La Maison du Pastel แบรนด์ 300 ปี มีพนักงาน 2 คน แต่ทำสีชอล์กแพงที่สุดในโลกได้  

La Maison du Pastel แบรนด์ผลิตสีชอล์กแถวหน้าของโลกเปิดกิจการมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 สั่งสมชื่อเสียงว่ามีคุณภาพเป็นเลิศจนกลายเป็นสีชอล์กแพงที่สุดในโลก และแม้เผชิญสงครามโลกมา 2 ครั้ง บริษัทในฝรั่งเศสแห่งนี้ยังคงผลิตสีชอล์กเกือบ 2,000 สีด้วยวิธีการแบบเดิมเหมือนเมื่อ 300 ปีก่อนจากน้ำพักน้ำแรงของพนักงานแค่ 2 คน

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทหนึ่งจะก้าวไปเป็นที่หนึ่งของวงการโดยที่มีพนักงานเพียงแค่ 2 คน ขับเคลื่อนองค์กรด้วยงานคราฟต์ทำมือ และใช้มาตรวัดความสำเร็จที่ต่างไปจากธุรกิจในโลกทุนนิยม

เรื่องราวของ La Maison du Pastel มีคำตอบ…หรือไม่

Photo: FB-La Maison du Pastel

ศตวรรษสีชอล์กสร้างชื่อ

ไม่ได้ใช้ชื่อ La Maison du Pastel มาแต่แรก แบรนด์สีและอุปกรณ์ศิลปะแห่งนี้ผ่านมือเจ้าของมาหลายตระกูลตลอด 300 ปีที่ผ่านมา เป็นต้นว่า ยุคก่อตั้งในปี 1720 ใช้ชื่อว่า A la Flotte d’Angleterre จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่ศิลปินทั่งยุโรปว่าสีชอล์กจากปารีสนั้นคุณภาพดีที่สุด

จนถึงยุคที่สองช่วงปี 1795-1838 ใช้ชื่อว่า The Maison Huber เป็นยุคที่เน้นผลิตดินสอและสีน้ำได้มีคุณภาพทัดเทียมกับสินค้าจากอังกฤษ

เมื่อมาถึงยุคที่สาม ช่วงปี 1838-1880 เปลี่ยนเจ้าของและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น The Maison Macle

Photo: FB-La Maison du Pastel

ก่อนที่ในปี 1880 สีชอล์กเจ้าดังสูตรเด็ดจากปารีสจะเป็นที่รู้จักในชื่อ La Maison du Pastel เมื่อ Henri Roché นักวิศวกรเคมีตัดสินใจขายกิจการผลิตยารักษาโรคที่กำลังรุ่งเรือง ทว่าไม่ตอบโจทย์ด้านจิตใจที่ฝักใฝ่ในศิลปิน จึงเข้าซื้อกิจการแบรนด์ผลิตสีชอล์กเสียเลย

กลยุทธ์การค้าของอองรี โรเช่ก็คือ เข้าไปผูกสัมพันธ์กับศิลปินมากหน้าหลายตาโดยตรง และรับผลิตเฉดสีตามที่ศิลปินต้องการ ประกอบกับพื้นฐานความรู้ทางเคมี อองรีจึงคิดค้นสูตรสีชอล์กที่ไม่ทำให้แคนวาสวาดรูปขึ้นรา ให้เนื้อสีสด กระจ่างชัด ติดคงทน และสีไม่เปลี่ยนเมื่อโดนแดดหรือแสงไฟ

สีชอล์กของ La Maison du Pastel จึงเป็นสีที่ศิลปินดังแห่งยุคเลือกใช้ อาทิ James Abbott McNeill Whistler จิตรกรชาวอเมริกัน, Edgar Degas ศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส ไปจนถึง Alfred Sisley ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์แนวแลนด์สเคป

การตอบรับอย่างสูงนี้ยิ่งผลักดันให้อองรี โรเช่ขยันรับโจทย์ของศิลปินมาทำ จากเดิมทีมี 100 สีก็ว่าเยอะแล้ว แต่จนถึงปี 1877 เขาคิดสีใหม่ๆ ได้ถึง 500 สี

ชั้นผึ่งสีให้แห้งและลิ้นชักเก็บสีเป็นของเก่าเมื่อ 150 ปีก่อน

Photo: FB-La Maison du Pastel

ครั้นมาถึงรุ่นลูก Dr. Henri Roché นับได้ว่าเป็นช่วงรุ่งโรจน์เมื่อ La Maison du Pastel มีถึง 1,650 สีให้เลือกสรร ขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพของเนื้อสีไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม จนศิลปินเขียนจดหมายมาชื่นชมอยู่บ่อยๆ ว่าใช้สีชอล์กของแบรนด์นี้แล้วให้ความรู้สึกว่า “เหมือนโดนพระเจ้าพาตัวให้ไปพบพระเจ้า” โดย Paul Maze ศิลปินโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์คนสุดท้าย หรือจดหมายของ Countess Anna de Noailles ที่บรรยายความรู้สึกว่า “คุณได้รวบรวมพรสวรรค์ชั้นเลิศที่สุดและสีสันทั้งหมดในโลกมาไว้ในสีชอล์กสดสว่างของคุณ”

