มองมนุษย์ให้เหมือน ‘สัตว์’ กับแนวคิด ‘เจ้าของสวนสัตว์’ ที่จะทำให้คุณรับมือ ‘คนวุ่นวาย’ ได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้เขียนแล้วการรับมือกับ ‘งานยาก’ นั้น ‘ง่าย’ กว่าการรับมือกับ ‘คนยาก’ เพราะเป็นประเภทที่ว่าขี้รำคาญ ถ้าเจอคนงี่เง่าขึ้นมาก็อยากจะเอาเวลาไปพัฒนางานหรือทักษะที่เกิดประโยชน์ในชีวิตจะดีเสียกว่า แต่แท้จริงแล้วการเดินหนีตีชิลล์ ไม่ยุ่งไม่สนทนาคงเป็นไปไม่ได้ เพราะในเมื่อบริบทแวดล้อมและสังคมการทำงานเรายังต้องพึ่งพากันและกัน

โดยสาเหตุที่บทความนี้ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะพักหลังๆ ผู้เขียนและคนรอบข้างต่างประสบพบเจอมนุษย์ที่แสดงออกถึงพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอดและยึดความสะดวกสบายของตนเองเป็นที่ตั้งจนเผลอเหยียบย่ำความรู้สึกคนอื่น ผู้เขียนเจอตั้งแต่

  • ประเภทพูดหวานๆ แล้วหลอกให้ช่วยงานฟรี
  • บุคคลประเภท Bulldozer ที่ต้องการการยอมรับในฐานะผู้นำ แต่กลับแสดงพฤติกรรมข่มผู้อื่นตลอดเวลา
  • บุคคลที่ไม่ยอมทำงานอะไรเลยหรือทำงานไม่ได้ แต่จบโปรเจกต์รับเครดิตไปสวยๆ
  • บุคคลที่มีเงื่อนไขในการทำงานตลอดเวลา ทั้งๆ ที่งานนั้นสามารถสำเร็จได้โดยง่ายหากปราศจากทัศนคติแบบ หนูติดตรงนั้น หนูติดตรงนี้ เป็นต้น

Photo: brgfx on Freepik

คราวนี้ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ผู้เขียนจะฟันฉับตัดความสัมพันธ์ทิ้ง แต่ติดตรงที่เขาและเราต่างเอื้อผลประโยชน์ในลักษณะของการร่วมงานกันไม่มากก็น้อย บางคนมีจุดดีในการสร้างคอนเนกชัน บางคนมีจุดแกร่งในเรื่องของเสน่ห์ มีความน่าเชื่อถือเวลาพรีเซนต์งาน และบางคนมีความคิดสร้างสรรค์หรือขายงานลูกค้าเก่ง เป็นต้น

เป็นฉัน…ฉันคงไม่ทำแบบนั้น

ผู้เขียนยอมรับว่ามีอารมณ์โกรธในพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของมนุษย์ดังกล่าว เพราะแท้จริงแล้วผู้เขียนเป็นพวก Perfectionist ที่มีมาตรวัดเป็นของตัวเอง (อันนี้ก็ตึงเกินไป) หากเป็นฉัน ฉันคงวางตัวแบบนี้ คนที่มีมนุษยธรรมเขาจะทำตัวแบบนี้ คนจิตใจงดงามจะคิดแบบนี้ เป็นต้น ซึ่งความคิดนี้กลับสร้างความโกรธและกัดกินหัวใจผู้เขียนทุกครั้งที่หยิบไม้บรรทัดมาตัดสิน

เช่น “ความคิดแรกเริ่มมาจากผม” ประโยคจากเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่พูดโพล่งขึ้นมากลางที่ประชุม สำหรับผู้เขียนแล้วคงไม่พูด เพราะมันดูออกอย่างที่สุดว่ากระหายการยอมรับ เพราะปลายทางหากทุกคนทำคนละไม้ละมือ ยังไงก็ต้องยกความดีให้กับทีม “ชิ้นงานนี้สำเร็จได้เพราะมีทีมช่วยเหลือเป็นอย่างดี” นี่สิคำพูดที่ควรค่าในความคิดของผู้เขียน

