Morus สตาร์ตอัปญี่ปุ่นชุู “โปรตีนทางเลือกหนอนไหม” ท้าชนวิกฤติอาหารโลก

ท่ามกลางวิกฤติอาหารโลกหรือ Global Food Crisis ที่หลายๆ ประเทศเผชิญอยู่ อาหารประเภทต่างๆ รวมถึงโปรตีนจากเนื้อสัตว์มีราคาสูง ส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงได้ยากขึ้น จึงเกิดโปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น โปรตีนจากถั่วเหลือง ถั่วลันเตา หรือเห็ด เป็นต้น

เช่นเดียวกับโปรตีนทางเลือกจากแมลง ที่เราเคยได้ยินว่ามีการทำธุรกิจเพื่อการบริโภคอยู่บ้าง แต่จะมีผู้ประกอบการท่านใดที่กระโดดลงสนามในระดับโกลบอลแบบเป็นล่ำเป็นสัน คำตอบคือมี!  “Morus” สตาร์ตอัปญี่ปุ่นหัวใสที่สรรสร้างโปรตีนจาก “หนอนไหม” ขับเคลื่อนอุปทานโปรตีน มุ่งแก้ปัญหาวิกฤติอาหารโลก และที่สำคัญกำลังมุ่งหน้าตีตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มกำลัง

วิกฤติอาหารโลกคืออะไร?

วิกฤติอาหารโลกเป็นสถานการณ์การขาดแคลนอาหารในทั่วโลก ประชากรหลายกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ตลอดความมั่นคงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สาเหตุของวิกฤติดังกล่าว เกิดได้จาก

  • ความไม่มั่นคงและความขัดแย้งทางการเมือง สงครามและการก่อการร้าย
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change
  • โรคระบาดที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร
  • ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ผู้คนไม่มีกำลังซื้ออาหารอย่างเพียงพอ
  • กระบวนการผลิตอาหารแบบไม่ยั่งยืน เช่น ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้สภาพดินและน้ำเสื่อมโทรม ไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เป็นต้น

Photo: morus.jp

แมลง: โปรตีนที่ยั่งยืน

บทความวิชาการ Nutritional aspects and dietary benefits of “Silkworms”: Current scenario and future outlook
– คุณค่าและประโยชน์ทางโภชนาการของ “หนอนไหม”: สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ของ National Library of Medicine เผยว่า

ในปี 2050 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 2,500 ล้านคน และความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นถึง 70% ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ทันที่จะรองรับความต้องการของคนทั้งโลก ทั้งในแง่ของการบริโภคและการทำปศุสัตว์

และในปีเดียวกันนี้ ราคาของเนื้อวัว หมู และสัตว์ปีกคาดการณ์ว่าจะสูงกว่าในปี 2000 ถึง 30% เนื่องมาจากราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่แพงขึ้น

Photo: morus.jp

กระบวนการทำฟาร์มปศุสัตว์ยังเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 7.1 กิกะตันต่อปีหรือคิดเป็น 14.5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

ในทางกลับกัน แมลงประมาณ 1,900 สายพันธุ์ที่ถูกบริโภคทั่วโลก มีประโยชน์ทั้งในแง่คุณค่าทางโภชนาการสูง และมีความยั่งยืนในกระบวนการผลิต เนื่องจากปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่ามาก

สอดคล้องกับรายงานของสถาบันทรัพยากรแห่งโลกที่เผยว่า มนุษย์จะต้องผลิตอาหารเพิ่มมากกว่าร้อยละ 50 ของปัจจุบัน ภายในปี 2050

นั่นหมายความว่าไม่เกิน 30 ปี มนุษย์ทั่วโลกเตรียมตัวรับศึกหนักจาก Global Food Crisis อย่างเต็มรูปแบบ

Photo: morus.jp

Morus ต่อสู้กับ Global Food Crisis 

Morus สตาร์ตอัปญี่ปุ่น ก่อตั้งโดยเรียว ซาโตะ ซีอีโอของบริษัท Morus Inc. เสนอนวัตกรรมการผลิตเพื่อยกระดับ “หนอนไหม” ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในประเทศญี่ปุ่น สรรสร้างเป็นอาหารทางเลือกที่ยั่งยืน บริษัทมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก ล่าสุดนำเสนอ MorSilk ผงโปรตีนหนอนไหม ใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการและมีรสชาติดี ี

นอกจากนี้ยังเป็น บริษัทญี่ปุ่นแห่งแรกที่ได้รับเลือกในโครงการ Innovate 360 ​​ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัปที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเป็น 1 ในพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีภายใต้นโยบายความมั่นคงทางอาหารของ APEC

Photo: morus.jp

มัตจะโปรตีนหนอนไหม

ผงโปรตีนจากหนอนไหม MorSilk เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ในวันที่ 25 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ภายในงานมีการสาธิตพิธีชงชาเขียวโดยใช้ SilkMatcha หรือชาเขียวมัตจะที่ทำมาจากผงโปรตีนหนอนไหม MorSilk ให้ผู้ร่วมงานได้ชิม

“อร่อยมาก มีกลิ่นมัตจะที่น่ากิน มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ถ้าคุณบอกว่ามันคือมัตจะ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง” นายแพทริก ลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ACE หนึ่งในผู้ร่วมงานกล่าวชื่นชม

Photo: morus.jp

หนอนไหมในดินแดนเมอร์ไลอ้อน

จากสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว มาสู่สาขาที่ 2 ในสิงคโปร์ Morus Inc. มุ่งส่งออกผลิตภัณฑ์ให้กับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง ก่อนมุ่งสู่ตีตลาดอินโดนีเซียและประเทศไทย ทั้งรูปแบบโปรตีนไหมเพื่อผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบอาหารในร้านอาหาร รวมไปถึงโปรตีนผงและโปรตีนบาร์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย

โดยชูจุดขาย “หนอนไหมมีโปรตีนมากกว่าไก่ มีไขมันและแคลอรีต่ำกว่า” ในกระบวนการผลิตหนอนไหมยังสามารถผลิตได้ในจำนวนมากและง่ายกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ รวมถึงมีต้นทุนที่ถูกกว่าเนื้อสัตว์ทางเลือกที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเซลล์ในห้องทดลอง หวังตอบโจทย์ Pain Point ของประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศขนาดเล็ก และอัตราความพอเพียงทางด้านอาหารของประเทศอยู่ที่ 10% เท่านั้น

asia.nikkei.com

สิงคโปร์มีความกังวลวิกฤตขาดแคลนอาหาร ในปี 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุญาตให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงด้วยสารเคมีเป็นประเทศแรกของโลก พร้อมอนุญาตให้ขายหรือนำเข้าแมลงกินได้ทั้ง 16 ชนิด รวมถึงหนอนไหมและจิ้งหรีด

ประเทศไทยที่เต็มไปด้วยรถเข็นแมลงทอดใน 2 ข้างทาง อาจต่อยอดเป็นสตาร์ตอัปโปรตีนทางเลือกจากแมลง อย่างที่ Morus กับ Morsilk โปรตีนจากหนอนไหม และ Cricket One บริษัทสตาร์ตอัปที่ผลิตขนมขบเคี้ยวจากจิ้งหรีดของเวียดนามทำได้มาแล้ว

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top