จริงๆ แล้วที่ทำงานก็ไม่ต่างอะไรจากสนามเด็กเล่น แต่เป็นเวอร์ชันที่จริงจังและคาดหวังผลกำไร หากเราพิจารณาเด็กทุกคนในสนามก็จะพบบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป วันนี้ The Optimized จะชวนคุณมาส่องบุคลิกภาพของเพื่อนร่วมงาน 6 แบบที่อาจก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่น่าอึดอัด พร้อมทั้งให้วิธีการรับมือกับกลุ่มกับคนเหล่านี้เบื้องต้น
Photo: Freepik
1.The Complainer – พวกช่างติ
จริงๆ แล้ว The Complainer มีทั้งเวอร์ชันที่เจริญแล้วกับเวอร์ชันที่สูบพลังเพื่อนร่วมทีม
The Complainer เลเวล 1 พวกเขาจะมองหาจุดบกพร่องได้ในทุกๆ เรื่อง มองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ลบและไม่เคยพอใจ ไม่แม้แต่จะพยายามทำความเข้าใจปัญหาใดๆ ด้วยซ้ำ รูปแบบประโยคที่คุณมักเจอ ได้แก่ “ไอเดียนี้ไม่ดีเลย” “ถ้าทำแบบนั้นจะเกิดผลเชิงลบแน่นอน” “ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขได้” “เป็นฉัน ฉันจะไม่ทำ” หรือ “มันควรดีกว่านี้” เป็นต้น
The Complainer เลเวล 2 แต่หากเป็นเวอร์ชันที่สร้างสรรค์ขึ้น พวกเขาจะเป็นบุคคลที่ช่วยอุดรอยรั่วให้กับทีมได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณและทีมสามารถคลายความวิตกกังวลด้วยการสอบถาม ขอความเห็นพร้อมให้ชี้แจงเหตุผลว่าเพราะเหตุใดเขาจึงคิดเช่นนั้น และหากว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ดี เขามีมุมมองอย่างไรเพื่อช่วยให้ดีขึ้น
Photo: Freepik
2.The Bulldozer – พวกชอบข่ม
เพื่อนร่วมงานประเภทนี้มีความแข็งแกร่งสูงและชื่นชอบการปะทะเป็นพิเศษ พวกเขามักชอบควบคุมการประชุม การนำเสนอแผนงาน และกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของทีม โดยจะโจมตีความคิดของคนอื่นๆ แสดงพฤติกรรมกร่าง อวดภูมิไม่ว่าเป็นอารมณ์ก้าวร้าวที่มากกว่าปกติ หรือการใช้มุกตลกเพื่อให้คนอื่นอับอาย ซึ่งเหยื่ออันโอชะเป็นไปได้ตั้งแต่เพื่อนร่วมงานไปจนถึงเจ้านายผู้อ่อนแอ และบุคคล Toxic ประเภทนี้จะไม่มีความเกรงกลัว พวกเขากล้าเผชิญหน้าเพื่อพูดคุยกับผู้บริหารใหญ่เพื่อโจมตีบุคคลต่างๆ เสียด้วยซ้ำ
วิธีการรับมือคือ อย่าปล่อยให้เขาได้สปอตไลต์ในการประชุมหรือการนำเสนองานมากเกินไป คุณอาจจะเคลียร์ตั้งแต่แรกว่าที่ประชุมนี้จะแบ่งให้ทุกคนได้พูดและนำเสนอในช่วงเวลาาที่เท่ากัน โดยการตัดสินใจจะใช้การลงประชามติด้วยระบบโหวต เมื่อเขาแสดงพฤติกรรมกดขี่เพื่อนร่วมงานคนใด ทั้งทีมต้องช่วยกันปกป้อง เช่น ยกมือแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขากำลังพุ่งเป้าเป็นหมู่คณะ คุณอาจต้องทำงานเป็นทีมสักเล็กน้อย เพราะการปะทะกันตัวต่อตัวกับคนประเภทนี้เป็นไปได้ยาก