Photo: rawpixel.com on Freepik

และก็พาลตัดสินคนนั้นว่าเป็นบุคคลประเภทเก่งในการริเริ่มและเป็นผู้นำโปรเจกต์ได้ แต่กระหายความสำเร็จและต้องการการยอมรับ ตลอดจนทักษะการซื้อใจทีมบกพร่อง

และเป็นธรรมดาของมนุษย์ ทุกคนมีดีมีเสีย ผู้เขียนเอาไม้บรรทัดมาวัดเรียงทีละคน พอตัดสินแล้วก็อารมณ์ขุ่นมัวไปแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีส่วนนิสัยที่น่ารำคาญอย่าง ‘อารมณ์ติสต์’ หรือ ‘ความนอยด์’ ที่มักเกิดขึ้นเป็นพักๆ ตามประสาคนคิดเยอะ

มนุษย์ไม่ได้ต่างอะไรกับสัตว์

ผู้เขียนชอบไปนั่งเล่นกับค่างแว่นเนื่องจากไปทำงานบริเวณภูเขาและทะเลบ่อยๆ ผู้เขียนจะซื้อถั่วลิสงถุงใหญ่ไปด้วย ค่างแว่นจะวางท่าทีสงบไม่วุ่นวายและเดินมาขอถั่วแบบเรียบร้อยน่ารัก ขณะเดียวกันหากเป็นลิงอีกอ่าว ผู้เขียนไม่ทันตั้งตัวด้วยซ้ำ ลิงก็วิ่งมาชิงถุงถั่วไปจากมือแถมยังทะเลาะกันเองด้วย

วันหนึ่งไปนั่งชิลล์ที่คาเฟ่ที่มีฟาร์มนกกระจอกเทศ นกที่หน้าตาใสซื่อทำท่าทีเหม่อมองท้องฟ้าตลอดเวลา ขณะที่ผู้เขียนหันหลัง นกกระจอกเทศก็ทำการจิกกระชากสร้อยหอยของผู้เขียนอย่างแรง เมื่อผู้เขียนหันควับไปเผชิญหน้า นกกลับทำท่าทีไม่รู้ไม่ชี้

Photo: TikTok @raw_culture

ถามว่าเหตุการณ์ลิงกับค่างแว่น ผู้เขียนรู้หรือไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ 2 แบบที่แตกต่างกัน ผู้เขียนเดาได้ค่ะ แม้ว่าค่างแว่นและลิงมีลักษณะคล้ายกัน แต่พฤติกรรมกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง ค่างแว่นเป็นสัตว์ขี้กลัวโดยธรรมชาติ และลิงมีพฤติกรรมที่ซุกซนกว่า รวมถึงมีความก้าวร้าวมากกว่าเพราะต้องแย่งชิงอาหารกันเองเนื่องจากมีจำนวนมาก

ส่วนเหตุการณ์นกกระจอกเทศผู้เขียนไม่ทราบพฤติกรรมมาก่อน แต่ก็มาตกผลึกทีหลังว่าสร้อยหอยเป็นเหตุ และสัตว์ประเภทไก่หรือนกมักจิกกินฝาหอยโดยธรรมชาติ

3 เหตุการณ์นี้ผู้เขียนไม่โกรธสักเล็กน้อยแถมเอ็นดูในพฤติกรรมอลเวงเหล่านี้ด้วยซ้ำ ผู้เขียนรู้แล้วว่าเวลาเข้าหาค่างแว่นหรือลิงต้องทำยังไง และเวลาเจอนกกระจอกเทศก็ไม่ควรหันหลังให้ และพฤติกรรมอลหม่านหลากหลายเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมมนุษย์

