เงินไม่เคยพอใช้ หาได้เท่าไรก็มีเรื่องให้ต้องใช้หมด รับมือซ้าย–จ่ายมือขวา ไม่มีเงินเก็บ ไม่กล้าป่วยเพราะไม่มีเงินหาหมอ ใช้เงินเดือนชนเดือน หยุดทำงานไม่ได้หรอก ลูกก็ต้องใช้ พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยง ความจนมันน่ากลัว ฯลฯ เหล่านี้คือคำพูดของคนรอบข้างที่ได้ยินบ่อย และไม่เคยจางหายไปไหน โดยคนที่พูดมีตั้งแต่เจ้าของธุรกิจใหญ่โตลงสื่อบ่อย เจ้าของร้านขนาด SME ยูทูเบอร์ช่องดังที่มียอดซับหลายแสน พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงฟรีแลนซ์
ทำไม(บาง)คนมีปัญหาเรื่องการเงินอยู่ตลอดเวลา ทำยังไงถึงรวย ความรวยคืออะไร เราหาเงินกันไปเพื่ออะไร คำตอบของคำถามหลักๆเหล่านี้ Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือการเงิน Psychology of Money (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อว่า จิตวิทยาว่าด้วยเงิน สำนักพิมพ์ Live Rich) ที่ขายได้กว่า 4 ล้านเล่ม (นับตั้งแต่ตีพิมพ์เดือนกันยายน ปี 2020) สรุปไว้ว่า การที่คุณไม่รวยสักทีไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้ แต่เป็นเรื่องของ “ทัศนคติที่คุณมีต่อ ‘เงิน’” ต่างหาก และเขาได้เขียนหนังสือทั้งเล่มนี้ด้วยหวังว่าจะเปลี่ยนความคิดคุณได้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
Photo: Kinokuniya
1.บางคนรวยก็เพราะ ‘ดวง’
เขาเขียนแบบนี้จริงๆ เช่น การที่บิล เกตส์เป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะตอนอายุ 13 (ปี 1968) ดันไปเข้า Lakeside School โรงเรียนเดียวในโลกที่มีคอมพิวเตอร์ และเมื่อเขาได้เจอกับเจ้าตู้สี่เหลี่ยมนี้ก็เหมือนเจอรักแรกพบ เกตส์เคยพูดในงานจบการศึกษาของโรงเรียนเก่าแห่งนี้ในปี 2005 ว่า “ถ้าไม่มีโรงเรียนเลกไซด์ ก็ไม่มี Microsoft”
นี่ละคือ ‘ดวง’ โลกนี้ซับซ้อนและกว้างใหญ่กว่าที่เราคิด ดวงเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงแต่ยากจะบอกได้ จงเชื่อใน ‘ดวง’ ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แล้วโฟกัสกับการทำในสิ่งที่เราควบคุมได้ เมื่อนั้นเราจะโอกาสมากขึ้น
2.ความมั่งคั่งคือสิ่งที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา
ความมั่งคั่งไม่ใช่กระเป๋า Hermès รองเท้า Dior หรือรถ Lamborghini แต่ความมั่งคั่งที่แท้จริงคือการที่เราอดใจไม่ซื้อของที่อยากซื้อ (แต่ไม่จำเป็นต้องมี) ในวันนี้ เพื่อจะได้มีเงินหรือทางเลือกมากขึ้นในวันที่ชีวิตตกที่นั่งลำบากจริงๆ
3.เวลา = ความมั่งคั่ง
ถ้าอายุ 60 ถึงวัยเกษียณแล้ววอร์เรน บัฟเฟตต์เลิกออมเงิน แล้วไปเล่นน้ำเลี้ยงหลาน เขาจะมีเงินเท่าไร?
11.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ตอนอายุ 60 เขามีเงินมากกว่านั้นถึง 99.9% เพราะว่ายังออมเงินต่อไป (หลังจากเริ่มลงทุนในหุ้นครั้งแรกตอนอายุ 11 ปี)
ปัจจุบันในวัย 93 ปี วอร์เรน บัฟเฟตต์มีทรัพย์สิน 138.6 พันล้านเหรียญ
เวลาคือเครื่องมือทรงพลังที่สุดในการลงทุน มันทำให้เงินก้อนเล็กๆพอกพูนขึ้น และลบเลือนความผิดพลาด (จากความเสี่ยง ความโลภ หรือความซวย) ถ้าปู่วอร์เรนลงทุนแค่ 30-40 ปีก็คงไม่กลายเป็นคนดังระดับโลกอย่างทุกวันนี้ แต่ที่เขามีชื่อเสียงเป็นเพราะทรัพย์สินก้อนโตที่เฝ้าลงทุนมานาน 92 ปี
Photo: Freepik
4.ออมเพื่อออม
เราจะเก็บเงินไปเพื่ออะไร มีแอปมากมายที่ให้เราสร้างกระเป๋าเก็บเงินให้ได้ตามวัตถุประสงค์ เช่น เก็บเงินไว้ซื้อกระเป๋า ซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ แต่คุณมอร์แกน ผู้เขียนหนังสือ Psychology of Money บอกว่าเราไม่ต้องมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไรทั้งนั้น เก็บเงินเพื่อเก็บเงิน จบ เพื่อให้วันที่คุณลำบากขึ้นมาจริงๆ (แบบจริงๆ) คุณจะมีฟูกรองรับ
5.มีเงิน = มีอิสรภาพ
ทุกวันที่เรานั่งมอเตอร์ไซค์ไปต่อรถไฟฟ้า เดินบนทางเท้าขรุขระท่ามกลางฝุ่น PM และแดดร้อนๆ หรือจ่ายค่าผ่อนรถออกไปเจอรถติดวันละ 3-4 ชั่วโมง มีบางขณะที่อาจคิดว่า เราทำงานไปเพื่ออะไร หรือที่ถูกต้องกว่านั้นคือ เราหาเงินกันไปเพื่ออะไร?
เงินที่ได้มาแปรไปเป็นอาหาร กาแฟ บ้าน รถ เสื้อผ้า กระเป๋า ทริปเที่ยว สัตว์เลี้ยง ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
แต่จะดีแค่ไหนถ้าเรามีเงินมากพอให้เรา ‘กล้า’ ปฏิเสธลูกค้างี่เง่า เจ้านายฉลาดน้อยแต่มีอำนาจตัดสินใจมาก เพื่อนร่วมงานขี้เกียจ หรืองานที่ทำให้ตื่นเช้ามาแล้วไม่อยากไปทำงาน
Photo: Freepik
นี่ละคือเหตุผลที่เราควรสร้างความมั่งคั่ง เพื่อให้เรามีเงิน และเราจะได้มีอำนาจควบคุมการใช้เวลาในชีวิตของเรา เพื่อทำในสิ่งที่อยากทำ ในเวลาที่อยากทำ กับคนที่อยากทำ ในที่ที่อยากทำ ให้นานตราบเท่าที่เราต้องการ
จะดีแค่ไหนหากเรามีอิสระที่จะ ‘เลือก’
Words: Sritala Supapong