คุณเคยสอบได้ที่ 1 ได้เกรด 4 ล้วนมาจนถึงมัธยมปลาย แต่ได้เกรด 3 ยังยากเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย
คุณอาจเป็นสุดยอดนักขายประจำบริษัท แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ทำยอดขายได้เท่ากับพนักงานธรรมดาทั่วไป
คุณเคยปั่นรายงาน ทำพรีเซนเทชันได้ข้ามวันข้ามคืน แต่พอถึงวัย 40 หกโมงเย็นปุ๊บ คุณก็คว้ากระเป๋า กล่าวลาหัวหน้างาน
คุณเคยออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เล่นครอสส์ฟิต แต่วันหนึ่งหันไปชอบจังหวะของโยคะหรือพิลาทิสมากกว่า
คุณเคยเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่พอวัยแตะเลข 3 ก็วิ่งในสนามสู้กับนักกีฬาวัย 20 ไม่ได้
คุณพยายามเรียนรู้เรื่องเอไอ ใช้งานแบบเงอะงะ ขณะที่พนักงานเจนซีโต๊ะข้างๆ ลองกดๆ พิมพ์ๆ ไม่กี่ที กลับใช้เอไอคล่องปรื๊ด
คุณเคยผ่านปัญหาชีวิตยากๆ มามากมาย แต่พอถึงวัยหนึ่ง ถ้าต้องเจอกับทุกอย่างที่คุณเคยเจอมาอีกรอบ คุณบอกเลยว่าไม่มีแรงจะผ่านไปได้อีกแล้ว
ทำไมเราทำสิ่งที่เคยทำได้แย่ลง หรือทำไม่ได้อีกแล้ว
เราแก่ตัวลง? ความอดทนต่ำลง? เรียนรู้ช้าลง? หรือว่าเรา…ห่วยลง?
บางคนเจอสภาวะนี้แล้วรับไม่ได้ บ้างก็กดดันตัวเองมากขึ้น ‘ฉันเคยทำได้มาแล้ว ก็ต้องทำได้อีกครั้งสิ’ บ้างก็แปะป้ายให้ตัวเองเลยว่า ‘ฉันมันห่วย’
The Optimized ชวนคุณบอกลา ‘เฟส 1’ แล้วพาทุกคนก้าวข้ามไปสู่ ‘เฟส 2’ ของชีวิต
Arthur C. Brooks คอลัมนิสต์ในนิตยสาร The Atlantic ศึกษาเรื่องนี้จนได้รู้ว่า คนเรามี ‘เฟสของชีวิต’ และเขียนออกมาเป็นหนังสือ From Strength to Strength แม้ในหนังสือจะเน้นเรื่องวิกฤตวัยกลางคน แต่วิกฤตของบางคนก็มาก่อนจะถึงวัยกลางคน
STRIVER – เธอผู้มุ่งมั่น
อาร์เธอร์กล่าวถึง striver บุคคลผู้มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ จะทำอะไรทีต้องเอาดีให้สุด แต่คนเหล่านี้แหละที่เจ็บหนักสุดเมื่อเจอกับ ‘strivers curse’ เมื่อเธอผู้มุ่งมั่นต้องสาป จากที่เคยเก่งก็ไม่เก่งแล้ว จากที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้อีกต่อไป งานนี้จึงเจอช็อกชาร์จช็อตจนไปไม่เป็น
คำสาปนี้ไม่ได้มาจากมนต์ดำที่ไหน แต่เป็น ‘ภาวะถดถอย’ ที่เราล้วนต้องพบเจอ ยิ่งใครที่เคยประสบความสำเร็จมามาก ภาวะนี้ก็ยิ่งรุนแรงน่ากลัวมากขึ้นเท่านั้น เพราะรับตัวเองที่กลายเป็นคนไม่เก่งไม่ได้
Photo: Freepik
ชีวิตคนเราต้องเจอทางโค้ง 2 จุด
ในเกือบทุกอาชีพ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สั่งสมจากการฝึกฝนและประสบการณ์มาหลายปี จู่ๆ ก็เริ่มเสื่อมถอย โดยเฉพาะในอาชีพนักกีฬาจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะนักกีฬาส่วนใหญ่มักมีช่วงพีคในวัยรุ่น และความสามารถในการแข่งขันเริ่มเสื่อมถอยลงเมื่อล่วงเข้าสู่วัยเลข 3
ขณะเดียวกันก็มีหลายอาชีพที่เริ่มเจอภาวะเสื่อมถอยในวัย 40 เช่น นักร้องอาจจะร้องเสียงสูงไม่ได้เหมือนก่อน ในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่มีหลักฐานพบว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล ส่วนใหญ่จะทำงานวิจัยชิ้นเยี่ยม หรือการค้นพบยิ่งใหญ่ในช่วงหนุ่มสาว หรือพนักงานออฟฟิศอาจมีเพอร์ฟอร์แมนซ์ต่ำลงจนเจ้านายเรียกพบแต่ก็หาคำตอบไม่ได้ว่าตัวเองเป็นอะไร
ภาวะถดถอยนี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับเชาว์ปัญญา 2 แบบกันก่อน
