3 วิแรกเรียกเอนเกจเมนต์ เทคนิคไหนเนรมิตยอดวิว ยอดไลก์ ยอดแชร์

มนุษย์มีระยะเวลาให้ความสนใจอย่างจำกัด ผลการศึกษาในปี 2000 พบว่าคนเรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียง 12 วินาที และในปี 2015 ผลการสำรวจหัวข้อเดียวกันนี้พบว่ามนุษย์มีระยะเวลาความสนใจที่สั้นลงเหลือเพียง 8 วินาทีกว่าๆ เท่านั้น

และทำไมนักการตลาดตลอดจนครีเอเตอร์ควรให้ความสำคัญกับ 3 วินาทีแรกของคลิป เพราะนอกจากเหนือจาก 8 วินาที ปราบเซียนแล้ว ข้อมูลจากเฟซบุ๊กระบุว่า 65% ของผู้ที่ดูคลิปวิดีโอ 3 วินาทีแรกผ่านไป มีแนวโน้มว่าจะดูต่อไปอย่างน้อย 10 วินาที”

ซึ่งภายใต้เหตุผลดังกล่าวเราจะมาพูดถึงวิธีเปิดหัวคลิป 3 วินาทีอย่างไรให้หยุดนิ้วคนดูโดยที่เขาไม่เลื่อนผ่าน และบทความนี้ผู้เขียนจะทำการปรับใช้ทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติต่างๆ กับคลิปวิดีโอของตัวเองเสมือนเป็นกรณีศึกษา แล้วจะวิเคราะห์ว่าทฤษฎีพูดจริงหรือไม่จริง

Photo: Freepik

ฉากสะกดใจใน 3 วิ

แนวคิดนี้กล่าวว่า 3-8 วินาทีแรกสำคัญมาก ดังนั้นคุณต้องมีการวางแผนก่อนล่วงหน้าว่าจะเปิดด้วยฉาก บุคคล หรือสถานการณ์ที่ถือว่าเป็นหมัดเด็ดของคุณ

ผู้เขียนจึงได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในคลิป ‘เที่ยวยังไงให้ได้หมื่นหก’ ซึ่งเป็นวิดีโอพาเที่ยวประจวบฯ และเนื้อหาเป็นเรื่องของการเที่ยวไปทำงานไปในรูปแบบ Workcation

https://www.tiktok.com/@raw_culture/video/7375507425186581776

คลิป ‘เที่ยวยังไงให้ได้หมื่นหก’ ของผู้เขียน ที่ใช้เทคนิค 3 วิ สะกดใจคน

ก่อนหน้านั้นผู้เขียนเกือบจะเปิดหัวคลิปด้วยการยืนพูดเป็นพิธีกรเปิดรายการตามปกติ โดยจะยืนหน้าร้านขายขนมของตัวเองพร้อมพูดว่า “วันนี้เราจะพาไปทำงานพร้อมเที่ยว” แล้วค่อยๆ เผยให้เห็นไฮไลต์สำคัญหรือฉากธรรมชาติสวยๆ ในลำดับต่อมา

ซึ่งแนวคิดค่อยๆ เปิดเผยจุดไคล์แม็กซ์นี้ เป็นแนวคิดแบบยุคทีวีรุ่งเรืองในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาวารสารศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบคนทำทีวีที่กึ่งบังคับผู้ชมต้องอยู่ดูจนจบ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือโฆษณา ราวกับว่าถ้าอยากดูฉากสำคัญก็จำเป็นต้องรอ

แต่ไม่ใช่ยุคที่ผู้ชมสามารถปัดคลิปคุณปลิวหายได้ใน 3 วิ!

