หลุมพรางพนักงานดีเด่น! กับดักที่องค์กรหัวหมอเอามาล่อพนักงานให้ทำงานถวายหัว

การถูกมองว่าเป็นคนเก่งหรือเป็นคนสำคัญในที่ทำงานอาจเป็นเรื่องน่าภูมิใจ

คุณเป็นคนแรกเสมอที่บริษัทนึกถึงเมื่อมีโปรเจกต์สำคัญ ชื่อของคุณถูกประกาศให้ร่วมทีมหัวกะทิราวกับเป็นสาวฮอตที่ทีมเชียร์ลีดเดอร์ขาดไม่ได้ คุณถูกคาดหวังให้ทำผลงานให้ดีทั้งงานที่รับผิดชอบและนอกเหนือ ผู้คนยืนปรบมือให้ขณะที่คุณขึ้นรับโล่ในวันสรุปผลไตรมาสในช่วงสิ้นปี และนี่คือเกียรติยศอันหอมหวานซึ่งหลายคนแลกมาด้วยการขายเวลาส่วนตัวเพื่อปลุกปล้ำกับงานจนดึกดื่น คะแนนสุขภาพของคุณเริ่มดิ่งลง สังเกตจากความถี่ของการป่วยและมวลกล้ามเนื้อที่ลีบเล็กจากการขาดการออกกำลังกาย ช่วงเวลาแห่งการบาลานซ์ชีวิตและการแสวงหาความสุขด้านอื่นๆ ถูกลิดรอนออกไปราวกับจ่ายส่วย

หากเกียรติยศและชื่อเสียงเหล่านี้ ‘หอมหวาน’ และคุณมีความสุขกับมัน เรายินดีด้วยเหลือเกิน คุณมีสิทธิที่จะข้ามผ่านบทความนี้ไปได้หรือหากสละเวลาอ่านผู้เขียนก็จะดีใจมาก

แต่หากเริ่มมีคำถามผุดในหัวว่า “เอ๊ะ! บริษัทได้อะไรจากการที่ฉันทุ่มเท” คุณสามารถตอบได้เป็นบ้าเป็นหลัง จากนั้นเมื่อถามคำถามในมุมกลับ “หากฉันทุ่มเท ฉันได้อะไรต่อนะ” ทุกอย่างเงียบฉี่! ดังนั้นระวังกับดักคนเก่งในที่ทำงานไว้ให้ดีที่นอกจากได้รับการยอมรับแล้ว คุณกำลังจะเสียอะไรไปบ้าง คุ้มหรือไม่ ลองดีดลูกคิดดู

กับดักที่1: คุณเก่งคุณได้ทำต่อ (เชิงลึก)

ไม่ว่าครีเอทีฟหัวกะทิ นักการตลาดมือฉมัง ไปจนถึงพนักงานขายฟอร์มดี ฯลฯ หลังจากที่คุณพิสูจน์ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ บริษัทจะเริ่มผุดมุกให้คุณทำให้ดีหรือมากกว่าเดิม ครีเอทีฟจำเป็นต้องคิดคอนเทนต์ให้เป็นกระแสไวรัล นักการตลาดและเจ้าหน้าที่ซื้อสื่อโฆษณาออนไลน์อาจจะต้องยิงแอดให้โดนกลุ่มเป้าหมายโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายต้องปิดการขายให้ได้มากกว่าเดิม

ซึ่งการทุ่มเทพลังกายพลังใจในการนี้อาจมุ่งผลไปที่ ‘โบนัสปลายปี’ ‘โล่เกียรติคุณที่ระบุว่าเป็นคนสำคัญ’ ‘การได้รับตำแหน่งที่ชื่อแปลกๆ ที่ยาวขึ้น’ ฯลฯ แต่เมื่อถึงเวลาคุณกลับสัมผัสได้ว่าโบนัสไม่เคยจ่ายคุ้มกลับที่คุณทุ่มเทแรงกายและเวลาส่วนตัว หรือคุณสัมผัสได้ว่าการยอมรับว่าเป็นคนเก่งหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานกลับว่างเปล่าหนาวเหน็บราวกับยืนอยู่บนปากเหว

กับดักที่ 2: คุณเก่งคุณได้ไปต่อ (เชิงกว้าง)

ยังอยู่ในซีรีส์งานงอก กับดักชนิดที่2 นี้เป็นการเพิ่มงานในเชิงกว้าง สำหรับคนที่พอจะฉายแววได้ว่าทำงานได้หลายอย่าง องค์กรจะใช้เหตุผลทำนองว่า

“เราเห็นความสามารถของคุณ คุณไม่ควรจำกัดความสามารถไว้เท่านี้”

 “ลองพิสูจน์ความสามารถในด้านอื่นๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต”

