แยกอย่างไรให้ออกระหว่าง ‘แชร์ลูกโซ่’ กับ ‘การขายตรง (ที่จริงใจ)’

ไม่ได้เป็นแชร์ลูกโซ่เพราะมีโปรดักต์…เป็นธุรกิจขายตรงเพราะมีแม่ข่าย-ลูกข่าย แต่ขายคอร์สออนไลน์ด้วย… จุดตัดระหว่าง ‘ขายตรง’ กับ ‘แชร์ลูกโซ่’ อยู่ตรงไหน รู้ไว้เผื่อวันหนึ่งอาจมีไลน์หรือสายจากใครสักคนติดต่อมาว่า “อยากรวยเร็วก็ต้องเริ่มเร็ว งั้นมาเริ่มกับเราตั้งแต่วันนี้เลยสิ!”

คุณพงส์พสุ อุณาพรหม ตัวแทนอุปนายกสมาคมขายตรงไทย ฝ่ายรัฐสัมพันธ์ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกับคนไทยยุคที่ต้องสลับกันรับสายคอลเซ็นเตอร์กับแอดไลน์แม่ข่ายไม่เว้นแต่ละวัน ถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจ ‘ขายตรง’ กับ ‘แชร์ลูกโซ่’ ไว้ให้จับสังเกตกัน

หลักในการขายตรง คือ การขายสินค้าตรงไปยังผู้บริโภค โดยบริษัทมีหน้าที่ผลิตและสต๊อกสินค้า โดยผู้จำหน่ายไม่ต้องสต๊อกสินค้าเอง บริษัทขายตรงจะมีสาขาและจะสต๊อกสินค้าไว้ตามสาขาต่างๆ ของตนเอง ผู้จำหน่ายอิสระหรือนักธุรกิจจะมาอบรมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวสินค้าเพื่อนำไปขายให้แก่ผู้บริโภค เมื่อขายได้แล้วจึงค่อยมาเปิดบิลคำสั่งซื้อกับบริษัท

ในธุรกิจขายตรงมีอยู่คำหนึ่งที่ค่อนข้างคาบลูกคาบดอก นั่นคือการมี ‘ชวน’ ให้มาซื้อสินค้า และแนะนำให้ ‘สร้างทีม’ ซึ่งรูปแบบของการขายตรงไม่ได้มีอะไรผิด เพียงแต่คนที่ไปทำให้รูปแบบการขายตรงบิดเบี้ยวอาจทำให้เกิดการซื้อที่ผิดธรรมชาติ

การซื้อที่ผิดธรรมชาติจะไปกระตุ้นให้เกิดการขายที่ผิดธรรมชาติ

เวลาคนเราซื้อของมักจะซื้อเป็นชิ้นๆ เท่าที่ใช้ เช่น คนๆ หนึ่งจะซื้อยาสีฟันหรือโฟมล้างหน้า 1 หลอด ครอบครัวอาจจะซื้อ 2 หลอดต่อเดือน ดังนั้น มีจุดสังเกตให้เอ๊ะ! ว่านี่อาจไม่ใช่ขายตรงแล้วสิ ดังนี้

เอ๊ะ#1 คนขายเชียร์ให้เราซื้อเยอะมากเกินจำเป็นหรือไม่?

การขายตรงที่ดีคือให้คนซื้อซื้อของเท่าที่ใช้

เอ๊ะ#2 หากเขาชวนเราไปขาย เราต้องลงทุนมากหรือไม่?

การขายตรงที่ดีคือโอกาสสำหรับคนทุนน้อย บริษัทรับภาระในการสต๊อกสินค้าให้ เราเพียงทำหน้าที่ขาย เมื่อขายได้แล้วจึงมาเบิกสินค้าไปให้ผู้บริโภค

เอ๊ะ#3 บริษัทนั้นๆ ได้จดทะเบียนขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือไม่

บริษัทขายตรงที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใสจะประกาศชัดเจนว่าได้จดทะเบียนขายตรงกับสคบ. แล้ว

บริษัทขายตรงที่จดทะเบียนขายตรงกับสคบ. แล้วมีข้อดีอย่างไร
  1. ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง โดยมีสิทธิคืนสินค้าได้ภายใน 7 วัน และบริษัทต้องคืนเงินให้ภายใน 15 วัน
  2. ผู้จำหน่ายได้รับการคุ้มครอง โดยมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และมีสิทธิคืนสินค้าได้ โดยบริษัทรับผิดชอบค่าดำเนินการ

