เป๊ปซี่โค ประกาศการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครบวงจรเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การส่งเสริมคุณค่าระยะยาวอย่างยั่งยืน และความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผลักดันสามโครงสร้างหลักตามแผนขับเคลื่อน pep+ และเป้าหมายสู่ความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมภายในปี พ.ศ. 2573 ได้แก่ การเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture), ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (Positive Value Chain) และ ทางเลือกเชิงบวก (Positive Choices)
เป๊ปซี่โค, อิงค์. (PepsiCo, Inc.) (ชื่อย่อในตลาด NASDAQ:PEP) ได้ประกาศโครงการ pep+ (pep Positive) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครบวงจรอย่างยั่งยืน โดยมีหัวใจสำคัญในการกำหนดวิธีการที่บริษัทจะสร้างความเติบโตและคุณค่าจากการดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดทรัพยากรโลก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลกและประชากร ซึ่งโครงการ pep+จะช่วยกำหนดแนวทางที่เป๊ปซี่โคจะเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจของตน จากการจัดหาวัตถุดิบต่างๆ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในรูปแบบที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ไปสู่การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคกว่าหนึ่งพันล้านรายต่อวัน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่กระแสหลักเพื่อความยั่งยืน และส่งเสริมให้ประชากรเลือกสิ่งที่ดีกว่าสำหรับตนเองและโลกของเรา
“pep+ คืออนาคตของบริษัทเรา เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในกิจกรรม และวิธีการที่บริษัทดำเนินการเพื่อสร้างความเติบโตและคุณค่าร่วมกัน โดยมีความยั่งยืนและทุนมนุษย์เป็นศูนย์กลาง สะท้อนความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในทางธุรกิจที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับอนาคตของโลกและสังคม” รามอน ลากูอาร์ตา (Ramon Laguarta) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเป๊ปซี่โค กล่าว “pep+ จะเปลี่ยนแปลงแบรนด์ของบริษัท และวิธีการที่แบรนด์เหล่านั้นจะครองตลาด ยกตัวอย่างเช่น ลองนึกภาพเลย์เริ่มใช้มันฝรั่งที่ปลูกอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อผืนดิน และจากนั้นก็นำมาปรุงรส และส่งมอบผ่านห่วงโซ่อุปทานที่มีการปล่อยไอเสียสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) และมีการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก (Net Water Positive) จำหน่ายในถุงที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ (bio-compostable) และมีปริมาณโซเดียมต่ำที่สุดในท้องตลาด นั่นคือทางเลือกเชิงบวกรูปแบบหนึ่ง ให้รสชาติที่ดีที่สุด เป็นมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบอันดับหนึ่งในอนาคต pep+ จะเป็นผลดีต่อประชากร โลกของเรา และธุรกิจของบริษัท บัดนี้ ลองนึกภาพขอบเขตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำมาปรับใช้กับแบรนด์ที่มีมูลค่ากว่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้ง 23 แบรนด์ของบริษัท”
โครงการ pep+ ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมและความคืบหน้าโดยตลอดทั้งสามเสาหลัก มุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมภายในปี พ.ศ. 2573 ภายใต้กรอบการดำเนินงานครบวงจร:
- การเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture): เป๊ปซี่โคมีการเผยแพร่แนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อผืนดิน เพื่อฟื้นฟูโลกของเราบนที่ดินอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของบริษัททั้งหมด (กว่า 7 ล้านเอเคอร์) จัดหาพืชผลและวัตถุดิบหลักอย่างยั่งยืน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 250,000 คนในห่วงโซ่อุปทานทางเกษตรกรรมของบริษัท
- ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (Positive Value Chain): เป๊ปซี่โคจะช่วยสร้างห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียนวัตถุดิบและการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อ:
- บรรลุเป้าหมายการปล่อยไอเสียสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero emissions) ภายในปี พ.ศ. 2583
- มุ่งสู่เป้าหมายการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก (Net Water Positive) ภายในปี พ.ศ. 2573 และ
- ใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนยิ่งขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า
- วันนี้ เป๊ปซี่โคประกาศเป้าหมายใหม่ที่จะลดการใช้พลาสติกใหม่ต่อหน่วยบริโภคให้ได้ร้อยละ 50 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกของบริษัทภายในปี พ.ศ. 2573[1] โดยใช้วัสดุรีไซเคิลร้อยละ 50 ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัท และขยายธุรกิจโซดาสตรีม (SodaStream) ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มได้เกือบทั้งหมด นอกเหนือไปจากวิธีการอื่น
- บริษัทจะผลักดันการดำเนินงานมูลค่ากว่า 570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม และ
- วันนี้ บริษัทเปิดตัวโครงการใหม่สำหรับทีมงานจิตอาสาทั่วโลก ที่เรียกว่า One Smile at a Time เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้พนักงานทั้ง 291,000 คนมีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในชุมชนท้องถิ่นของตน
- ทางเลือกเชิงบวก (Positive Choices): เป๊ปซี่โคยังคงพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของบริษัทให้ดียิ่งขึ้นสำหรับโลกของเราและประชากร รวมถึงโดยการ:
- นำวัตถุดิบหลากหลายชนิดมาใช้ ในผลิตภัณฑ์อาหารทั้งที่มีอยู่เดิมและคิดขึ้นใหม่เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นดียิ่งขึ้นสำหรับโลกของเรา และ/หรือส่งมอบคุณค่าทางโภชนาการ ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบจำพวกถั่วลูกไก่ (chickpeas) โปรตีนจากพืช (plant-based proteins) และธัญพืชเต็มเมล็ด (whole grains)
- ขยายการวางตำแหน่งในตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์จำพวกถั่วและเมล็ดพืช (nuts & seeds)
- เร่งรัดการลดปริมาณน้ำตาลและโซเดียมผ่านการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (science-based targets) สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัท และปรุงรสผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยใช้น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ และ
แบรนด์ของบริษัทในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างก็พยายามผลักดันให้วิสัยทัศน์ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของเป๊ปซี่โค เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของแบรนด์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการรีไซเคิล และผลกระทบต่อโลกจากการเลือกใช้สินค้าต่างๆ
- จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย เป๊ปซี่โคคาดว่าจะสานต่อคำมั่นระยะยาวของบริษัทในการกำหนดมาตรฐานใหม่ว่าด้วยความรับผิดชอบในการใช้น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต (water stewardship) และกำหนดทิศทางในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างปลอดภัย ซึ่งได้สร้างมูลค่ากว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ จากทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐฯ ที่ลงทุนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และผลักดันการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมเกือบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุนเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างปลอดภัยโดยความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหากำไรทั่วโลก
- ในปี 2564 เป๊ปซี่โค ประเทศไทย บริจาคเงิน 6 ล้านบาทให้กับมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชน ในพื้นที่ ห้าจังหวัด – ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย สกลนคร และนครพนม เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้น้ำผ่านมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรน้ำต่อไปในอนาคต
- โครงการใหม่นี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีความเสี่ยงต่อชุมชนต่างๆ ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด (water-stressed communities) โครงการนี้ได้มีการสร้างฝายแม้ว (check dams) 178 แห่ง บ่อน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กอีก 240 แห่ง ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับเกษตรกรรม ส่งผลให้ที่ดินเกษตรกรรมกว่า 474 เอเคอร์ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ pep+ ได้ที่ www.pepsico.com/pepsicopositive
[1] เทียบจากบรรทัดฐานปี พ.ศ. 2563
#เป๊ปซี่โค #Pepsico