เปลี่ยนขยะทะเลเป็นของใช้ ‘Ocyco’ แบรนด์ไทยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

แบรนด์รักษ์โลกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ Ocyco (โอไซโค่) จะทำให้ใหญ่แบบครบวงจร เมื่อทะเลไทยเสื่อมโทรมลงจากขยะพลาสติก ถึงคราวที่จะต้องมีใครมาเปลี่ยนขยะเหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์กับผู้ใช้งานจริง Ocyco (โอไซโค่) จึงมุ่งมั่นสร้างชุมชนชาวเลที่แข็งแกร่ง เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีกว่า และก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Photo: Facebook Ocyco

ไทยท็อปฟอร์มสร้างขยะพลาสติก 

สถิติจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2565 ที่ผ่านมา เผยว่า

  • ประเทศไทยมีขยะทั่วประเทศประมาณ 25.7 ล้านตัน
  • ขยะที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี และเหลือตกค้างมีทั้งสิ้น 17.01 ล้านตัน
  • ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่มีเพียง 8.8 ล้านตัน เท่านั้น
  • ซึ่งขยะที่ตกค้างเหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ลอยมาติดป่าชายเลนในบริเวณอ่าวไทย และไหลสู่ทะเล
  • จังหวัดที่สร้างปริมาณขยะใหม่มากที่สุดในแต่ละวัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และชลบุรี ตามลำดับ

Photo: Facebook Ocyco

ในส่วนของขยะที่เป็นพลาสติก รายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยข้อมูลว่า ขยะประเภทขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นขยะที่พบมากที่สุด ร้อยละ 22.00 ตามมาด้วยขยะถุงพลาสติก ร้อยละ 19.42

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งผลให้ประเทศไทยติดท็อป 5 ประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก ประมาณ 4,796,494 ตัน/ปี หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน ตามรายงานของ วารสาร Science Advance

และคุณทราบไหมว่าขยะพลาสติกเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายแค่ไหน?

คำตอบคือ 450 ปี!

ซึ่งคิดแบบตลกร้ายหากเรื่องภพชาติมีจริง เราจะเกิดมาประมาณ 6 ภพ 6 ชาติ ตามอายุขัยของมนุษย์โดยเฉลี่ย เพื่อกลับมาพบขยะชิ้นเดิมที่เราทิ้งไปในชาติแรก โดยที่ยังย่อยสลายไม่หมดกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เกิดจากการแตกหักและย่อยสลาย รวมถึงเกิดจากกระบวนการผลิตต่างๆ ในเชิงอุตสาหกรรม

Photo: Facebook Ocyco

นั้นคือเปรียบเทียบกับเรื่องสมมติ แต่เรื่องจริงคือสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล ปลา เต่าทะเล และนกทะเล ฯลฯ ต่างกินไมโครพลาสติกเข้าไปเกิดปัญหาทางเดินอาหารอุดตัน ขาดสารอาหาร จนตาย บางส่วนสะสมกลายเป็นสารพิษและผลัดหมุนเวียนไปตามระบบห่วงโซ่อาหาร และสุดท้ายมนุษย์ก็บริโภคสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงสูดดมบางส่วนที่ลอยอยู่ในอากาศ และบางส่วนที่ซึมผ่านผิวหนังจากการสัมผัสแหล่งปนเปื้อนสุดท้ายมนุษย์จำนวนมากก็ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคในระบบทางเดินอาหาร และโรคอื่นๆ อีกมากมาย

Photo: Facebook Ocyco

จุดเริ่มต้นของ Ocyco

ดังนั้นแบรนด์ Ocyco (โอไซโค่) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อมุ่งมั่นแก้ปัญหาขยะพลาสติกดังกล่าว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจร โดยผู้ก่อตั้งแบรนด์ทั้ง 3 ท่านอย่าง คุณฐณผการจ เตี่ยวประดิษฐ์ คุณอดิศร เตี่ยวประดิษฐ์ และ รศ.ดร. เศกสันต์ อุดมศรี ได้ไปเที่ยวที่หาดไร่เลย์ จ.กระบี่ และสังเกตเห็นว่าทะเลไทยในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมาที่นักท่องเที่ยวบางตา กลับพบว่าฟื้นตัวและธรรมชาติกลับมางดงามอย่างน่าประหลาด  จึงตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจึงคงความสมบูรณ์ของทะเลเหล่านี้ไว้ได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดนำขยะริมทะเลมาสร้างมูลค่า โดยที่ให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

Photo: Facebook Ocyco

Ocyco ทำอะไร

แบรนด์ที่ชูความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายครั้งก็เป็นเพียงปลายทางและเน้นการทำ CSR องค์กรเป็นสำคัญ Ocyco เล็งเห็นว่าเม็ดเงินที่ภาคธุรกิจต่างๆ มอบให้เพื่อนำไปกำจัดขยะทะเลทุกปียังไม่ยั่งยืนพอ แบรนด์จึงเน้นแก้ปัญหาแบบครบวงจร โดยเริ่มจาก

  • ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งเสื่อมโทรมทางทะเล
  • ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อเก็บเกี่ยว รวบรวมขยะ รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ผู้เก็บขยะที่ถูกต้อง พร้อมวางระบบจัดการขยะที่ยั่งยืน
  • โดยแบรนด์มีการรับซื้อขยะในราคาสูงกว่าท้องตลาด เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน พร้อมลงทะเบียนขยะทุกชิ้นอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้
  • ทำการคัดประเภทพลาสติก เตรียมวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนแปรรูป
  • แปรรูปเป็นเม็ดและเส้นใยพลาสติกตามมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สู่ผู้บริโภค
  • ผุดโปรเจกต์ประชาสัมพันธ์ และพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปในเรื่องผลกระทบของขยะกับทะเล

Photo: Facebook Ocyco

ผลิตภัณฑ์ของ Ocyco

ผลิตภัณฑ์ของ Ocyco มีจุดเด่นที่นำขยะพลาสติกในทะเลมาทำการ Upcycling หรือเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ๆสร้างสรรค์และมีประโยชน์กับผู้ใช้งาน ได้แก่

  • เสื้อ Polyester

เสื้อของ Ocyco ทำมาจากพลาสติกจากทะเล 100% โดยนำขวดพลาสติก 12 ขวดที่เก็บมาจากทะเล รวมถึงซื้อจากชุมชนในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด มาบดเป็นเกร็ดและตีเป็นเส้นด้าย จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการถักทอให้ออกมาเป็นเสื้อ 1 ตัว โดยคอลแลบฯ กับศิลปินท้องถิ่นสร้างสรรค์เป็นลวดลายสัตว์ทะเล และอื่นๆ ที่แสดงถึงความสำคัญของท้องทะเล

  • กระเป๋าอเนกประสงค์

กระเป๋าอัพไซเคิลที่สามารถใส่ได้ตั้งแต่เครื่องสำอาง ไปจนถึงถึงแลปท็อปที่ถือกำเนิดมาจาก “แหอวน” มุ่งแก้ปัญหาแหอวนเก่าๆ ที่ขาดแล้วของชาวประมง ที่มักถูกทิ้งไว้ตามทะเลและชายหาด ซึ่งสามารถสร้างอันตรายกับสัตว์น้ำ และพืชพันธุ์ปะการังต่างๆ ในระยะยาว

  • กระถางต้นไม้ขนาดเล็ก ที่ทำมาจากฝาขวดพลาสติก 60 ฝา
  • สร้อยข้อมือและพวงกุญแจ ที่ผลิตจากเศษแหอวน
  • พวงกุญแจเต่าน้อย ที่ทำมาจากฝาพลาสติกอย่างต่ำ 15 ฝา

Photo: Facebook Ocyco

Photo: Facebook Ocyco

แนวคิดดังกล่าวของ Ocyco ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่างๆ  อย่างเช่น ททท. และกระทรวงพาณิชย์ ในการผลิตเสื้อเสื้อของทางราชการ

พร้อมได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus ของกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเป็นสินค้าที่โดดเด่นในเรื่อง BCG อันเป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านพร้อมๆ กัน ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ทั้งนี้แบรนด์ได้วางจำหน่ายเพิ่มเติมที่ร้านวงพาณิชย์กระบี่ ร้านของฝากจี้ออ และขายในสมาคมหอการค้า และจังหวัดรอบข้าง อย่าง พังงาและภูเก็ต เป็นต้น

Photo: Facebook Ocyco

ก้าวต่อไปของ Ocyco

ปัจจุบันแบรนด์มีกำลังการผลิตในส่วนของเสื้อที่ทำมาจากขวดพลาสติกถึง 1,600–1,800 ตัวต่อกระบวนการผลิต 1 ครั้ง และได้เพิ่มมูลค่าขยะขวดพลาสติกไปแล้วกว่า 1 แสนขวดโดยประมาณ ซึ่งก้าวต่อไปแบรนด์จะเน้นให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปผ่านการออกบูธ ในฐานะแบรนด์แรกที่เปลี่ยนขยะพลาสติกจากทะเลไปสู่ผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรจริงๆ ตั้งแต่จุดตั้งต้นของปัญหาสู่ปลายทาง

ในภาคการส่งออก แบรนด์กำลังเดินหน้าเพื่อขยายตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และประเทศในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์เพื่อพัฒนาสินค้าจากผู้ประกอบการไทยไปสู่ระดับสากล

Photo: Facebook Ocyco

Ocyco เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจอื่นๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และร่วมกันสร้างโลกให้น่าอยู่สืบไป

Words: Valentine

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top