Sea (ประเทศไทย) และ CEA ประกาศความสำเร็จโครงการ Women Made  โชว์เคสผลงานผู้ประกอบการหญิง 10 แบรนด์  พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจและองค์ความรู้จากโครงการฯ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในหลายมิติ และผลกระทบอาจรุนแรงขึ้นไปอีกในกลุ่มผู้ประกอบการหญิง โดยรายงาน Thai Digital Generation 2021 ‘ฉายภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19’ จาก Sea (Group) และ World Economic Forum พบว่า กลุ่มผู้หญิงพบปัญหาการลดลงของรายได้และสุขภาพจิตที่แย่ลงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดมาจากความเครียดของผู้หญิงที่ต้องทำงานและรับบทบาทดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งยังขาดการเข้าถึงทักษะและแหล่งเงินทุนที่จำเป็นในการทำธุรกิจ รายงาน Global Entrepreneurship Monitor ยังชี้ว่า 70% ของผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยขาดความมั่นใจและกลัวความล้มเหลว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางธุรกิจและการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจของตน

ด้วยเหตุนี้ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) จึงริเริ่มโครงการ Women Made ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหญิงก้าวข้ามความกลัว สร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมผ่านธุรกิจของตน โดยจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ โครงการ Women Made จึงเปรียบเสมือนพื้นที่การเรียนรู้และสนามทดลองในการทำธุรกิจ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อยอดธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการหญิง

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “หลังจากเปิดตัวโครงการไปในช่วงปลายปี 2022 โครงการ Women Made ก็ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้สมัครร่วมโครงการกว่า 100 แบรนด์ เราได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเข้มข้น ทั้งด้านความโดดเด่นของธุรกิจหรือสินค้า ศักยภาพในการขยายธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ และความตั้งใจในการสร้างอิมแพคให้สังคมไม่ว่าจะในด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม จนได้ผู้ร่วมโครงการทั้ง 10 แบรนด์ ที่ต้องผ่านการอบรมทั้งในด้านการทำธุรกิจออนไลน์ การตลาดและแบรนดิ้ง การออกแบบและต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม   จนสุดท้ายได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์คอลเลกชันพิเศษที่วางขายแล้วบนช้อปปี้เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา”

พลิกความกลัวเป็นความกล้า สู่โอกาสที่มากกว่าสำหรับผู้ประกอบการหญิง

“หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ผู้ประกอบการหญิงทุกแบรนด์ระบุว่ามีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นในฐานะผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังได้รับทักษะใหม่ ๆ ได้แก่ 1.) การทำธุรกิจโดยรวม 2.) การทำธุรกิจบนดิจิทัลแพลตฟอร์มและโลกออนไลน์ และ 3.) ด้านการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสินค้าและบริการ สะท้อนเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นบนช่องทางออนไลน์ โดยเพิ่มขึ้นราว 20% ในช่วงเวลาเพียงแค่ 1 เดือน นอกจากนี้ ทุกแบรนด์ยังได้ค้นหาแนวทางการดำเนินธุรกิจของตัวเองให้มีความยั่งยืนในรูปแบบที่ทำได้จริงและมีความหมายต่อแบรนด์อีกด้วย” คุณมณีรัตน์ กล่าวเสริม     

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า จากบทบาทหน้าที่ของ CEA ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน และปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดการเติบโตนอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอีกมิติที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องตระหนักและปรับตัว พร้อมใช้ต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยรอบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเอื้อให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

เราเชื่อว่าโครงการ “Women Made” ที่จัดทำร่วมกับ Sea (ประเทศไทย) นอกจากเรื่องความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังมีการผนวกเรื่องการใช้เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมในการทำธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพในการทำธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 10 แบรนด์ ให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังถือเป็นโครงการนำร่อง สำหรับผู้ประกอบการหญิงที่มีไฟและต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขยายสู่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้นได้จริง โดยผู้ประกอบการหญิงที่ผ่านการบ่มเพาะในโครงการฯ จะสามารถใช้องค์ความรู้พัฒนาศักยภาพให้ตอบโจทย์ธุรกิจของตนเอง ในระดับประเทศหรือนานาชาติ รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเทศไทยต่อไป”

ด้าน อาจารย์เรวัฒน์ ชำนาญ ที่ปรึกษาโครงการผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และอดีตบรรณาธิการบริหาร Wallpaper Thai Edition กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการหญิงที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 10 แบรนด์นั้นล้วนมีศักยภาพในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและสร้างคุณค่าต่อสังคมไปพร้อมกัน เราจึงได้ออกแบบ Masterclass โดยใช้กระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โอกาสในการพบเมนเทอร์ (Mentor) รวมถึงเครือข่ายนักสร้างสรรค์จาก Connect by CEA มาทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ นอกจากนั้นผู้ประกอบการหญิงทั้ง 10 แบรนด์มีโอกาสได้ลองประยุกต์ความรู้จาก Masterclass และทดลองไอเดียใหม่ ๆ โดยใช้ seed-funding จากโครงการในการออกคอลเลกชันพิเศษที่ทดลองขายบน Shopee

ผลงานความสำเร็จจากพลังผู้ประกอบการหญิงทั้ง 10 แบรนด์ที่เข้าร่วมของโครงการ “Women Made” มีดังนี้

·   Kanz by Thaitor: แบรนด์เสื้อผ้าเล็ก ๆ จาก จ.แพร่ ที่คนในครอบครัวออกแบบลายและทำกันเองทุกขั้นตอน เป็นการต่อยอดผ้าบาติก

