CeraVe เวชสำอางจากอเมริกาเป็นที่เลื่องลือในสายบิวตี้เมืองไทยมานานว่าใช้ดี ราคาโดนใจ จนก่อเกิดปฏิบัติหิ้วข้ามชาติมาช้านาน กระทั่งในปี 2018 ลอรีอัล ได้นำสกินแคร์ขวัญใจชาวไทยเข้ามาขายอย่างเป็นทางการ ซึ่งเฉพาะในร้านค้าทางการของแบรนด์ในแอป Shopee และ Lazada ปรากฏว่าเซราวีสร้างยอดขายได้เกือบ 3 ล้านชิ้น
สิ่งที่ทำให้เซราวีเติบโตเร็วมากอาจมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของแบรนด์ที่ล้วนเต็มไปด้วย ‘ความน่าเบื่อ’
Photo: CeraVe Thailand
นับถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2024 ร้านค้าทางการในแอปส้มและแอปม่วง สกินแคร์ของเซราวีขายไปแล้ว 2,876,251 ชิ้น นับเป็นยอดขายที่ไม่ธรรมดาสำหรับแบรนด์ที่เพิ่งนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้เพียง 4 ปี
ยังไม่นับช่องทางการขายอื่นๆ ของแบรนด์เอง และยอดขายจากร้านค้ายิบย่อยอีกมหาศาล เชื่อแน่ว่ามีเซราวีมากกว่า 3 ล้านชิ้นที่ไปถึงมือสายบิวตี้ในเมืองไทย
เซราวีสร้างชื่อจากการเป็นแบรนด์สำอางจากสหรัฐอเมริกาที่มีการค้นคว้าวิจัยร่วมกับแพทย์ผิวหนัง บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในต่างประเทศล้วนรีวิวบวกสุดๆ ให้กับเวชสำอางแบรนด์นี้กันมานานแล้ว ก่อนที่ทางลอรีอัลจะนำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทย
ขณะที่ปฏิบัติการหิ้วเซราวีจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยยังดำเนินต่อไป เพราะยังมีผลิตภัณฑ์ดีๆ อีกเยอะที่เซราวีไทยแลนด์ไม่ได้นำเข้ามาขาย
สินค้าเรือธงของเซราวีที่แทบจะกลายเป็นสกินแคร์สามัญประจำบ้านก็คือ โปรดักต์ในไลน์ ‘มอยซ์เจอไรเซอร์’ ที่ยอดขายดีที่สุด เกือบจะเป็น 50% ของยอดขายรวม ไม่ว่าจะเป็น
CeraVe Moisturizing Cream สำหรับบำรุงผิวหน้าและผิวกาย
CeraVe Moisturizing Lotion (PM) โลชั่นบำรุงผิวเนื้อบางเบาที่ได้ชื่อว่าเป็น #เพื่อนซี้กู้ภัยสิว
รวมไปถึงคลีนเซอร์ที่ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว ได้ทำความสะอาดผิว เติมความชุ่มชื้น และปกป้องผิวไปในตัว
เซราวีรักษาสิวและบำรุงผิวด้วยอีกวิธีหนึ่งที่แตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ ในยุคเดียวกันก็คือ ‘สร้างปราการให้ผิวแข็งแรง’
จุดแข็งของแบรนด์มีต้นเหตุมาจาก เมื่อแรกก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 2005 จากการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังสังเกตว่า สภาพผิวหลายประเภท เช่น ผิวเป็นสิว เป็นกลาก เป็นโรคสะเก็ดเงินไปจนถึงผิวแห้ง มีจุดร่วมหนึ่งที่เหมือนกันคือ ‘เกราะป้องกันผิวถูกทำลาย’
Photo: CeraVe Thailand
เซราวีจึงผ่านการพัฒนาร่วมกับแพทย์ผิวหนังจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ ‘เซราไมด์’ (Ceramide) ที่จำเป็นสามชนิด (เซราไมด์ 1, 3, และ 6-II) มีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ปราการปกป้องผิวตามธรรมชาติ
เซราไมด์นี่ละที่กลายเป็นไพ่ไม้ตาย จุดขาย และจุดพลิกเกมที่ทำให้เซราวีครองใจผู้ใช้มาโดยตลอด
Photo: CeraVe Thailand
