Royal Copenhagen แบรนด์เซรามิกเก่าแก่สุดแพงของเดนมาร์ก ทำไมผลิตในเมืองไทย

สแกนดิเนเวียได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งถ้วยชามเซรามิก ด้วยอุปนิสัยผู้คนที่ชอบอยู่บ้านและชอบแต่งบ้าน แบรนด์เซรามิกจึงเป็นที่นิยม ขายได้ราคา เป็นของประเภทแรกๆ ที่ผู้คนจะซื้อหาในโอกาสพิเศษ

หนึ่งในแบรนด์เซรามิกสุดรักของชาวสแกนดิเนเวียและของโลกคือ Royal Copenhagen จากเดนมาร์กที่ก่อตั้งในปี 1775 หรือ 249 ปีแล้ว

แบรนด์เซรามิกเก่าแก่ที่สุดของเดนมาร์กยังเด่นดังจากคอลเล็กชั่นเซรามิกที่หรูหราราคาแพงที่สุดในโลก ‘Flora Danica’ ที่สนนราคาจาก 1,000 – 43,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น

เช่น เซตแก้วกาแฟ + จานรองแก้ว ราคา $5,840 หรือราวๆ 204,000 บาท

กาน้ำชา $15,725 หรือราวๆ 550,000 บาท!

จาน ชาม ถ้วย แก้วกาแฟ ฯลฯ ของ Royal Copenhagen ทำในโรงงานในเมืองไทย เพ้นต์โดยช่างฝีมือชาวไทย ใช้ดินขาวจากจังหวะสระบุรีนี่เอง

ทำไมแบรนด์เซรามิกเดนมาร์กจึงตั้งราคาขายแสนแพงได้ และเหตุใดจึงมาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทย

The Optimized ชวนไปหาคำตอบ

Flora Danica หนึ่งในคอลเล็กชั่นเซรามิกแพงที่สุดในโลก

Photo: www.royalcopenhagen.com

โรงงานเซรามิกราชวงศ์

Juliane Marie (พระพันปียูลีอาเนอ มารีอา) เป็นมเหสีม่ายองค์ที่สองของกษัตริย์เฟรเดอริกที่ 5 พระนางก้าวก่ายทางการเมืองในรัชสมัยกษัตริย์คริสเตียนที่ 7 ลูกเลี้ยงที่มีสติวิปลาสจนไม่อาจทำหน้าที่ได้

แม้ถูกกีดกันออกจากการเมืองไปและถูกเกลียดชังมากจากชาวเดนมาร์ก มรดกยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระพันปียูลีอาเนอ มารีอาทิ้งไว้ให้ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี 1796 ก็คือ การก่อตั้งโรงงาน Royal Danish Porcelain ในปี 1775 ทำให้ในที่สุด ราชวงศ์เดนมาร์กก็ได้มีการผลิตเซรามิกเป็นของตนเองเช่นเดียวกับราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรป จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Royal Copenhagen

พระพันปียูลีอาเนอ มารีอา ยังทำแบรนดิ้งให้กับ Royal Copenhagen เมื่อริเริ่มให้เซรามิกทุกชิ้นต้องมีตราประทับที่เอกลักษณ์ 3 ประการ ได้แก่

Photo: www.royalcopenhagen.com

เกลียวคลื่นสีน้ำเงิน 3 เส้น

สัญลักษณ์ของทางน้ำสำคัญของเดนมาร์ก ได้แก่  ‘Oresund’ หรือ Sound, the Great Belt และ the Little Belt

Photo: www.royalcopenhagen.com

มงกุฎ

สื่อว่า Royal Copenhagen มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นกิจการของราชวงศ์เดนมาร์ก เดิมทีช่างจะเขียนรูปมงกุฎด้วยมือ แต่เปลี่ยนเป็นตราประทับในช่วงปี 1870 มงกุฎประดับด้วย Dagmar Cross อัญมณีรูปไม้กางเขนจากยุคกลางที่ค้นพบในปี 1690 รูปมงกุฎยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลายเป็นเครื่องบ่งบอกยุคสมัยของเซรามิกชิ้นนั้นๆ ได้อีกทาง

