ไอติม 1 สกู๊ป เริ่มต้นที่ราคา 95 บาท
ถือว่าราคาแรงทีเดียวสำหรับของหวานถ้วยเล็กๆ แต่อะไรทำให้ Guss Dams Good เป็นแบรนด์เจ้าตลาดในเซกเมนต์คราฟต์ไอศกรีมในเมืองไทยที่มียอดขายปี 2023 ที่ 66 ล้านบาท
ก็ต้องบอกว่า เพราะตักกินคำแรก อึ้ง
ตักคำสอง ปลุกความทรงจำ เปิดต่อมจินตนาการ
และหลังจากนั้นก็หยุดกินไม่ได้ ลืมไม่ลง และเฝ้าคิดถึงรสชาติอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ลองชิม
นี่ไม่ใช่กลยุทธ์การตลาดของ Guss Dams Good แต่การเริ่มต้นคิดไอติมรสใหม่จาก ‘เรื่องราว’ คือหัวใจของแบรนด์สไตล์บอสตันไอศกรีมของสองเพื่อนซี้ ระริน ธรรมวัฒนะ และนที จรัสสุริยงค์
ระรินจบสายบัญชี ส่วนนทีเป็นหนุ่มวิศวะนาโน ทั้งสองมีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นนักศึกษาบริหารธุรกิจที่ Babson โรงเรียนธุรกิจในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ที่โดดเด่นระดับโลกด้าน Entrepreneurship
ที่เมืองบอสตันนั้นเอง ทั้งสองมักไปจ่อมตัวกินไอติมกันที่ Toscanini’s คราฟต์ไอติมแบบบอสตันที่เนื้อเนียน นุ่ม เหนียว แต่ไม่หนักเกินไป ต่างจากไอติมเจลาโต้ของอิตาลีที่เนื้อแน่นหนึบหนัก ส่วนไอติมแบบอเมริกันสุดจะเลี่ยนและอุดมไปด้วยไขมัน
ระรินและนทีติดใจรสชาติไอติมร้านนี้มากจนทำเป็นโปรเจกต์ในวิชาเรียน Entrepreneurship Intensity Track (EIT) ที่เหมาะกับคนที่มีไอเดียทำธุรกิจและอยากทำจริงหลังเรียนจบ
ทั้งสอง pitch ไอเดียว่า ตลาดไอติมในเมืองไทยมีช่องว่างตรงที่แบรนด์ต่างๆ เน้นหนักที่ท็อปปิ้ง มากกว่าจะเน้นรสชาติและประสบการณ์ในการลิ้มรสชาติ
แต่ไอติมของ Guss Damn Good ต่างไปโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง รสแรกของแบรนด์ที่ให้ชื่อว่า Don’t Give Up#18 เห็นชื่อแล้วใครจะจินตนาการออกว่ารสชาติเป็นอย่างไร แต่ไอติมรสแรกของแบรนด์กลับไปเต็มเรื่องราวสุดจึ้ง เพราะอุดมไปด้วยการทดลองอันผิดพลาดของระรินและนทีที่ไม่เคยทำไอติมมาก่อน แต่ทดลองทำกันเองจนถึงครั้งที่ 18 นี่ละ ที่เริ่มได้รสชาติและเท็กซ์เจอร์ใกล้เคียงกับไอติมบอสตันร้านโปรด
สุดท้ายไอติมรสนมสุดธรรมดานี้จะไปสำเร็จสมบูรณ์แบบที่ครั้งที่ 33
หรือกระทั่งชื่อของแบรนด์ที่ได้มาจากเพื่อนหมอที่ชิมแล้วอุทานว่า “Guss นี่ damn good นะ”