จุดแข็งที่สร้างความแตกต่างอีกส่วนหนึ่งคือ MVE นวัตกรรมปล่อยสารบำรุงมัลติเวสิคูลาร์ อีมัลชั่น เทคโนโลยี (MultiVesicular Emulsion Technology) ที่เป็นเอกสิทธิ์ของแบรนด์ ซึ่งสามารถปล่อยส่วนผสมของสารบำรุงที่ช่วยเติมความชุ่มชื้น แทรกซึมลงสู่แต่ละชั้นผิวได้อย่างล้ำลึกตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผิวนุ่มเนียนตลอดวัน
Photo: CeraVe Thailand
จุดแข็งทั้งสองนี้ทำให้เซราวีได้รับรางวัล Seal of Acceptance™ จาก National Eczema Association สมาคมโรคผิวหนังอักเสบแห่งชาติของสหรัฐอเมริกามากที่สุด
ตราสัญลักษณ์นี้หมายความว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ผิวหนังว่าสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ
คนที่มีปัญหาผิวหนังยังใช้ได้ แปลว่าอ่อนโยนพอที่คนทั่วไปใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้เช่นกัน
เซราไมด์และเทคโนโลยี MVE คือพื้นฐานสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์กว่า 70 ตัวของเซราวี นอกเหนือจากนั้นแล้ว แต่ละตัวชูส่วนผสมหลักๆ เพียง 1-2 อย่างเท่านั้น เช่น
CeraVe Blemish Control Gel เจลรักษาสิวตัวใหม่มีส่วนผสมหลักคือ Salicylic Acid 2% ซึ่งเป็นกรดพื้นฐานที่ใช้ผลัดเซลล์ผิว มีในผลิตภัณฑ์รักษาสิวทั่วไป และมีงานวิจัยรับรองมากมาย นอกนั้นคือมีเซราไมด์ที่ช่วยลดการระคายเคืองในระยะยาวและช่วยให้ผิวแข็งแรง
Photo: CeraVe Thailand
CeraVe Skin Renewing Vitamin C Serum เซรั่มลดริ้วรอยที่มีส่วนผสมหลักคือ แอล-แอสคอร์บิก แอซิด 10% วิตามินซีในรูปแบบที่มีงานวิจัยรับรองเยอะที่สุดว่าให้ผลดีต่อผิว แต่ไม่คงทนเมื่อโดนแสง แบรนด์จึงแก้ปัญหาโดยใช้หลอดทึบ และเติมวิตาอีที่ช่วยให้วิตามินซีคงทนขึ้นได้ 6 เดือนเมื่อเปิดใช้งานแล้ว และแน่นอนว่ามีส่วนผสมของเซราไมด์เจ้าเก่า
ผลิตภัณฑ์ทุกตัวของเซราวีมีส่วนผสมหลักไม่กี่ตัว บวกกับเซราไมด์และเทคโนโลยี MVE แล้วจบ ไม่มีการถมส่วนผสมมากมายให้ดูเหมือนเป็นครีมครอบจักรวาล ซึ่งส่วนผสมยิ่งมากยิ่งเสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวมากขึ้นด้วย
แบรนด์ยังวางโพซิชั่นนิ่งในเมืองไทยได้เหมาะสม คือเป็นเวชสำอางคุณภาพดี ส่วนผสมเรียบง่าย ราคาจับต้องได้ ไม่ได้อัปราคาให้สูงขึ้นจนน่าตกใจเหมือนเวชสำอางหลายๆ แบรนด์ที่ราคาขายในเมืองนอกและเมืองไทยต่างกันเยอะ เกินเบอร์ไปจากความเป็นเวชสำอางจนราคาน้องๆ เคาน์เตอร์แบรนด์ไปแล้ว
โพซิชั่นนิ่งที่เหมาะสมของเซราวีทำให้ผู้บริโภคยินดีจะเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าทางการของแบรนด์ ส่งผลดีต่อผู้ใช้ที่ได้ของแท้ และแบรนด์ก็กวาดยอดขายได้มากขึ้น
โดยรวมแล้ว จะเห็นได้ว่าส่วนผสมของเซราวีไม่มีอะไรซับซ้อน และออกจะ ‘น่าเบื่อ’ ด้วยซ้ำ
แต่สกินแคร์ที่ดีที่สุดอาจเป็นสกินแคร์ที่มีส่วนผสมน่าเบื่อ
น่าเบื่อแต่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง ต้องกลับมาซื้อซ้ำ และรีวิวบอกต่อแบบที่แบรนด์แทบไม่ต้องทำการตลาด
Words: Sritala Supapong
- https://www.cerave.co.th/
- https://www.youtube.com/watch?v=eIOy0aaG6q0
- https://www.youtube.com/watch?v=DVerMPTyACk
- https://www.youtube.com/watch?v=y7UyKEb2ZHw