 “องค์กรอยู่ในภาวะวิกฤติอยากให้ทุกคนได้แบ่งเบาทำงานในด้านอื่นๆ”

โดยปราศจากการถามความสมัครใจ หรือความสุขที่ได้รับจากการทำงานดังกล่าวกับตัวพนักงานเอง ในหัวข้อนี้ผู้เขียนขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวแบบแสบๆ คันๆ เล็กน้อย

บริษัท1 : ผู้เขียนสมัครงานมาเป็นครีเอทีฟในบริษัทที่เป็นสื่อ แรกเริ่มลักษณะงานมีเพียงเขียนบทความและทำรายการออนไลน์ที่ผู้เขียนชื่นชอบ จากนั้นผ่านไป 1 ปีก็ได้เพิ่มงานคิดอีเวนต์ จึงกลายเป็นครีเอทีฟอีเวนต์พร้อมเดินทางไปขายงานลูกค้าเอง ซ้ำยังโดนเพิ่มงานเขียนบทความประชาสัมพันธ์สินค้าที่เป็นเครื่องสำอางของบริษัทอื่นซึ่งเป็นเพื่อนกับเจ้าของบริษัทที่ผู้เขียนทำงานอีกที และเกือบจะได้กลายเป็นเจ้าหน้าที่แนะนำสินค้าที่ทำหน้าที่ขายเครื่องสำอางในงานอีเวนต์อีกด้วย ซึ่งเหตุผลที่บริษัทนี้ใช้คือ “บริษัทอยู่ในสภาวะวิกฤติ ขอให้ทุกคนสู้” วงเล็บในขณะที่เจ้าของบริษัทถอยรถคันใหม่ปีละ 3 คัน…

บริษัท2 : เอเจนซีที่แรกเริ่มผู้เขียนทำงานในฐานะครีเอทีฟคอนเทนต์ที่ไปช่วยแก้ปัญหาลูกค้าระดับองค์กร (Corporate) จากนั้นก็ให้ไปช่วยงานคอนเทนต์ของลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ในด้านการผลิตและแก้ไขเนื้อหาต่างๆ พร้อมทั้งทำหน้าที่ตรวจตราเนื้อหาคอนเทนต์ของน้องๆ ในทีมราวกับเป็นนักพิสูจน์อักษรหรือบรรณาธิการ ไม่เพียงเท่านั้นผู้เขียนจำเป็นต้องช่วยทำสื่อเพื่อพัฒนาทักษะบุคคลในทีมในรูปแบบงานของ HR และลงไปเขียนบทความเชิงการตลาดจ๋าๆ ให้กับทีมการตลาดอีกด้วย โดยได้รับเหตุผลว่า “การจะเลื่อนขั้น-เลื่อนตำแหน่งจะต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้ก่อน”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากพิจารณาในแง่บวกว่าคนหนึ่งคนหากทำได้หลายอย่างก็จะเก่งขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งไม่ผิด แต่สิ่งที่สูญเสียไปและผลตอบแทนกลับมาช่างเบาบางเหลือเกิน คิดง่ายๆ เหมือนเอาข้าวสาร 1 กิโลที่ปลูกเองไปขายในราคา 20 บาท ต่อให้เป็นแม่ค้าที่ขายเก่งมาจากไหน ใครเล่าจะอยากขาย

กับดักที่ 3 เราจะดึงคุณไปสู่อนาคตที่สดใส

กับดักประเภทนี้จะหงายการ์ดสวยหรูว่าองค์กรดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ เคยช่วยเหลือให้คนประสบผลสำเร็จมากมาย “พี่เห็นพวกเรายืนอยู่บนเวที UNESCO ในอนาคต” และ “พี่จะปั้นให้เรามีชื่อเสียงโด่งดังในสายอาชีพนี้” เหล่านี้คือประโยคที่ผู้เขียนได้รับการปลอบประโลมขณะที่งานเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่คุยไว้แรกๆ หลังที่บริษัทพบว่าผู้เขียนทำงานได้มากกว่าที่ตกลงไว้ โดยเมื่อผู้เขียนถามไถ่ถึงตัวเงินตอบแทน ทุกอย่างกลับเงียบฉี่! และทักษะต่างๆ ที่ผู้เขียนพัฒนาขึ้นนี้ก็เป็นเพราะการทุ่มเวลาและเก็บเงินเก็บทองเพื่อไปหาเรียนจากคอร์สออนไลน์หรือจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเองล้วนๆ

