จกพุงหมา-แมว แล้วทำไมหายเหนื่อย! รู้จัก Animal-assisted Therapy เมื่อสัตว์ช่วยบำบัดมนุษย์

พักหลังๆ นี้ผู้เขียนฉุนเฉียวง่าย อาจเนื่องด้วยงานรัดตัวทำให้มีเวลาอยู่กับตัวเองน้อยลง จึงเผลอหลงลืมความน่ารักที่มีต่อโลก และหันมาฉีกอกเพื่อนมนุษย์ง่ายขึ้น

โชคดีที่ยังมีสติก่อนพิมพ์คอมเมนต์ใต้คลิปโปรโมตภาพยนตร์เรื่อง A Quiet Place: Day One – ดินแดนไร้เสียง: วันที่หนึ่ง ของผู้กำกับ ไมเคิล ซาร์โนสกี้  ซึ่งเป็นภาคแยกของภาพยนตร์ดัง A Quiet Place ดินแดนไร้เสียง ว่าด้วยปฐมบทเหตุการณ์เอเลี่ยนบุกมาทำร้ายมนุษย์และหากสิ่งมีชีวิตใดส่งเสียงดังเพียงเล็กน้อย เอเลี่ยนก็จะมาฉีกร่างเป็นชิ้นๆ ฉะนั้นทางรอดเดียวคือ ‘เงียบ’

ภาพยนตร์เรื่อง A Quiet Place: Day One – ดินแดนไร้เสียง: วันที่หนึ่ง ของผู้กำกับ ไมเคิล ซาร์โนสกี้

Photo: Courtesy of Paramount Pictures

ทีเซอร์โปรโมตภาพยนตร์เผยให้เห็นถึงนักแสดงนำหญิงเจ้าของรางวัลออสการ์ ลูพิตา เอนยองโก ที่รับบทเป็นหญิงสาวที่ต้องอาศัยแมวนำทาง ณ วันแรกที่เอเลี่ยนทำการบุกโลก

“ผกก. ถ้า มึX ทำแมวตาย จะสาดทรายขี้แมวใส่หน้าจอภาพยนตร์”

 นี่คือคอมเมนต์สไตล์เกรียนคีย์บอร์ดที่ผู้เขียนพิมพ์คาไว้

ลูพิตา เอนยองโก ที่รับบทเป็นหญิงสาวที่ต้องอาศัยแมวนำทาง ณ วันแรกที่เอเลี่ยนทำการบุกโลก

Photo: Courtesy of Paramount Pictures

และหลากหลายพฤติกรรมก่อนหน้านี้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ที่ผู้เขียนแยกเขี้ยวใส่โลกไปทั่ว จนตระหนักได้ว่า “ไม่ได้การละ เราต้องมีสติกว่านี้” และวิธีการที่ผู้เขียนเลือกใช้บำบัดอารมณ์ตัวเองแบบนานๆ ทีมีอยู่ 2 อย่าง คือการทำสมาธิและการทำ Cozy Cardio หรือออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอสุดชิลล์ตามเทรนด์ใน TikTok

จู่ๆ ก็ปิ๊ง! “เวลาเรานั่งลูบแมวเงียบๆ ช้าๆ ฟังเสียงน้องครางในลำคอ ก็ทำให้เราอารมณ์เย็นได้เหมือนกันนี่นา” ทั้งนี้แอบได้ไอเดียมาจากลูพิตา เอนยองโกและแมวนำทางของเธอ ดูเหมือนว่าแมวไม่ได้ช่วยแค่ลูพิตาแล้วละ

ลูพิตา เอนยองโก และน้องแมวลายวัว สัตว์เลี้ยงนำทางในเรื่อง

Photo: Courtesy of Paramount Pictures

ผู้เขียนจึงได้ไปค้นคว้าความมหัศจรรย์ของสัตว์ที่ช่วยบำบัดมนุษย์ หรือที่เรียกว่า  ‘Animal-assisted Therapy – สัตว์บำบัด’ เมื่อได้ทำการเปิดโลกแล้ว จึงอยากแชร์กับผู้อ่านเผื่อคุณจะรักและซึ้งในสิ่งที่น้องสัตว์ทำให้กับเราโดยไม่รู้ตัว

เจ้าชนิทเซล แมวลายวัว นักแสดงร่วมกับลูพิตาในเรื่อง

Photo: justjared.com

สัตว์บำบัด คืออะไร?

นายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายในข้อหัวนี้ผ่านเอกสารวิชาการเรื่อง ‘การบำบัดด้วยสัตว์’ ของศูนย์วิชาการแฮปปี้โฮมว่า “การบําบัดด้วยสัตว์ มาจากคําว่า Animal-assisted Therapy หรือ Animal Therapy คือการนําสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัดรักษาผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และเพิ่มความสามารถในการปรับตัว หรือช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นการบำบัดที่นำมาเสริมเข้ากับการรักษาวิธีการหลัก ซึ่งมีการนำมาใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์และหลากหลายรูปแบบ โดยสัตว์ที่นิยมนำมาใช้กันมาก ได้แก่ สุนัข แมว ม้า และโลมา เป็นต้น โดยต้องมีการคัดเลือกและฝึกฝนสัตว์มาเป็นอย่างดี พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”

Photo: Freepik

สัตว์ช่วยเหลือมนุษย์มาเนิ่นนาน

จากกรณีศึกษาพบว่าวงการแพทย์มีการใช้ปลิงในการบำบัดโรค เช่น ช่วยปรับความดันโลหิตสูง รักษาโรคหลอดเลือดในสมองตีบให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองของผู้ป่วยได้ ช่วยรักษาบาดแผลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

ธุรกิจสัตว์บำบัดก็ยังเฟื่องฟูในโปแลนด์ที่กำลังรุกการส่งออกทากดูดเลือดไปสู่ตลาดโลก หลังพบว่าความต้องการในเชิงการแพทย์มีสูงขึ้น

เช่นเดียวกับสุนัขและแมวที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการเคลื่อนไหว ให้สามารถทำกิจกรรมฟื้นฟูบำบัดกล้ามเนื้อได้อย่างสนุกสนานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และนอกเหลือจากการฟื้นฟูทางกายภาพแล้ว สัตว์เลี้ยงบำบัดยังช่วยเหลือมนุษย์ในเรื่องของสภาพจิตใจ อย่างกรณีของสุนัขที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ให้ก้าวผ่านช่วงการหลงลืม จนถึงช่วยลดอาการกระสับกระส่ายของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

Photo: Freepik

และในกรณีของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น นักบำบัดใช้สุนัข แมว นก รวมถึงสัตว์อื่นๆ ช่วยหันเหจากความวิตกกังวลและเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับผู้ป่วยได้ รวมถึงเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรพร้อมช่วยลดมุมมองในด้านลบของผู้ที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจอื่นๆ ผู้ป่วยหลายคนจึงรู้สึกสงบและอารมณ์มั่นคงขึ้นหลังจากได้สัมผัสเจ้าสัตว์น้อยใหญ่ด้วยความรัก

ส่วนในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นและออทิสติก พบว่าสัตว์บำบัดช่วยเสริมสร้างความจดจ่อ ช่วยให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวมีสมาธิและมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบข้างได้ดีขึ้น

นอกจากนี้เสียงครางในลำคอของแมว (Purr) ก็มีช่วงความถี่อยู่ที่ 25 – 150 เฮิร์สต์ ซึ่งตรงกับช่วงความถี่ต่ำในทางการแพทย์ที่ใช้ในการบำบัดรักษามนุษย์และสามารถสร้างความสุขและความสบายใจ อีกด้วย

