปฐม
Photo: TikTok @raw_culture
3.อาหาร สินค้าหรือบริการที่ขายความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสินค้าตามกระแส
ในหมวดนี้จะขายทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่พ่วงมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ ความตื่นเต้นเร้าใจ รวมไปถึงสินค้าที่ตอบโจทย์การเซลฟี่และเป็นมิตรกับการโพสต์ลงโซเชียลฯ อย่างเช่น ขนมควันทะลัก บิงซูทอปปิงแน่นๆ สมูทตี้ที่ตกแต่งแก้วให้มีผลไม้สวยๆ รายล้อม หอยทอดที่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นหอยครกซีฟู้ด เป็นต้น
ทว่า สินค้าดังกล่าวจะมาไวไปไว เช่น ยุคหนึ่งที่คนฮิตไข่เค็ม จึงทำให้ยำไข่แดงเค็มได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จนมาถึงยุคที่คนฮิตครอฟเฟิล และล่าสุดนิยมทิมเบอร์ริง
เมนูหอยครกซีฟู้ดที่ผู้เขียนอยากเอาใจผู้ที่ชื่นชอบการกินหอยทอดในอีกรูปแบบหนึ่ง
Photo: TikTok @raw_culture
ปีที่แล้วผู้เขียนนับร้านขายถังหูลู่ได้ประมาณ 10 เจ้าใน 1 งาน แต่ปีนี้ดูเหมือนว่ากระแสจะลดลง ส่วนเครื่องดื่มก็เคยมีช่วงที่ฮิตชานมไข่มุก ไมโลโรงเรียน จนมาถึงน้ำลำไยสดที่ใส่เนื้อลำไยพูนๆ ซึ่งสินค้าในหมวดดังกล่าวนี้ พ่อค้าแม่ขายจะต้องวิ่งตามกระแสให้ทันเพราะสามารถทำกำไรได้ดีในช่วงดังกล่าว แต่ก็แลกมาด้วยมีการขายแข่งกันดุเดือดหลายเจ้า
บูธเยลลีแบบตักที่ฮิตในหมู่เด็กๆ ในงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
Photo: TikTok @raw_culture
ขายยังไงให้ขายดุ
หนำซ้ำหากตลาดมีการแยกหมวดผลิตภัณฑ์ เช่น เบเกอรีไปอยู่โซนหนึ่ง อาหารอยู่โซนหนึ่ง ของปิ้งย่างอยู่โซนหนึ่ง จึงทำให้สินค้าเหมือนกันแต่คนละแบรนด์แทบจะตั้งใกล้ชิดกัน มุมมองจากผู้บริโภคคือพวกเขามีตัวเลือกหลากหลาย แต่ในมุมมองของผู้ขายคือมีความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้สินค้าโดดเด่น แต่ในความเหมือนนั้นบางร้านกลับขายดีแบบเทน้ำเทท่า และหลายครั้งผู้ซื้อต้องรับบัตรคิวและรอสินค้าเป็นชั่วโมงทีเดียว ผู้เขียนจึงไปยืนสังเกตการณ์พร้อมสรุปจากสิ่งที่เห็น ได้ชิมหรือได้สัมผัสมาให้
ทำเลนางฟ้าในงานวัดไร่ขิงที่การแข่งขันดุเดือดและลูกค้าเดินกันแน่นขนัด
Photo: TikTok @raw_culture
1.ทำเลผีบอก
ในงานจะมีอยู่ 1-2 โซน ที่เป็นโซนเด่น ผู้คนจะเดินเบียดเสียดแย่งกันซื้อ ทำเลดังกล่าวถือเป็นความโชคดีอยู่เนืองๆ ไม่ต่างจากคอนโดที่ติดรถไฟฟ้า เนื่องด้วยเป็นทำเลที่เป็นสี่แยก เดินเข้าออกได้สะดวก ติดกับไฮไลต์ของงานวัด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมากราบไหว้ ติดกับเวทีศิลปินชื่อดัง ติดกับทางเดินไปที่จอดรถ เป็นต้น และแน่นอนทำเลโดดเด่นเช่นนี้ก็ย่อมมีค่าที่ที่แพงที่สุด