Photo: Freepik

คิดใหม่ทำใหม่ เมื่อผู้เขียนเข้าใจในทฤษฎี 3 วินาที ผู้เขียนถามตัวเองก่อนเลยว่า

  • ตลอดทั้งคลิปนี้ ฉากที่ดีที่สุดคืออะไร
  • ทั้งเราและผู้ชมอยากเห็นอะไร
  • คำพูดไหนทำให้ผู้ชมอยากดูต่อ

คำตอบคือฉากโดของคลิปนี้คือชุมชนที่โอบล้อมด้วยภูเขาและทะเล ฉากภาพไทม์แล็ปส์ที่พระอาทิตย์ตกทะเลภายใต้ท้องฟ้าสีรุ้ง หรือฉากคลาสสิกอย่างยืนเอาเท้าจุ่มน้ำในทะเล แม้ว่าจะเป็นฉากไฮไลต์ที่อยากจะเก็บไว้ท้ายๆ เพื่อให้ผู้ชมค่อยๆ อินกับเรื่องไปจนถึงปมปะทุ แต่ผู้เขียนจำเป็นต้องเอาฉากที่ดีที่สุด 3 ฉากนี้มานำเสนอเหล่าผู้ชม หวังว่าจะหยุดนิ้วได้เกิน 3 วินาที รวมถึงผู้เขียนก็พยายามปล่อยซีนเด็ดๆ ออกมาเป็นระยะระหว่างคลิปเพื่อไม่ให้ผู้ชมที่ดูเกิน 3 วิแล้วเบื่ออีกด้วย

ผลคือเมื่อทำตามทฤษฎี เอนเกจเมนต์ค่อนข้างโอเคในระดับครีเอเตอร์ตัวเล็กตัวน้อย ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น พวกเขาเข้าใจได้ทันทีว่าคลิปนี้สอนให้หาเงินพร้อมเที่ยว เวลารับชมโดยเฉลี่ยของผู้ชมคือ 6 วินาที และเป็นคลิปที่ผู้เขียนได้ลูกค้าเป็นรีสอร์ตกับตลาด เนื่องจากพวกเขาดูคลิปนี้

Photo: Freepik

เข้าสู่ประเด็นให้เร็วที่สุด

เราไม่มีเวลาประดิษฐ์คำหรืออารัมภบทให้สวยหรู ซึ่งภายใน 3 วินาทีแรกคุณต้องทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ทันทีว่าสารที่ต้องการส่งไปคืออะไร และนอกจากภาพสวยๆ หรือช็อตเด็ดดังที่กล่าวมาแล้ว บทบรรยายหรือ Voice Over ตลอดจนตัวอักษรต่างๆ จะมีส่วนช่วยให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายขึ้น

แนวคิดแนะนำให้เปิดคลิปด้วยประโยคที่เข้าใจง่ายแต่สร้างปฏิสัมพันธ์ได้ดี อย่างเช่นประโยคคำถามเชิงแนะนำ เช่น “เที่ยวยังไงให้ได้เงินหมื่นหก” หรือประโยคเล่นใหญ่ที่สร้างอารมณ์ตกใจ สะเทือนใจ ตลก ขบขัน ฯลฯ เช่น หากอยากพูดถึง “วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง” ให้เปลี่ยนเป็น “ทุกครั้งที่กรวดน้ำอย่าทำสิ่งนี้เด็ดขาด” เป็นต้น

Photo: Freepik

มู้ดแอนด์โทนที่เข้าใจผู้ชม

กำหนดมู้ดแอนด์โทนของช่องของคุณให้ดี ทั้งโทนภาพ สีสัน น้ำเสียง ภาพลักษณ์ สำเนียงของผู้บรรยาย ตลอดจนเพลงประกอบต่างๆ ทุกอย่างต้องมีการคิดและต้องมอบผลลัพธ์ในเชิงกระตุ้นอารมณ์ให้กับคนดูได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ไม่ว่าช่องของคุณจะเป็นคอนเทนต์ที่เรียลมากๆ ก็ตามที

ในหัวข้อนี้ผู้เขียนมองว่าปรับเปลี่ยนได้แต่ต้องคงความเป็นตัวตน โดยแรกเริ่มผู้เขียนจะมีสมุดจดโดยแบ่งตารางออกเป็น 2 ช่อง คือสิ่งที่อยากนำเสนอและผลตอบรับของผู้ชม

