‘ซึมเศร้า’ ไม่ไหว ติดฝนอยู่ด้วยกันก่อนได้ไหม กับ Monsoon Blues ภาวะซึมเศร้าในช่วงมรสุม   

วันนั้นเป็นเดือนพฤษภาคมเช่นกันแต่ย้อนหลังไป 7 ปี ในวันที่ผู้เขียนและแก๊งเพื่อนขับรถไปสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ขณะที่คลื่นวิทยุท้องถิ่นเปิดเพลงป๊อปช้าๆ ซึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นเพลงอะไร แต่ก็พอระลึกขึ้นได้ว่ามีกลิ่นอายคล้ายเพลง ‘ติดฝน’ ของ PiXXiE อยู่มาก

เมื่อแดดหายไปและถูกบดบังด้วยเมฆดำทะมึน ไม่นานฝนก็เทลงมาห่าใหญ่ สองข้างทางเต็มไปด้วยหมอกปกคลุมตัดกับสีเขียวสดของใบไม้ ราวกับกากบาทปฏิทินว่านี่คือจุดเริ่มต้นของฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และวันนั้นเป็นหนึ่งในฤดูฝนที่ดีที่สุดในชีวิตของผู้เขียน

ขณะละเมียดละไมกับบรรยากาศสองข้างทาง จู่ๆ วิทยุถูกปิดลง แล้วทันใดนั้นเครื่องเสียงถูกเชื่อมต่อด้วยมือถือของเพื่อนสาวเป็นเพลง ‘Bad Romance’ ของ ‘Lady Gaga’ ผู้เขียนหันไปมองค้อน ‘Bad Romance’ ไว้ใช้เต้นเร่าในผับสิ ในหัวสมองคิด

“ไม่ชอบฟังเพลงช้าตอนหน้าฝนอ่ะ มันเศร้า” เพื่อนตอบทันควัน และนั่นเป็นการเบิกเนตรครั้งแรกว่า ‘ฝน’ ส่งผลกับอารมณ์และความรู้สึกได้หลากหลาย ขณะที่อีกคนดีใจอยากวิ่งไปให้ฝนชโลมร่างแทบตาย แต่อีกคนอารมณ์กำลังดิ่งลง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักคำว่า ‘Monsoon Blues’

Photo: RawPixel.com on Freepik

มรสุมสีฟ้า

แท้จริงแล้ว Monsoon Blues ไม่ได้แปลว่ามรสุมสีฟ้า แต่เป็นภาวะซึมเศร้าที่เกิดในช่วงมรสุม ซึ่งช่วงที่ฝนตกมีโอกาสทำให้เกิดอารมณ์เศร้าหรือดิ่งลงได้ แต่ถามว่าเป็นความผิดปกติทางจิตวิทยาคลินิกไหม ตอบเลยว่า “ไม่” แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder (SAD) ซึ่งภาวะ SAD นี้มักจะเกิดในแถบประเทศหน้าหนาวมากกว่า และจะเกิดซ้ำๆ ในช่วงเวลาเดิมที่ฤดูหนาวผ่านมาและสิ้นสุดเมื่อฤดูหนาวผ่านไปเป็นระยะๆ

ตัดภาพมาที่ประเทศไทยและประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรที่เผชิญกับอากาศร้อนตลอดเวลา แม้โอกาสการเกิดภาวะ SAD ในหน้าหนาวจะยากหน่อย แต่ภาวะ Monsoon Blues มีโอกาสเกิดสูงกว่า

Photo: Prostooleh on Freepik

หรือว่าฉันซึมเศร้าในหน้าฝน

ผลกระทบของ Monsoon Blues ก่อให้เกิดอาการไม่ต่างจากภาวะ SAD นัก โดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่

  • รู้สึกมีอาการเศร้า ตลอดจนรู้สึกว่าตัวเองหมดคุณค่า
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย ไร้เรี่ยวแรง ปราศจากความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ
  • ฉุนเฉียวและหงุดหงิดง่าย
  • ขาดสมาธิและหมดความกระตือรือร้นในการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  • มีปัญหากับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ
  • พบว่ามีพฤติกรรมการกินที่มากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ แต่อยากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากขึ้น
  • อารมณ์ดิ่งลง ติดต่อกันเป็นเวลานานและมีความคิดพัวพันกับความตาย หรือการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

Photo: Prostooleh on Freepik

ลมใดพัดพาความเศร้ามาปะทะ

อย่างไรก็ดียังไม่มีผลวิจัยทางคลินิกที่พิสูจน์ว่าภาวะซึมเศร้าในช่วงมรสุมนี้เกิดจากอะไร แต่ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่าหน้าฝนมีโอกาสที่เราได้รับแสงแดดได้น้อยลง จึงทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีลดลง และการผลิตสารสื่อประสาทต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปทั้ง เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ และเมลาโทนินที่เกี่ยวเนื่องกับการนอนหลับ เป็นต้น จึงส่งผลให้อารมณ์ของเรามีโอกาสดิ่งลงได้ง่ายกว่าในช่วงฤดูร้อนนั่นเอง

Photo: Prostooleh on Freepik

จงพัดพามรสุมสีฟ้าออกไป

ในช่วงหน้าฝนผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้หากิจกรรมที่คุณโปรดปรานทำ ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และใช้เวลาท่ามกลางแสงแดดบ้างเท่าที่โอกาสจะอำนวย พร้อมหมั่นสำรวจอารมณ์ ความรู้สึกตลอดจนพฤติกรรมการกินและการนอนหลับอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเข้าข่ายว่าเป็น Monsoon Blues หรืออารมณ์ยังคงดิ่งอย่างต่อเนื่องควรปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์และหาวิธีการรับมือให้เร็วที่สุด

Photo: Freepik

วันนั้นทุกคนในรถฟังเพลงของ Lady Gaga และเพลงมันๆ จากบรรดาเคป๊อปไปเป็นสิบเพลง ซึ่งไม่มีอะไรเข้ากันกับหน้าฝน แต่เพื่อเพื่อนเราทำได้ ในสัปดาห์หน้าแก๊งเรากำลังจะเจอกันอีกครั้งในรอบปี ซึ่งครั้งนี้ผู้เขียนน่าจะเปิด Lana Del Rey สัก 8 เพลง (หยอกๆ) ขอให้มีความสุขกับฝนแรกของปี 2024 นะคะ

Words: Varichviralya Srisai

 

ข้อมูลจาก:

you might like

Scroll to Top