‘เล็กใหญ่เราไม่เท่ากัน’ วิธีรับมือกับการบาดแผลทางอารมณ์ที่คนมองว่าเรื่องเล็ก

มีหลายเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วสามารถสร้างผลกระทบเชิงลบและการบาดเจ็บทางอารมณ์ให้กับผู้คนได้

 พอจั่วหัวขึ้นมาแบบนี้คุณกำลังคิดไปถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างอกหัก เลิกกับแฟน คนที่รักเสียชีวิต โดนให้ออกจากงาน เป็นต้น แต่แท้จริงแล้วรวมไปถึง “เรื่อง(ที่คนอื่นมองว่า)เล็ก” เช่น ตัดผมแล้วได้ทรงที่สั้นเกินไป ได้รับคอมเมนต์งานจากลูกค้าในเชิงลบ ไปจนถึงเนตออฟฟิศล่มในวันกำหนดส่งงาน

บางครั้งเรามักมีมาตรวัดความรู้สึกเจ็บปวดแบบเฉพาะบุคคลแล้วเผลอไปตัดสินทำนองว่า “ไม่เป็นไรเลย เดี๋ยวผมก็ยาว” หรือ “รอให้เนตมาก่อนค่อยทำก็ได้ อย่าดราม่า” แต่แท้จริงแล้วความสามารถในการรับมือกับการบาดเจ็บทางอารมณ์เหล่านี้อาจจะง่ายสำหรับใครบางคน แต่ไม่จำเป็นต้องทุกคน

วันนี้เราไม่ได้มาบอกให้โลกยอมรับว่า “เรื่องของฉันเป็นเรื่องใหญ่” ปล่อยคนอื่นไปก่อน แต่จะเสนอไอเดียการรู้เท่าทันอารมณ์ และการจัดการอารมณ์ในเหตุการณ์ (ที่คนอื่นมองว่า) เรื่องเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบทางอารมณ์อย่างยิ่งใหญ่ให้กับคุณได้

แมวลายวัวในลูกกรงเหล็กดัด

ก่อนอื่นเลยผู้เขียนขอเล่าเรื่องแสบๆ คันๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในฐานะมนุษย์แมวคนหนึ่ง แมวของผู้เขียนที่ชื่อว่า ‘ผักชี’ ซึ่งเป็นแมวเลี้ยงระบบปิด แต่ชอบอาศัยจังหวะเปิดประตูไปซักผ้าเพื่อหนีไปสำรวจรอบบ้าน ก่อนจะกลับมาและถูกผู้เขียนดุเล็กน้อย และนี่เป็นครั้งที่ 3 ที่ผักชีหลุดออกไป

ผ่านไป 3 ชั่วโมงไม่มีวี่แววกลับบ้าน ผู้เขียนใจคอไม่ดีจึงเดินไปหา พบว่าน้องติดลูกกรงอยู่ที่บ้านประกาศขายซึ่งล็อกประตูรั้วอย่างแน่นหนา ซึ่งหากว่าน้องไปติดบ้านอื่นที่พอจะมีคนอยู่ เชื่อว่าเจ้าของบ้านจะช่วยพาน้องออกมาแล้วก็ขอโทษขอโพยกันไป

มองเข้าไปเห็นแมวผักชีกำลังร้องเสียงดังแววตาดูอิดโรย ผู้เขียนไม่สามารถติดต่อนิติบุคคลหรือผู้ใหญ่บ้านได้ เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงคืนกว่าที่ทุกคนกำลังหลับ จึงตัดสินใจโทรหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างมูลนิธิกู้ภัย ซึ่งมูลนิธิน่ารักมากยินดีช่วยเหลือเต็มที่แต่ติดตรงปัญหาใหญ่ที่ผู้เขียนทราบดีเช่นกันว่าการจะไปตัดแม่กุญแจ แล้วเดินดุ่มๆ เข้าไปในบ้านประกาศขาย ของใครสักคน (ที่ไม่ได้ทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้) เป็นการบุกรุกในยามวิกาลซึ่งผิดกฎหมายแบบเต็มๆ จึงแนะนำให้โทรหาตำรวจ ตำรวจก็อธิบายข้อบทกฎหมายผ่านทางโทรศัพท์อย่างถูกต้องและเหมาะสมว่าไม่สามารถบุกรุกเข้าไปได้ พร้อมชี้ว่าเหตุนี้เป็นความผิดของเจ้าของที่เลิ่นเล่อ ควรรอให้ถึงเช้าก่อนตอนที่นิติฯตื่น