ผู้เขียนกำหนดในช่องสิ่งที่ต้องการนำเสนอด้วย 2 หัวข้อว่า

1.ไลฟ์สไตล์-คัลเจอร์เชิงสร้างสรรค์

2.ความสุขในเรื่องง่ายๆ

เมื่อมีช่วงทดลองปล่อยคลิปออกไป 3 คลิปแรก ปรากฏว่าฟีดแบ็กจากผู้ชมระบุว่า พวกเขาชอบที่ช่องพูดอะไรออกมาดูอิน พวกเขาชอบที่มีช่องมีมุมมองสร้างสรรค์ พวกเขาชอบความเป็น LGBT ที่มีบุคลิกภาพแบบอ่อนหวาน พวกเขาชอบเวลาคนรุ่นใหม่พูดเรื่องเทพฮินดู ส่วนฟีดแบ็กด้านลบคือช่องดูเป็นทางการไป

Photo: Freepik

ผู้เขียนจึงนำทุกอย่างมาปรับจนออกมาเป็น ตัวตนแบรนด์ 5 อย่าง ดังนี้

1.ไลฟ์สไตล์-คัลเจอร์ในเชิงครีเอทีฟ

2.พลังบวก ฮีลใจ ความสุขกับเรื่องง่ายๆ

3.เป็นตัวของตัวเอง อ่อนหวาน น่ารัก

4.รู้เยอะ รู้ลึก

5.อารมณ์ขันแบบรีแล็กซ์

โดยเลือกใช้สีชมพูพาสเทลและขาวเป็นหลักเพื่อสื่อถึงความบริสุทธิ์และอ่อนหวาน ใช้ฟอนต์และโลโก้ด้วยตัวอักษรฉวัดเฉวียนที่สื่อถึงความคล่องแคล่วปราดเปรียวและความคิดสร้างสรรค์ ใช้น้ำเสียงที่กระตือรือร้น และคอยหยอดมุขตลอดแบบสุภาพเป็นช่วงๆ ผู้เขียนไม่ทำสคริปต์เพราะทำสคริปต์แล้วจะไม่เป็นตัวของตัวเอง เน้นไปด้นสดโดยถามข้อมูลกับชาวท้องถิ่นและปรับมาเป็นมุมมองเชิงสร้างสรรค์ของตัวเอง

และผลลัพธ์คือคลิปครั้งมียอดวิวและเอนเกจเมนต์ที่ดีขึ้น มียอดผู้ติดตามที่กำลังน่ารัก ดังนั้นมู้ดแอนด์โทนที่เราอยากสื่อสารออกไปไม่อยากให้คิดเอาฝ่ายเดียว อยากให้ลองฟังเสียงของกลุ่มผู้ชมของเราว่าเขาคิดเห็นอย่างไรด้วย

Photo: Freepik

เข้าใจ Pain Point และสามารถเชื่อมต่อทางอารมณ์

หากเปรียบเทียบในช่องแล้ว มี 3 คลิปที่ผู้เขียนทำแล้วยอดแซงคลิปอื่นๆ นั่นคือคลิปไหว้พระแม่ลักษมีแบบเมตาเวิร์ส ไหว้พระพิฆเนศพร้อมกินร้านโคตรยำ และเที่ยวยังไงให้ได้หมื่นหก ผู้เขียนพยายามหาเหตุผลเสมอว่าเพราะเหตุใด จนได้มาอ่านแนวคิดการทำคอนเทนต์ที่ต้องเข้าใจ Pain Point และสามารถสร้างสะพานเชื่อมโยงทางอารมณ์

@raw_culture

ไหว้พระแม่ลักษมียุค 5G แบบคนทำคอนเทนต์ออนไลน์…ขอพรสำเร็จ! ได้ทั้ง ‘เงิน’ ได้ทั้ง ‘งาน’ #พระแม่ลักษมี #สายมู #สายมูห้ามพลาด🔮🙏🏻 #มูเตลู #มูเตลูเพื่อความปัง #วัดแขก #วัดพระศรีมหาอุมาเทวี #ไหว้พระพิฆเนศ #พระพิฆเนศ #พระแม่อุมาเทวี #พระแม่ทุรคา #ไหว้พระ #ไหว้พระ9วัด

