การปั้นเซรามิกที่ไม่ช่วยสร้างสมาธิให้ ‘วอร์ วนรัตน์’ แต่ช่วยให้เข้าใจวิทย์และชีวิต

ถ้าอัลกอริทึมแนะนำ IG ของ วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์ ให้คนที่ไม่รู้ว่าเขาคือนักแสดง คงเดาว่าอาชีพพี่วอร์ต้องเป็นช่างปั้นหม้อ ศิลปินเซรามิก หรือนักกล้ามที่ฮีลใจด้วยการปั้นดินเป็นแน่ จากการโพสต์คลิปทำงานปั้นรัวๆ โพสต์ 5 ปั้นหม้อไปแล้ว 4 ลงรูปแซมเมอร์ เจ้าหมาหน้าตาดีพันธุ์ Border Collie อีก 1

ไม่แน่ใจว่ากระแสฮิตการปั้นเซรามิกในไทยมาแรงเพราะวอร์หรือไม่ เจ้าตัวก็ตอบไม่ได้ หรือเป็นเพราะ #วอร์ปั้นหม้อของแทร่ต้องถลกแขนเสื้อโชว์กล้าม แต่ที่แน่ๆ การทำงานกับดินให้คุณค่าทางใจได้แน่นอน ดังที่วอร์เคยให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจงานเซรามิกว่า

สมัยเรียนสถาปัตย์ วอร์เรียนสถาปัตย์อุตสาหกรรม ตอนแรกเลือกเรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เรียนได้ชั่วครู่หนึ่งจึงมาเจอเซรามิก เกิดติดใจจนถึงขั้นย้ายวิชาเรียน เพราะในการทำเซรามิกใช้แค่มือในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ในขณะที่การทำเฟอร์นิเจอร์ต้องพึ่งอุปกรณ์ต่างๆ มากมายตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการทำชิ้นงาน

ส่วนเซรามิกนั้น เมื่อพอขึ้นรูปด้วยมือแล้วต่อยอดสร้างสิ่งต่างๆ ได้มากมายได้จากก้อนดินธรรมดาที่ดูไม่มีราคาอะไร

Photo: IG@warwanarat

การปั้นเซรามิกยังถูกนำไปใช้ใน Art Therapy หรือศิลปะบำบัดด้วย เพราะดินมีคุณสมบัติที่น่าทึ่ง สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างไม่จำกัด และการปั้นดินยังมอบประสบการณ์แห่งประสาทสัมผัสที่ต้องใช้ร่างกายและใจให้สอดคล้องไปด้วยกัน ช่วยดึงให้จดจ่อกับปัจจุบันขณะได้ (แม้วอร์บอกว่าไม่ช่วยเรื่องสมาธิ แต่อย่างน้อย ณ ขณะปั้นก็ต้องใช้สมาธิ) การปั้นดินจึงให้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากศิลปะบำบัดอื่นๆ อย่างการวาดรูประบายสีตรงที่ต้องใช้ร่างกายมาสื่อสารกับวัสดุ ซึ่งก็คือดินนั่นเอง

และนี่คือประโยชน์ทางใจของการทำเซรามิก
1.ความพึงพอใจจากการใช้ประสาทสัมผัส

แทนที่จะใช้อุปกรณ์ เช่น พู่กัน ดินสอ แปรง ฯลฯ แต่การปั้นดินใช้มือของเราสัมผัสกับดินโดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารแรกๆ ตั้งแต่ยังเป็นทารก เป็นการแสดงออกขั้นปฐมภูมิที่สุดของมนุษย์ เมื่อมือสัมผัสดิน เราจึงรู้สึกสงบลงอย่างน่าประหลาด เพราะร่างกายเราจดจำได้ถึงสัมผัสดึกดำบรรพ์นี้นั่นเอง

2.ประสบการณ์แบบองค์รวม

การทำงานกับดินคือประสบการณ์ที่รวมทั้งร่างกาย ประสาทสัมผัส และจิตใจผนวกเข้าด้วยกัน เราเคลื่อนไหวแขนและมือ ไปพร้อมกับรู้สึกถึงผิวสัมผัสของดิน ใช้ความรู้ผสมความคิดสร้างสรรค์ว่าจะตัดสินใจปั้นดินให้เป็นรูปร่างอะไร จะปั้นให้ดินไปในทิศทางไหน จึงเหมือนเปิดปุ่มระบบต่างๆ ของชีวิตในคราวเดียว ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ ทักษะการเคลื่อนไหว การมองเห็น และจินตนาการ

3.การแสดงออกอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ศิลปะเป็นเหมือนภาคขยายของตัวเรา เพราะเป็นผลลัพธ์ทั้งจากความคิดโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวที่แสดงออกมาพร้อมกัน

ดินเป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่จับต้องได้ แปรเปลี่ยนได้ เหมือนจะควบคุมได้ แต่บางทีกลับอยู่เหนือการควบคุม ดินจึงเป็นประตูเปิดไปสู่ความรู้สึกนึกคิดที่มีการรู้คิดกำกับน้อยลงและโลกภายในของเรา ความปรารถนาและความกลัวลึกๆ ในใจเรามักปรากฏขึ้นมาระหว่างกระบวนการปั้นดิน แต่เมื่อเราพยายามควบคุมให้น้อยลง เปิดกว้างให้ความเป็นไปได้มากขึ้น ดินที่แปรเปลี่ยนรูปร่างไปตามความรู้สึกอย่างอิสระของเราก็อาจมอบความหมายที่นึกไม่ถึงให้กับเราได้

