ถ้าเจ้านายถามเรื่องที่คุณไม่รู้ คุณจะตอบว่า ‘ไม่รู้’ หรือจะ ‘โกหก’?

ในการสัมภาษณ์งาน หรือวันหนึ่งเจ้านายเกิดถามขึ้นมาถึงข้อมูลอะไรบางอย่าง หากคุณไม่รู้ คุณจะตอบออกไปว่าอะไร “ไม่ทราบ” หรือตอบอะไรไปสักอย่างแบบเดาสุ่ม มโนขึ้นมาเอง? แต่จิตแพทย์และอดีตเอฟบีไอที่ทำหน้าที่เจรจากับผู้ก่อการร้ายขอแนะนำว่า “อย่าโกหกกับคนที่คุณจะไม่ฆ่า”

สองสถานการณ์ที่แตกต่าง

บทแรกๆของ ‘ให้เงินทำงาน’ ฉบับพิมพ์ปี 2005 ผู้เขียน ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์ เล่าถึงวันแรกที่เข้าทำงานในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้านายถามคำถามประมาณว่า อัตราเงินเฟ้อปีนี้ติดลบหรือบวกที่เท่าไร ผู้เขียนไม่รู้คำตอบ แต่เมื่อนายถามก็คิดว่าต้องมีคำตอบให้ จึงพูดตัวเลขที่แว้บขึ้นในหัว สมมติว่า “ติดลบ 2% ครับ”

ในบทสัมภาษณ์ของ เลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร นักแสดงวัย 23 ปีที่โด่งดังจากบทบาทเกิร์ลเลิฟจากซีรีส์ แค่เพื่อนครับเพื่อน ( BAD BUDDY SERIES) และเพิ่งมีผลงานใหม่แนวเกิร์ลเลิฟเต็มๆเรื่องแรกของ GMM ’23.5 องศาที่โลกเอียง’ ในบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ CAMPHUB ‘พี่เลิฟ’ ถึงเรื่องการเรียน ซึ่งเธอเล่าถึงการสอบสัมภาษณ์ว่า อาจารย์มีคำถามหลายๆข้อ เช่น ภาพยนตร์ต่างจากละครอย่างไร หรืออรู้จัก ‘หนังกล่อง’ หรือไม่ แต่เลิฟไม่รู้จักจึงตอบไปว่าไม่รู้จัก…

Photo: Freepik

อย่าโกหกคนที่คุณจะไม่ฆ่า

คำโปรยนี้คือคำพูดของ Chris Voss อดีตเอฟบีไอที่ทำหน้าที่ผู้เจรจาต่อรองตัวประกัน ที่เคยผ่านสถานการณ์ตึงเครียดเสี่ยงชีวิตมากมาย ตั้งแต่โจรปล้นธนาคารไปจนถึงผู้ก่อการร้าย คริสถ่ายทอดเทคนิคการเจรจาต่อรองขั้นเทพในหนังสือขายดีมากกว่าล้านเล่มทั่วโลก Never Split The Difference: Negotiating As If Your Life Depended On It (ฉบับแปลภาษาไทย ‘ต่อยังไงไม่ให้เป็นรอง’)

 

Photos: Harper Business, Move Publishing

คริสพูดว่าในชีวิตนี้ สิ่งหนึ่งที่เขาจะไม่ทำแน่ๆคือ ‘จะไม่โกหกคนที่เราจะไม่ฆ่า’ แต่จริงๆแล้วเป็นคำเปรียบเปรยว่า หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะไม่โกหก เพราะ

ปัญหาแรกคือ การโกหก 1 ครั้งจะนำไปสู่ปัญหาร้อยแปดที่ต้องตามแก้ คำโกหกคือกับดักอันเย้ายวนที่ทำให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่ในทางหนึ่งก็เป็นเหมือนการติดระเบิดเวลาใส่ตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าวันหนึ่งมันจะระเบิดตู้มใส่คุณ

ปัญหาที่ 2 คือ คุณต้องชดใช้จากคำโกหก เพราะคุณได้ทำลายความเชื่อใจที่นับว่าเป็นพื้นฐานของทุกๆความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในทางธุรกิจ ความรัก หรือเรื่องส่วนตัว เมื่อความเชื่อใจโดนทำลายเสียแล้ว หลังจากนั้นก็จะไม่มีใครเชื่อใจคุณอีก

