เปิด CI อัตลักษณ์เมืองกระตุ้นท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท จากปารีส นิวยอร์ก กรุงเทพฯ  

CI (Corporate Identity) หรือ Brand Identity คืออัตลักษณ์ขององค์กรหรือแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำได้ เช่น ธนาคารสีเขียว เราจะนึกถึงกสิกร สีน้ำเงินคือธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น แล้วเมืองหรือประเทศล่ะ จะมี CI กับเขาบ้างได้ไหม?

เมืองหรือประเทศต่างทั่วโลกล้วนมี CI กันมาช้านาน ตัวอย่างสุดไอคอนิกคือ I ❤️ NY’ ของนิวยอร์กที่ออกแบบโดย Milton Glaser และใช้กันมาตั้งแต่ปี 1976 โลโก้นี้กลายเป็นของที่ระลึก สินค้า ป้าย ไปจนถึงจุดถ่ายรูปถึงนับไม่ถ้วน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ช่วยสร้างเม็ดเงินนักท่องเที่ยวได้ปีละหลายล้านล้านบาทให้กับนิวยอร์ก

CI ที่ดีทรงพลังมากถึงเพียงนั้น กรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงริเริ่มสร้าง CI ในฟอนต์ ‘เสาชิงช้า’ เพื่อให้เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกเมืองนี้มีอัตลักษณ์ของเมืองที่ผู้คนจดจำได้แบบรวมศูนย์ คุมโทน นอกเหนือไปจากภาพจำกระจัดกระจายที่ไม่เป็นทางการ เช่น สตรีตฟู้ด ถนนข้าวสาร พัฒน์พงศ์ สีลม หรือวัดวาอารามต่างๆ

CI มีไปทำไม

  1. ราคาของความน่าเชื่อถือ

หากองค์กรหรือตัวคุณไม่มีแบรนด์ สุดท้ายก็ต้องไปแข่งขันกับคนอื่นด้วยการตัดราคา แต่อัตลักษณ์ของแบรนด์จะช่วยเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรได้

  1. สร้างภาพจำให้กับลูกค้า

หากองค์กรของคุณไม่ได้ผูกขาดหรือกินรวบทั้งตลาด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้องค์กรมีจุดที่คนจดจำได้ เช่น ถนนสายหลักในต่างจังหวัดเต็มไปด้วยปั๊มน้ำมันตั้งอยู่ติดๆกัน คุณชะลอรถผ่านป้ายสีฟ้าแดงของปตท.-ไม่เลี้ยว ผ่านป้ายสีเขียวอ่อนของบางจาก-ไม่เข้า จนเห็นป้ายฝาหอยสีเหลืองขอบแดงของเชลล์อยู่ไกลๆ คุณเร่งเครื่องไปเข้าปั๊มที่หมายใจไว้ทันที เป็นต้น

  1. กำหนดทิศทางในการสื่อสาร

CI ช่วยเป็นกรอบให้องค์กรหรือแบรนด์มีภาพลักษณ์และการสื่อสารไปในทางเดียวกัน ช่วยลดความสับสนให้กับคนในองค์กรและผู้บริโภคให้นึกภาพหรือจดจำองค์กรไปในทางเดียวกัน

คนจดจำ CI ของคุณได้จาก…  

1.โลโก้

2.สี

3.ฟอนต์

CI สร้างอัตลักษณ์ของเมืองและประเทศ

กรุงเทพมหานคร

Photo: IG @farmgroup

Farmgroup ออกแบบโดยโลโก้ใช้ต้นทางจาก ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระหัตถ์ทรงสายฟ้า วาดโดยกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เมื่อ พ.ศ. 2466 ภาพต้นแบบอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนิน หรือวังคลองเตย

Photo: IG @farmgroup

ร่วมกับ ตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร ที่กรมศิลปากรวาดขึ้นใหม่โดยยึดลายเส้นเดิมของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตราสัญลักษณ์นี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2516 ภาพนี้เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Photos: IG @farmgroup

ส่วนการออกแบบ Custom Font ใช้ต้นแบบจากคำว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ บนตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมซึ่งตัวอักษรที่กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้วาดขึ้น โดยตั้งใจให้มีลักษณะของ Display Font กับ Sans Serif Font เพื่อให้อ่านง่าย แต่น่าสนใจ ตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมนั้นมีตัวอักษรเขียนไทยที่เรียกว่า ‘ตัวนริศ’ หรือ ‘ตัวริบบิ้น’ ที่ทาง Farmgroup เติมความโมเดิร์นเข้าไป และตั้งชื่อแบบอักษรนี้ว่าฟอนต์ เสาชิงช้า (Sao Chingcha) ประกอบไปด้วย 3 น้ำหนัก ได้แก่ Light, Regular และ Bold

