การห่างจากสังคมและการทำงานระยะไกล หรือ “Remote Working” จากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้คนทำงานประสบปัญหาความเครียดมากขึ้น ตลอดจนเกิดความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อ ‘สุขภาพจิต’ แต่เรารู้หรือไม่ว่า ‘สุขภาพจิต’ หมายถึงอะไร
‘สุขภาพจิต’ มีความหมายไกลไปกว่าการไม่มีความผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความไว้ว่า “สุขภาพจิตดี”[1] หมายถึง การที่บุคคลมีสภาพสุขภาวะทางจิตดีในการรับมือกับความเครียดในชีวิต สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ ใครก็ตามต่างก็สามารถตกอยู่ในสภาวะสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ได้ ซึ่งนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส[2] (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะรู้ได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นเหมือน “ฆาตกรเงียบ” โดยในความเป็นจริงแล้ว อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่คนเหล่านั้นจะเปิดใจยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาสุขภาพจิต และเมื่อถึงตอนนั้นก็อาจจะสายเกินไปแล้ว
แม้ปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่จริง จากผลการสำรวจสุขภาพจิตในประเทศไทยของกรมสุขภาพจิต พบว่าบุคลากรทางการแพทย์มีระดับความเครียดเพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 7.9% ในขณะที่ประชาชนทั่วไปมีระดับความเครียดเพิ่มขึ้นจาก 2.7% เป็น 4.2% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19[3] อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังมีรายงานว่า คนจำนวนเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก
มีปัญหาสุขภาพจิต[4] โดยผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิตอย่างรุนแรง[5] จะเสียชีวิตเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีความเจ็บป่วยทางจิตถึง 20 ปี[6]
แต่ถึงกระนั้น ปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นเรื่องที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก และสำหรับหลาย ๆ คน เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึง เพราะผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ในประเทศต่าง ๆ ล้วนมีทัศนคติต่อปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน การมีสุขภาวะทางจิตที่ไม่แข็งแรงมักถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ ดังนั้น บางคนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ในขณะที่บางคนปฏิเสธปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ นอกจากนี้ การถูกตีตราทางสังคมและค่าใช้จ่ายในการรักษา ทำให้คนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษา[7] และต้องจัดการกับปัญหาเพียงลำพัง ซึ่งนำไปสู่วงจรแห่งความเครียดและความสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก ดังนั้น เพื่อนร่วมงาน นายจ้าง และหัวหน้างาน จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่และให้ความสำคัญ
กับคนทำงานที่กำลังอยู่ในภาวะนี้ และต้องหมั่นสังเกตปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญในแต่ละวัน เพราะไม่ควรมีใครต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตแต่เพียงลำพัง
สุขภาพจิตในที่ทำงาน
การระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้วิกฤตสุขภาพจิตทั่วโลกทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคนทำงานรุ่นใหม่ในประเทศไทยกว่า 7 ใน 10 คน ระบุว่าการระบาดนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขา นายจ้างจึงต้องตระหนักว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้นกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน เพราะปัจจุบันคนทำงานต้องรีบทำงานให้เสร็จภายในกำหนดเวลา บางคนถึงกับใช้วันลาเพื่อจะทำงานได้มากขึ้น และที่แย่ไปกว่านั้น คือ การไม่สื่อสารปัญหาเหล่านี้ในที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น 63%
ของพนักงานรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าพวกเขาลางานเพราะมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นผลให้คนในองค์กรขาดความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่คนทำงานต้องเผชิญมานานหลายปี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดของโควิด-19 ได้สิ้นสุดลง และบริษัทต่าง ๆ พยายามที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าเพื่อชดเชยกับเวลาที่
สูญเสียไป ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับคำแนะนำที่ว่าให้ถอยกลับไปตั้งหลักเพื่อเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ แต่นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ เมื่อเราได้ไตร่ตรองถึงบทเรียนสำคัญในปีที่ผ่านมา เราควรตระหนักว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น เพื่อนร่วมงานของเราได้ร่วมเผชิญพายุลูกใหญ่กับเรา พวกเขาได้ผจญกับความท้าทายหรือบททดสอบที่ไม่เคยมีมาก่อน และได้เอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนและการคิดใหม่ ๆ ด้วยความยืดหยุ่นและความอดทน ซึ่งหากพวกเขาขาดความบากบั่นอุตสาหะร่วมกัน บริษัทก็จะไม่สามารถอยู่รอดจากสถานการณ์นี้ได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “คน” ควรมาก่อนเสมอ ความคิดนี้จะช่วยให้เราสามารถดูแลพนักงานให้มีความสุข มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจแข็งแรง และเรายังสามารถปูเส้นทางสำหรับการสร้างอนาคตการทำงานให้แก่พวกเขาได้ มันจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ควรทำอีกด้วย จากการศึกษาล่าสุดขององค์การอนามัยโลก เขาประเมินว่าทุก ๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนไปกับการรักษาโรคทางจิตที่พบบ่อย จะได้รับผลลัพธ์ในด้านสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นเป็นมูลค่า 4 ดอลลาร์สหรัฐ[1].