ป้ายประชาสัมพันธ์ร้านที่ต่างฝ่ายก็ต่างงัดมาสู้กันทั้งข้อความ ขนาดและสีสัน
Photo: TikTok @raw_culture
2.ป้ายใหญ่และไฟแยงตา
ร้านที่ขายดีๆ ในโซนดังกล่าวจะแข่งกันตกแต่งร้านให้มีคีย์เวิร์ด 3 คำ “สดใส เล่นใหญ่ ไฟกระพริบ”
- สดใส หมายถึงพวกเขามีโทนสีของแบรนด์ที่มองผ่านแล้วชวนตะลึง เช่น ร้านขายปลาหมึกยักษ์ย่างมาพร้อมกับโทนสีแดง ร้ายขายไก่ทอดเคลือบซอสเกาหลีในโทนสีเหลือง ร้านขายบิงซูยักษ์ในโทนสีชมพู จัดร้านได้อลังการตามธีมต่างๆ เป็นต้น
เน้นดึงดูดใจด้วยร้านสีสันสดใสและแสงไฟสว่างๆ
Photo: TikTok @raw_culture
- เล่นใหญ่ สินค้าของพวกเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ รสชาติที่ดี ปริมาณ แพ็กเกจจิง รวมถึงองค์ประกอบทางสายตาที่สมบูรณ์แบบซึ่งนำไปถ่ายอวดลงโซเชียลฯ ได้ง่าย อย่างร้านบิงซูที่ผู้เขียนไปต่อคิวยาวเยียดเพื่อสั่งบิงซูแตงโมซึ่งภายในร้านจัดได้อย่างน่ารัก พบว่าบิงซูแตงโมอยู่ในแพ็กเกจแก้วกึ่งถ้วยโรยด้วยทอปปิงสีสันสดใส ซึ่งเสริมให้สินค้าดูอลังการน่ากินไปอีกหลายเท่า พร้อมกันนั้นทุกร้านจะติดป้ายหน้าร้าน บนร้าน หลังร้าน รอบทิศแบบชนิดที่ว่าเดินห่างๆ 500 เมตรมองมายังเห็น
บิงซูถ้วยโตทอปปิงแน่นที่ถ่ายอวดลงโซเชียลฯ ได้งดงาม เอื้อให้กับการทำการตลาดแบบ UGC
Photo: TikTok @raw_culture
ร้านบิงซูที่ตกหัวใจของผู้เขียนด้วยความน่ารักของสินค้า สีสันและสไตล์การตกแต่งร้าน
Photo: TikTok @raw_culture
- ไฟกระพริบ เทคนิคเดียวกับที่ร้านค้าทุนจีนใช้ดึงดูดลูกค้า ทางร้านจะระดมติดไฟซึ่งสว่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากจะสร้างความโดดเด่นให้กับทางร้าน ยังช่วยส่องให้อาหารหรือสินค้าดูน่ากิน น่าใช้อีกด้วย
ร้านขายเครื่องดื่มที่ตลาดถนนคนเดิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ เน้นสีสันสดใสและไฟดึงดูดสายตา
Photo: TikTok @raw_culture
3.Influencer Marketing นำ UGC ตาม
ภายใต้ป้ายใหญ่ๆ ดังกล่าว พบว่าร้านรวงมีการพิมพ์รูปที่มีทั้งของเซเลบฯ และอินฟลูฯ อยู่เต็มไปหมด ดูเหมือนว่าบรรดาร้านขายดีเหล่านี้มีการทำการตลาดโดยใช้อินฟลูฯ จำนวนมากไม่ต่างอะไรแบรนด์ทั่วไปที่ทำการตลาดออนไลน์หนักๆ แม้ว่าความน่าเชื่อถือของ Influencer Marketing จะเริ่มลดน้อยลง และ User-Generated Content (UGC) หรือคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากลูกค้าของแบรนด์ตัวจริงกำลังมีอิทธิพล แต่สำหรับร้านดังในงานวัดแล้วจะเน้นดึงดูดกลุ่ม UGC ด้วยอินฟลูฯ ที่มีชื่อเสียงก่อน จากนั้นคอนเทนต์จากผู้ใช้จริงจะตามมา (ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้น)
บรรดาอินฟลูฯ ที่แน่นเต็มป้ายหน้าร้าน
Photo: TikTok @raw_culture
กลิ่นหอมและสีสันของปลาหมึกย่างตัวโตที่ดึงดูดลูกค้าไม่แพ้สีสันของร้าน