1.ความฉลาดแบบเลื่อนไหล (fluid intelligence) ความฉลาดในการทำความเข้าใจ สามารถพลิกแพลงข้อมูลหลากหลาย แก้ปัญหาใหม่ๆ ได้ด้วยการใช้เหตุผล
2.ความฉลาดแบบตกผลึก (crystallised intelligence) ความฉลาดที่เกิดจากการสั่งสมความรู้ความสามารถในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
เมื่อเราอายุมากขึ้น ความฉลาดแบบเลื่อนไหลที่ควบคุมความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงนวัตกรรมจะเริ่มเสื่อมถอยลงเมื่ออายุราวๆ 40 ปี ซึ่งนี่ละคือเส้นโค้งแรกในชีวิตของเรา ข่าวร้ายคือมันเป็นเส้นโค้งดิ่งลง ข่าวดีคือชีวิตคนเรายังมีเส้นโค้งที่สอง
เส้นโค้งที่สองก็คือความฉลาดแบบตกผลึก ซึ่งเป็นเส้นโค้งแบบทะยานขึ้นที่จะเริ่มพุ่งในช่วงวัยกลางคน ความฉลาดแบบตกผลึกควบคุมทักษะในการสื่อสารและเชื่อมโยงความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน
แต่คนเราไม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ชีวิตเราจะเจอเส้นโค้ง 2 เส้นนี้ หรือไม่รู้ตัวว่าชีวิตได้ล่วงเข้าสู่เฟสสองแล้ว หลายคนพยายามจะพัฒนาแก้ไขตัวเองให้ยังอยู่ในเฟสแรกได้ต่อไป แต่อนิจจา ความฉลาดแบบเลื่อนไหลได้ตอกบัตรออกเวรของมันแล้ว และถึงเวลาที่ความฉลาดแบบตกผลึกจะมารับช่วงต่อ
และต่อให้เราพยายามล็อกประตูขังไม่ให้ความฉลาดแบบเลื่อนไหลออกไป มันจะเลื่อนไหลออกไปตามชื่อของมัน แล้วประตูอีกบานที่ชื่อว่า ความฉลาดแบบตกผลึกก็ได้เปิดออก
คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะเดินเข้าสู่ประตูบานใหม่ที่เปิดออกนี้หรือไม่ เพราะป่วยการจะขัดขืนต่อสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราโดน disrupt ให้ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากตำแหน่งแห่งที่เดิมของเราอยู่แล้วในทุกอาชีพ
คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราจะโบกมือลาเฟสแรกของชีวิต และใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างไรในเฟสที่สอง หนังสือ From Strength to Strength แนะนำไว้ดังนี้
Photo: Freepik
1.อย่าเสพติดความสำเร็จ
ปัญหาหลักของเธอผู้มุ่งมั่นคือ แม้จะเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยแล้วก็ยังเสพติดความสำเร็จอยู่ บางคนถึงกับบอกว่า ขอเลือกเป็นคนพิเศษกว่าใคร มากกว่าจะเป็นคนที่มีความสุข
หากคุณเป็นคนนิยมความสำเร็จจัดๆ แบบนี้ละก็ จะเกิดอาการลงแดงแสวงหาความสำเร็จอย่างทุรนทุรายมากในช่วงที่เจอกับภาวะถดถอย เพราะรับไม่ได้ที่ความสำเร็จ เสียงปรบมือ คำชื่นชม หรือยอดไลก์ที่เคยได้จะลดน้อยลงไป
2.ยอมรับจุดอ่อนของตัวเอง
สิ่งที่แน่นอนพอๆ กับความตายก็คือความเสื่อมถอย การขัดขืนไม่ยอมรับที่ตัวเองไม่เก่งหรือทำไม่ได้เหมือนเดิมแล้วก็เหมือนคนที่ถึงเวลาตายแต่ไม่ยอมตาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือคุณนำพาความทุกข์มาสู่ตัวเอง และปิดกั้นตัวเองจากโอกาสอีกมากมายที่ชีวิตมอบให้
แทนที่จะขัดขืนต่อสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เธอผู้มุ่งมั่นทั้งหลายควรฝึกฝนการยอมรับว่าตัวเองก็แพ้ได้ ห่วยได้ ทำอะไรบ้งๆ ได้ เป็นคนไม่พิเศษได้ และมันโอเคที่เราจะเป็นแบบนั้น เพราะการปฏิเสธด้านนี้ในตัวเองไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ซึ่งจะกระทบต่อสุขภาพกายในท้ายที่สุด
3.ทำลิสต์ ‘สิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต’
