ยิ่งเคลียร์งาน ยิ่งมีเอไอช่วย ทำไมงานยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำเท่าไรก็ไม่จบไม่สิ้น บีบให้เรายิ่งหาหนทาง ‘optimize’ หาวิธีทำงานให้ได้ดีขึ้น จะได้ทำงานได้เยอะขึ้น แต่เว็บไซต์ The Optimized อยากชวนคุณมา ‘de-optimize’ หาเวลาให้ตัวเองไม่ต้อง productive ตลอดเวลาก็ได้ แล้วไปนั่งฝันกลางวันบ้างอะไรบ้าง เพราะช่วงเวลาเหม่อๆแบบนั้นละที่ความครีเอทีฟจะพุ่งกระฉูดสูงสุด
Maria Cano เป็นบัณฑิต MBA ของ Stanford Graduate School of Business กลับมาบรรยายสั้นๆที่โรงเรียนธุรกิจชั้นนำระดับโลก ในหัวข้อ Why You Should De-Optimize Your Life ที่ช่างสวนทางกับสิ่งที่สถาบันแห่งนี้พร่ำสอน หรือสิ่งที่โลกบอกให้เรา Just Do It
เธอมาบอกให้เราสำรวจแง่มุมชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไรเสียบ้าง และการนั่งเหม่อฝันกลางวันนั้นดีต่อตัวเรามากเพียงไร
เธอเริ่มจากการถามผู้ฟังว่า มีช่วงเวลาไหนบ้างที่คุณได้ยิน ‘ความเงียบ’
นับตั้งแต่วินาทีที่เราตื่น ชีวิตเราหาความเงียบไม่เจอ เราตื่นขึ้นมาด้วยเสียงนาฬิกาปลุก (เสียงที่ชวนประสาทเสียที่สุดในโลก) เสียงเตือนใน notification แอปต่างๆ เสียงรถรา เสียงคน เสียงเครื่องทำกาแฟ เสียงโฆษณาบนรถไฟฟ้า (ที่มักบอกว่าการพูดคุยบนรถไฟฟ้าเป็นการรบกวนคนอื่น)
เราคุ้นชินกับเสียงเสียจนในวินาทีที่เราจมหายไปกับความคิดของตัวเอง จนเสียงรอบข้างคล้ายจะโดนหรี่ไป เรากลับรู้สึกเหมือนว่าอะไรหายไป ปั่นป่วน ไม่สบายใจ เรากังวลกับการอยู่กับตัวเอง ทว่านั่นคือโมเมนต์ที่ให้โอกาสเราได้ขบคิด ไขความกระจ่าง และเปิดประตูให้ความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพ่นพ่าน
สังคมบอกให้เราทำงาน ทำงาน ทำงาน บอกให้เรา ‘optimize’ หาทางใช้ทุกวินาทีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ว่าแต่ เราจะใช้ทุกวินาทีให้ได้ประโยชน์สูงสุดไปเพื่ออะไร?
Photo: Freepik
Optimization หรือการใช้ประโยชน์สูงสุดนั้นหมายถึงเราต้องทำงานให้สมบูรณ์ เป๊ะปัง มีประสิทธิภาพ เปี่ยมประโยชน์ใช้สอยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และ Optimization กระซิบข้างหูให้เราเชื่อว่า ความเงียบและการหยุดพักคืออุปสรรคของการพัฒนาตัวเองและความก้าวหน้า “เพราะเป็นซะแบบนี้ไง เธอถึงไม่ประสบความสำเร็จ”
พวกเรามากมายจึงหยุดพักไม่เป็น กลายเป็นคนไม่มีงานอดิเรก ชีวิตไม่มีอะไรอื่นให้ทำนอกจากทำงาน เพราะเราเชื่อไปแล้วว่า เราต้องทำให้มากขึ้น ต้องดีขึ้น ต้องพัฒนาตัวเองในทุกๆวัน
แม้แต่ที่สแตนฟอร์ดนี่ก็มีตารางเวลาสำหรับ ‘ช่วงพักเบรกดื่มกาแฟ’ ‘ช่วงไปงานอีเวนต์หางาน’ ‘ช่วงทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ’ จนเราฝึกสมองให้เสพติดฮอร์โมนโดพามีนที่จะหลั่งออกมาเมื่อเราแฮปปี้ที่ติ๊กถูก to do list รายการที่ต้องทำให้เสร็จไปทีละข้อ
เรารู้สึกดีเมื่อได้ทำอะไรสำเร็จ และรู้สึกไร้คุณค่าทางอาหารเมื่อ “ทั้งวันไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย”
แต่ในทาง ‘การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การรู้คิด’ (cognitive neuroscience การเรียนรู้ภาษานั้นเป็นความสามารถของสมองในการเรียนรู้และใช้ระบบการสื่อสารที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการฟังการพูด การอ่าน การเขียน ตลอดจน สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสาร) นั้นพบว่า สมองทำงานต่างออกไป
