เรียนรู้การใช้สรรพนาม ‘เรา’ หรือ ‘ฉัน’ ของหัวหน้าจากบอสของหมูเด้ง

เมื่อสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ คุณณรงค์วิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ถึงกระแสหมูเด้งที่รันทุกวงการ จนกลายเป็นสัตว์ไอดอลที่โด่งดังระดับโลก สิ่งที่น่าสนใจในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้คือการใช้สรรพนาม ‘เรา’ ของคนเป็นบอส

การใช้ ‘เรา’ กับ ‘ฉัน’ ของหัวหน้า ซีอีโอ หรือผู้นำ สร้างความแตกต่างภายในองค์กรได้อย่างไร

เมื่อถูกถามว่า 1 ปีที่ผ่านมา ‘ฮิปโปแคระ’ จากสัตว์ที่แทบไม่มีใครรู้ว่าต่างจากฮิปโปทั่วไปด้วยหรือ ก็ได้กลายเป็นสัตว์ที่ได้รับความสนใจล้นหลามไปทั่วโลก ผอ.ณรงวิทย์พูดถึงเรื่องนี้ว่า

เราสามารถสร้างการรับรู้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีมาตรการในการดูแลสัตว์ที่ถูกต้อง เราทำให้คนทั่วโลกรับรู้ถึงฮิปโปแคระ จากที่น้องไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเลย และทำให้คนรับรู้วาสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรามองว่าเป็นความสำเร็จมากกว่า”

และเมื่อถามถึง ‘พี่เบนซ์’ พี่เลี้ยงหมูเด้งที่กลายเป็นนักปั้นดารามือทองแห่งยุค ผอ.ณรงวิทย์กล่าวถึง ‘การมีลูกน้องดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ ไว้ดังนี้

ผมไปคุยกับเขาตั้งแต่สมัยคาปิบาร่า หรือ ‘กะปิปลาร้า’ แล้ว ผมจะเดินดูส่วนแสดงสัตว์เกือบทุกพื้นที่ เพื่อไปพูดคุยกับ Keeper น้องเขาจะถามว่า ‘ผอ. เดี๋ยวผมจะปั้นตัวนี้ให้ดังเอามั้ย’ ผมก็บอกว่า ‘อย่าปั้นให้ดังมาก เดี๋ยวเราจะเหนื่อยกัน’ เพราะเขาเคยปั้นพี่ชายของหมูเด้ง คือ ‘หมูตุ๋น’ แต่ช่วงนั้นกระแสโซเชียลมีเดียยังไม่รวดเร็วฉับไวเหมือนยุคนี้

“สิ่งสำคัญของการเป็น Keeper คือต้องมีความรักความเอาใจใส่ในการดูแลสัตว์เป็นอันดับแรก ก่อนจะดูเรื่องคุณวุฒิ…พี่เลี้ยงคนนี้ (พี่เบนซ์) เขามีความเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เขารู้ว่าจะครีเอตคอนเทนต์อะไร มีความครีเอตในการอัปโหลดคลิปความน่ารักของน้องหมูเด้ง ความจริงแล้วเขาถ่ายคลิปไว้ทีละ 10-15 นาที แต่เขาสามารถอัปคลิปได้เป็นเดือนๆ ค่อยๆ ปล่อยออกไป ทำให้หมูเด้งโด่งดังไปทั่วโลกได้”

Photo: FB ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง

พี่เบนซ์พาหมูเด้งมาเจอหมูเด้ง

“วันนี้ต้องขอบคุณพนักงานและลูกจ้างทุกคน จากที่มีกระแสน้องหมูเด้งขึ้นมา เราต้องขอความร่วมมือจากพนักงานและลูกจ้างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ให้มาทำงาน เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมาสวนสัตว์ตั้งแต่ตี 5 เราจะทำอย่างไรให้มีความพร้อมในการให้บริการ เราไม่คาดคิดว่าเราจะรับนักท่องเที่ยวได้วันเป็นหมื่นคน

“ความสำเร็จมีหลายระดับ อย่างเราเองเราเติบโตมาในหลายๆ หน้าที่ ถ้ามองความสำเร็จของผู้นำองค์กร เรามองว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่คาดคิดว่าเราจะสามารถนำพาองค์กรมาได้โดยใช้เวลาไม่ถึงปีในช่วงที่เราดำเนินกิจกรรมตรงนี้ ทำให้องค์กรกลับมามีชื่อเสียงระดับโลกได้ กลับมามีรายได้ที่ไม่คาดคิด อันนี้ถือเป็นความสำเร็จในชีวิตของตัวเองที่ทำผลงานได้ถึงเป้าและเกินเป้าด้วย”

จะเห็นได้ว่าผอ. แทบไม่ใช้ ‘ผม’ แม้แต่ในเรื่องความสำเร็จระดับบุคคล แต่ใช้ ‘เรา’ แทบทุกบริบทที่เกี่ยวกับการทำงาน สะท้อนถึงภาวะความเป็นผู้นำอย่างไร มีผลการศึกษามาอธิบาย

ถ้าอยากเป็นบอสที่ดี ให้ใช้คำแทนตัวว่า ‘เรา’ ไม่ใช่ ‘ฉัน’

การที่ผู้นำเริ่มใช้สรรพนามแทนตัวว่า ‘เรา’ มีต้นกำเนิดจาก King Henry VIII กษัตริย์อังกฤษ ซึ่งในปี 1169 คิงเฮนรีใช้สรรพนามว่า ‘เรา’ เมื่อพูดตัวเองและพระเจ้า จนผู้นำ(ประเทศ)ในเวลาต่อมาใช้สรรพนาม ‘เรา’ เพื่อแฝงนัยยะถึงตัวผู้นำเองและประชาชน ดังนั้นการใช้สรรพนาม ‘เรา’ จึงบ่งชี้ว่าคุณกำลังพูดในนามของผู้อื่น และทำให้ผู้พูดดูเป็นคนคำนึงถึงผู้อื่น รู้จักให้เครดิตทีมงาน จึงเป็นภาพลักษณ์ว่าน่าจะเป็นผู้นำที่ดี(กว่า)(หรือเปล่า)