♬ Seruling Kalonaho – vmozjr

คลิปไหว้พระแม่ลักษมีแบบเมตาเวิร์สของผู้เขียน

ทั้ง 3 คลิปนี้ ตอบโจทย์ความเจ็บปวดตามสภาพเศรษฐกิจ ผู้คนเหนื่อยกับการดิ้นรนหาเงิน ผู้คนต้องการสิ่งปลอบประโลม  ขณะเดียวกันผู้คนชอบความง่ายและความรื่นเริง ดังนั้นการไหว้พระแม่ผู้ประทานทรัพย์โดยใช้เพียงอุปกรณ์สื่อสารข้างตัว และการขอความสำเร็จของพระพิฆเนศแถมได้กินของอร่อยจึงเป็นสิ่งที่ผู้ชมอินได้ง่าย

@raw_culture

ตะลุยห้วยขวาง สักการะองค์พ่อพระพิฆเนศที่สี่แยกห้วยขวาง-รัชดา พร้อมพาไปกินยำที่ ‘ร้านโคตรยำ’ รับองค์ ‘พระพิฆเนศปางเสวยสุข’ กลับบ้าน #พระพิฆเนศ #พระพิฆเนศเทพแห่งความสําเร็จ #พระพิฆเนศห้วยขวาง #ห้วยขวาง #พระพิฆเนศปางเด็ก #พระพิฆเนศปางเสวยสุข #พระพิฆเนศเบบี้ #พระพิฆเนศปางมหาเศรษฐี #อินเดีย #เที่ยวอินเดีย #เลาะคัลเจอร์ #RawCulture #วัดแขก #วัดแขกสีลม #พระแม่อุมา

♬ เสียงต้นฉบับ – เลาะคัลเจอร์ – RAW CULTURE – เลาะคัลเจอร์ – RAW CULTURE

คลิปไหว้พระพิฆเนศรับองค์พ่อที่โคตรยำห้วยขวาง

ในส่วนของคลิปเที่ยวประจวบฯ นั้นผู้เขียนสามารถนำเสนอในแบบ “พาเที่ยวประจวบฯ คลองวาฬ อ่าวมะนาว ใน 3 วัน” ก็ได้ แต่ที่ผู้เขียนใส่กิมมิกมาเป็น “เที่ยวยังไงให้ได้เงินหมื่นหก” เนื่องเพราะจับ Pain Point ของผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวว่า มักอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีแต่ต้องใช้จ่ายให้น้อยที่สุด โดยกลับมาต้องไม่รู้สึกผิดที่เงินหายไป ดังนั้นผู้เขียนเลยคลอดคลิปนี้ออกมา

ดังนั้นใน 3 วินาทีแรกคุณจะต้องทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าคุณกำลังแตะ Pain Point ของเขา และมี Solution ให้หากตั้งใจดูจนจบ รวมถึงคุณต้องสร้างสะพานที่เชื่อมต่อทางอารมณ์กับพวกเขา ให้เขารู้สึกไว้ใจในแนวคิดของคุณ ให้เขารู้สึกขบขัน สงสาร หรือกระตือรือร้นไปพร้อมคุณ

Photo: Freepik

คนและสัตว์ช่วยได้

คำแนะนำจำนวนมากว่าให้ใช้คนและสัตว์ในการเปิดหัวคลิป แต่จากที่ผู้เขียนลองนำไปปรับใช้ คลิปวิดีโอที่เริ่มต้นด้วยการเปิดหน้าเป็นพิธีกรของผู้เขียนไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าผู้เขียนไม่ใช่คนที่เป็นที่รู้จักและขณะเดียวกันก็ไม่มีสถานการณ์พิเศษใดๆ ที่กระตุ้นอารมณ์นอกจากการเปิดหน้าพูดราวกับเป็นพิธีกรธรรมดา แต่ในขณะที่ซีนเปิดที่ใช้ภาพสัตว์ เช่น แมว หมา วัว จะได้กระแสตอบรับที่ดีเสมอ

