ประสบการณ์สัมภาษณ์งานสุดหลอน และวิธีการสแกนองค์กรง่ายๆ ว่าควรทำงานด้วยหรือไม่? 

พบโพสต์หางานจำนวนมากทำนองว่า “สังเกตอย่างไรหลังสัมภาษณ์งานว่าเราจะได้งาน” เนื่องจากทุกคนต่างคาดหวังว่าตัวเองจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งและได้ร่วมงานกับองค์กรที่ใฝ่ฝัน แต่ช้าก่อน The Optimized อยากให้คุณอ่านบทความนี้ “ประสบการณ์สัมภาษณ์งานสุดหลอน” ฟังดูแปลกและขวางโลกใช่ไหม?

หลายครั้งมองจากมุมมองภายนอก เห็นโลโก้องค์กรแล้วอยากร่วมงานเหลือเกิน แต่หลังจากนั้นสมองร้องเป็นเพลง “อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า” เข้าไปแล้วเผชิญทั้งดราม่าคูณสิบ งานงอกนอกเหนือจากที่คุยกัน ไปจนถึงความไม่ชัดเจนทั้งบริบทของคนและบริบทของงาน ดังนั้นคงไม่มีใครอยากไปทำงาน 2 วันแล้วลาออก เพราะท้ายสุดจะเสียเวลาทั้งสองฝ่าย แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้นเรามี วิธีสแกนองค์กรง่ายๆ ผ่านประสบการณ์สัมภาษณ์งานสุดสยอง

เรียกสัมภาษณ์ในงานตำแหน่งงานที่ไม่ได้สมัคร

ก่อนอื่นเลยผู้เขียนถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์งานของบริษัทต่างชาติชื่อดังที่มีสาขาอยู่ที่ประเทศไทย แต่วินาทีแรกที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลโทรติดต่อให้มาสัมภาษณ์ในตำแหน่ง XXX ซึ่งผู้เขียนไม่มีประสบการณ์ใดๆ เลย จึงได้ปฏิเสธไปพร้อมสารภาพว่าตัวเองมองหาตำแหน่งงาน YYY (ตำแหน่งที่ต้องการ) ที่ตรงกับสายงานมากกว่า

จากนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลเสนอว่าองค์กรให้ความสนใจอยากให้มาลองสัมภาษณ์ตำแหน่ง YYY ก็ได้ ให้เป็นในหนึ่งผู้เข้าสัมภาษณ์เพื่อพิจารณา และยังมีตำแหน่งอื่นๆ ให้เลือก แม้จะฟังดูแปลกชอบกล แต่ผู้เขียนเห็นว่ามีโอกาสได้ตำแหน่งที่ถนัดจึงตัดสินใจไปสัมภาษณ์ดู

วันสัมภาษณ์มาถึง ผู้เขียนกลับได้มานั่งสัมภาษณ์ในตำแหน่ง XXX เหมือนเดิม (ตำแหน่งที่ได้ปฏิเสธไป) บรรยากาศเป็นไปด้วยความกระอักกระอ่วน วินาทีแรกในหัวคือ “อยากกลับบ้านแล้ว เราไม่อยากรบกวนเวลากันและกัน”

แสดงให้เห็นว่าองค์กรมีจุดอ่อนเรื่องการประสานงานในทีม ฝ่ายทรัพยากรบุคคลไม่ทราบว่าบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานตำแหน่งที่ขาดอยู่ ควรมีคุณสมบัติ ความเชี่ยวชาญ และความหลงใหลในงานอย่างไร ดังนั้นในมุมมองของผู้เขียนคิดแบบตลกร้าย หากได้เริ่มงานกันเราจะเจอคนที่เข้ามาทำงานที่ไม่ได้ถูกคัดสรรจากความเชี่ยวชาญหรือความหลงใหลในเนื้องานสักกี่คน? และปัญหากี่ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมาคงมีเป็นกุรุส

เสนอตำแหน่งสูง แต่เนื้องานไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง

กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ใช้ดึงดูดคนเข้ามาคือการเสนอชื่อตำแหน่งสูงๆ อย่างหัวหน้า ผู้จัดการ ซีอีโอ ฯลฯ ซึ่งพิจารณาดูพบว่าในองค์กรมีตำแหน่งผู้จัดการเยอะมากที่ซ้อนทับกัน และพวกเขาได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าระดับเจ้าหน้าที่เล็กน้อยเช่นกัน และแน่นอนวันที่สัมภาษณ์ผู้เขียนพบความงงงวยในเนื้องาน ยกตัวอย่าง หากคุณไปสัมภาษณ์ในตำแหน่งหัวหน้าทีมนักเขียน แต่คุณจะไม่พบคำถามว่า “งานเขียนเชิงสร้างสรรค์ชนิดไหนที่คุณประทับใจอยากจะเล่าให้เราฟัง” หรือ “คุณถนัดเขียนงานด้านใด” แต่อาจจะพบกับคำถามที่แสดงถึงความไม่ชัดเจนและขอบเขตงานที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ภาษาวัยรุ่นคือเตรียม ‘งานงอก’ เช่น