Photo: TikTok @raw_culture
ปลาหมึกทอดใหญ่เท่าหน้าที่เสียบโชว์ลูกค้า
Photo: TikTok @raw_culture
4.ทำการแสดงสด
ตั้งแต่ร้านไอศกรีมตุรกีที่หยอกล้อกับลูกค้า เคบับควันท่วมโขมงโฉงเฉง ไปจนถึงร้านทาโกยากิเดือดปุดๆ ที่พ่อค้ากำลังพลิกขึ้นพลิกลง การปรุงอาหารหน้าร้านเหล่านี้สร้างประสบการณ์ให้กับคนดูโดยไม่รู้ตัว และสุดท้ายก็อดไม่ได้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นลูกค้าในที่สุด
ตลาดซิเคด้า มาร์เก็ตที่หัวหิน เปิดให้ศิลปินโชว์ทักษะวาดภาพและนำผลงานมาขายให้กับแฟนๆ
Photo: TikTok @raw_culture
ภาพวาดน้องแมวที่ได้กลิ่นอายผลงานของฟานก๊อกดึงดูดใจผู้เขียนที่สุด
Photo: TikTok @raw_culture
เมื่อร้านของผู้เขียนโชว์การอบขนมและแคะหอยครกแบบสดๆ ก็จะมีลูกค้ามามุงดูไม่ขาดสาย
Photo: TikTok @raw_culture
5.ดึงดูดให้คนมาต่อแถว
ดูเหมือนว่ามนุษย์จะชอบอะไรง่ายๆ เช่น หากร้านไหนคนเยอะเราจะขี้เกียจและไปหาซื้อร้านที่ไม่มีคนดีกว่า แต่สำหรับแบรนด์ที่แข็งแกร่งแล้วการที่ยิ่งมีคนต่อแถวเยอะก็ยิ่งทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเชี่ยวชาญ ความอร่อยหรือชื่อเสียงของร้านที่ต้องไม่พลาดมาอุดหนุน ร้านรวงต่างๆจึง็พยายามชูจุดเด่นที่นำมาซึ่งความนิยมเหล่านี้ ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา 4 ข้อข้างต้น หรือแม้แต่เกณฑ์ (จ้าง) คนมาต่อคิวก็มี
ในงานประจำปีวัดไร่ขิงผู้เขียนสารภาพว่าลงบัตรคิวเพื่อซื้อเค้กไข่ไต้หวัน ที่ไปซื้อตั้งแต่ทุ่มครึ่งและมารับสินค้าอีกทีตอน 5 ทุ่ม เนื่องจากแรกเริ่มพบว่ามีคนมาต่อคิวหน้าร้านจำนวนมาก ผู้เขียนจึงเกิดความรู้สึกในใจว่าของมันต้องลอง จึงบู๊เพื่อเค้กหนึ่งก้อนถึงขั้นนั้น
ร้านเค้กไข่ไต้หวันที่โชว์การอบขนมแบบสดๆ ขนมอร่อยจนมีคนต่อคิวจำนวนมากและแต่ละคิวใช้เวลารับสินค้ากว่า 2-3 ชั่วโมง
Photo: TikTok @raw_culture
บทความนี้เป็นการลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลจริงในฐานะคนที่เดินงานวัดและงานเทศกาล รวมถึงในฐานะผู้สังเกตการณ์ขณะที่แฟนขายของปีละไม่ต่ำกว่า 15 งาน ซึ่งแท้จริงแล้วยังมีปัจจัยขายดีที่ยังมองไม่เห็นอีกมาก แต่ผู้เขียนพยายามจะตีให้แตกแล้วจะมาอัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมให้
เชื่อว่าบทความนี้สามารถเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนที่อยากจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า อยากมีอาชีพเสริมหรืออยากชิมลางขายของในงานวัด อย่างน้อยลองเปิดอ่านในมือถือแล้วเช็กไปทีละข้อขณะเดินตามงาน ถือเป็นชีทสรุปแนวข้อสอบวัดทักษะการขายก็แล้วกัน
Words & Photos: Varichviralya Srisai
: Varichviralya Srisai