Chaumet แบรนด์ที่ออกแบบจิวเวลรี่ให้นโปเลียน สู่การออกแบบเหรียญโอลิมปิก

เหตุใด Chaumet (โชเมต์) จึงกลายเป็นแบรนด์จิวเวลรี่แบรนด์แรกในโลกที่ได้ออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิก ทั้งที่ LVMH พาร์ตเนอร์สำคัญของปารีสโอลิมปิก 2024 มีแบรนด์จิวเวลรี่ในเครือถึง 8 แบรนด์ The Optimized จะเล่าให้ฟัง

โอลิมปิกไปจัดที่ปารีสเมืองหลวงแฟชั่นของโลกทั้งที LVMH อาณาจักรแฟชั่นอันดับ 1 ของฝรั่งเศสและของโลกที่มีแบรนด์ดังในเครือมากมาย จาก Louis Vuitton, Dior, Givenchy ไปจนถึง Celine จึงเข้าเป็นพรีเมียมพาร์ตเนอร์ของปารีสโอลิมปิกที่หมายความว่า งานดีไซน์ทุกสิ่งอัน ตั้งแต่ชุดนักกีฬาไปจนถึงถาดใส่เหรียญรางวัลจะเป็นผลงานออกแบบของแบรนด์ต่างๆ ใน LVMH อาณาจักรแฟชั่นที่มีพนักงานทั่วโลก 213,000 คน และในปี 2023 โกยรายได้ไป 86.153 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นกำไร 22.802 ล้านเหรียญ

LVMH มีแบรนด์จิวเวลรี่ในเครือ 8 แบรนด์ แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็เช่น Bulgari, Tiffany & Co., FRED และ Repossi

ทว่าในปารีสโอลิมปิก แบรนด์ที่ได้ออกแบบเหรียญรางวัลนักกีฬากลับเป็น Chaumet แบรนด์จิวเวลรี่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่ากับแบรนด์อื่นๆ ในเครือ LVMH

แต่ในบรรดาแบรนด์จิวเวลรี่ทั้งหมดในโลก อาจกล่าวได้ว่าไม่มีแบรนด์ใดอีกแล้วที่คู่ควรจะเป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลที่เปรียบได้กับมงกุฎสูงค่าที่สุดในอาชีพนักกีฬา ซึ่งแทบทุกคนใฝ่ฝันว่าการได้เหรียญโอลิมปิกคือจุดสูงสุดของอาชีพ

นั่นเป็นเพราะ Chaumet คือแบรนด์จิวเวลรี่แห่งจักรพรรดิฝรั่งเศสนั่นเอง

(บน) เทียร่าโบราณของ Chaumet (ล่าง) แหวนทรงมงกุฎและเทียร่าในคอลเล็กชั่น Joséphine ของ Chaumet

Photos: Chaumet

ในปีค.ศ. 1780 Marie-Étienne Nitot (มารี-เอเตียน นิโตต์) ก่อตั้งสำนักจิวเวลรี่ของตนเองขึ้น เขาเคยเป็นช่างฝึกหัดของ Ange-Joseph Aubert ช่างจิวเวลรี่ประจำพระองค์ของมารี อังตัวแนตต์ อดีตราชินีสายแฟของฝรั่งเศส

ครั้นฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการกุดหัวพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 รวมถึงราชินีของพระองค์ หมดสิ้นอำนาจของราชวงศ์บูร์บง ฝรั่งเศสกลายเป็นจักรวรรดิที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต

ภาพเขียนพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียน โดยศิลปิน Jacques-Louis David ภาพนี้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส

Photo: Public Domain

พระแสงดาบของจักรพรรดินโปเลียนที่ Chaumet ทำขึ้น

Photo: Chaumet

มารี-เอเตียน นิโตต์ ก็เฟื่องฟูขึ้นเช่นกันเมื่อเขาเป็นผู้ทำเครื่องประดับทุกชิ้นให้กับจักรพรรดิฝรั่งเศสองค์นี้ รวมถึงพระแสงดาบที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนอีกด้วย

ในเวลาต่อมา มารี-เอเตียน นิโตต์ ก็ได้เป็นช่างทำจิวเวลรี่ประจำพระองค์ของจักรพรรดินีโจเซฟีน มเหสีของจักรพรรดินโปเลียน

สำนักจิวเวลรี่นี้ถูกขายกิจการและเปลี่ยนมือเจ้าของหลายครั้ง จากตระกูลนิโตต์ของผู้ก่อตั้ง สู่มือของตระกูล Fossin และ Morel ก่อนจะตั้งชื่อว่า Chaumet เมื่อ Joseph Chaumet แต่งงานกับทายาทสาวของตระกูลโมเรล

