6.5 ซม. X 0.2 มม. ของ ‘ไม้จิ้มฟัน’ พื้นที่รวมความครีเอทีฟและโซลูชันของมนุษยชาติ

Henry Petroski เป็นอาจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและประวัติศาสตร์ที่ Duke University สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังสนใจสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จนเขียนหนังสือได้เป็นเล่มๆ อาทิ ส้อม คลิปหนีบกระดาษ ซิป ดินสอ หรือไม้จิ้มฟัน

อาจารย์เฮนรีกล่าวว่า ‘การแคะฟัน’ อาจเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ก็เป็นได้ กล่าวคือมนุษย์แคะฟันราวๆ 2 ล้านปีมาแล้ว ส่งผลให้ ‘ไม้จิ้มฟัน’ คือหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติไปด้วย เรียกว่าไม้จิ้มฟันเก่าแก่พอๆกับค้อนหินที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อ 2 ล้านปีก่อนเลยทีเดียว

Photo: Amazon

ถามว่ารู้ได้ยังไงว่ามนุษย์เมื่อ 2 ล้านปีก่อนแคะฟัน นักมานุษยวิทยาพบซากฟันมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล และสงสัยว่าทำไมมีรูหยาบที่ฟันเหมือนโดนเซาะแคะมาเป็นเวลานาน จึงได้ทำการทดลองเทียบเคียงกับวัสดุต่างๆ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูร่องที่เกิดจากการแคะฟันนั่นเอง

ใกล้เข้ามาหน่อยในยุคโรมันโบราณ มีหลักฐานว่าจักรพรรดิเนโรเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องโถงโดยทรงคาบไม้แคะพระทนต์ไว้ที่พระโอษฐ์

การตลาดแบบปั่นดีมานด์ ตบด้วยซัพพลาย

โปรตุเกสในศตวรรษที่ 19 มีแบรนด์ขายไม้จิ้มฟันซึ่งได้แพร่หลายต่อไปยังบราซิล และที่นั่นเอง Charles Forster ชาวบอสตันที่เดินทางไปบราซิลได้เห็นชาวเมืองทำพฤติกรรมที่อเมริกันชนเช่นเขาไม่เคยพบเจอมาก่อนคือ เอาไม้ปลายแหลมเล็กๆมาแคะตามร่องฟัน

“The Wedding At Cana” ภาพเขียนปี 1562 ของ Paolo Veronese วาดผู้หญิง(เสื้อฟ้า)กำลังใช้ไม้จิ้มฟันบนโต๊ะอาหาร

Photo: Public Domain/WikiCommons

ไม้จิ้มฟันทำจากทอง ไม้จิ้มฟันเขี้ยวกวางจากอินเดีย และกล่องไม้จิ้มฟันทำจากไม้ของญี่ปุ่น

Photo: The Pitt Rivers Museum, University of Oxford, England

ชาร์ลส์ ฟอร์สเตอร์ปิ๊งไอเดียธุรกิจขึ้นมา และเมื่อเดินทางกลับบอสตันก็ได้เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ล่าสุดในสหรัฐอเมริกา แต่ครั้นจะเดินเข้าไปเสนอขายไม้จิ้มฟันตามร้านอาหารเอาดื้อๆ ก็เกรงจะถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ของไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครใช้หรอก แล้วจะซื้อไปทำไมกะอีไม้แหลมเล็กๆนี่

นั่นเองที่ ‘กลยุทธ์การตลาด’ เข้ามาช่วยเปิดการค้าไม้จิ้มฟันในอเมริกา

ชาร์ลส์จ้างนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหลายคนให้ไปกินตามร้านอาหาร แล้วถามหากับทางร้านว่า “มีไม้จิ้มฟันหรือเปล่า” แน่นอนว่านอกจากทางร้านจะไม่มีแล้ว ยังงงเต้กว่านักศึกษาฮาร์วาร์ดผู้ชาญฉลาดทั้งหลายนี่พูดถึงอะไรกัน

วันต่อมา ชาร์ลส์ไปยังร้านอาหารที่จ้างให้เหล่านักศึกษาฮาร์วาร์ดไปกินเมื่อวันก่อน และเสนอขายไม้จิ้มฟัน ปรากฏว่าทางร้านสั่งออร์เดอร์รัวๆทันที

