‘Patagonia’ บริษัทที่พนักงานให้หยุดสัปดาห์ละ 3 วัน จะได้พัฒนาตัวเองและไปเที่ยวเยอะๆ 

มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อที่วันหยุดวันเดียวที่มีจะได้เอาเวลาไป…ซักผ้าก็หมดวันแล้ว หัวหน้า! ขณะที่ Patagonia แบรนด์เครื่องแต่งกายเอาต์ดอร์ชื่อดังจัดวันหยุดไปเลย 3 วันต่อสัปดาห์ พร้อมสวัสดิการอื่นๆที่มุ่งให้พนักงานแฮปปี้ที่สุด แล้วผลออกมาเป็นอย่างไร? บริษัทนี้ล่มจมหรือรุ่งเรือง The Optimized อาสาพาไปส่อง

ธุรกิจที่สร้างมาเพื่อกู้โลก

ต่อให้ไม่ได้เป็นสายปีนเขา เดินป่า ปั่นจักรยาน วิ่งเทร็ก หรือทำกิจกรรมเอาต์ดอร์สุดแอดแวนเจอร์ใดๆ แม้แต่สายแฟยุคนี้ก็ย่อมคุ้นเคยดีกับโลโก้ทิวเขากับฉากหลังท้องฟ้าสีม่วง น้ำเงิน ส้มสดใสของ Patagonia แบรนด์ที่ก่อตั้งโดย Yvon Chouinard (อีวอง ชูนาร์ด) นักปีนเขาชาวอเมริกันก่อตั้งแบรนด์นี้ขึ้นมาในปี 1973 เพื่อ “ทำธุรกิจที่ช่วยโลกที่เป็นบ้านของเรา”

Yvon Chouinard (อีวอง ชูนาร์ด) ผู้ก่อตั้ง Patagonia

Photo: Patagonia

Photo: Patagonia

Patagonia กลายเป็นแบรนด์แรกๆที่บุกเบิกด้าน ESG หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็น ปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเมื่อทำการประเมินด้านความยั่งยืนและผลกระทบทาง จริยธรรมของการลงทุนในธุรกิจหรือในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นตลาดใหญ่ในโลกการเงินและธุรกิจไปทั่วโลกในยุคนี้ (แม้เมืองไทยจะเพิ่งมีกองทุน Thai ESG ในปี 2023)

สินค้าของ Patagonia ทำจากคอตตอนออร์แกนิก โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ใยกัญชง รวมทั้งพัฒนาวัสดุนวัตกรรมมากมาย อาทิ Yulex วัสดุที่ทำจากพืชให้เป็นทางเลือกใหม่ของนีโอพรีน หรือ H2No สารเคลือบกันน้ำที่ช่วยการใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม บริจาค 1% จากยอดขายให้กับองค์กรที่มีเป้าหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม

Patagonia ยังเป็นกรณีศึกษากลยุทธ์ธุรกิจแหวกกรอบ เมื่อในปี 2011 ทางแบรนด์ซื้อโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์  New York Times ในวัน Black Friday ซึ่งจัดเป็นวันลดราคากระหน่ำ คนแห่กันช้อปปิ้งจนเหยียบกันตายในห้างก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

Photo: Patagonia

Patagonia ทำโฆษณาที่มีรูปแจ็กเก็ตฟลีซอันเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ พร้อมประโยคเดียวสั้นๆว่า ‘อย่าซื้อแจ็กเก็ตนี่’ ด้วยความพยายามจะสะท้อนกลไกของระบบทุนนิยมที่กระตุ้นให้คนบริโภคในสิ่งที่จริงๆแล้วไม่จำเป็น แต่จิตใจมนุษย์และทุนนิยมก็ตลกร้ายเสมอ เมื่อกลายเป็นว่ายอดขาย ‘แจ็กเก็ตนี่’ พุ่งกระฉูดยิ่งกว่าเคย และในปี 2016 ทางแบรนด์บริจาคยอดขาย 100% ในวัน Black Friday ให้องค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม  

4 สวัสดิการที่ทำให้ Patagonia คือหนึ่งที่บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในโลก

ก่อนที่บริษัทจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ต้องทำให้คนทำงานในองค์กรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเสียก่อน จึงจะมีเรี่ยวแรงและพลังสมองไปกู้โลก ด้วยแนวคิดนี้ Patagonia จึงมีสวัสดิการพนักงานที่น่าส่งใบสมัครไป ณ บัดนาว 

1.สวัสดิการสุขภาพ-การศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือพาร์ตไทม์ก็ได้สวัสดิการสุขภาพเหมือนกัน โดยครอบครัวไปถึงการทำแท้งและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวด้วย เพราะถือว่าการเที่ยวก็ได้ชาร์จไฟให้กายใจได้ และจ่ายให้เต็มๆเมื่อเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตทุกประเภท รวมทั้งยังขอทุนเล่าเรียนในสาขาที่อยากเรียนได้ด้วย หากบริษัทเห็นว่าเป็นประโยชน์ในสักทางก็จะอนุมัติให้