ใครอยากใช้ฟอนต์เสาชิงช้า ทางกทม.เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่

https://pr-bangkok.com/_Download/_ZIP/SaoChingcha.rar

New York City

Photos: Courtesy of New York City Tourism + Conventions

การท่องเที่ยวนิวยอร์กซิตี้เห็นว่าโลโก้ I ❤️ NY’ ที่ออกแบบโดย Milton Glaser นั้นใช้กันมาตั้งแต่ปี 1976 สมควรแก่เวลาที่โลโก้เก่าจะได้เกษียณเสียที เมื่อเดือนมีนาคม 2023 จึงได้ออกแบบ CI ใหม่ให้กับ 5 เขตปกครอง หรือโบโรห์ (borough) ของเมือง ได้แก่ แมนฮัตตัน บรูกลิน ควีนส์ บรองซ์และสเตเทนไอส์แลนด์ โดยใช้ต้นแบบจาก CI ของเมืองนิวยอร์กที่บริษัทออกแบบ Wolff Olins ทำไว้เมื่อปี 2006 ผสมผสานกับพาเลตต์สีจากสัญลักษณ์ประจำเมือง ได้แก่ สีเขียวลิเบอร์ตี้ สีเหลืองแท็กซี่ สีส้มเฟอร์รี่  สีล็อกซ์พิงค์ สีน้ำตาลบราวน์สโตน และสีน้ำตาลอ่อนร็อกอะเวย์

Photos: Courtesy of New York City Tourism + Conventions

ปี 2023 มีนักท่องเที่ยวมายัง 5 เขตปกครองของนิวยอร์กซิตี้มากถึง 56 ล้านราย ช่วยเติมเงินให้เศรษฐกิจเกือบ 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่การท่องเที่ยวนิวยอร์กซิตี้เปลี่ยน CI ให้ดูกระฉับกระเฉงไฉไลขึ้นก็เพื่อสะท้อนว่ามหานครที่ไม่เคยหลับใหลนี้เต็มไปด้วยพลังความมีชีวิตชีวายิ่งกว่าที่เคย

Paris

Photos: carrenoir.com

ในปี 2019 เทศบาลเมืองปารีสให้สตูดิโอออกแบบ Carré Noir ปรับ CI ของเมือง โดยดีไซน์ใหม่อ้างอิงจาก Nave สัญลักษณ์รูปเรือของกรุงปารีสที่ใช้กันมานับพันปี สะท้อนคำขวัญของปารีสที่ว่า Fluctuat Nec Mergitur ผันผวนแต่ไม่มีวันล่มจม

Photos: carrenoir.com

CI ใหม่จึงแสดงความเก่าแก่และแข็งแกร่งของเมืองผ่านสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ ตัดสีน้ำเงินสดใสและสีแดงที่เป็นสีเก่าแก่ประจำเมือง ทั้งยังเปลี่ยนถ้อยคำเดิม Mairie de Paris เป็น Ville de Paris (ฉบับปรินต์) หรือคงเหลือแค่ Paris (เวอร์ชันดิจิทัล) ที่ใช้ฟอนต์ Montserrat ของ Google โดยไม่ได้ออกแบบฟอนต์เฉพาะของเมือง

Seoul

Photos: ifdesign.com

กรุงโซลเปลี่ยน CI เดิม โดยให้สตูดิโอ BRENDEN ออกแบบใหม่ในคอนเซ็ปต์ ‘SEOUL MY SOUL’ และกลายเป็น CI เมืองแห่งเดียวในโลกที่คว้ารางวัลชนะเลิศสาขา Communication, City Branding จาก iF Design Award 2024 ในเยอรมนี ซึ่งเป็นเวทีประกวดด้านดีไซน์ท็อป 3 ของโลก ให้หลังจากที่เทศบาลกรุงโซลประกาศใช้ CI ใหม่เพียงแค่ 6 เดือน

 

Photos: ifdesign.com

‘SEOUL MY SOUL’ หมายถึงกรุงโซล เมืองที่ประทับใจชาวโซลและผู้คนทั่วโลก ทั้งยังเป็นมากกว่าเมืองที่เป็นสถานที่ แต่รวมไปถึงวิถีชีวิตและภาพลักษณ์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่แห่งนี้ กรุงโซลจึงเป็น ‘หัวใจ’ ของพลเมืองโซลนั่นเอง

Taiwan

Photo: Taiwan Tourism TH

ตั้งแต่ปี 2011 การท่องเที่ยวไต้หวันโปรโมตประเทศในคอนเซ็ปต์ Taiwan – The Heart of Asia หลังจาก 13 ปี ผ่านวิกฤตโควิด และแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ในปี 2024 ไต้หวันจึงรีแบรนด์ใหม่เป็น TAIWAN – Waves of Wonder โลโก้ใหม่ออกแบบโดยเอเจนซี 2 แห่งคือ Dentsu และ Bito ก่อตั้งโดย Keng Ming Liu ที่เพิ่งได้รับรางวัล Presidential Innovation Award

 

Photos: Taiwan Tourism TH

คอนเซ็ปต์ใหม่คือการเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสคลื่นสิ่งมหัศจรรย์ในไต้หวันที่แฝงอยู่ตามเทือกเขา มหาสมุทร ถนนคดเคี้ยว ตลอดจนทางรถไฟ และปรับเปลี่ยนภาพจำไต้หวันจาก ‘จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว’ ให้เป็น ‘ไต้หวัน-การท่องเที่ยวที่มีความหมาย’ (purposeful travel) ที่มีแหล่งท่องเที่ยวต่างๆให้สัมผัสตลอดปี

CI เมืองใดเข้าตาสุด ขอเสียงโหวต!

Berlin Photo: Twitter

Helsinki Photo: www.canny-creative.com

Lisbon Photo: Behance

London Photo: Agency Saffron

Madrid Photo: Pinterest

Melbourne Photo: Behance

Oslo Photo: Dezeen

Rome Photo:Behance

Sao Jose Photo: Behance

Tokyo Photo: Behance

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top