ถึงบรรทัดนี้ อนุญาตให้ทุกท่านคิดเช่นนั้นได้เลย ผู้เขียนไม่ได้มาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้ผิด เป็นความผิดแบบเต็มๆ ถ้าผู้อ่านอยากจะเฆี่ยนอยากจะตี ผู้เขียนก็ได้แต่ยกมือไหว้ย่ออย่างจริงใจ

แต่น้องผักชีละ น้องที่กำลังตื่นตกใจและร้องเสียงดัง เมื่อมองจากจุดนี้ไม่รู้เลยว่ามีบาดแผลใหญ่อะไรบ้าง คณะทำงานหลายท่านเสนอว่า “ตอนเช้าค่อยเอาออกก็ได้” การรอถึงเช้าสำหรับหลายคนอาจจะเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับแม่แมวที่มองลูกที่กำลังเจ็บปวด ทุกวินาทีแสนทรมาน จึงเห็นสมควรแกะชุดความคิดมาให้ผู้อ่านทุกท่านรับทราบไปด้วยกัน เหมือนเป็นตัวละครในเกม The Sims ตัวหนึ่ง แล้วผู้อ่านสามารถให้คำตอบในมุมของท่านเองได้เลยว่าควรทำอย่างไร ซึ่งไม่มีถูกหรือผิด

1.ผู้เขียนโกรธตัวเอง ที่เลินเล่อปล่อยให้แมวหลุดออกไปและยังใจเย็นถึง 3 ชั่วโมงเพราะคิดว่าจะกลับมาเอง

2.ผู้เขียนโกรธคนข้างตัว (แฟน) ว่าทำไม ไม่ช่วยคิดหาวิธีอะไรบางอย่างที่ทำเหตุการณ์นี้ง่ายขึ้น จึงเกิดเหตุการณ์ทะเลาะกัน

3.ทั้งที่ทราบตัวบทกฎหมายดี แต่รู้สึกน้อยใจในเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่พูดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความคิดเลยสับสน ตีกันไปมา

4.ผู้เขียนทะเลาะกับตัวเองว่าควรตัดลูกกรง รับข้อหาบุกรุกเพื่อไปนำแมวตัวเองกลับมาดีไหม ทำมันซึ่งๆ หน้านี่แหละ วินาทีนั้นคิดอะไรไม่ออก อยากตัดลูกกรงโดยทำการไลฟ์สดไปด้วย ว่าถ้าต้องเข้าคุกหรือขึ้นศาล ก็ขอให้สังคมเข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์นี้ ซึ่งเกือบทำการเช่นนี้ อาจจะไม่ฉลาดแต่วินาทีนั้นไตร่ตรองดูแล้ว เพราะรอให้เช้าไม่ได้จริงๆ กลัวเรื่องบาดเจ็บรุนแรง

5.ผู้เขียนละอายใจกับเพื่อนบ้านทุกคนที่ตื่นมาส่องดูในเวลาเกือบตี 1 เนื่องจากรถมูลนิธิมีแสงไฟไซเรนที่เปิดจ้าเหลือเกิน

6.ผู้เขียนแคร์สายตาเจ้าหน้าที่หลายท่านที่กำลังยืนงงว่า ‘ทาสแมวคนนี้ทำไมรอถึงเช้าไม่ได้’

ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี หลังจากผ่านไปหนึ่งชั่วโมง นิติฯน่าจะได้รับสัญญาณอะไรบางอย่างจึงตื่นมาพอดี และนำเจ้าของบ้านหลังนี้มาเปิดประตูให้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับรถมามาสำรวจเหตุการณ์อีกแรง