Guss Damn Good จึงอุดมไปด้วยความรู้สึกดีๆ ที่อยากให้คนได้ชิมในทุกคำ
ไอติมรสแรก Don’t Give Up#18
Photo: FB: Guss Damn Good
ครั้งแรกที่แบรนด์ไปออกบูธ ขายไอติมถ้วยละ 49 บาทเท่านั้น เป็นราคาที่ลูกค้า Guss ตอนนี้ถ้าได้เจอต้องกว้านซื้อหมดแน่นอน
แต่ครั้งแรกที่ขายกลับไม่มีใครซื้อเลย แม้รสชาติจะอร่อย แต่หน้าร้านไม่น่าสนใจ ไม่มีตู้ไอติม ไม่มี tester ให้ลองชิม
ต่างจากทุกวันนี้ที่ Guss ขายสกู๊ปละ 95 บาท ซึ่งปรับเพิ่มราคาครั้งแรกในรอบ 8 ปี ตั้งแต่เปิดแบรนด์ในปี 2015 ทว่า คนก็สั่งกันหนุบหนับ
นทีหนุ่มวิศวะคุมเรื่องการเงิน ส่วนระรินสาวบัญชีคิดสูตรไอติม โดยทั้งสองไม่สนใจว่ารสชาติไหนขายดี หรือน่าจะขายได้ แต่จะทำรสชาติที่ทำให้ตนเองสนุกตื่นเต้นกับไอติมเหมือนวันแรก
นั่นคือโมเดลธุรกิจแบบไม่มีกรอบปิดกั้นของบัณฑิต MBA จากโรงเรียนธุรกิจที่ดีที่สุดในโลก
ด้วยมีจินตนาการเป็นแรงขับ Guss Damn Good จึงกลายเป็นแบรนด์เนื้อหอมที่ธุรกิจอื่นๆ มาขอทำคอลแลบด้วยมากมาย จนระรินคิดสูตรไอติมมากกว่า 100 สูตรที่ไม่ธรรมดา เป็นต้นว่า
Photo: FB: Guss Damn Good
GUSS x Philosophy แบรนด์บิวตี้กลายเป็นไอติมสีฟ้าจากบลูสไปรูลิน่า ใส่มินต์เจลลี่ดึ๋งๆ เย็นๆ มีเท็กซ์เจอร์หนุบเหมือนผิวที่ทาเซรั่มของแบรนด์แล้วเด้ง ทิ้งความเย็นเบาๆ ไว้ที่ปลายลิ้น
Photo: FB: Guss Damn Good
Guss Damn Good x OZO โรงแรมที่พักกลายเป็นไอติมรส GOOD VIBES ซอร์เบต์แตงโมใส่ดอกเกลือเหมือนได้จิบน้ำแตงโมปั่นรสหวานเค็มริมชายหาด และ CHEAT DAY ไอติมบานอฟฟี่เนื้อกรุบจากกล้วยหอมสดคลุกน้ำตาลทรายแดง เอาไปปิ้งในเตาจนหอม จากนั้นเอามาคลุกคาราเมลที่กวนเอง โยนลงมาในไอติมครีมสด ผสมกับฐานพายอบเนยเค็ม กินรวมกัน ไขมันฉ่ำไปเลย
Photo: FB: Guss Damn Good
Mood Changer x Malee ไอติมเจลลี่ลิ้นจี่สีชมพูอมแดง กระจายตัวอยู่ในไอติมกรีกโยเกริ์ตเนื้อนุ่ม เจลลี่ยังเด้งอร่อยแม้ในอุณหภูมิติดลบ สูตรลับเฉพาะจากครัว Guss
Guss Grocery Store หนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ที่สุดของ Guss Damn Good ฉลองกรกฎาคม เดือนแห่งไอศกรีมของอเมริกา ต้นตำรับไอติมบอสตัน ด้วยไอติม 9 รสชาติจาก 9 แบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก
อาทิ ไอติมครัมเบิ้ลเส้นมาม่ารสต้มยำซอร์เบต์มะนาวแป้นที่ ชวนให้นึกถึงสมัยเรียนที่แอบกินมาม่าดิบในห้องเรียน หรือ ไอติมน้ำจิ้มบาร์บีคิวพลาซ่า ที่ให้เนื้อเนียนนุ่มผสมน้ำผึ้งและโมลาสรสชาติหวานขม ตัดความเค็มของซอสด้วยความหอมหวานจากน้ำผึ้งดอกลำไย บวกซอสบาร์บีคิวคาราเมลหวานเค็มที่ทิ้งความเผ็ดและเค็มไว้ที่ปลายลิ้น
Photos: FB: Guss Damn Good
รวมไปถึงไอติมรสซอสโรซ่า คุกกี้อาร์เซนอล แหนมส.ขอนแก่น ไปจนถึงยาอมตราตะขาบ 5 ตัว
หรือวันดีคืนดี ระรินก็มันมือ คิดรสชาติใหม่ไปออกบูธ โดยที่ยังไม่มีแผนว่าจะทำขายหน้าร้านด้วยซ้ำ แต่จัดเต็มไปแล้วกับไอติมไทยไทย 10 รส เช่น
ไอติมกล้วยบวชชี ใช้กล้วยน้ำว้าสุกต้มกับน้ำกะทิสดจากราชบุรี จนได้กะทิม่วงเป็นเบสไอติม ใส่กล้วยที่ต้มจนเกือบเละ เอามาปิ้งต่อ
ไอติมเฉาก๊วยนมสด ใช้น้ำตาลทรายแดงอย่างดีร่อนจนเป็นเม็ด โยนลงไปพร้อมกับเฉาก๊วยทั้งบด ทั้งสับ กินคู่กับไอติมนมสดที่เฉาะนมข้นจืดกระป๋องเหล็กราดลงไปเป็นสาย
Photo: FB: Guss Damn Good
ไอติมมะนาวแป้น ใช้มะนาวลูกเล็กแบบกินส้มตำให้รสเปรี้ยวแหลมสะใจ ใครเมากาแฟมาอยากตื่น ต้องกินรสนี้
ไอติมเบียร์สิงห์มะปี๊ดจันทบุรี เบียร์สิงห์จับคู่กับมะปี๊ดจากจันทบุรี เติมน้ำผึ้งดอกลำไย ออกมาเป็นซอร์เบย์เบียร์นุ่มละมุน รสเปรี้ยวอมหวาน ปลายๆหอมมะปี๊ด
ไอติมเค้กฝอยทองนมสด ใช้เค้กเหลืองจากครัว หาฝอยทองอย่างดีใส่เข้าไปฉ่ำ ปรุงไอติมน้ำตาลมะพร้าวที่ออกเค็มๆ ตัดรสความหวาน
Photo: FB: Guss Damn Good
แม้ทำแบรนด์มาเกือบ 10 ปี ยอดขายยังไม่แตะร้อยล้าน ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่การเติบโตเร็วๆ ไม่ใช่เป้าหมายของผู้ก่อตั้งแบรนด์
ทั้งสองยังคงมีเป้าหมายเดียวกันมาตั้งแต่วันแรก
อยากทำคราฟต์ไอติมที่ใส่ใจกับทุกกระบวนการ
ทำไอติมที่อร่อยโดยเนื้อแท้ของไอติม ไม่ใช่โฟกัสกับท็อปปิ้ง
คงเอกลักษณ์ตั้งชื่อแปลกเหมือนไม่ใช่ไอติม เพื่อให้ลูกค้ามีบทสนทนากับคนขาย ไม่ใช่ซื้อมาขายไปเฉยๆ
เปิดให้ลูกค้าลองชิมไอติมได้ไม่จำกัดรส จะขอชิมกี่รสก็ได้ พนักงานไม่มีวันชักสีหน้าใส่
และอยากภูมิใจที่ได้ทำไอติมที่คนกินแล้วอร่อยจนต้องอุทานว่า “Guss นี่ Damn Good จริงๆ”
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1114539
- https://www.th-hellomagazine.com/education/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B0/
- https://www.facebook.com/gussdamngood