Photo: Patagonia

2.ลาคลอดก็ยังได้เงินเดือน

คุณแม่ลาคลอดได้ 4 สัปดาห์โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน ทั้งยังขอลาเพิ่มได้อีก 12 สัปดาห์เพื่อกระชับสายสัมพันธ์กับบุตร รวมแล้วคุณแม่ลาคลอดได้เต็มๆ 16 สัปดาห์ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าคุณแม่ที่เป็นพนักงาน Patagonia กลับมาทำงาน 100% หลังหมดโควตาลาคลอดแล้ว ซึ่งสูงกว่าอัตราการกลับมาทำงานของทั้งอเมริกาที่ 79% เสียอีก และพนักงานระดับซีเนียร์และผู้บริการของแบรนด์ก็เป็นผู้หญิงถึง 50% ขณะที่คุณพ่อก็ขอใช้สิทธิลาคลอดไปช่วยภรรยาดูแลลูกได้

Photo: Patagonia

3.ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น

ที่ Patagonia เขาทำงานกันวันละ 9 ชั่วโมง แต่มีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานเอาเวลาไปอยู่กับครอบครัว ไปอัปสกิล-รีสกิลตัวเอง พักผ่อน หรือไปท่องเที่ยว โดยเฉพาะอันหลังนี้ คุณอีวอง ผู้ก่อตั้งเน้นย้ำมากว่าพนักงานต้องมีเวลาไปเล่นเซิร์ฟ จะได้กลับมาทำงานอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่กรำงานหนักเกินไป  

พนักงานในโกดังสินค้าและร้านค้าสามารถเลือกตารางที่เปลี่ยนได้ 15 แบบ โดยแจ้งตารางงานล่วงหน้าอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ไม่มีการจู่ๆ มีงานงอกหรือเปลี่ยนวันกะทันหัน เพื่อให้พนักงานได้บริหารเวลางาน/ส่วนตัวได้ และยังช่วยความเครียดได้อีกทาง

Photo: Patagonia

4.ทำกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทจ่ายให้

พนักงานที่ทำกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 18 ชั่วโมงขึ้นไป ทางบริษัทมีเงินสนับสนุนให้ รวมทั้งจะช่วยจ่ายค่าประกันตัวให้ด้วย หากพนักงานโดนจับขณะประท้วงในกิจกรรมด้านดังกล่าว หากพนักงานของ Patagonia ขอไปฝึกงานกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทไม่แค่อนุญาตให้ลาได้ 6 สัปดาห์ แต่ยังจ่ายเงินค่าฝึกงานให้ด้วย ที่สำคัญ ลางานไปเลือกตั้งได้จ้า

หลักการด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตพนักงานเหล่านี้คือแกนหลักที่อีวอง ผู้ก่อตั้งแบรนด์เขียนไว้ในคู่มือองค์กร ‘Let My People Go Surfing’ ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือที่สถาบันการศึกษาและองค์กรหลายแห่งใช้เป็นกรณีศึกษาธุรกิจ และเป็นหนังสือขายดีที่พิมพ์ซ้ำหลายรอบเลยทีเดียว

Photo: Patagonia

วันหยุดเยอะ สวัสดิการดี พนักงานแฮปปี้ แล้วบริษัทได้อะไร?

นโยบายและสวัสดิการต่างๆที่กล่าวมานี้แลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพนักงาน แล้วบริษัทกระเป๋าขาด ต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นจนจะล่มจมหรือไม่?

รายได้ในปี 2023 นับเป็นยอดสูงสุดที่เคยทำได้ของ Patagonia ที่ 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,400 ล้านบาท จากข้อมูลของ Zippia พบว่าพนักงาน 1,000 คนของแบรนด์ทำรายได้เฉลี่ยตกคนละ 209,090 เหรียญ หรือ 7.4 ล้าน ขณะที่บริษัทมีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ หรือ 100,000 ล้านบาท

Photo: Patagonia

Patagonia เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกบริษัทในกลุ่ม B Corp โดยธุรกิจที่ได้มาตราฐาน B Corp Certification คือ ธุรกิจที่ได้มาตรฐานสูงสุดของการตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความโปร่งใสเปิดเผยได้ และมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผลกำไรและพันธกิจขององค์กร โดยมาตรฐาน B Corp จะมีการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรใน 5 ด้าน คือ ธรรมาภิบาล พนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลูกค้า ในปัจจุบันมีบริษัที่ได้รับการรับรอง B Corps ประมาร์ 6,000 บริษัทจาก 80 ประเทศ

Patagonia ยังติดทำเนียบ TIME 100 MOST INFLUENTIAL COMPANIES 2023 ของนิตยสาร TIME

Photo: Patagonia

การที่พนักงานมีสวัสดิการดี มีวันหยุดมากพอจะทำอะไรอื่นได้มากกว่าแค่ซักผ้าก็หมดวัน นั่นคือสัญญาณที่ดีเช่นกันว่า พวกเขามีแรงกายแรงใจพร้อมจะพัฒนาขึ้น…มากกว่าจะแค่ทำงานไปวันๆ จากลูปทำงาน 6 หยุด 1 สวัสดิการ 0.5 ดังที่เผชิญอยู่   

Words: Sritala Supapong

ที่มา

you might like

Scroll to Top