ปัญหาที่ 3 คือ ชื่อเสียงคุณจะเสื่อมเสียเมื่อโกหก ดังคำโบราณที่ว่า ‘หากคุณเรื่องที่ถูกต้องจะมี 3 คนที่รู้ หากคุณทำสิ่งผิดจะมี 12 คนที่กระพือข่าว’ นั่นเพราะเรื่องแย่ๆคืออาหารอันโอชะของการนินทาว่าร้าย คำโกหกของคุณจึงจะไม่หยุดอยู่ในวงคนรอบตัวไม่กี่คนเท่านั้น แต่ผู้คนจะเม้ามอยบอกต่อๆกันไปไม่จบไม่สิ้น

Chris Voss อดีตเอฟบีไอในทีมเจรจาตัวประกัน

Photo: theblackswan.com

คุณไม่ควรโกหก เพราะคุณจะไม่เหลือใครให้เชื่อใจได้อีก แม้แต่ตัวเอง

Jordan Peterson จิตแพทย์ นักเขียนและนักพูดชื่อดัง ซึ่งคลิปสัมภาษณ์และการบรรยายของเขามียอดวิวในยูทูบหลายร้อยล้านวิว เช่นเดียวกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขาที่ก็มีไม่น้อย เพราะเขามักตั้งประเด็นที่ทำให้คนฟังต้องงัดข้อกับความเชื่อเดิมของตนเองเสมอ

จอร์แดน ปีเตอร์สันเขียนบทความสั้นๆใน community ในช่องยูทูบของเขาถึงเรื่องการโกหกว่า

จอร์แดน ปีเตอร์สัน จิตแพทย์ นักเขียนและนักพูดชื่อดัง

Photo: Youtube: Jordan B. Peterson

‘การโกหกนั้นทรงพลัง เพราะคุณสามารถชักใยโลกได้ด้วยวาทศิลป์ของคุณ และมันก็ทำให้คุณได้ในสิ่งที่ประสงค์หลายต่อหลายครั้ง หรือพาให้คุณหลีกลี้จากสิ่งที่ไม่ต้องการได้มากมาย

อ้าว แล้วทำไมคนเราถึงไม่โกหกตลอดเวลาซะล่ะ?

เหตุผลมีเยอะแยะ แต่หนึ่งในนั้นก็คือ คุณไม่ควรโกหก เพราะคุณจะไม่อาจเชื่อใจตัวเองได้อีก และจะมีหลายครั้งในชีวิตที่คุณจะไม่มีใครให้พึ่งพาได้นอกจากตัวคุณเอง ดังนั้น หากคุณเอาแต่สร้างเรื่องโกหกมากมาย วันหนึ่งเมื่อคุณเจอวิกฤต และต้องตัดสินใจ เมื่อนั้นละที่คุณจะตัดสินใจผิดพลาด เพราะสมองและจิตใจคุณจะไม่ปลอดโปร่งมากพอจะตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ในเมื่อคุณเอาแต่โกยขยะใส่ความคิดและการรับรู้ของตนมาตลอด เมื่อนั้นละ คุณจะตกอยู่ในปัญหาที่เลวร้ายอย่างแท้จริง

ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้

ย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ทั้งสองแบบของคุณธนพและเลิฟ คุณคิดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร

คุณธนพเขียนไว้ในหนังสือว่า พอผมตอบออกไป (ด้วยคำตอบมั่วๆ) เจ้านายมองผมนิ่งๆโดยไม่พูดอะไรอยู่นาน 5 นาที ก่อนจะพูดว่า ‘ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ อย่าโกหก’ และนั่นกลายเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตของเขา

เลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร

Photo: @loverrukk

ส่วนในกรณีของเลิฟ เธอคิดว่าตอนสัมภาษณ์ ‘รู้ก็บอกรู้ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้’ ซึ่งอาจทำให้อาจารย์ผู้สอบสัมภาษณ์คิดว่าเธอเป็นคนเปิดรับ พร้อมที่จะเรียน ส่งผลให้เธอผ่านการสอบสัมภาษณ์และได้เข้าในคณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการแสดงและกำกับการแสดงภาพยนตร์ มศว. ได้สมใจ และเลิฟก็เรียนจบเสร็จสรรพรับปริญญาไปเมื่อปี 2022

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top