  • ใครลงเพจให้ เคยเป็นแอดมินไหม?
  • ทำรูปปกเองได้ไหม สำหรับลงเฟซบุ๊ก สำหรับลง TikTok
  • ออกงานอีเวนต์ ตัดต่อวิดีโอตามบรีฟลูกค้า จบในคนเดียวเลยไหม?
  • มีรถไหม ขับรถได้ไหม เพราะต้องวิ่งไปรับบรีฟลูกค้า

ผู้เขียนเข้าใจดีว่าทักษะแบบ Multiasking (หนึ่งคนทำได้หลายอย่าง) สำคัญมากในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าตำแหน่ง นักเขียน ฝ่ายตัดต่อ ช่างภาพ ครีเอทีฟ จะมารวมตัวภายในคนเดียว ยิ่งคำว่า ‘งานลูกค้าด้วยละก็’ ไม่ควรอย่างยิ่ง

คำถามคือ

1) นโยบายขององค์กรเน้นทำกำไรโดยใช้ต้นทุนที่ประหยัดเป็นหลักหรือไม่? แล้วหากบุคลากรหนึ่งคนภายใต้ฐานเงินเดือนสำหรับ 1 ตำแหน่ง ต้องทำงานถึง 5 ตำแหน่งในช่วงเวลาเดียวกัน มันคือสิ่งที่ควรจะเป็นหรือความบิดเบี้ยว

2) องค์กรเน้นปริมาณงานและผลผลิตมากกว่าคุณภาพงานหรือไม่? ซึ่งจริงๆ มีข้อดีเพราะจะได้ทักษะการทำงานที่รวดเร็ว สามารถทำหลายๆ งานในเวลาเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ลดทอนคุณภาพ

และในส่วนอื่นๆ เช่น ผู้เขียนจะเหลือเวลาเพื่อพัฒนาทักษะอื่นๆ ในอนาคตอีกแค่ไหน? คุ้มที่จะแลกกับความโก้หรูของโลโก้องค์กรหรือไม่?

องค์กรวิ่งไม่ทันเทรนด์เทคโนโลยี

บทสนทนาหนึ่งที่ผู้เขียนสอบถามกลับไปเกี่ยวกับการยิงแอดหลังบ้านทุกแพลตฟอร์ม และเทรนด์โลกกับแนวคิดการใช้ AI มาสนับสนุนเนื้อหา ท่ามกลางแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาราวกับดาวเห็ด บุคลากรทุกคนไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้ ผู้เขียนสังเกตจากแววตาชวนฉงนขณะทำการสัมภาษณ์ คำถามคือ ที่นี่จะทำให้เราพัฒนาทักษะเชิงเทคโนโลยีได้มากน้อยเพียงใด? ในอนาคตเราจะวิ่งตามทันเทรนด์โลกหรือไม่?

การปฎิบัติอย่างให้เกียรติ

ผู้สัมภาษณ์ที่ไม่ได้สนใจที่จะอ่าน Resume หรือ Portfolio เลยแม้แต่น้อยมีอยู่จริง รวมถึงกดโทรศัพท์เช็กไลน์ อีเมลเป็นระยะ ทั้งนี้เหตุอาจเกิดเพราะ HR เลือกผู้ที่มาสัมภาษณ์ไม่ตรงกับตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้บรรยากาศอาจไม่ตื่นเต้นเร้าใจ แม้ในใจผู้เขียนแม้จะอยากกลับบ้านตั้งแต่วินาทีแรก แต่ก็จะให้เกียรติองค์กรด้วยการสร้างบทสนทนาที่เป็นมิตรที่สุด แต่สิ่งที่พบได้แก่

  • เวลาประชุมงานอื่นชนกับเวลาสัมภาษณ์
  • พนักงานผลัดกันเดินเข้าออกห้องสัมภาษณ์
  • เช็กอีเมลเป็นระยะ
  • เจ้านายเดินมาตามงานระหว่างการสัมภาษณ์ใน่ห้องสัมภาษณ์
  • ตะโกนคุยแบบข้ามศีรษะจนรู้สึกว่าเราเป็นอากาศในห้อง

แม้ว่าจะยังไม่ได้ร่วมงานกัน แต่หากได้มีโอกาสผู้เขียนจะต้องเผชิญกับความยุ่งเหยิงแบบนี้จนลืมให้เกียรติเพื่อนร่วมโลกหรือไม่ ถ้าเราได้ตำแหน่งอันโก้หรูนี้ เราจะเป็นคนน่ารักกับโลกอยู่ไหม คิดแล้วได้แต่ยิ้มเจื่อน