Photo: Freepik
3.The Big Ego – พวกอีโก้คับฟ้า
พวกอีโก้จัดที่มีตั้งแต่คนที่เชี่ยวชาญในสายงานจริงๆ ไปจนถึงคนที่ไม่เชี่ยวชาญอะไรเลยแต่ประเมินตัวเองไว้สูงส่ง พวกอีโก้จัดจะทำงานด้วยยากโดยเฉพาะโปรเจกต์ที่ต้องระดมความคิด รวมไปถึงงานของลูกค้าต่างๆ ซึ่งพวกอีโก้จัดจะยึดถือความคิดของตัวเองเป็นหลัก แม้ว่าพวกเขาทำผิดพลาดในจุดใดก็ตาม แต่การเข้าไปบอกให้แก้ไขอะไรเป็นไปได้ยากมาก
วิธีการรับมือ คุณอาจต้องบรีฟงานให้ชัดเจนตั้งแต่ทีแรก แล้วปล่อยให้เขาแสดงความสามารถในแบบที่เราอยากทำ เขาจะรู้สึกว่าได้รับอิสระในการทำงาน พร้อมชี้แจงให้เขารู้ว่างานนี้ทีมมีสิทธิแก้ไขได้กี่ครั้ง และหากมีจุดที่อยากแก้ไขจริงๆ แนะนำให้ใช้การสื่อสารแบบ Sandwich Method ที่แสดงให้เห็นว่าคุณเคารพในความคิดของเขา แต่ก็ยังมีจุดที่อยากให้เพิ่มเติม พร้อมปิดท้ายด้วยคำขอบคุณหวานๆ ชื่นชมในความทุ่มเทของเขา
Photo: Freepik
4.The Free Rider – พวกเน้นสังคมไม่เน้นงาน
ผู้เขียนเคยมีเพื่อนร่วมงานที่เดินไปคุยกับคนทุกแผนก ยอมรับเลยว่าเธอมีจุดแกร่งในการเข้าสังคม แต่เมื่อถึงเวลาอัปเดตความคืบหน้าของงาน เพื่อนผู้นี้จะมีอัตราความสำเร็จของงานน้อยมากและมักจะเลือกงานที่ใช้พลังน้อยๆ เช่น การพรีเซนต์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อทำงานเป็นทีมคนที่เหลือก็จะช่วยกันแบกจนโปรเจกต์ลุล่วงไปได้ แต่ถามว่ามีใครแก้ไขอะไรไหม ก็ไม่ เพราะเหตุผลแรกคือด้วยความเป็นเพื่อนกันในกลุ่มก็เกิดภาวะน้ำท่วมปาก
และเหตุผลที่ 2 คือเธอมีคารมคมคายที่ดีใครๆ ก็รักใคร่ ทุกคนก็พลอยโกรธไม่ลง (อ้าว) ซึ่งกว่าองค์กรจะเรียกไปตักเตือนก็เข้าปีที่ 3 ซึ่งเธอก็ได้ใช้ชีวิตในการทำงานแบบชิลล์ๆ จนอิ่มตัวและลาออกไปเอง ซึ่งนับว่าสบายมาตลอด 3 ปี
วิธีการรับมือกับคนประเภทนี้คือแจกแจงงานให้ชัดเจน และไม่ควรแจกแจงในเวลาที่มีแค่คุณกับคู่กรณี ต้องให้ที่ประชุมรับรู้โดยทั่วกันว่าเธอมีขอบเขตความรับผิดชอบอะไรบ้าง รวมถึงควรมีการรายงานติดตามความสำเร็จของงานถี่ๆ เพื่อดูว่าเธอเอาเวลางานไปผลาญกับการเข้าสังคมหรือไม่
Photo: Freepik
5.The Gossip Girl – ลูกช่างเม้าท์ เอาดราม่า