Photo: Freepik

แนวคิดของสัตว์บำบัด

เวปไซต์ Psychology Today กล่าวถึงแนวคิดของการบำบัดด้วยสัตว์ว่าเริ่มต้นจากการที่สัตว์สามารถสร้างความรู้สึกสงบ ความสบายใจและความปลอดภัยให้กับมนุษย์ โดยสามารถหันเหจากสถานการณ์เชิงลบหรือสถานการณ์ที่ตึงเครียดไปสู่การโฟกัสในสถานการณ์เชิงบวกได้มากขึ้น โดยสัตว์ต่างๆ นั้น ช่วยต่อสู่กับความเหงา ช่วยเพิ่มความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ทำให้มนุษย์เกิดคุณค่า เกิดเชื่อมั่นในตนเองพร้อมช่วยรักษาระดับอารมณ์ให้คงที่ รวมถึงในทางด้านร่างกายสัตว์บำบัดยังช่วยเสริมสร้างพลานามัย ทำให้ผู้คนก้าวไปสู่การออกกำลังกายได้มากกว่าปกติ เป็นต้น

Photo: Freepik

สัตว์บำบัดมีอะไรบ้าง และทำงานอย่างไร

สัตว์บำบัดนั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยโปรแกรมจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปพบได้ดังนี้

  • สุนัขบำบัด (Dog Therapy)
  • แมวบำบัด (Cat Therapy)
  • ปลาบำบัด (Fish Therapy)
  • อาชาบำบัด (Hippotherapy)
  • โลมาบำบัด (Dolphin Therapy)
  • กระบือบำบัด (Buffalo Therapy)

Photo: Freepik

โดยที่สัตว์เหล่านี้จะต้องถูกฝึกมาอย่างใกล้ชิด รวมถึงตรวจร่างกายและความสะอาดเป็นประจำ โดยต้องไม่มีโรคที่สามารถติดต่อได้ โดยรูปแบบการบำบัดที่พบแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.สัตว์ที่ทำหน้าที่บำบัดโดยตรง

โดยสัตว์กลุ่มนี้ถูกฝึกมาเพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เกิดความสบายใจและเกิดความรักใคร่เอ้นดู โดยสัตว์กลุ่มสามารถเข้ากับบุคคลได้โดยง่ายและหลากหลาย

2.สัตว์ที่ช่วยส่งเสริมอารมณ์

มีลักษณะคล้ายกับสัตว์ประเภทแรก มักจะเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของคนเดียว และเน้นเรื่องการเยียวบำบัดอารมณ์ให้กับเจ้าของ

3.สัตว์ช่วยเหลือ

เป็นสัตว์ที่ถูกฝึกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ทุพลภาพ เช่นสัตว์นำทางคนตาบอด อย่างสุนัขหรือแมวนำทาง อย่างในกรณีของลูพิตา เอ็นยองโก ในภาพยนตร์ เป็นต้น

Photo: Freepik

การบำบัดด้วยสัตว์อาจไม่ใช่สำหรับทุกคน

อย่างไรก็ดีการบำบัดด้วยสัตว์เป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับตัวสัตว์โดยตรง หากคนไข้พบว่าเป็นโรคภูมิแพ้ขนสัตว์ ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีบาดแผลเปิดที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ สัตว์อาจจะกลายเป็นพาหะโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงเป็นคนที่กลัวและไม่ชอบสัตว์อาจจะไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ นักบำบัด หรือทีมสุขภาพผู้เชี่ยวชาญของคุณก่อนใช้บริการโปรแกรมบำบัดดังกล่าว

จริงๆ แล้วผู้เขียนได้ไปทำวิธี ‘สัตว์ฮีลใจ’ มาแล้วด้วย ขอใช้คำว่าสัตว์ฮีลใจเพราะไม่ถึงขั้นสัตว์บำบัดทางการแพทย์โดยตรง แต่ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้ใจฟูได้ใน 1 วัน อยากให้ผู้เขียนแวะไปอ่านบทความ ‘ความสุข 1 วันกับโปรแกรมสัตว์ฮีลใจ’ ที่เราจะลงสนามจริงกันค่ะ (แปะลิงก์)

 

Words: Valentina S.

 

ข้อมูลจาก:

you might like

Scroll to Top