ในปี 1999 LVMH เข้าซื้อ Chaumet และกลายเป็นเจ้าของหนึ่งในแบรนด์จิวเวลรี่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังดำเนินกิจการอยู่

ในอดีต ลูกค้าของ Chaumet เป็นราชวงศ์ต่างๆ อาทิ ควีนวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร รวมถึงบรรดามหาราชจากอินเดีย ปัจจุบัน ลูกค้าของแบรนด์ยังเป็นระดับ VVIP เช่นเคย โดยเฉพาะชาวจีนและตะวันออกกลางซึ่งมีกำลังซื้อเครื่องประดับชั้นสูงหรือ High Jewelry ที่มักมีชิ้นเดียวในโลก

Photo: FB Chaumet

Chaumet พยายามเจาะตลาดไฟน์จิวเวลรี่ที่เข้าถึงคนมากขึ้น พยายามสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ผ่านแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ชื่อดังอย่างชาอึนอูและซงฮเยคโย

การได้เป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์อายุ 244 ปีที่เชื่อมโยงกับผู้คนในปี 2024 มากขึ้น

มาดูกันว่าเหรียญโอลิมปิกของ Chaumet ทำไมประธานปารีสโอลิมปิกจึงกล่าวว่ายกระดับเหรียญรางวัลไปสู่ ‘งานศิลปะ’

Photo: THOMAS-DESCHAMPS Courtesy of LVMH

120 ปี – เหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกปรากฏขึ้นในโอลิมปิกที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกาในปี 1904 โดยก่อนหน้านั้นผู้ชนะที่ 1 ได้เหรียญเงินและรองอันดับ 2 ได้เหรียญทองแดง

ขนาดเหรียญ – เหรียญทองโอลิมปิกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 – 8.5 เซนติเมตร หนาอย่างน้อย 3 มิลลิเมตร (หรือ 12 มิลลิเมตรสำหรับเหรียญที่โตเกียวโอลิมปิก 2020) และหนัก 556 กรัม

เหรียญทองที่ไม่ใช่ทอง – เหรียญทองโอลิมปิกทำจากเงิน 92.5% ทองแดง 6.16% และทอง 1.34% (แผ่นทองบางๆ เคลือบพื้นผิวน้ำหนักราวๆ 6 กรัม) ต้นทุนรวม 530 ยูโร (20,980 บาท) แต่หากทำจากทองแท้จะมีต้นทุนสูงถึงเหรียญละ 20,000 ยูโร (791,800 บาท)

Photo: THOMAS-DESCHAMPS Courtesy of LVMH

เทพีบนเหรียญ – ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้น รูปเทพบนเหรียญเปลี่ยนไป โดยในยุค 1920s ประติมากรชาวอิตาเลียน Giuseppe Cassioli สลักรูปไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะในปกรณัมกรีกโดยมีพื้นหลังเป็นโคลอสเซียม สนามกีฬาเก่าแก่ในยุคโรมัน ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสนามพาราเธเนอิกในกรุงเอเธนส์ หนึ่งในสนามกีฬากลางแจ้งเก่าแก่ที่สุดในโลก

สัญลักษณ์ที่ต้องมี – คณะกรรมการโอลิมปิกสากลมีข้อบังคับว่าเหรียญโอลิมปิกต้องมีสัญลักษณ์ 3 อย่างนี้ ได้แก่ ชื่อเมืองที่จัดโอลิมปิกปีนั้นๆ เช่น Londpn 2012, Tokyo 2020, Paris 2024 สัญลักษณ์ 5 ห่วงของโอลิมปิก และเทพีไนกี้

Photo: THOMAS-DESCHAMPS Courtesy of LVMH

ต่างหูคอลเล็กชั่น Be My Love ซิกเนเจอร์หกเหลี่ยมของ Chaumet

Photo: Chaumet

ชิ้นส่วนของปารีส Chaumet ใส่โลหะที่เป็นชิ้นส่วนจริงๆ ของหอไอเฟลซึ่งเป็นโลหะเหลือใช้จากเมื่อคราวบูรณะแลนด์มาร์กของกรุงปารีส โดยทางแบรนด์เจียโลหะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม อันเป็นชื่อเล่นของกรุงปารีสที่แผนที่ตัวเมืองเป็นรูปหกเหลี่ยมไว้ตรงกลางเหรียญ

โบนัสผู้ชนะ นักกีฬาทีมชาติฝรั่งเศสทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่จะโบนัสพิเศษหากได้เหรียญทอง 80,000 ยูโร เหรียญเงิน 40,000 ยูโร และเหรียญทองแดง 20,000 ยูโร

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top