Photo: FB สมาคมการขายตรงไทย – TDSA

เอ๊ะ#4 ค่าสมัครในการร่วมทำธุรกิจขายตรงต้องไม่แพง สมเหตุสมผล

สมาพันธ์การขายตรงโลกยังมีข้อห้ามไม่ให้คนซื้อของครั้งละมากๆ เกินความจำเป็นอีกด้วย

เอ๊ะ#5 รายได้ของการทำธุรกิจขายตรงต้องมาจากการนำเสนอขายสินค้าแก่ลูกค้ารายย่อย

เพื่อให้คนใช้ดีแล้วบอกต่อ เกิดการบอกปากต่อปาก ซื้อกินซื้อใช้ตามความสมัครใจ หากเราใช้เองแล้วชอบ อยากเป็นคนขายบ้าง ก็จะเป็นรายได้เสริมอีกทาง

เอ๊ะ#6 การขายตรงที่ดีจะไม่เน้นให้ผู้ซื้อกักตุนสินค้า

บริษัทต้องรับภาระเป็นคลังสินค้าแทนผู้จำหน่าย

เอ๊ะ#7 มีการรับประกันความพึงพอใจ

กฎหมายระบุไว้เลยว่า หากผู้บริโภคไม่พอใจ บริษัทขายตรงต้องยินดีคืนเงินให้

ขายตรง หัวใจหลักอยู่ที่ ‘สินค้า’

แชร์ลูกโซ่ หัวใจหลักอยู่ที่ ‘เงิน’

คนทำขายตรงที่ถูกต้องจะพูดคุยถึงคุณภาพและคุณสมบัติของสินค้า เช่น สินค้าตัวนี้ใช้ดีอย่างไร ลิปสติกสีนี้สวยไหม เพราะเงินจะมาจากการขายสินค้าได้

แชร์ลูกโซ่อาจพูดเรื่องสินค้าบ้าง แต่เน้นสัดส่วนการพูดถึงเรื่องเงินมากกว่า เช่น ถ้าลงเงินเท่านี้แล้วจะได้คืนเท่าไร โดยไม่ได้เน้นว่าสินค้าจะขายออกหรือไม่

จุดตัดสำคัญระหว่าง ‘ขายตรง’ กับ ‘แชร์ลูกโซ่’ คือ แชร์ลูกโซ่ไม่มีการรับประกันความพึงพอใจ สินค้าของแชร์ลูกโซ่จะไม่กล้าเขียนว่า ‘ไม่พอใจ ยินดีคืนเงิน’ ซึ่งผิดไปจากกรอบของกฎหมายที่กำหนดว่า ธุรกิจขายตรงต้องระบุในเอกสารว่า ‘ไม่พอใจ ยินดีคืนเงิน’

การทำธุรกิจขายตรงจะมีการจัดงานเพื่อแนะนำการขาย คุณสมบัติของสินค้า และให้กำลังใจผู้จำหน่าย เพราะหลายๆ คนไม่เคยทำงานขายมาก่อน การสอนวิธีการขายและการให้กำลังใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่หลังจากนั้น บริษัทขายตรงจะไม่ไปเร้าให้คนมาลงทุน

ดังนั้น หากจะไปร่วมงานสัมมนาของบริษัทขายตรงที่อยาก ‘ฝึกอบรม ให้ความรู้ ให้กำลังใจ’ ย่อมไปได้โดยต้องอยู่ในกรอบ 3 เรื่องนี้ แต่ถ้าในงานหรือหลังจากงานนั้น มีการเร้าให้คนลงเงิน ลงทุนมากๆ จะเลยบริบทของการทำธุรกิจขายตรงไปแล้ว

ที่มาของความสำเร็จของคนทำธุรกิจจะมีระยะเวลาที่เหมาะสม คนเราทำงานก็อาจมีเป้าหมาย แต่กว่าจะถึงเป้าหมายย่อมต้องเป็นไปตามขั้นตอน ความสำเร็จอาจไม่ได้ได้มาภายในหนึ่งเดือน เราอาจเห็นภาพความสำเร็จของคนำทธุรกิจขายตรงบ้าง แต่ต้องดูว่า

