7 โปรดักต์แปรรูปจาก ‘ปลา’ ทำได้ตั้งแต่สแน็ก เสื้อผ้า สกินแคร์ จนถึงยาสีฟัน

ทำความรู้จักโปรดักต์แปรรูปปลาที่ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่เนื้อ หนัง เกล็ดไปยันก้าง! ทำได้ทั้งสแน็กของกินเล่น เสื้อผ้า สกินแคร์ จนถึงยาสีฟัน

เกล็ดปลา: เส้นใยคอลลาเจน

FILAGEN® (ฟิลาเจน) คือเส้นใยที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งหมด ด้วยเส้นใยเซลลูโลสจากเปลือกไม้ ผสมกับและคอลลาเจนเปปไทด์จาก ‘เกล็ดปลา’ มิลค์ฟิช นวัตกรรมจาก บริษัท จีอีพี สปินนิ่ง จำกัด จากไต้หวัน ที่เพิ่มมูลค่าสิ่งทอได้ทั้งประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม

ผู้บริหารของจีอีพี สปินนิ่ง ผ่านประสบการณ์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอในไต้หวัน ที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ฟื้นตัวมาได้ด้วยนวัตกรรม จึงจับมือกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีจากไต้หวัน พัฒนาเส้นใยผสมคอลลาเจนนี้ขึ้นมาตอบรับเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคใส่ใจกับสุขภาพและความงามมากขึ้น

เกล็ดปลานั้นมีงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศว่าอุดมไปด้วยคอลลาเจน มีครัวเรือนมากมายที่ทำธุรกิจเกล็ดปลาตากแห้ง ซึ่งมีผู้รับซื้อถึงบ้าน ชนิดที่ว่ามีเท่าไรก็ขายได้หมด จนไม่พอขายด้วยซ้ำ

แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนจากเกล็ดปลาที่มีอยู่แล้วในตลาด แต่ ‘ฟิลาเจน’ ไปเจาะตลาดสิ่งทอโดยเป็นนวัตกรรมมัลติฟังก์ชั่นที่ผลิตในประเทศไทยที่ไม่ได้แค่เคลือบบนผิวหน้า แต่ฝังอยู่ในโครงสร้างทุกอณูของเส้นใย มากด้วยคุณสมบัติต่างๆ  อาทิ ป้องกันรังสี UV กำจัดกลิ่นอับ ให้สัมผัสนุ่มนวล ถ่ายเทอากาศได้ดี กักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิว แม้ผ่านการซักล้างมากกว่า 100 ครั้ง

แบรนด์ที่ใช้เส้นใยฟิลาเจน อาทิ McJeans, Jaspal และ Sabina

Photos: FB Filagen

FILAGEN® สารสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลายังปรับใช้กับผลิตภัณฑ์สกินแคร์ หรือหุ้มเฟอร์นิเจอร์ เช่น เบาะ โซฟา ทำให้ผิวชุ่มชื่นแม้ในอากาศแห้ง เช่น อยู่ในห้องแอร์หลายชั่วโมงต่อวัน

คุณสมบัติเหล่านี้รองรับโดยการวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ 100% สามารถย่อยสลายเองได้ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มีแบรนด์ต่างๆ กว่า 60 แบรนด์ที่ใช้เส้นใยฟิลาเจน อาทิ Sabina, McJeans, Jaspal ไปจนถึงแบรนด์เกาหลี ผลิตสินค้า อาทิ ชุดชั้นใน เสื้อกีฬา ชุดเครื่องนอน ฯลฯ

จีอีพี สปินนิ่งมีแผนจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าครบวงจร และพยายามสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งมีสายพันธุ์เดียวกับปลามิลค์ฟิชจากไต้หวัน เพื่อจะได้ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบสารสกัดจากไต้หวัน

ปลาณีต: อะมิโนปลาทะเล

‘ปลาณีต’ ชื่อแบรนด์สินค้าปลาทะเลไทยแปรรูปของ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด เอสเอ็มอี ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ต่อยอดธุรกิจส่งออกเนื้อปลาทะเลสดด้วย BCG Model มายกระดับเพิ่มมูลค่า ใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นำไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด รับซื้อปลาทะเลสด เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาข้างเหลือง ปลาทราย ฯลฯ จากเรือประมงชาวบ้านนำมาตัดแต่งเพื่อส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น  ภายใต้การผลิตมาตรฐานระดับสากล  เช่น GMP HACCP และ Halal เป็นต้น

ทว่า ผลกระทบจากภาวะโลกรวน ปลาในท้องทะเลไทยลดลง จากเดิมที่ซื้อเนื้อปลามา 100 กิโลกรัม ขายเป็นเนื้อปลามูลค่าสูงได้แค่ 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% เช่น หัว หาง และก้าง ขายเป็นอาหารสัตว์ได้แค่กิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น แต่ด้วยโมเดลธุรกิจแบบ BCG Model ทางบริษัทต้องเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็น ซื้อปลามา 100 กิโลกรัมและต้องขายมูลค่าสูงได้ทั้ง 100 กิโลกรัม