ในทางกลับกัน หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตได้จะเกิดต้นทุนในการทำงานสูงมาก เพราะไม่เพียงแต่ขวัญกำลังใจของคนทำงานจะลดลงและพนักงานอาจจะไม่อยากทำงานอยู่กับองค์กรนาน ๆ แต่ปัญหาด้านสุขภาพจิตยังทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเสียไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สุขภาพจิต
ที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อพนักงานทั้งในทางส่วนตัว และส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างและลูกจ้างต้องตระหนักว่าสุขภาพจิตเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวม และควรทำให้สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติแทนการถูกตีตราในสังคม เพื่อให้เราสามารถดูแลสุขภาพจิตของพนักงานในที่ทำงานได้
ข้อเสนอแนะ
· อย่ากลัวที่จะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่เคยประสบมาก่อน ในช่วงแรกอาจจะมีคำถามมากมายและการพูดคุยอาจจะน่าอึดอัดบ้าง แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านทั่วโลก สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือคุณไม่ได้อยู่คนเดียว และเมื่อคุณเปิดใจ คุณจะพบว่ามีคนอื่นมากมายที่เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับคุณ สิ่งที่คุณต้องทำเป็นก้าวแรกคือคุณต้องมีศรัทธาและเชื่อมั่นว่ามีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือและสนับสนุนในยามที่คุณมีปัญหา แต่หากคุณไม่ได้ประสบภาวะดังกล่าว ลองหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือคนรอบข้างได้ในอนาคต
· ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ นอกเหนือจากการสนับสนุนที่ดีจากที่บ้านแล้ว คุณควรซื่อสัตย์และโปร่งใสกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ที่ 3เอ็ม เราเปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดคุยกับหัวหน้างานถึงแนวทางการทำงานที่ชอบผ่านโปรแกรม FlexAbility ซึ่งโปรแกรมนี้ส่งเสริมให้หัวหน้างานเข้าใจ สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือพนักงานด้วยการขจัดอุปสรรคที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม โปรแกรมนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับทุกคน จึงต้องมีการปรับใช้ตามหน้าที่รับผิดชอบของพนักงานและสถานการณ์ เราเชื่อว่าการสื่อสารแบบเปิดใจจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีและส่งผลให้การทำงานดีและมีประสิทธิภาพ
· หาแรงบันดาลใจและลองใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ในการเผชิญปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายใหม่ ๆ ที่คุณอยากลอง การฝึกสมาธิ การทำประโยชน์ให้แก่สังคมหรือชุมชนรอบตัว ตลอดจนการมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อจะได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดใหม่ ๆ ในการรับมือกับความเครียด ตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือให้พนักงานผ่านสถานการณ์นี้ได้ ที่ 3เอ็ม เรามีการจัดงาน Global Virtual Well-being Fair เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จะช่วยส่งเสริมให้เขามีสุขภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และความเป็นอยู่ที่ดี
· ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น 3เอ็ม ได้จัดทำ Employee Assistance Program (EAP) ที่คอยให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่พนักงานตลอดเส้นทางอาชีพ โดยโปรแกรมนี้มีบริการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีจัดการชีวิตในฐานะพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ซึ่งเป้าหมายของโปรแกรมต่าง ๆ เหล่านี้ คือเพื่อให้พนักงานได้รับความช่วยเหลือในทุกมิติของชีวิตเมื่อต้องการ
สรุปก็คือ การเสริมสร้างการมีสุขภาพจิตดีเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการเดินทางแทนที่จะมีจุดสิ้นสุดที่ตายตัว ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และการสนับสนุนที่เหมาะสม จะทำให้เราสามารถก้าวไปสู่การเป็นสถานที่ทำงานที่ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Inclusive) และการร่วมมือร่วมใจระหว่างพนักงาน (Collaborative) การทำเช่นนั้น คือการใช้สติในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อเราทุกคน และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ หากเรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ เอาใจใส่ และเห็นอกเห็นใจคนทำงานในยุคศตวรรษที่ 21