เพื่อนร่วมงานบางประเภทจะสนุกกับการนำเรื่องนั้นนี้ของบุคคลต่างๆ มาพูด ซึ่งหลายครั้งเป็นการพาดพิงบุคคลที่ 3 ในเชิงลบหรือเป็นการดิสเครดิต ผู้เขียนเคยมีเพื่อนร่วมงานที่เข้ามาใหม่ 2 คน ซึ่งทั้ง 2 คนมาจากออฟฟิศเดียวกันจึงสนิทกันมาก ในตอนแรกผู้เขียนสัมผัสได้ว่าตกเป็นเหยื่อวาระแห่งความเกลียดชังแต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้เขียนไม่ยุ่ง ไม่สุงสิง รับผิดชอบงานตัวเองให้ดี ดราม่าดังกล่าวนี้ก็ค่อยๆ หมดไป
อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนร่วมงาน 1 ใน 2 คนนี้ เริ่มเข้าหาผู้เขียนมากขึ้นเพราะได้ร่วมงานโปรเจกต์เดียวกันบ่อยๆ จากนั้นบทสนทนาที่เคยเป็นแค่งานและเรื่องตลกโปกฮากลับกลายเป็นเรื่องส่วนตัวของเพื่อนคู่หูที่เข้ามาด้วยกัน ผู้เขียนได้ฟังตั้งแต่เรื่องแฟนเก่าคือใคร คบใครมาบ้าง ผิดใจกับใครบ้างในออฟฟิศเดิม คำถามคือผู้เขียนไม่ได้รู้สึกปลอดภัย หรือสะใจที่ได้ฟัง กลับรู้สึกว่า “แล้วถ้ารู้เรื่องฉันมากขึ้นบ้างละจะเกิดอะไรขึ้น” ผู้เขียนจึงพยายามคุยเรื่องงานเท่าที่คุยได้
จนในที่สุด เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกเล่าแค่ครั้งเดียวกลับกลายเป็นไปรู้ถึงหัวเจ้าตัว จากเพื่อนรักที่เข้ามาทำงานด้วยกันก็ผิดใจกัน ลุกลามเป็นดราม่าจนผู้ที่ดิสเครดิตก็ขอลาออกเพราะอึดอัดใจที่จะทำงานต่อไป
วิธีการรับมือกับบุคคลประเภทนี้ ถ้าจะบอกให้เดินหนีจากวงสนทนาหรือวงซุบซิบนินทาก็คงยาก แต่ให้คุณเงียบและปล่อยให้ผู้เล่าเป็นตัวเอกในวงสนทนาแทน แล้วคุณก็เป็นประหนึ่งว่าชาวบ้านผู้ไร้บทบาท ได้โปรดอย่าออกความคิดเห็นใดๆ ถ้าเมื่อไหร่คุณปริปากพูดเท่ากับว่าคุณได้กลายเป็นตัวเอกของการกระพือดราม่าครั้งนี้ไปแล้ว และถ้าจวนตัวจริงๆ ให้รีบเปลี่ยนเรื่อง จะเป็นเรื่องงาน เรื่องข้าว เรื่องจิปาถะอะไรก็ได้ที่ไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลที่ 3 นั่นเอง
Photo: freestockcenter on Freepik
6.The Gaslighter – ผู้เชี่ยวชาญในการปั่นหัว
เพื่อนร่วมงานประเภทนี้จะรับมือยากที่สุด พวกเขาเชี่ยวชาญในการบิดเบือนทั้งข้อมูล คำพูด รวมถึงสามารถสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกสงสัยในตัวเอง รู้สึกด้อยค่า จนนำมาซึ่งการหมดศรัทธาในความสามารถจนต้องยอมศิโรราบ ยอมตามน้ำ ยอมทำในสิ่งที่เธอต้องการ นั่นเท่ากับว่าเพื่อนร่วมงานประเภทนี้บงการได้สำเร็จแล้ว
มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดกับผู้เขียนโดยตรง แต่เกิดกับเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้างๆ ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่ให้กำลังใจอยู่ห่างๆ เพื่อนร่วมงานคนนี้เก่งในการทำรายการออนไลน์มาก เธอเชี่ยวชาญทั้งในการเขียนสคริปต์รายการ ทั้งในการประสานงานแขกรับเชิญไปจนถึงสามารถควบคุมกระบวนการหลังการถ่ายทำจนรายการเผยแพร่ได้