กับดักที่ 4 ช่วยหน่อยนะ

กับดักประเภทนี้จะมาพร้อมกับความมึนๆ งงๆ เหมือนให้พนักงานทำทาน ทำโรงเจ “โปรเจกต์นี้พี่อยากได้ไปขายลูกค้า แต่ยังไม่มีงบ ขอให้ขึ้นโครงเท่าที่ทำได้มาก่อน” หรือ “ช่วยเขียนบทความออนไลน์นี้ให้หน่อย อันนี้ช่วยนะ ไม่มีงบ พี่ขออยู่ๆ คนทำงานเป็นก็กลายเป็นแม่พระจำเป็นแบบงงๆ

กับดักที่ 5 วัฒนธรรมองค์กร

บางองค์กรสามารถบิดขอบเขตงานแบบเอาคุ้ม และเมื่อพนักงานยอมจำนนหลายๆ คนก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ อย่างกรณีของบริษัทที่ผู้เขียนเคยเขียนในบทความ ‘ประสบการณ์สัมภาษณ์งานสุดหลอน และวิธีการสแกนองค์กรง่ายๆ ว่าควรทำงานด้วยหรือไม่?’ (อ่านเพิ่มเติม https://theoptimized.co/happiness/ความรู้สึกว่า-ไม่อยากท/ )

แม้ว่าเป็นองค์กรที่ยังไม่ได้ร่วมงานกัน แต่เพียงวันไปสัมภาษณ์ในตำแหน่งหัวหน้านักเขียน แต่พบว่าขอบเขตงานขยายไปเรื่อยๆจนงง เช่นทำ คลิปทางช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง ตัดต่อวิดีโอ และทำภาพปกแบบที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์เองอย่างง่ายๆ รวมไปถึงทำคลิปให้ลูกค้า พร้อมทั้งยังต้องเขียนบทความทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเหตุผลคือ “นักเขียนที่นี่เขาทำกันแบบนี้” แต่เงินเท่าตำแหน่งเดียวนะ อนิจจา

กับดักที่ 6 เดอะแบก

มีคนทำงานเป็นหลายคนหลุดเข้าไปทำงานในองค์กรที่เต็มไปด้วยเด็กฝากเด็กเส้น เลยทำให้ทีมเต็มไปด้วยคนตำแหน่งเดียวกันแต่ทำงานได้ไม่เท่ากัน สมมติว่า 10 คนแต่ทำงานได้จริงอยู่ 2 คน ซึ่ง 2 คนนั้นกลายมาเป็นน้ำปลาตราคนแบกกุ้งที่แบกจนหลังแอ่น ก็ได้แต่ทำไปจนกว่าจะลาออก และเมื่อเดินไปลาออกองค์กรก็จะตอบคำถามแบบใสซื่อว่า “ไม่รู้เลยนะว่ามีปัญหานี้…อย่าเพิ่งออกสิเดี๋ยวจะแก้ปัญหาให้” อ้าว! แล้วที่ผ่านมาคืออะไร?

บทความนี้ไม่ได้เจตนาจะยัดเยียดทัศนคติในแง่ร้ายให้กับคนทำงาน เพียงแต่นำประสบการณ์มาแชร์กันเพื่อให้คุณมีสติรู้เท่าทันกับดักนายจ้าง ออฟฟิศและองค์กรทั้งหลายที่ไม่เป็นระบบ โดยกำลังเอาเปรียบพนักงานผ่านการเล่นกับอีโก้และความภาคภูมิใจของมนุษย์

มองเผินๆ การทำหลายสิ่งหลายอย่างสามารถฝึกให้คนเก่งขึ้นได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนที่ทำงานเป็นก็ควรได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ รวมถึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีใครแบกใครและไม่ใช่หน้าที่ใครจะมาแบกองค์กร เขาควรมีชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่บาลานซ์กันได้อย่างเหมาะสม สุดท้ายบุคคลเหล่านี้ต้องมีความสุขในปลายทางทั้งในเรื่องของการทำงาน และในด้านต่างๆ ของชีวิตด้วย

ดังนั้น อย่าปล่อยให้ใครมาขายฝันยกยอว่าคุณเก่งแบบนั้นแบบนี้แล้วลงเอยด้วยการเอาเปรียบซึ่งๆ หน้า แบบที่คุณยังงงว่า “ฉันเก่งไปแล้วได้อะไรต่อ” อันนั้นคือกับดัก “ไม่มีใคร (อยาก) เก่งเท่าแม่เธอแล้วจ้า” กระซิบเบาๆ ถ้าองค์กรยังไม่รู้ตัว

Words: Valentina S.

you might like

พฤกษา–แคปปิตอลแลนด์–แอลลี่ โลจิสติกส์ ระดมทุนเพิ่ม 3,250 ล้าน ดึง มิตซุย โอเอสเค ไลน์ส เสริมแกร่งกองทุน ดัน “โอเมก้า บางนา โลจิสติกส์ แคมปัส” ก้าวสู่ฮับโลจิสติกส์ครบวงจรในอาเซียน

Scroll to Top