ชาร์ลส์ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้ตามห้างร้านต่างๆ คือจ้างคนให้ไปถามหาว่ามีไม้จิ้มฟันขายหรือไม่ แล้วค่อยทำตัวเป็นเซลส์ไปเสนอขายไม้จิ้มฟันตามหลัง

เขาสร้าง ‘ดีมานด์’ ให้เกิดขึ้นก่อน แล้วตบด้วย ‘ซัพพลาย’ แบบทันท่วงที

ด้วยกลยุทธ์นี้เอง ชาร์ลส์ ฟอร์สเตอร์ทำให้ไม้จิ้มฟันกลายเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ขาดไม่ได้ของการกินอาหารไปทั่วอเมริกา

ไม้จิ้มฟันจากโปรตุเกสที่ดูหรูหราราวกับเครื่องประดับ พร้อมสลักด้ามและทำป้ายเป็นงานคัสตอมเมดได้ด้วย

Photo: Catherine Petroski

ไม้ที่ขาดไม่ได้

‘ไม้จิ้มฟัน’ ไม่ได้เป็นแค่ไม้ปลายแหลมเล็กๆ ยาว 2 นิ้วเท่านั้น ในบางยุคสมัยยังเป็นเครื่องแสดงฐานะได้ด้วย เช่น คนมั่งมีใช้ไม้จิ้มฟันทำจากโลหะ มีลักษณะโค้งเหมือนเคียว หรือเจาะรูปลายด้านหนึ่งแล้วร้อยโซ่ห้อยไว้เหมือนสร้อยหรือเครื่องประดับ ถึงกับมีภาพเหมือนบุคคลเด็กชายจากตระกูลร่ำรวยที่ถือไม้จิ้มฟันไว้ในมือมายืนให้จิตรกรวาดภาพเหมือนด้วยซ้ำ

ไม้จิ้มฟันดีไซน์ต่างๆในยุคโรมันโบราณ

Photo: www.smilesarasota.com

ขณะที่บางยุคสมัย ไม้จิ้มฟันทำจากปลายขนห่านที่ใช้ใช้ทำปากกาขนนก แต่ไม้จิ้มฟันแบบนี้ไม่ค่อยทนทาน ส่วนในโปรตุเกสที่ใช้ไม้จิ้มฟันกันมายาวนานมักจะเหลาไม้ด้วยมือและตกแต่งอย่างสวยงาม

แต่ดูเหมือนว่าอาจารย์เฮนรีจะสนใจไม้จิ้มฟันญี่ปุ่นเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับนักออกแบบหลายๆคนที่ชมเปาะว่าไม้จิ้มฟันญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสุดยอดงานดีไซน์ของโลก กล่าวคือ รูปลักษณ์เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยประโยชน์ใช้สอยแบบที่คิดมาแล้วทุกเม็ด

ทำไมไม้จิ้มฟันญี่ปุ่นจึงได้รับการยกย่องปานนั้น

โย่จิ: ไม้จิ้มฟันดีไซน์สุดยอดแบบญี่ปุ่น

ไม้จิ้มฟันญี่ปุ่นหรือโย่จิ (youji) มีด้านแหลมที่ใช้แคะฟันได้เพียงแค่ด้านเดียว ส่วนอีกด้านเป็นปลายทู่ ใช้เป็นที่จับที่ทำรอยบากเป็นร่องเอาไว้ให้สามารถหักออกมาทำเป็นที่วางไม้ไม้จิ้มฟันได้ นอกจากจะทำให้รู้ว่าไม้จิ้มฟันอันนี้ใช้งานแล้ว (เพราะเห็นรอยหักปลายด้านทู่) ยังเป็นการรักษาอนามัย ไม่ต้องวางไม้จิ้มฟันบนพื้นโต๊ะ

Photo: Reddit

ตรงนี้ละที่ทำให้ผู้คนชื่นชมในการออกแบบอย่างพิถีพิถันถึงรายละเอียดเล็กๆแบบขั้นสุดของญี่ปุ่น แต่ทว่าดูเรียบง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นขึ้นชื่อไปทั่วโลกอยู่แล้ว