อองรี โรเช่คนลูกยังได้นำสีชอล์ก 1,650 สีไปจัดแสดงที่มหกรรมศิลปะครั้งใหญ่ในปารีส Exposition Internationale de Paris เมื่อปี 1937 และคว้าเหรียญทองมาครอง

พิกเมนต์สีดั้งเดิมจากคอลเล็กชัน 1,650 สีที่จัดแสดงในปี 1937

Photo: FB-La Maison du Pastel

เมื่อดร.อองรี โรเช่เสียชีวิต กิจการสีชอล์กจึงผ่องถ่ายไปถึงมือญาติห่างๆ และตกเข้าสู่ยุคมืดเพราะตัวเจ้าของใหม่ไม่ขยายคอนเน็กชัน เลิกติดต่อกับศิลปินใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้แต่ส่งสีให้กับศิลปินที่เป็นลูกค้าเก่าที่ทยอยเกษียณและเสียชีวิตไป พลอยทำให้บริษัทสีชอล์กที่เคยสดสว่างกลับมืดมนลง

เจ้าของใหม่ 1 กับเด็กฝึกงาน 1 คนถ้วน

Isabelle Roché วิศวกรหญิงในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นญาติห่างๆ ของอองรี โรเช่ และในปี 2000 เธอเป็นคนเดียวในตระกูลที่อยากมาสานต่อกิจการสีชอล์กอันเก่าแก่และซบเซา

อิซาเบลล์มีโชคชะตาเดียวกับอองรี เธอเป็นวิศวกรเคมีเหมือนกัน และหลงใหลในสีสันของศิลปะเช่นเดียวกัน นั่นทำให้เธอลาออกจากอาชีพการงานที่มั่นคง และมานั่งนวดแป้งผสมสีอยู่คนเดียวในสตูดิโอทำงานเล็กๆ ของคุณทวดอองรี ซึ่งตู้ ลิ้นชัก อุปกรณ์ต่างๆ แม้กระทั่งคอลเล็กชั่นสีที่เคยนำไปจัดแสดงในปี 1937 ล้วนคงอยู่เช่นเดิมมากว่า 150 ปีแล้ว

การทำสีชอล์กแฮนด์เมดสูตร 300 ปี เริ่มจากผสมแป้งกับพิกเมนต์สีทีละแบตช์และกวนมือ ก่อนจะตากบนกระเบื้องดินเผาอิตาลี แล้วรีดน้ำออก นำไปม้วนปั้นทีละแท่ง ตัดปลายให้เรียบ ประทับตราโลโก้ของแบรนด์ แล้วผึ่งไว้ 3 สัปดาห์

Photo: FB-La Maison du Pastel

แต่เส้นทางของคนทำสีไม่ได้โรยด้วยสีสันสดใส อิซาเบลล์ต้องเรียนรู้กระบวนการทำสีชอล์กด้วยวิธีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา 300 ปี นั่นก็คือทำสีชอล์กด้วยมือ ด้วยความคราฟต์เช่นนี้อาจทำให้สีชอล์กของ La Maison du Pastel กลายเป็นของหายาก แต่กลยุทธ์การตลาดแบบ Scarcity หรือสร้างความขาดแคลนไม่อาจใช้ได้ เพราะเมื่อตอนที่อิซาเบลล์เข้ามารับช่วงกิจการต่อจากป้าๆ น้าๆ สีชอล์กของแบรนด์เธอแทบไม่มีใครซื้อ

ที่ยากกว่าการผลิตสีด้วยมือคือการขยายฐานลูกค้า โดยสองปีแรก อิซาเบลล์ซึ่งไม่เคยเกี่ยวดองใดๆ กับโลกศิลปะพยายามออกไปพบศิลปินเพื่อสร้างคอนเน็กชันใหม่ โดยใช้กลยุทธ์เดิมสมัยอองรีก็คือ รับผลิตสีในเฉดและโทนที่ศิลปินต้องการหรือหาจากแบรนด์อื่นไม่ได้ เธอจะไปหาวิธีทำสีที่ไม่มีขายในโลกมาก่อนมาให้จงได้

ตลอด 10 ปีแรก ทั้งงานขาย โปรโมต บัญชี การตลาด ฯลฯ อิซาเบลล์ทำงานคนเดียว อ้อ และทำหน้าที่ผลิตสี 567 สีเองคนเดียวด้วย

พนักงานประจำคนที่สอง

ฤดูร้อนปี 2010 Margaret Zayer เดินทางไปยังปารีส หลังจากได้รับคำตอบรับจากอีเมลที่ส่งไปยังบริษัทแห่งหนึ่งที่นั่นเพื่อขอฝึกงาน มันกลายเป็นฤดูร้อนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอและแวดวงศิลปะระดับโลก

บริษัทที่มาร์กาเรต เซเยอร์ส่งอีเมลไปขอฝึกงานคือ La Maison du Pastel

ที่ทำงานของเธออยู่บนถนนรัมบือโตในกรุงปารีส มันเป็นตึกเก่าแก่ที่คะเนอายุราวๆ ร้อยกว่าปี ภายในห้องสตูดิโอทำงานเต็มไปด้วยเครื่องรีดน้ำจากสีชอล์ก ลูกกลิ้งตัดสี ค้อนทุบสี ไปจนถึงสีชอล์กที่ถูกม้วนด้วยมือเป็นแท่งขนาดเท่านิ้วชี้นอนแผ่ให้แห้งราวๆ 3 อาทิตย์ก่อนจะถูกส่งไปถึงมือศิลปินและคนรักงานศิลปะทั่วโลก

สนนราคาสีชอล์กแบรนด์นี้ขึ้นชื่อมากว่าแพงที่สุดในโลก อาทิ ‘FAIRE’ กล่อง 12 สี ราคา 215 ยูโร หรือเกือบ 8,500 บาท ขณะที่สีเดี่ยวๆ แท่งละ 20 ยูโร หรือประมาณ 788 บาท

สีอะไรแท่งละ 800!

มาร์กาเรตเรียนรู้งานทุกอย่างที่อิซาเบลล์ทำ จนกลายเป็นลูกมือคนสำคัญ (เพราะมีคนเดียว) เมื่อเธอฝึกงานเสร็จและได้ใบปริญญากลับมาแล้ว มาร์กาเรตตัดสินใจบินกลับมาปารีสและกลายเป็นเจ้าของร่วมของ La Maison du Pastel ในปี 2011

(ซ้าย) อิซาเบลล์ โรเช่ และ มาร์กาเรต เซเยอร์ สองหุ้นส่วนแห่ง La Maison du Pastel

Photo: FB-La Maison du Pastel

ทั้งสองแนะนำสีรูปแบบใหม่ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เช่น Petits Roché สีชอล์กขนาดครึ่งแท่งเพื่อให้ราคาเข้าถึงได้มากขึ้น ผลิตสีจากคอลเล็กชันสร้างชื่อ 1,650 สีอีกครั้ง ทำลิมิเต็ดอิดิชันที่เนื้อสีทำจากวัตถุดิบธรรมชาติล้วนๆ หรือคิดสีใหม่ที่นำมาจากสีธรรมชาติ เช่น 3340 California Poppy5760 South Sea Green ไปจนถึงผลิตสีเก่าจากยุคร้อยปีก่อน เช่น 2970 Dragon’s Blood หรือ 4270 Indian Yellow

ชาร์ตสีที่มีให้เลือกหลากหลายของ La Maison du Pastel

คอลเล็กชันปี 1887 ที่ผลิตขึ้นใหม่

Petits Roché สีชอล์กขนาดครึ่งแท่งในราคาที่เข้าถึงได้มากกว่าเดิม

สีชอล์กประกายมุกผสมเปลือกหอยมุกจริงๆ

Photo: FB-La Maison du Pastel

ผ่านไป 300 ปี La Maison du Pastel มีพนักงาน 2 คน และพวกเธอก็ทำงานได้จำกัด เพราะเป็นงานทำมือที่ยังใช้อุปกรณ์แบบเดิม โดยไม่ได้พึ่งพาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะจะ “ไม่สามารถผลิตสีชอล์กในคุณภาพเลิศเหมือนเดิมได้”

แถมวันไหนแดดดี อากาศปลอดโปร่ง มาร์กาเรตมองฟ้าแล้วก็อาจบอกอิซาเบลล์ว่า “วันนี้พักผ่อนเถอะ ไม่ทำงานดีกว่า”

หรือวันไหนแดดดี อากาศปลอดโปร่ง มาร์กาเรตมองฟ้าแล้วก็อาจบอกอิซาเบลล์ว่า “วันนี้รู้สึกอยากคิดสีใหม่ๆ ขึ้นมา เรามาทำงานกันเถอะ”

La Maison du Pastel มีให้เลือกเกือบ 2,000 สี เป็นผู้ผลิตสีชอล์กมากสีที่สุดในโลก (และแพงที่สุดในโลก) ขณะที่ยังคงเป็นที่หนึ่งในเรื่องคุณภาพเหมือนดังที่เคยสร้างชื่อมากว่า 300 ปี

 

สตูดิโอทำงานและหน้าร้านในปัจจุบัน

Photo: FB-La Maison du Pastel

จำเป็นหรือไม่ที่ความสำเร็จของแบรนด์ต้องวัดด้วยจำนวนพนักงาน ผลประกอบการ หรือจำนวนสาขา

ความสำเร็จของบางแบรนด์อาจจะเป็นการทำงานให้มีคุณภาพ มีความสุข และมีรายได้ให้สามารถยืนระยะทำสิ่งที่อยากทำต่อไปได้

แบบ La Maison du Pastel บริษัท 300 ปีที่มีพนักงาน 2 คนถ้วน

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top