  1. อายุงานต้องสอดคล้องกับผลลัพธ์ความสำเร็จ
  2. รายได้สมเหตุสมผลกับระยะเวลาที่ทำ

ดังนั้น หาก ‘ความมโหฬารของความสำเร็จ’ กับ ‘ระยะเวลาที่ทำงาน’ ไม่สอดคล้องกัน ก็อาจบ่งชี้ได้ถึงความผิดปกติ

การที่คนเราอยากรวยไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้ามีใครมาฉวยโอกาสจากความอยากรวยของคน เพื่อจะสร้างวิธีการที่ผิดธรรมชาติ ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

คนขายตรงที่ดีจะมีการขายที่เบสิกมาก คือ แนะนำสินค้าที่เหมาะกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าซื้อของในราคาที่จ่ายไหว และในปริมาณที่เหมาะสม

Photo: FB สมาคมการขายตรงไทย – TDSA

เวลานั่งคุยกับใคร ให้ลองชั่งน้ำหนักอารมณ์ที่พุ่งมาหาเราว่า เขากำลังชวนให้เราควักเงินลงทุน หรือกำลังชวนเราให้ควักเงินซื้อยาสีฟันสักหลอด ซื้อโฟมล้างหน้าสักอัน

การอยากรวยที่เร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น เริ่มจากรายได้ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ กว่าธุรกิจจะเติบโตได้ต้องใช้เวลา แต่หากโตเร็วด้วยวิธีการที่ต้องลงเงินเยอะๆ ก็อาจสุ่มเสี่ยงได้

บริษัทขายตรงที่ดี ลูกค้าจะเป็นคนพิสูจน์เองว่า บริษัทนี้ขายอะไรกันแน่ ไม่ใช่บริษัทเป็นฝ่ายออกมาพูดว่าตัวเองดี แต่ต้องมาจากลูกค้าที่ซื้อกินซื้อใช้จริงๆ ธุรกิจขายตรงที่จะไปต่อได้จึงต้องเกิดจากการมีลูกค้าตัวจริง ไม่รู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ ไม่ทำให้เขาเสียหาย ลูกค้าจะซื้อสินค้าของบริษัทขายตรงนั้นๆ ต่อไป

เหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในหน้าข่าวตอนนี้จะทำให้คนเริ่มแยกระหว่างขายตรงที่ถูกต้องกับขายตรงแอบแฝงที่เป็นแชร์ลูกโซ่ ผู้จำหน่าย นักขาย หรือนักธุรกิจจะได้ตระหนักว่า การทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ซื้อขายกันอย่างเป็นธรรมชาติ คือสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด

ทั้งนี้ ทุกๆ 5 ปี 10 ปีจะมีเคสแชร์ลูกโซ่แตกเกิดขึ้น ปัจจัยหนึ่งคือเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ เคสแบบนี้เกิดในเมืองไทยจากปัญหาต่อเนื่องมาจากโควิด เศรษฐกิจไม่ดี หาเงินยาก คนอยากมีงานมีรายได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ให้รู้ว่า งานที่รวยเร็วน่ากลัวเสมอ

‘สมาคมการขายตรงไทย’ เป็นสมาคมแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์การขายตรงโลก WFDSA : World Federations of Direct Selling Associations ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 1983 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบจรรยาบรรณการขายตรงโลก

โดยเริ่มจากการรวมตัวกันของบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรง 8 บริษัท ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพิทักษ์ผลประโยชน์อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ประชาชน มีรายได้เพื่อส่งเสริมครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่บริษัทสมาชิกของสมาคมภายใต้กรอบจรรยาบรรณการขายตรงโลก ตามที่สมาพันธ์การขายตรงโลก หรือ WFDSA กำหนด

ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกทั้งบริษัทไทยและต่างชาติมากกว่า 30 บริษัท มีคณะกรรมการบริหารสมาคมจำนวนมากกว่า 9 บริษัท ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของบริษัทสมาชิก ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี ยืนยันมาตรฐานและผลงานจากรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัลมาตรฐานสมาคมการขายตรงดีเด่นระดับแพลทตินัมมากกว่า 3 ปี จากสมาพันธ์การขายตรงโลก รางวัลสมาคมการค้ายอดเยี่ยมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top