·   Sliptosleep: แบรนด์ Braless Pajamas หรือชุดนอนสำหรับสาว ๆ ที่มาพร้อมกระเป๋าหนาสามชั้นด้านนอก ทำให้ไม่ต้องกลัวโป๊แม้จะไม่ได้ใส่บรา

·   Veraparisbag: แบรนด์กระเป๋าซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตผู้หญิงในมหานคร ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสถาปัตยกรรมเมือง โดยออกแบบให้มีฟังก์ชันที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ชีวิต Urban Life สร้างสุนทรีย์ให้ผู้หญิงในการถือ และใช้กระเป๋า

·       Sureeya: แบรนด์ผลิตภัณฑ์กระเป๋าและ Accessories จากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผ้าพื้นถิ่น คือ ผ้าปาเต๊ะ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่

·       Pick Me Please: หมูหย็องกรอบที่ใช้กรรมวิถีคั่วบนเตาถ่านสูตรโบราณ โดยปราศจากการใช้เครื่องจักร ปรุงรสจนได้หมูหย็องกรอบที่ กรอบอร่อย รสชาติไม่เหมือนใคร ปราศจากผงชูรสและสารกันเสีย

·       ขนมทันจิตต์: ต่อยอดตำนานครอบครัวนักรังสรรค์ขนมที่มีประวัติยาวนานกว่า 40 ปี พร้อมส่งต่อความสุขที่ทานได้ แบบ Non Stop กับขนม “เผือกกรอบรูปตะแกรง” ในแบบฉบับ “ทันจิตต์”

·   Mediherbtea: แบรนด์ชาจากดอกไม้ ปราศจากคาเฟอีน ไม่มีน้ำตาล ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่มีทั้งกลิ่นหอมและคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ประกอบไปด้วยชาเบลนด์ 3 รสชาติ ได้แก่ 1.Morning Bloom ชาดอกไม้สีแดงจากดอกชบา กระเจี๊ยบแดง และกุหลาบ 2. Golden Noon        ชาดอกไม้สีเหลืองทองจากดอกคำฝอย มะตูม และดอกกระดังงา 3. Starry Night ชาดอกไม้สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน มะลิ และเปเปอร์มิ้นท์

·       Ales Thailand: แบรนด์สกินแคร์ที่อยากช่วยให้การดูแลผิวเป็นเรื่องง่าย โดย Ales เกิดจากความตั้งใจของเพื่อน 3 คน (พลอย – เภสัชกรที่มีความรู้ด้านงานวิจัยสารสกัด หยก-ทายาทธุรกิจนำเข้าเคมีภัณฑ์เครื่องสำอาง แพร-Influencer ที่สนใจด้านธรรมชาติและสุขภาพ) ที่อยากทำสกินแคร์    แบรนด์ไทยที่มีคุณภาพ และส่งต่อความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค

·       Happy FLows TH: แบรนด์ผ้าอนามัยออร์เเกนิกและผ้าอนามัยสมุนไพร ที่มุ่งมั่นช่วยให้ผู้หญิงรักษาอนามัยอย่างปลอดภัยได้ในทุก ๆ วัน และต้องการร่วมขับเคลื่อนสังคม ช่วยเหลือให้ผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงผ้าอนามัยดี ๆ ได้ ปล่อยเซ็ตผ้าอนามัยสมุนไพร “Happy Together” ประกอบด้วย ผ้าอนามัยแบบกลางคืน 24 แผ่น กระเป๋าใส่ผ้าอนามัย และ Period Tracker นอกจากนั้นกล่องผ้าอนามัย Happy Flows สามารถ D.I.Y. เป็นกล่องใส่ผ้าอนามัยอีกด้วย เมื่อซื้อ 1 กล่อง แบรนด์จะมอบอีก 1 กล่องให้เพื่อนผู้หญิงที่ขาดโอกาสเข้าถึงผ้าอนามัยที่ถูกสุขลักษณะเพื่อเป็นอีกพลังหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความสุข ความเท่าเทียมด้านสุขอนามัยของผู้หญิงทุกคน

·       Pethology+: แบรนด์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยต่อยอดแชมพูกำจัดเหาของเด็กมาเป็นแชมพูสมุนไพรสำหรับสุนัขและแมว พัฒนามาจากใบถอบแถบซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามแนวป่าชายเลน ผ่านการทดลองในห้องทดลองโดยผู้เชี่ยวชาญ จนได้เป็นแชมพูและสเปรย์สมุนไพรที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์

“เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กลุ่มผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สินค้าและบริการของตนเอง และใช้เทคโนโลยีในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนทางสังคม โครงการ “Women Made” เป็นหนึ่งในโครงการด้าน Digital Education ของ Sea (ประเทศไทย) ที่ต้องการจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศไทยมีความรู้และทักษะดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ศักยภาพในการทำธุรกิจ ตลอดจนรองรับการปรับตัวและเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ องค์ความรู้จาก Master Class ที่ผู้ประกอบการทั้ง 10 แบรนด์ได้เรียนรู้จากโครงการฯ จะถูกถอดบทเรียนออกมาเป็นวิดีโอซีรีส์สั้น ๆ 5 ตอน และเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการหญิงท่านอื่น ๆ และผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายบนเว็บไซต์ Sea Academy เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Women Made จะสามารถจุดไฟแรงบันดาลใจและส่งต่อความรู้เพื่อเสริมความมั่นใจและสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะเราเชื่อว่าผู้หญิงมีพลังและจะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต” คุณมณีรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมผลงานจากผู้ประกอบการหญิงทั้ง 10 แบรนด์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายในการประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-16.00 น. ณ ร้านชำ FLVR Creative Grocery ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ 

you might like

Scroll to Top