ผู้เขียนขอโทษทุกคนอย่างจริงใจที่เรื่องราวบานปลายมาขนาดนี้ วันต่อมาผู้เขียนปิดประตูทุกบาน ปิดหน้าต่างแบบไม่กล้าแง้มเยอะๆ เพราะกลัวแมวหลุด ผู้เขียนโทษตัวเองไปมาในห้อง ขังตัวเองแบบคนที่ยังไม่กล้าเผชิญหน้ากับโลก

ผู้เขียนสลัดความรู้สึกผิดต่อเพื่อนบ้าน ต่อแมวตัวเอง ต่อแฟน ต่อเจ้าหน้าที่ทุกคน ต่อเจ้าของบ้านไม่ได้ จนนึกถึงคำๆ หนึ่งจากพี่สาวบ้านฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นคนรักสุนัข ขณะที่ผู้เขียนน้ำตาคลอตอนผงกหัวขอโทษงึกๆ ว่า “ขอโทษนะคะ หนูกลัวรบกวนเวลาพวกพี่มากเลยค่ะ ขอโทษที่ทำให้ตื่น หนูเกรงใจ”

พี่สาวข้างบ้านตอบมาว่า “เอาแมวเราไว้ก่อน อย่าเพิ่งคิดถึงใครทั้งนั้น ใครจะคิดอะไรกับเราก็ช่าง” วินาทีนั้นผู้เขียนรู้สึกแข็งแกร่งขึ้นมา ใช่! เราหลบอะไรอยู่!

อารัมภบทมายาวมาก แต่เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่ผู้เขียนพยายามหาข้อมูล และจะมาเรียนรู้พร้อมกันกับผู้อ่าน ว่าการจัดการอารมณ์ในเหตุการณ์ (ที่คนอื่นมองว่า) เรื่องเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบทางอารมณ์อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเกิดขึ้นกับคุณเราจะไปอย่างไรต่อ

ดร.อลิซ บอยส์ (Alice Boyes, Ph.D.) จิตแพทย์และนักจิตวิทยาสังคม ผู้เขียนหนังสือ The Anxiety Toolkit และ The Healthy Mind Toolkit ได้รวบรวมและแปลข้อมูลจากแนวคิดการบําบัดความคิดและพฤติกรรมและจิตวิทยาทางสังคมมาเป็นบทความง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อรับมือกับ การจัดการอารมณ์ในเหตุการณ์ (ที่คนอื่นมองว่า) เรื่องเล็ก ซึ่ง The Optimized สรุปให้ได้ดังนี้

พูดให้เห็นภาพ

ขออนุญาตใช้คำโดยรวมว่า ‘การบาดเจ็บทางอารมณ์ในเรื่องเล็กๆ’ (Small Mood Injury) เพื่อความกระชับ แม้จะไม่เล็กในมุมมองของผู้ที่เผชิญก็ตาม ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดพฤติกรรมอย่างเมินเฉย โกรธ ร้องไห้ ขวัญเสีย วิตกกังวล หรือหลบซ่อนตัว เป็นต้น

แล้วเรื่องแนวไหนที่มันดูเล็กเหลือเกินในสายตาคนอื่น แต่ถ้าเจ้าตัวเผชิญคงจะยิ้มไม่ออก ซึ่งก็มีตั้งแต่

  • การเปรียบเทียบเชิงสังคม อย่างลูกเราปราศจากทักษะเหมือนกับลูกคนข้างบ้าน, เพื่อนร่วมงานคู่แข่งพรีเซนต์งานดีจนอยากจะพับโปรเจกต์กลับบ้าน เป็นต้น
  • ความรู้สึกผิดแปลกที่ทำให้คุณรู้สึกว่าปราศจากความรับผิดชอบเมื่อเทียบกับบริบทของอายุ เช่นอายุ 30 ปีแล้วทำไมเงินเดือนไม่สูงเท่าเพื่อน อายุ 40 ปีแล้วแต่ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น
  • การที่คุณใส่ความพยายามเต็มความสามารถแต่ผลลัพธ์ออกมาล้มเหลว เช่น เขียนแผนโปรเจกต์มาอย่างดี แต่ไม่มีใครซื้อไอเดีย ไปจนถึงขับรถไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มแต่พบว่ามันเสีย
  • มีคนมองว่าสิ่งที่คุณให้ความสำคัญนั้นไม่สำคัญหรือน่าขบขัน อย่างกรณีแมวผักชีข้างต้นของผู้เขียน ผู้เขียนเจ็บปวดในหมวดข้อนี้
  • การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่ตอบกลับมาแบบที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง เป็นต้น