Photo: www.royalcopenhagen.com

ตราประทับประจำตัวของช่างฝีมือ

กว่าจะได้ลงมือเพ้นต์จริง ช่างฝีมือแต่ละคนต้องฝึกปรือการเพ้นต์ 4 ปี และการที่ขายเซรามิกได้ราคาดีเพราะมีจุดขายที่เป็นงานคราฟต์ ผลงานทุกชิ้นจึงมีตราประทับประจำตัวของช่างฝีมือที่ทำงานชิ้นนั้นๆ ขึ้นมาด้วย

ในยุค 1700 เซรามิกถือว่าเป็นของขวัญล้ำค่าในแวดวงการทูตและชนชั้นสูง จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมา แม้กระทั่งในสงคราม Battle of Copenhagen ในปี 1801 ที่เดนมาร์กพ่ายแพ้ต่ออังกฤษ นายพลของอังกฤษยังนำเซรามิกของ Royal Copenhagen กลับไปฝากภรรยา เรียกได้ว่าเดนมาร์กแพ้สงคราม แต่ชนะในสมรภูมิเซรามิก

กาน้ำชาคอลเล็กชั่น Flora Danica ราคา $15,725 หรือราวๆ 550,000 บาท แก้วพร้อมจานรองราคาราวๆ 200,000 บาท

Photo: www.gearys.com

แบรนด์นี้ยังมีคอลเล็กชั่นที่ได้ชื่อเป็นเซรามิกที่แพงที่สุดในโลก ชื่อว่า Flora Danica เริ่มใช้งานครั้งแรกในงานวันเกิดของกษัตริย์คริสเตียนที่ 7 ในปี 1803 เริ่มจากแค่ใช้เป็นชุดของหวาน ก่อนจะขยายไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันคอลเล็กชั่นนี้มีถึง 1,503 ชิ้น

Flora Danica เป็นงานทำมือชั้นเลิศ ทำด้วยวิธีการจากศตวรรษที่ 18 เพื่อถนอมรักษาเซรามิกเก่าแก่ จึงมีการใช้เซรามิกจากคอลเล็กชั่นดั้งเดิมนี้เป็นครั้งสุดท้ายในงานฉลองวันเกิดราชินีอิงกริดแห่งเดนมาร์กในปี 1990

ทางแบรนด์เปิดให้นักสะสมได้สั่งทำเซรามิกแบบต่างๆ ในคอลเล็กชั่น Flora Danica ขึ้นมาใหม่ชิ้นต่อชิ้น ซึ่งทั่วโลกมีช่างไม่ถึง 20 คนที่มีฝีมือมากพอจะเพ้นต์ลวดลายพฤกศาสตร์ที่วิจิตรงดงามตามแบบเดิมได้

ทำให้เซรามิกแต่ละชิ้นในคอลเล็กชั่นนี้ขายราคาแพงหูฉี่ได้จาก $1,000 – 43,000 หรือเริ่มต้นที่ 35,000 – 1,500,000 บาทต่อชิ้น

ใครที่สั่งทำแบบ made-to-order เลือกลายได้จากที่มีกว่า 3,000 ลาย มีถ้วยจานชามช้อนเซรามิกกว่า 40 แบบให้เลือก

แบรนด์เซรามิกเดนมาร์ก ฝีมือช่างไทย

เมืองไทยมีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกอยู่หลายแห่ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดินในท้องถิ่น เช่น

เชียงใหม่ แหล่งทำศิลาดล

สมุทรสาคร  นึกถึงถ้วยชามเบญจรงค์

ราชบุรี  ศูนย์กลางผลิตโอ่งมังกร

ลำปาง บ้านของชามไก่ 

สระบุรี แหล่งผลิตเซรามิกคุณภาพดีเกรดส่งออก จนโรงงานหลายแห่งร่วมทุนกับต่างชาติ มีแหล่งผลิตกระจุกตัวที่อําเภอหนองแค เพราะใกล้แหล่งวัตถุดิบและมีท่อก๊าซธรรมชาติ ส่งไปยังโรงงานปูนซีเมนตของบริษัทปูนซีเมนตไทย ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าหลวงและอำเภอแก่งคอย

Photo: FB-Royal Copenhagen

แรกทีเดียวในปี 2003 Royal Copenhagen ร่วมทุนกับบริษัท ภัทรา พอร์ซเลน จำกัด ผู้ผลิตเซรามิกของไทยที่มีโรงงานในสระบุรีเช่นเดียวกัน

ในปี 2004 แบรนด์ Royal Copenhagen ย้ายฐานการผลิตมาที่เมืองไทย ตั้งโรงงานที่ตำบลหนองปลิง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี บนพื้นที่โรงงาน 5,000 ตารางเมตร