ทีมนักวิจัยที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและนักจิตวิทยาสังคม ทำการศึกษาหัวข้อ Pronoun Use Reflects Standings in Social Hierarchies เกี่ยวกับการใช้สรรพนามบุคคลที่บริบทที่แตกต่างกัน โดยตั้งสมมติฐานไว้ว่าการใช้สรรพนามบุคคลที่ 1, 2 หรือ 3 และสรรพนามเอกพจน์กับพหูพจน์นั้นสามารถบ่งบอกเป็นนัยได้ถึงสถานะของบุคคลหนึ่งๆ ในกลุ่มหรือลำดับชั้นได้

สรรพนามช่วยให้ผู้พูดดึงความสนใจของผู้ฟังได้ เมื่อคนรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือรู้สึกว่าตนเองตัวเล็ก ไม่สลักสำคัญ จะมีแนวโน้มว่าจะโฟกัสกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมภายในของตนเอง ทำให้มักจะใช้สรรพนามเอกพจน์บุคคลที่ 1 เช่น ฉัน ของฉัน

ในทางตรงกันข้าม เมื่อผู้พูดใช้สรรพนามบุคคลที่ 1 และ 2 แบบพหูพจน์ เช่น เรา ของเรา คุณ มักจะไม่ได้โฟกัสที่ตัวเอง แต่โฟกัสไปที่ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่น

การโฟกัสภายนอก(ที่ผู้อื่น) ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับผู้ที่มีสถานะหรือตำแหน่งอะไรสักอย่าง ดังนั้น คนที่โฟกัสไปที่สมาชิกในทีมหรือกลุ่ม (แทนที่จะโฟกัสตัวเอง) จึงมักจะมีตำแหน่งสูง คนที่โฟกัสแต่ตัวเองจะโดนดูถูกด้วยซ้ำแม้จะมีสถานะหรือตำแหน่งสูง

สรรพนามดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วถือเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญต่อผู้อื่น

Photo: FB ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง

ผอ.ณรงวิทย์พูดคุยกับน้องในความดูแล

เวลาไหนที่ควรใช้ ‘เรา’ หรือ ‘ฉัน’

‘เรา’ ถือเป็นสรรพนามสำคัญสำหรับผู้นำองค์ประเทศไปจนถึงผู้นำองค์กร โดยเฉพาะเมื่อใช้ในเวลาที่ต้องให้เครดิตคนอื่น ยกตัวอย่าง “เราทำยอดขายได้เกินเป้าในไตรมาสนี้” หรือ “เราได้เรตติ้งความพึงพอใจจากลูกค้าถึง 99%” คือสถานการณ์ที่ดีเยี่ยมที่บอสจะใช้สรรพนาม ‘เรา’ เพราะจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจ แผ่พลังงานบวก และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีให้กับทีม ทำให้คนพูดโดนมองว่าเป็นผู้นำที่สง่างามอีกด้วย

แต่ถ้าลองแทนที่ ‘ฉัน’ ในประโยคเดียวกันดูซิ

“ฉันทำยอดขายได้เกินเป้าในไตรมาสนี้” หรือ “ฉันได้เรตติ้งความพึงพอใจจากลูกค้าถึง 99%”

คนฟังจะรู้สึกต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว บอสจะโดนมองว่าเป็นหัวหน้าที่ไม่เห็นหัวคนอื่น ฉกความดีความชอบไปเป็นของตัวเอง และในที่สุดจะนำความเสื่อมมาสู่ทีมและองค์กรได้ เพราะจะทำงานดีๆ ไปทำไม ทำไปก็ไม่ได้อะไร แถมโดนขโมยเครดิตอีกต่างหาก

Photo: FB ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง

ผอ.ณรงวิทย์ล้างบ่อ โดยมีหมูเด้งช่วยกัดสายยาง

‘ฉัน’ ควรใช้ในสถานการณ์ใด

ฉัน คือสรรพนามที่ทรงพลังที่สุดเมื่อใช้ในสถานการณ์ที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือแม้แต่ยอมโดนตำหนิต่อว่าแต่เพียงผู้เดียว เช่น

“ผมทำรายงานสรุปไม่ทันประชุมนัดนี้” หรือ “ฉันผิดหวังมากที่ช่วยทีมได้ไม่เต็มที่”

‘ฉัน’ ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้คนพูดดูเป็นมืออาชีพ พร้อมจะแก้ไข พัฒนาได้ และไม่กระทบคนอื่นด้วย เมื่อคนพูดแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง กลับจะได้รับแรงสนับสนุนจากคนอื่นๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ

ดังนั้น ควรใช้ ‘เรา’ เมื่อต้องการรับชอบ และใช้ ‘ฉัน’ เมื่อต้องการรับผิด

แม้การเปลี่ยนสรรพนามจาก ‘ฉัน’ เป็น ‘เรา’ จะไม่ได้ทำให้คุณได้ถ้วยรางวัล แต่มันจะช่วยให้คุณเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่คำนึงถึงตนเองเป็นหลักไปตระหนักถึงความรู้สึกและความต้องการของคนอื่นบ้าง และเมื่อคุณสามารถประสานความต้องการของตนเองและผู้อื่นเข้าด้วยกัน นั่นละจะทำให้คุณเป็นบอสที่ดีขึ้น

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top