Photo: IG@warwanarat

4.ช่วงเวลานาฬิกาเดินช้า

นับตั้งแต่มนุษย์รู้จักกาลเวลา เราก็ไม่เคยหยุดคิดถึงอดีตและอนาคต โลกทางกายภาพเร่งเร้าให้เราต้องรีบพัฒนาตัวเอง รีบตอบข้อความ รีบไถฟีด รีบคลิก ไลก์ แชร์ ซับสไครบ์ ฯลฯ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต่างรู้สึกอ่อนล้าอยู่ตลอดเวลา

แต่การปั้นดินจะมอบเวลาอันเนิบช้าที่เร่งรัดไม่ได้ให้กับเรา เป็นกระบวนการที่ลัดขั้นตอนไม่ได้ และดินอันต่ำต้อยได้ฝึกฝนให้มนุษย์ผู้พุ่งทะยานอย่างเราหัดรอให้เป็น รวมถึงสอนบทเรียนแห่งความผิดหวัง เพราะแม้เราจะทำตามขั้นตอนทุกอย่างอย่างตั้งใจ แต่ดินที่ปั้นมาอย่างดีก็อาจแตก ร้าว หรือระเบิดเป็นเสี่ยงได้ในขั้นตอนการเผา สุดท้ายเราจะหาจุดสมดุลได้ระหว่างการพยายามควบคุมและการอยู่กับความกับความไม่นอน

Photo: IG@warwanarat

5.การระบายอารมณ์อย่างเฮลตี้

หลายปีมาแล้วที่มีร้านในญี่ปุ่นจะเปิดให้ลูกค้าเข้าไปเขวี้ยงปาถ้วยชามให้แตกเป็นการระบายความรู้สึกอัดอั้นแบบไม่เดือดร้อนใคร แต่การปั้นดินช่วยปลดปล่อยความรู้สึกแบบเดียวกันตั้งแต่ขั้นตอนแรก ไม่ต้องรอไปเผาให้เป็นถ้วยชามก่อน เราต้องทุบ ต่อย ตี นวด ตัด หั่น เฉือน ปาดดินเสียก่อน แล้วปาใส่จานหมุน แม้แต่ขึ้นรูปไปแล้วไม่พอใจ เราก็บี้มันให้บุบคามือได้ แล้วจัดการทุบตีมันอีกครั้งก่อนนำไปปั้นใหม่ เราทำกระบวนการเหล่านี้ซ้ำได้ไม่จำกัด โดยที่ดินไม่ตัดสิน ไม่โต้ตอบ ไม่ด่ากลับ แว้งกัด หรือนินทาเราแต่อย่างใด การปั้นดินจึงเป็นการระบายอารมณ์ที่เฮลตี้สุดๆ

6.ผู้ช่วยฮีลใจ

การปั้นดินยังช่วยเยียวยาอาการต่างๆ ทางกายใจได้ เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , CAD ) มีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปนานและมากเกินไป เช่น เรื่องงาน ครอบครัว หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต, โรคซึมเศร้า (Clinical Depression), โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ (PTSD – Post-traumatic stress disorder), ภาวะข้ออักเสบ (Arthritis) เพราะการปั้นดินทำให้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึงโรคสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)

Photo: IG@warwanarat

ลายเซ็นของวอร์ในงานเซรามิกทุกชิ้นมาจากชื่อ วนรัตน์ ที่หมายถึงป่า จึงดูเป็นว.แหวน หรือต้นอ่อนของต้นไม้ก็ได้

การปั้นเซรามิกช่วยให้มีสมาธิมากขึ้นหรือไม่ วอร์กล่าวว่า ‘เหรอ?’ ไม่เห็นช่วย เพราะอันไหนไม่ชอบก็ทุบทิ้งแล้วปั้นใหม่ แต่การปั้นดินช่วยให้เรียนรู้ชีวิต ความเย็นร้อนอ่อนแข็ง ถ้าเราทำตัวเหมือนดินที่ไม่มีน้ำ แน่นอนว่าเราทุบคนอื่นได้ แต่เราจะเป็นคนที่แข็งเกินไปจนเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องผสมน้ำบ้างให้เรากลายเป็นคนที่ไหลลื่นขึ้น และการปั้นดินทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตว่า บางจุดต้องลงน้ำหนักมือไม่เท่ากัน ต้องผ่อนบ้าง ต้องใส่แรงบ้าง

วอร์ยังกล่าวว่า ความน่าสนใจของเซรามิกอยู่ตรงที่มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เพราะวิธีการทำต้องปั้นดินแล้วนำไปเผา ใช้แร่ธาตุมาลงสีต่างๆ และเมื่อนำไปเผาแล้วมันแตก เราจะอยากหาเหตุผลว่ามันแตกเพราะอะไร

การปั้นดินคือการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้ผลลัพธ์เป็นงานศิลปะ

ถลกแขนเสื้อแล้วไปปั้นดินกับพี่วอร์กัน!

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top