เพื่อนร่วมงานที่ดูอิดโรยแต่หัววัน

ผู้เขียนไปสัมภาษณ์งานในเวลา 10.00 น. แต่พบว่าเพื่อนร่วมงานทุกคนดูอิดโรย พลังงานในที่ทำงานช่างดูไม่สดใส มีพนักงานหนึ่งคนกำลังโดนคอมเมนต์งานอย่างใส่อารมณ์ จนผู้เขียนถึงกับหันขวับไปมองขณะทำการสัมภาษณ์

ให้การบ้าน รวบรวมไอเดียมาส่ง

หลายออฟฟิศมักมีการบ้านเพื่อทดสอบคนรับคนเข้าทำงาน ความน่าเศร้าได้แก่ข้อหนึ่ง ได้สัมภาษณ์ในตำแหน่งที่ไม่ได้อยากทำ และข้อสอง วันสัมภาษณ์พูดถึงขอบเขตงานที่กว้างมาก ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองฝ่ายต่างสัมผัสได้ว่าคงไม่ได้ร่วมงานกัน แต่วันรุ่งขึ้น HR ก็บททดสอบที่นำไอเดียต่างๆ เช่น อยากให้นำเสนอไอเดียที่ทำเป็นวิดีโอสำหรับองค์กร คิดว่าจะใช้อินฟลูเอนเซอร์คนไหนร่วมกับแบรนด์ลูกค้า ไปจนถึงแผนการทำ Content Marketing ฯลฯ ซึ่งรวมโจทย์ประมาณ 10 ข้อ 2 หน้า A4 ผู้เขียนจึงรีบตอบกลับไปอย่างน่ารักว่า “ไปทบทวนดูแล้วคิดว่าตัวเองไม่เหมาะ ขอบคุณที่ให้สัมภาษณ์นะคะ”

อาจจะด้วยความเร่งรีบและแนวคิดการทำกำไรภายใต้ระบบทุนนิยม จึงทำให้วัฒนธรรมองค์กรตั้งอยู่ในการแข่งขันสูง ซึ่งไม่แปลกหากทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปและได้รับการปฏิบัติอย่างที่ควรปฏิบัติ แต่หากการทำงานเชิงปริมาณโดยปราศจากคุณภาพ ทำหลายอย่างจนไม่มีเวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ภายใต้เหตุผลว่า “เดี๋ยวนี้องค์กรไหน พนักงานหนึ่งคนก็ทำกันหลายงาน” ผู้เขียนจะบอกว่าไม่จริง!

องค์กรที่มีระบบจะให้ความสำคัญกับสกิลเชิงลึกของทรัพยากรมนุษย์และมีสวัสดิการตอบแทนที่ดี พร้อมสร้างบรรยากาศความสุขที่คนทำงานอยากทำให้จริงๆ  รวมถึงสภาพจิตใจ ความสุขและการหลงใหลในงานของพนักงานไม่ควรถูกบั่นทอนจากความไม่ชัดเจนต่างๆ ทั้งหมดทั้งมวล ทั้งนี้องค์กรไม่ได้ผิดที่มีวัฒนธรรมดังกล่าว แต่ผู้เขียนรักและเคารพตัวเองมากกว่าที่จะเอาความสวยหรูมาแปะหน้าอกและฝืนยิ้มในทุกวันขณะที่ใจกำลังร้องไห้

เช่นเดียวกันถึงผู้ที่กำลังสมัครงานทุกท่าน หากคุณตั้งใจสะสมประสบการณ์ พัฒนาทักษะตัวเองมาถึงขนาดนี้แล้ว คุณอาจจะคิดว่าองค์กรอะไรก็ได้ขอให้รับคุณเข้าทำงาน (แต่ถ้าตอนนั้นจำเป็นเรื่องเงินจริงๆ ก็ไปทำก่อนแล้วดีดตัวออกมาให้เร็ว) แต่เราอยากให้คิดว่า คุณจะใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตที่นั่งอยู่กับงาน อย่าด้อยค่าตัวเอง จงเลือกสิ่งที่คุณรักและให้ผลตอบแทนที่ทำให้มีความสุข

เชื่อเถอะคุณจะทรมานถ้าแต่งงานกับคนที่คุณไม่ได้รัก แต่ก็กลับมาเรื่องเดิม คุณจะเป็นฝ่ายเลือกได้ คุณต้องพัฒนาทักษะของตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดด้วยนะคะ อันนี้เรื่องจริง

Words: Valentina S.

you might like

Scroll to Top