แต่! เมื่อปี 2022 Kikusui Sangyo Corporation ผู้ผลิตไม้จิ้มฟันในญี่ปุ่นโพสต์ X @kikusui_sangyo ว่า “เวลาบอกว่าเราอยู่ในธุรกิจผลิตไม้จิ้มฟันในญี่ปุ่น อาจจะ 95% เลยที่คนจะพูดว่า ‘ถ้าหักปลายออกก็จะใช้ร่องเป็นที่วางไม้จิ้มฟันได้ใช่ไหม’ แล้วก็ทำหน้าพออกพอใจ แต่จริงๆแล้ว เข้าใจผิดหรือเปล่า

มันเอาไว้ตกแต่งเฉยๆต่างหาก

ข้อสันนิษฐานอีกทางหนึ่งคือ ในยุค 1950 ผู้ผลิตไม้จิ้มฟันในญี่ปุ่นจะเหลาไม้เบิร์ชสีขาวให้ยาวเป็น 2 เท่าของไม้จิ้มฟันทั่วไป เหลาปลายสองข้างให้แหลม แล้วตัดตรงกลางเพื่อได้ไม้จิ้มฟัน 2 อันในการตัดครั้งเดียว

แต่วิธีนี้ทำให้ผิวหน้าของไม้ข้างที่โดนตัดแตกออกจากกันง่าย ทำให้เสียไม้จิ้มฟันไปแบบสูญเปล่า

วิธีแก้คือ ใช้เครื่องเจียรความเร็วสูงเกลาปลายข้างที่โดนตัดให้เรียบ ทว่าเมื่อแก้ปัญหาหนึ่งได้กลับก่อให้เกิดอีกปัญหาตามมาคือ ปลายข้างที่โดนเจียรให้เรียบนั้นเกิดรอยไหม้ดำ กลายเป็นไม้จิ้มฟันหัวดำซะงั้น ซึ่งแลดูไม่สะอาด ไม่น่าเอาเข้าปากเลยใช่ไหม

ทันใดนั้นก็มีคนเมียงๆมองๆตุ๊กตาไม้โบราณของญี่ปุ่นที่เรียกว่า โคเคชิ (小芥子 kokeshi) ทำจากไม้แกะสลักให้เป็นรูปผู้หญิงผมดำใส่กิโมโนมนเกลี้ยงจนดูเหมือนไม่มีแขนขา จึงลองปรับใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันแล้วเซาะร่องตรงปลายด้านหัวดำ ดูเหมือนมีหัวแล้วมีรอยเซาะเว้าเหมือนคอคอดเข้าไป และลากยาวเป็นลำตัวไปจนสุดปลายด้านแหลม

ตุ๊กตาไม้โคเคชิ

Photo: https://mingeiarts.com

ดีไซน์นี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ผู้ผลิตไม้จิ้มฟันในญี่ปุ่น จนกลายเป็น ‘โย่จิ’ ไม้จิ้มฟันญี่ปุ่นที่หักมาเป็นที่วางได้ที่ทั่วโลกรู้จักในทุกวันนี้

เครื่องเจียรของ Kikusui Sangyo Corporation ทำรอยเซาะปลายไม้จิ้มฟัน

Photos: Kikusui Sangyo Corporation (@kikusui_sangyo)

ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจให้มีประโยชน์ใช้งาน หรือเป็นเพียงงานตกแต่งเท่านั้น ทว่าก็น่าทึ่งที่ไม้จิ้มฟันเล็กๆความยาวเพียง 2.5 นิ้ว หนาเพียง 2 มิลลิเมตร แต่บรรจุประวัติศาสตร์ของมนุษย์มายาวนานกว่า 2 ล้านปี และด้วยพื้นที่เพียงเล็กน้อยเพียงเท่านั้นกลับเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการตลาดเรียบง่ายแต่ได้ผลลัพธ์ระดับพลิกโลก

แบรนด์ไม้จิ้มฟันญี่ปุ่น Nihonbashi Saruya ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1704

Photos: FB: Nihonbashi Saruya

กล่องใส่ไม้จิ้มฟันที่ทำให้เรียงตัวเหมือนคลื่น ออกแบบโดย Mikiya Kobayashi for Asahikawa

Photo: Asahikawa

อิทธิพลที่ไม้จิ้มฟันมีต่อมนุษยชาตินั้นใหญ่โตเกินกว่าความเล็กจิ๋วแบบบางของมันมากมายนัก

 

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top