Small Mood Injury จะรุนแรงในสถานการณ์ใด

  • มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นพร้อมกันในระยะเวลาอันสั้น
  • คุณอยู่ในช่วงที่อ่อนแรงจากปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เงินสำรองไม่เพียงพอ ร่างกายเจ็บป่วย หรือเหนื่อยล้าจากงาน
  • เมื่อคุณพยายามอย่างมากเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางอารมณ์ที่ดี แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันทำให้บรรยากาศเหล่านั้นพังลง

วิธีการฮีลใจ

วิธีการรับมือและดึงตัวเองขึ้นมาเมื่อตกอยู่ในสภาวะ  Small Mood Injury สรุปด้วยหลัก 4 ข้อคือ รู้เหตุการณ์ รู้อารมณ์ ลดความคิด และให้เวลาทำงาน

  • รู้เหตุการณ์ คือรู้เท่าทันว่า ณ วันนี้ที่คุณพบความผิดปกติทางอารมณ์ เหตุการณ์ใดเป็นสาเหตุหลัก
  • รู้ความรู้สึก คือรู้เท่าทันความรู้สึกว่าขณะนี้คือความรู้สึกอะไร โกรธ เศร้า เหงา ท้อแท้ ฯลฯ เหมือนติดป้ายกำกับให้ชัดเจนตรงๆ ไม่อ้อมค้อมโดยไม่ต้องใส่อารมณ์ดราม่าเพิ่ม เช่น รู้อยากหลบซ่อนตัว ไม่ใช่ว่ารู้สึกอยากอยู่ในถ้ำที่ห่างไกลจากผู้คนเสียเหลือเกิน และเมื่อรู้สึกก็ปล่อยให้จิตใจรู้สึกความความรู้สึกนั้นโดยไม่ฝืน แล้วตามดูอารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ
  • หยุดความคิด เพราะความคิดในช่วงนี้มักจะเป็นเสียงลบๆ ในหัว ไม่ว่าจะเป็น “ฉันไม่น่าทำแบบนั้น…แบบนี้” “ฉันควรจัดการชีวิตได้ดีกว่านี้ในวัยเท่านี้” “ทำไมคนอื่นไม่เป็นแบบนี้…แบบนั้น” แต่หากคุณมีความคิดที่แวบขึ้นมาก็ไม่ต้องฝืนหรือบังคับตัวเอง ให้ตามดูความคิดนั้น มองเป็นภาพว่าความคิดทั้งหมดตั้งอยู่บนใบไม้ แล้วไหลไปตามลำธาร
  • ปล่อยให้เวลาค่อยๆ ฮีลใจตัวคุณเอง เหมือนที่ร่างกายฮีลตัวเองจากบาดแผล ซึ่งคุณจะพบว่าร่างกายคุณมหัศจรรย์กว่าที่คิด

จริงๆ แล้ว ใครจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กก็ช่าง ไม่จำเป็นต้องบังคับใครให้เข้าใจเรา ไม่จำเป็นต้องการให้ใครมาปลอบประโลมเรา เริ่มจัดการตัวเราด้วยวิธีที่สรุปมาให้ดังนี้ แล้วคุณจะพบว่าจิตใจคุณแกร่งพอที่จะเยียวยาตัวเอง ซ่อมแซมตัวเอง และมีความสุขกับตัวเองได้ ‘คุณมหัศจรรย์’ มากกว่าที่คุณคิด

 

Words: Valentina S.

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top