Photo: planeatseafood.com

นำไปสู่การแปรรูปเนื้อปลาสดเป็นอาหารทานเล่นจากทะเลแท้ ๆ และอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมทานในชื่อแบรนด์ ‘ปลาณีต’ (PlaNeat) มีโปรดักต์มากมายตั้งแต่เนื้อ หนัง ไปจนถึงกระดูกปลาแบบสแน็ก

นอกจากนี้ยังใช้นวัตกรรมนำทรัพยากรส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตอย่างหัวปลาและก้างปลาที่ผ่านการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ จนได้ ‘อะมิโนปลาทะเล’ ที่อุดมไปด้วยสารเคมี 17 ชนิด สำหรับใช้ปลูกพืช ผัก และผลไม้ ที่ปลอดสารเคมี ช่วยให้พืชเติบโตโดยไม่ทำลายธรรมชาติ อีกทั้งพัฒนาเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย

Photo: planeatseafood.com

โกเล: ก้างปลาอบกรอบ

‘โกเล’ (GOLE) แบรนด์ปลาทูแท่งอบกรอบจาก บริษัท พรปัญญา จำกัด ทายาทรุ่นสองของผู้ผลิต ‘ลูกชิ้นปลาเจ้แหม่ม’ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ต่อยอด ก้างปลาซึ่งเป็น Food Waste สู่ขนมนวัตกรรมที่มีแคลเซียมแบบฉ่ำ ได้วิตามิน A, B, D, E คอลลาเจน และไฟเบอร์ ไม่ผสมแป้ง อบกรอบแทนการทอด ขายในราคาซองละ 35 บาท

ไอเดียบรรเจิดนี้มาจากช่วงโควิดที่ลูกค้าลูกชิ้นหดหาย เพราะร้านรวงปิด เป็นโอกาสให้เห็นว่าในโรงงานมีก้างปลาที่เหลือจากการเลาะเนื้อปลามาทำลูกชิ้นวันละ 5 ตัน คิดดูว่าจะเหลือก้างปลามากมายแค่ไหน

เมื่อหาข้อมูลจึงพบว่าในต่างประเทศมีงานวิจัยมากมายที่นำก้างปลาและจมูกปลามาสกัดแคลเซียม จึงส่งก้างปลาไปเข้าห้องแล็บและได้พบว่าก้างปลามีแคลเซียมสูงถึง 60%

Photo: FB ปลาทูแท่งอบกรอบโกเล Gole CrispyMackerel

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เข้ามาช่วยทำวิจัยจนได้ออกมาเป็น ‘ปลาทูแท่งอบกรอบโกเล’ นำก้างปลาและส่วนผสมอื่นๆ 10% กับปลาทู 90% ไปอบกรอบเป็นสแน็กที่มีปริมาณแคลเซียมสูงกว่า 6 เท่า เพราะบวกก้างปลาไปด้วยนั่นเอง

แบรนด์สแน็กก้างปลาอบกรอบโกเลขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และเจาะตลาดอาหารฮาลาลสำหรับกลุ่มมุสลิมทั่วโลก ทั้งยังได้ชาร์คนักลงทุน 2 รายจากรายการ Shark Tank Thailand ซีซั่น 3 ร่วมลงทุนด้วย จากการที่โกเลมีจุดเด่นตรงที่ตัวผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นของทานเล่นเพื่อสุขภาพ

 

เม็ดพลาสติก ปุ๋ย ยาสีฟัน: หัวและก้างปลาดุก

หัวและก้างปลาคือ Food Waste…หรือวัตถุดิบล้ำค่า จุดนี้แล้วแต่จะนำไปใช้ แต่ผศ.ดร.วรวัชร วัฒนฐานะ ภาควิชา วิศวกรรมวัสดุ คณะวิศว กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลือกอย่างหลัง และก่อให้เกิดนวัตกรรมจากหัวและก้างปลาดุกถึง 4 อย่าง

วิสาหกิจชุมชนลำไทรพัฒนา กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลาดุกอุย ต.ลำไทร อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ประสบปัญหากลิ่นเหม็น มลพิษทางน้ำ และมลภาวะจากของเสียจากหัวและก้างปลา

Photo: www3.rdi.ku.ac.th

ผศ.ดร.วรวัชร จึงหาทางใช้ประโยชน์จาก Food Waste เหล่านี้ จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ 4 อย่าง ได้แก่

1.เม็ดคอมพอสิต จากกระดูกป่น/PLA สำหรับขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม ฯลฯ

2.ฟิล์มชีวภาพสำหรับคลุมดิน ย่อยสลายได้

3.วัสดุปรับปรุงดินเพิ่มแคลเซียมจากกระดูกก้างปลา

4.ยาสีฟัน Biocalcium เพื่อช่วยลดอาการเสียวฟัน

ใครสนใจนำนวัตกรรมนี้ไปต่อยอด ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ผศ.ดร.วรวัชร วัฒนฐานะ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร.090-9863-068 E-mail: fengwwwa@ku.ac.th

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top