การพัฒนาคอนเซ็ปต์ งานออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพ การตลาด การขายและงานธุรการต่างๆ ยังอยู่ที่เดนมาร์ก

ส่วนโปรดักชั่นการผลิตคอลเล็กชั่น Flora Danica รวมถึงแม่พิมพ์ดั้งเดิมและโมเดลต้นแบบที่ใช้ในโรงงานที่ไทยจะผลิตขึ้นที่เดนมาร์ก

ในปี 2013 Royal Copenhagen แบรนด์สัญชาติเดนมาร์กถูกขายกิจการให้กับ Fiskars บริษัทจากฟินแลนด์

เดิมทีแค่อยากจะใช้โรงงานในไทยผลิตสินค้าใหม่เท่านั้น สินค้าที่มีอยู่แล้วจะผลิตในเดนมาร์กต่อไป แต่เกมเปลี่ยนเพราะ

  • ต้นทุนที่ลดลงเมื่อผลิตในไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทอยู่รอดได้
  • หากย้ายฐานการผลิตในไทย จะอยู่ใกล้ตลาดใหญ่ของ Royal Copenhagen ที่มีกำลังซื้อมากในเกาหลี ญี่ปุ่นและไต้หวัน
  • ต้องย้ายไปตั้งโรงงานในประเทศที่มีวัฒนธรรมการผลิตเซรามิกที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพื่อให้หาพาร์ตเนอร์ที่สามารถผลิตเซรามิกในคุณภาพระดับเดียวกับ Royal Copenhagen ได้ โดยเฉพาะกรรมวิธีเผาซึ่งสำคัญมาก
  • ต้องย้ายไปประเทศที่มีคนทำงานที่มีฝีมือเรื่องเซรามิกเป็นอย่างดี จะได้ไม่ต้องฝึกคนทำงานใหม่ตั้งแต่ศูนย์
  • เมืองไทยเป็นฐานการผลิตของแบรนด์สัญชาติเดนมาร์กอยู่แล้ว เช่น Pandora และ Georg Jensen
  • เมืองไทยมีช่างเพ้นต์ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้การเทรนงานทำได้ง่ายขึ้น

พนักงานกว่า 500 คนในทุกวันนี้ เริ่มต้นจากการส่งช่างไทยไปฝึกกับช่างที่เดนมาร์ก และมีช่างจากเดนมาร์กมาฝึกให้ช่างที่เมืองไทย และอีกคนที่ขาดไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่ในทุกขั้นตอนคือ ‘ล่าม’

กำแพงภาษาอาจเป็นอุปสรรคเล็กน้อย แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เกินคาดก็คือ แรกทีเดียวทุกคนคิดว่าแค่ย้ายอุปกรณ์ แม่พิมพ์จากเดนมาร์กมาที่ไทย ส่งช่างจากเดนมาร์กมาฝึกให้ช่างไทยก็เปิดฐานการผลิตใหม่ได้แล้ว

Photo: FB-Royal Copenhagen

แต่กลายเป็นว่าเนื้อดิน สี อุณหภูมิ และน้ำที่ไทยต่างไปจากที่เดนมาร์ก แม้ใช้วิธีการผลิตเดียวกัน แต่ให้ผลลัพธ์ต่างกัน

เช่น สีเพ้นต์เมื่อระบายลงบนเนื้อเซรามิกแล้วสีเพี้ยน เป็นเพราะปริมาณแคลเซียมในน้ำที่ไทยต่างจากที่เดนมาร์ก จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใส่กรดอะเซติกลงในน้ำ

ปัญหาวัตถุดิบที่แตกต่างต้องแก้ด้วยการปรับสูตร พลิกแพลงไปมา เพราะรูปลักษณ์ สีสัน หน้าตา ผิวสัมผัสของเซรามิก Royal Copenhagen ที่เป็นแบบเดิมมากกว่า 200 ปีจะมาเปลี่ยนไปไม่ได้

นั่นทำให้ Royal Copenhagen ยังคงเป็นแบรนด์เซรามิกชั้นนำของโลก และคุณภาพเป็นที่เชื่อถือจากฝีมือช่างชาวไทย จนขายจานเปล่าสีขาวธรรมดาใบละ 1,700 ได้

Photo: www.royalcopenhagen.com

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top