Photo: TikTok @raw_culture

แต่เราไม่เคยโกรธสัตว์

ในวันที่เรารายล้อมไปด้วยมนุษย์ที่มีทั้งนิสัยดีและร้ายปะปนกัน และเราต้องอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศที่ต้องเกื้อกูลกันไม่มากก็น้อย ทำไมพฤติกรรมมนุษย์นี้ถึงทำให้เราหัวร้อนได้มากกว่าพฤติกรรมอลเวงของสัตว์ ทั้งๆ ที่การแสดงออกของพวกเขาไม่ต่างอะไรจากสัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นจากเหตุการณ์ลิง ค่าง นกกระจอกเทศ ผู้เขียนเลยปลดล็อกแนวคิดอะไรบางอย่าง และอยากเล่าออกมาเป็นนิทาน เพราะอยากให้ผู้อ่านที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันได้เซฟหัวใจ เซฟอารมณ์

เซฟพลังงานสมองของตัวเองเช่นกันค่ะ นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ‘เจ้าของสวนสัตว์และเสือ’

Photo: rawpixel.com on Freepik

เจ้าของสวนสัตว์และเสือ

ณ สวนสัตว์เปิดแห่งหนึ่งที่เจ้าของเลี้ยงดูแลสัตว์ทุกตัวเป็นอย่างดี และสัตว์ทั้งหลายก็ต่างเอื้อประโยชน์ให้กับเขาเสมอมา ฝูงแกะมอบขนแกะสำหรับทอผ้า ลิงมาพร้อมกับมะพร้าวกะทิ และงูมอบเซรุ่มให้กับเขา

อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านจับเสือโคร่งตัวใหญ่มาได้ จึงนำใส่กรงหวังมาให้เจ้าของสวนสัตว์ดูแล คืนแรกนั้นเสือดูอ่อนแรงและมีท่าทีเซื่องซึมเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ

Photo: brgfx on Freepik

เจ้าของจึงนำอาหารไปให้สัตว์แต่ละคอกตามปกติ โดยเริ่มจากกรงของแกะ เขายื่นหญ้าให้พร้อมลูบหัวแกะเบาๆ “ฉันรักพวกเธอนะ” แกะทำสายตาออดอ้อนแสดงความรักตอบ

ก่อนที่จะเดินไปยังกรงสุดท้ายซึ่งเป็นที่อยู่ของเสือ เขายื่นจานเนื้อชิ้นโตไปให้พร้อมพยายามลูบหัว ปรากฏว่าเสือง้างกรงเล็บตะปบใส่แขนของเขาอย่างรุนแรงจนเป็นแผลฉกรรจ์

เจ้าของสวนสัตว์โกรธเพราะเขาอุตส่าห์เกื้อกูลเสือให้พ้นจากความหิว เหตุใดจึงต้องทำร้ายกันด้วย ขณะที่สัตว์ทุกตัวต่างแสดงท่าทีเป็นมิตรและปฏิบัติกลับมาด้วยความรัก เสือช่างไม่เข้าใจอะไร เจ้าของจึงตัดสินใจปล่อยให้เสือนอนหิวแบบนั้นอยู่หลายวัน

Photo: brgfx on Freepik

กลางดึกวันหนึ่งขณะที่เจ้าของสวนสัตว์นำสินค้าไปขายในเมือง วันหนึ่งได้มีโจรเข้ามาหวังจะขโมยสัตว์และวัตถุดิบมีค่าต่างๆ โจรค่อยๆ เปิดกรงทีละกรง จนถึงมาถึงกรงสุดท้ายโดยโจรมองไม่เห็นว่าเสือนอนซุ่มอย่างหิวโหยในความมืด ปรากฏว่าเสือกระโจนอย่างรวดเร็วและตะปบฉีกร่างของโจรจนสิ้นใจตาย