จากนั้นเมื่อมีตัวละครตัวที่ 2 โผล่เข้ามา ซึ่งเป็นบุคคลจากแผนกรายการออฟไลน์ที่ควบรวมเข้าด้วยกัน อาจจะด้วยต้องการการยอมรับหรือต้องการแสดงอำนาจก็ไม่ทราบได้ ผู้เขียนมักจะได้ยินข้อความบั่นทอนกำลังใจเนื่องจากเธอสนิทกับโปรดิวเซอร์และพิธีกร เช่น “แอบได้ยินพิธีกรตำหนิรูปแบบสคริปต์นะ ข้อมูลเหมือนมีมิติเดียว” หรือ “ที่โปรเจกต์ไม่ได้ขึ้นเพราะรายการใหม่มีโครงสคริปต์ที่ไม่เหมือนรายการ น่าจะทำได้แค่เทปเดียวมากกว่า” ไปจนถึง “เธอต้องสลับประโยคแบบนี้ เดี๋ยวสลับให้ดู” ซึ่งผู้เขียนพิจารณาจากผลลัพธ์แล้ว ไม่ได้แก้ออกมาแล้วมีคุณภาพ ไม่ใช่เปลี่ยนจากนกเป็นหงส์ เพียงแต่เข้าทำนองแก้จากนกเป็นนกอีกตัวหนึ่งเท่านั้น
Photo: Freepik
ฝ่ายเพื่อนของผู้เขียนก็เริ่มสั่นคลอนถึงขั้นเวลาเขียนสคริปต์ทีไรก็ต้องให้คนนี้ตรวจดูงานก่อนเสมอเพื่อความมั่นใจ และเวลาประชุม บุคคลผู้นี้ก็จะสร้างเครดิตเข้าตัวเองเช่น “อันนี้ที่แก้ตามเรา ดีเลย ขายผ่านเลย” ทั้งๆ ที่งานร้อยละ 90 เป็นฝีมือของเพื่อนของผู้เขียน
ความแตกก็เมื่อถึงเวลาต้องทำงานเดี่ยว บุคคล Gaslighter ผู้นี้กลับไม่สามารถริเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองได้เลย เธอต้องรอให้เพื่อนผู้เขียนว่างแล้วมาช่วยซัปพอร์ตจนทุกคนดูออก คำพูดต่างๆ ของเธอก็พลอยไร้ค่าไปด้วย
วิธีรับมืออย่างง่ายคือ เลิกให้ค่า ตั้งใจทำงานในส่วนของเราจะผิดถูกใดๆ ก็ขอให้ฟังคำจากหัวหน้างานหรือผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เชื่อมั่นและเคารพในผลงานที่ออกมาจากความตั้งใจของตัวเอง รวมถึงบันทึกข้อมูลทุกการสนทนา การประชุมให้ดี เพราะเพื่อนร่วมงานประเภทนี้เก่งในการสร้างสถานการณ์บิดเบือนเป็นอย่างมาก เช่น “ฉันไม่ได้พูดแบบนี้นะ” “เธอน่าจะเข้าใจผิดไปเอง” เป็นต้น
Photo: Freepik
6 ประเภทเพื่อนร่วมงาน Toxic นี้ บางครั้งองค์กรก็ไม่ลงมาจัดการอย่างจริงจัง เพราะหลายครั้งพวกเขายังสร้างประโยชน์ในมิติอื่นให้กับองค์กรอยู่ แต่ในฐานะคนที่ต้องทำงานด้วยกัน ผู้เขียนอยากให้ทุกคนดูให้ออกว่าคนหล่านี้เข้าข่ายคน Toxic ประเภทไหน เผื่อจะงัดวิธีรับมือได้ถูกต้อง “Game On! ฉันจะไม่ใช่เหยื่อของพวกเธออีกต่อไป”
Words: Valentina S.
ที่มา:
https://skillpath.com/blog/11-toxic-office-personalities-and-how-to-deal-with-them-all