Photo: Freepik

เปิดด้วยด้อมใหญ่

ขออธิบายคำว่า ‘ด้อม’ มาจากคำว่า ‘Fandom’ ที่แปลว่ากลุ่มแฟนคลับขนาดใหญ่ และไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนคลับดาราเท่านั้น ผู้เขียนเองสังเกตว่ายอดคลิปวิดีโอสายมูฯ เมื่อเปิดด้วยภาพเทพฮินดูที่มีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่จะทำให้คลิปนั้นมีเอนเกจเมนต์ได้ง่ายโดยเฉพาะคอมเมนต์ใต้คลิปที่ดีมาก

เช่น คลิปไหว้พระพิฆเนศที่ห้วยขวาง ซึ่งถ้า 3 วินาทีแรกผู้เขียนใช้ตัวเองเป็นพิธีกรยืนอยู่หน้าห้วยขวางคงจะหยุดนิ้วคนได้ไม่ดีเท่ากับซีนภาพพระพิฆเนศองค์ประทานองค์ใหญ่แล้วพากย์เสียงกำกับว่า “วันนี้พาไปมูฯ กับองค์พ่อพระพิฆเนศที่ห้วยขวาง” และคลิปนี้กลายเป็นคลิป 1 ใน 3 ที่คลิปดีที่สุด ที่คลิปอื่นๆ ยังตีตกไม่ได้

เปรียบเทียบระหว่างคลิปซ้ายที่ใช้คนที่ไม่มีด้อมเปิดหน้าเป็นพิธีกร

และคลิปขวาที่เปิดคลิปด้วยพระพิฆเนศ พบว่าคลิปขวามียอดวิวสูงกว่าค่อนข้างมาก

Photo: Tiktok @Raw_Culture

อย่าให้เขาคาดเดาได้

แนวคิดนี้ตรงกับเหตุผลของผู้เขียนที่ตั้งใจทำช่องไลฟ์สไตล์-คัลเจอร์ในเชิงครีเอทีฟ เพราะผู้เขียนไม่อยากพาไปเที่ยวแค่ ขึ้นรถทำกิจกรรมวันที่ 1 2 3 แล้วขึ้นรถกลับ ผู้เขียนสนุกกับการที่ผู้ชมตื่นเต้นว่าวีคนี้เรามีการตีความ ‘การท่องเที่ยว’ แต่ละ EP ออกมาแบบไหน

ซึ่งแนวคิดนี้กล่าวว่ายิ่งถ้าคุณทำให้เขาเดาได้ง่ายว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร พวกเขามีสิทธิ์ที่จะปัดคุณทิ้งได้เร็วเท่านั้น นั่นเป็นที่มาว่าทำไมผู้เขียนไม่ทำคลิปพาไปไหว้พระแม่ลักษมีธรรมดา แต่เป็นไหว้พระแม่ลักษมีแบบเมตาเวิร์ส หรือพาไปเที่ยวประจวบฯ ธรรมดา แต่เป็นเที่ยวประจวบฯ ยังไงให้ได้เงินหมื่นหก เป็นต้น

Photo: Freepik

นี่คือผลลัพธ์จากแนวคิดที่ผู้เขียนนำมาปรับใช้จริงและเกิดผลดีกับตัวเอง ในฐานะครีเอเตอร์ตัวน้อยๆ หวังว่าวิชาปฏิบัติจริงครั้งนี้จะช่วยให้ผู้อ่านที่เป็นนักการตลาดหรือครีเอเตอร์หน้าใหม่เข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น แฮชแท็ก #ทีมคอนเทนต์สู้ๆ

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก:

https://www.cincopa.com/blog/8-tricks-to-get-video-viewers-attention-in-the-first-3-seconds/

https://www.vyrill.com/blog/the-importance-of-the-first-3-seconds-in-your-video

you might like

Scroll to Top