เมื่อเจ้าของกลับมารับรู้ได้ว่าเสือนอนอิ่มอยู่โดยมีกระดูกของโจรรายล้อม เขาจึงทำการต้อนสัตว์ต่างๆ ให้กับเข้าที่ รวมถึงปิดกรงเสือให้เรียบร้อย

เขาซาบซึ้งใจที่เสือช่วยเหลือเขาครั้งนี้ จึงพยายามตอบแทนด้วยอาหารมื้อใหญ่ แต่ครั้งนี้เขาเอาไม้เสียบเนื้อแหย่เข้าไปในกรง เสือก็ตะปบด้วยความดุร้ายเช่นเดิมเพราะเสือยังไงก็คือเสือ แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ เสือสามารถสร้างความหวาดหวั่นให้ขุนโจรได้ โจรไม่กล้าบุกมาขโมยของอีกต่อไป และเขาได้เรียนรู้วิธีการให้อาหารเสือยังไงโดยไม่เจ็บตัว ซึ่งคงไม่ใช่วิธีเดียวแบบที่ป้อนหญ้าใส่ปากแกะเป็นแน่

และสวนสัตว์นี้ก็อยู่อย่างสงบสุข โดยที่เจ้าของและสัตว์ต่างเกื้อกูลกัน โดยมีเสือก็ทำหน้าที่เป็นยามกันขโมย

maniacvector on Freepik

ธรรมชาติของทุกคน

จริงๆ แล้วโลกในอุดมคติคือทุกคนรู้ว่าพฤติกรรมของตนสามารถส่งผลกับใครอย่างไรได้บ้าง แต่หากพฤติกรรมของเรากำลังไม่น่ารักกับโลกก็จงหยุดพฤติกรรมนั้นเสีย แต่นั่นคืออุดมคติ อุดมคติที่เป็นไปได้ยาก เราไม่สามารถสั่งลิงให้หยุดขโมยถั่ว สั่งนกให้หยุดจิกขโมยสร้อย หรือสั่งเสือให้หยุดตะปบได้ เช่นเดียวกันเราก็ไม่สามารถทำให้มนุษย์หยุดพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาต่างๆ นี้ เพราะพวกเขาล้วนแล้วถูกหล่อหลอม มีแรงกดดัน ตลอดจนมีบริบทและเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป

vecstock on Freepik

แต่เรามีทางเลือกเมื่อต้องเผชิญหน้ากับมนุษย์ยากๆ เหล่านี้ 3 ข้อ นั่นคือ

1.ในกรณีที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยในระบบนิเวศเดียวกัน ให้เดินจากไปเพื่อหลุดพ้นจากพวกเขาเหล่านี้ พาตัวเองไปเจอประตูบานใหม่ คนใหม่ๆ ในเงื่อนไขที่เราก็รับได้

2.หากจำเป็นต้องอาศัยในระบบนิเวศเดียวกันและต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้คุณทำตัวเป็นเจ้าของสวนสัตว์ ให้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน ตลอดจนวิธีป้อนอาหาร และวิธีรับผลประโยชน์จากเขา

3.หากคุณทำตามข้อที่ 2 ไม่ได้ ให้กลับไปทำตามข้อที่ 1

ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าของสวนสัตว์จะต้องไม่โกรธสัตว์ เพราะไม่ใช่แค่เสือจะอดตาย แต่คุณจะไม่มีแรงแม้กระทั่งเปิดกรงแกะไปแบกขนมาขายเสียด้วยซ้ำ ทุกอย่างจะเหนื่อยมากขึ้น ดังนั้นวันนี้ให้คุณไปเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์ในสวนของคุณทุกตัว เมื่อเข้าใจแล้วให้หายใจลึกๆ พร้อมหาวิธีป้อนอาหารให้เหมาะสม ก่อนรอไถขนสวยๆ ไปขายทำเงิน

Words: Varichviralya Srisai

you might like

Scroll to Top