เมื่อถึงวัยเสื่อมถอย หลายคนพยายามหาอะไรให้ตัวเองทำ มีสังคมเพื่อน เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมในเรื่องที่สนใจซึ่งเป็นเรื่องเฮลตี้มากต่อสุขภาพจิต บ้างก็ทำ ‘bucket list’ รายการสิ่งที่อยากทำก่อนตาย มีตั้งแต่ซื้อรถยี่ห้อที่อยากได้มานานแล้ว ไปจนถึงเดินทางไปดูแสงเหนือ ฯลฯ แต่ปัญหาก็คือ รายการเหล่านี้ไม่ได้สร้างสิ่งที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง
สิ่งที่อาร์เธอร์แนะนำคือ แทนที่จะทำ ‘bucket list – รายการสิ่งที่อยากทำ/อยากได้’ แต่ให้ลองทำ ‘reverse bucket list – รายการสิ่งที่ไม่อยากทำ/ไม่อยากได้’ ซึ่งเป็นอีกทางที่จะทำให้เราค้นพบในที่สุดว่า อันที่จริงมีอยู่ไม่กี่อย่างหรอกที่สำคัญต่อเราอย่างแท้จริง
4.สร้างสายสัมพันธ์เชิงบวก
ในหนังสือ From Strength to Strength ยกตัวอย่างต้นแอสเพน ไม้พอปลาร์ที่มีมากมายในอเมริกา แอสเพนต้นเดียวไม่อาจดำรงอยู่ได้ ธรรมชาติสร้างให้ไม้พันธุ์นี้ต้องเชื่อมต่อกันอย่างสลับซับซ้อนจนฟอร์มรูปร่างขึ้นเป็นดงไม้ขนาดใหญ่ที่กลายเป็นสิ่งมีชีวิตเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นและกลายเป็นสิ่งมีชีวิตครองโลกได้ก็เพราะทักษะในการสื่อสารและรวมกลุ่มกัน – เช่นเดียวกับดงต้นแอสเพน
แต่คนเก่งๆ หรือคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนมักมุ่งงาน เพื่อนและครอบครัวถูกผลักเป็นเรื่อง ‘เดี๋ยวก่อน’ เดี๋ยวค่อยสนใจ แต่ในเฟสสองของชีวิตนี่ละคือช่วงเวลาที่ดีในการกลับมาสานสัมพันธ์กับมิตรสหายและครอบครัว หรือไปหาเพื่อนใหม่ๆ ที่สนใจสิ่งเดียวกัน
Photo: Freepik
5.รับมือช่วงเปลี่ยนเฟสชีวิต
นี่คือจุดสำคัญที่สุด เมื่อเรายอมรับได้แล้วว่าชีวิตเข้าสู่เฟสสองแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณอาจต้องเปลี่ยนงาน จากนักกีฬาไปเป็นโค้ช หรือบางคนต้องเปลี่ยนสายงานไปเลย เหมือนที่เกิดกับหลายๆ อุตสาหกรรมที่โดน disrupt เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ที่ล้มหายตายจากเมื่อยุคดิจิทัลเข้ามาแทนที่ คนทำสื่อจำนวนมากต้องเปลี่ยนอาชีพ บ้างไปเปิดร้านกาแฟ ย้ายไปทำสายงานการตลาด ฝึก live ขายของออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านนี่ละที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตวัยกลางคน โดยที่บางคนยังไม่ถึงวัยกลางคนด้วยซ้ำ
แต่จำเป็นไหมที่การเปลี่ยนผ่านเฟสชีวิตต้องเป็นวิกฤตเสมอไป มีวิธีรับมือให้สไลด์ตัวเข้าเฟสสองแบบชิลๆ ได้ดังนี้
- หาเป้าหมายชีวิตสำคัญเป้าใหม่
- ให้งานคือรางวัลชีวิต ไม่ใช่เป้าหมาย
- ทำในสิ่งที่อยากทำให้มากขึ้น ลดสิ่งที่ไม่อยากทำให้น้อยลง
- อย่าจมอยู่ในหล่มเมื่อชีวิตไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะชีวิตไม่ได้ลากเป็นเส้นตรงอยู่แล้ว
ถ้าเหนื่อยหรือหมดแรงที่จะตามโลกให้ทัน ก็ต่อยอดจากทักษะที่มี เพราะช่วงเฟสสองนี่ละที่ความฉลาดแบบตกผลึกได้เฉิดฉาย ซึ่งเป็นความฉลาดในทางทักษะสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูล
ให้เวลาตัวเองได้ค้นหาว่าจะนำความฉลาดแบบตกผลึกไปทำอะไรได้บ้าง ควบคู่ไปกับการสนุกไปกับช่วงเฟสสองของชีวิต ยุคทองหรือช่วงพีครอบสองของคุณอาจรออยู่ไม่ไกล
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- หนังสือ FROM STRENGTH TO STRENGTH: Finding Success, Happiness and Deep Purpose in the Second Half of Life BY ARTHUR C. BROOKS