‘หัวหน้างาน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสุขในการทำงาน บางคนปฏิบัติตัวกับลูกน้องเหมือนเพื่อนร่วมงาน คอยให้คำปรึกษาหรือให้คำสนับสนุน บางคนให้อิสระ แต่บางคนกลับผูกขาดอำนาจการตัดสินใจไปจนถึงก้าวก่ายวิธีการทำงาน บทความนี้พาไปรู้จัก หัวหน้างานแบบ Micromanager ที่ขึ้นชื่อว่าจู้จี้เป็นที่หนึ่ง เมื่อเข้าใจบุคลิกภาพของพวกเขามากขึ้นก็จะทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
Photo: Freepik
ถ้าเธอเป๊ะ…ฉันก็เป๊ะ
หัวหน้าจอมบงการ หรือ Micromanager เป็นหัวหน้าที่ชอบตามติดการทำงานอย่างใกล้ชิด มีนิสัยละเอียดรอบคอบ มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน โดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้
1.ชอบควบคุม
พวกเขามีนิสัยชอบควบคุมในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงาน ผลงานที่ออกมา ตลอดจนพฤติกรรมของลูกน้องที่ควรจะเป็น
2.มีความนับถือตัวเองที่ต่ำ
พวกเขาไม่มั่นใจในตัวเองและมีแนวโน้มไม่ไว้ใจผู้อื่นเช่นกัน จึงมักเกิดความระแวงทุกขั้นตอน
3.พวกเขากลัวความผิดพลาด
หัวหน้าประเภทนี้มีแนวโน้มชอบจับผิด เห็นจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นมองข้ามได้ง่าย รวมถึงมักคาดการณ์ถึงความล้มเหลวล่วงหน้าเสมอ
Photo: Freepik
4.ชอบสั่งงานแบบลงรายละเอียด
พวกเขามักกำหนดแผนการทำงานอย่างชัดเจน ระบุขั้นตอน รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ตลอดจนกำหนดเวลาผลิตชิ้นงานอย่างรัดกุม
5.ต้องการรายงานความคืบหน้า
พวกเขาต้องการทราบความคืบหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอและในทุกขั้นตอน คาดหวังให้ลูกน้องรายงานบ่อยๆ
6.ชอบวิจารณ์ผลงาน
หัวหน้าประเภทนี้มักตำหนิผลงงาน โดยชี้แจงข้อผิดพลาดและเสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อการพัฒนา
Photo: Freepik
7.ไม่ชอบความยืดหยุ่น
เนื่องจากพวกเขามีรูปแบบการทำงานชัดเจนและมีแบบแผน จึงไม่ชอบให้ลูกน้องเปลี่ยนแปลงวิธีการและขั้นตอนการทำงานต่างๆ แม้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีเกินคาดก็ตาม
8.ผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจ
พวกเขามีแนวโน้มรับฟังความคิดเห็นลูกน้องต่ำ
Photo: Freepik
ผลกระทบเชิงบวกกับลูกน้อง
การควบคุมเนื้องานอย่างใกล้ชิดทำให้เกิดโอกาสผิดพลาดต่ำ เนื้องานจึงมีคุณภาพและทีมมีอัตราความสำเร็จสูง เป็นหนึ่งในหัวหน้าที่ผลักดันลูกน้องได้ดี ลูกน้องจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ โดยละเอียด รวมถึงสามารถสร้างวินัยให้กับทีมเป็นอย่างมาก เป็นหัวหน้าที่เหมาะกับงานที่ต้องอาศัยทักษะความละเอียดหรืองานที่มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น
ผลกระทบเชิงลบกับลูกน้อง
บรรยากาศในการทำงานเต็มไปด้วยความตึงเครียด กดดัน ลูกน้องไม่กล้าคิดนอกกรอบ ปราศจากความสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน แม้งานมีคุณภาพสูงและบางครั้งใช้เวลาผลิตชิ้นงานค่อนข้างมาก
Photo: Freepik
วิธีการรับมือ
- เข้าใจพฤติกรรมและมุมมองของพวกเขา หลายครั้งหัวหน้าประเภทนี้มีเจตนาเพื่อรักษามาตรฐานของชิ้นงานและต้องการให้เกิดการผิดพลาดน้อยที่สุด
- ผลิตผลงานให้มีคุณภาพที่สุด ใส่ใจและรอบคอบกับชิ้นงาน รวมถึงใส่ใจกับเวลาการทำงาน
- สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอ หมั่นรายงานความคืบหน้า ความสำเร็จ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
- ขออนุมัติก่อนทุกครั้ง อย่าด่วนตัดสินใจโดยพลการ
Photo: Freepik
- กำหนดขอบเขตของการทำงาน เมื่อคุณรู้สึกว่าถูกจู้จี้มากเกินไปลองพูดคุยกับเขา เพื่อกำหนดขอบเขตความชัดเจน เช่นหากให้ส่งรายงานอัปเดตทุกวัน คุณอาจจะขอเขาเป็นรายสัปดาห์ เป็นต้น
- กำหนดแผนการล่วงหน้า หากคุณเบื่อที่จะถูกทวงถามให้รายงานความคืบหน้า ทำไมคุณไม่เป็นฝ่ายเริ่มต้นทำเอง เช่น เขียนอีเมลสรุปรายงานความคืบหน้าของเมื่อวานในตอนเช้า และเป็นไปได้ก็ชี้แจงว่าวันนี้คุณจะทำอะไรบ้าง
- หากการสื่อสารไปตรงๆ กับหัวหน้า แล้วสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษากับฝ่าย HR เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
Photo: Freepik
ดูเหมือน Micromanager จะเป็นหัวหน้าที่สร้างความปวดหัวให้ใครหลายคน แต่ต้องยอมรับในเจตนาและความมุ่งมั่นเพื่อไปสู่ความสำเร็จในเนื้องาน โดยรวมเขาเป็นคนมีคุณภาพคนหนึ่งที่องค์กรขาดไม่ได้และสามารถผลักดันทีมให้เก่งยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถวิ่งหนีหัวหน้าประเภทนี้ได้ (ซึ่งพบเจอได้ในหลายองค์กร) ก็จงทำความเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา เพื่อร่วมงานกันได้ราบรื่นที่สุด
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก:
- https://www.peoplehr.com/en-gb/resources/blog/how-to-effectively-deal-with-micromanagers/
- https://www.verywellmind.com/how-to-deal-with-micromanagers-7372296