มีผลการศึกษามากมายที่พบว่า ทุกครั้งที่สมองของเราย้ายความสนใจไปที่สิ่งใหม่ จะเกิดการเผาผลาญกลูโคสในอัตราเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นกลูโคสชนิดเดียวกับที่สมองจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จดจำ และโฟกัส
ดังนั้น เมื่อตารางชีวิตอัดแน่นไปด้วยงาน งาน งาน จนไม่มีเวลาหยุดพักเบรกเลย สมองจะเผาผลาญเชื้อเพลิงที่ทำให้สมองแล่นไปอย่างรวดเร็ว จนไปบั่นทอนความสามารถในการสร้างสรรค์
เพราะเหตุนี้เอง สมองจึงจำเป็นช่วงเวลาได้หยุดพักบ้างเพื่อจะกลับมาโลดแล่นได้อีกครั้ง
Photo: Freepik
ช่วงเวลาปิดสวิตช์หยุดพักเครื่อง (Downtime) ที่หลายคนทำไม่เป็นนั้น คือช่วงเวลาที่เราไม่ต้องตั้งเป้าหมายใดๆ ไม่ต้องจดจ่ออยู่กับอะไรทั้งสิ้น
การไถมือถือ ส่องไอจี ฟังเพลง สโครลหาซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ไม่ถือว่าเป็นการพักผ่อนสมอง
การทำสมาธิก็ไม่ถือว่าเป็นพักผ่อนสมอง
เพราะระหว่างที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ เรามีอะไรให้โฟกัส การทำสมาธิเองก็มีเป้าหมายว่าอยากให้สมองเปิด ใจว่าง
Downtime คือการที่สมองไม่ต้องสนใจสิ่งใดอย่างแท้จริง
นั่งเหม่อ ใจลอย ฝันกลางวัน
เหล่านี้ถือว่าเป็น Downtime ที่แท้ทรู
และเมื่อเราปล่อยความคิดให้ไหลลอยไปเรื่อยๆ เมื่อนั้นสมองจะได้หยุดพัก เชื้อเพลิงที่เผาเอาๆในสมองเราก็มีเหลือ
การหยุดพักจะส่งผลให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยง (Integration) ในสมอง คล้ายๆกับการลากจุด ข้อมูลในสมองของเราไม่ได้จัดเก็บใส่ไฟล์เรียงตามตัวอักษรหรือแยกประเภท แต่มันกระจายกระจายไปทั่ว ครั้นเมื่อสมองได้หยุดพัก มันจะต่อติดข้อมูลเรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อยเข้าด้วยกัน และเกิดโมเมนต์ ‘อะฮ้า!’ ไอเดียใหม่ๆมักผลิดอกออกผลในช่วงเวลาเช่นนี้
สตีฟ จ็อบส์เดินเล่นบนเนินเขาแถวสแตนฟอร์ดพร้อมภรรยาและลูกชายช่วงปลายปี 2006
Photo: https://allaboutstevejobs.com/
ไอแซก นิวตันนั่งเหม่อใต้ต้นแอปเปิ้ลแล้วคิดออกถึงทฤษฎีแรงโน้มถ่วง
ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์มักจะเขียนเพลงเจ๋งๆออกตอนนั่งใจลอยบนเที่ยวบิน
สตีฟ จ็อบส์วางรากฐานให้ Apple เป็นองค์กรอันดับต้นๆของโลกได้ตอนเดินไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมายครั้งละนานๆ
เจเค โรว์ลิ่งนึกพล็อตเรื่อง Harry Potter ออกตอนนั่งเหม่อระหว่างขึ้นรถไฟไปทำงาน
หรือคุณนึกออกว่าเสื้อตัวโปรดที่คิดว่าหายไป จริงๆแล้วคุณเอาไปซุกไว้ในกล่องรองเท้าใต้ฝ้าหลังคาในบ้านเก่าสมัยม.ปลาย แต่ที่ผ่านมาคิดว่าเพื่อนยืมแล้วไม่คืนจนทะเลาะไม่คุยกันมา 10 ปี
ช่วงเวลาพักสมอง สมองจะเกิดไอเดียตั้งแต่เล็กๆ ไปจนถึงไอเดียเปลี่ยนโลกได้เลย
หลายคนอาจจะคิดว่า ฉันไม่มีเวลามาหาเวลานั่งเหม่อหรอกนะ ไม่ทำงานแล้วจะเอาอะไรกิน
รู้อะไรไหม คนที่งานยุ่งที่สุดนี่ละที่ต้องการช่วงเวลาหยุดพักสมองมากที่สุด
การหยุดพักไม่ใช่ศัตรูของความก้าวหน้า หาใช่อุปสรรคขวางความสำเร็จ ไม่ได้เป็นตัวทำลาย Productivity ที่คุณใฝ่ฝัน
แต่มันคือเชื้อเพลิงอันสำคัญที่จะทำให้คนขยัน เก่ง มีวินัยเช่นคุณก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ฝันใฝ่ไว้ได้ต่างหาก
ก้าวไปคว้าเป้าหมายด้วยการปล่อยสมองให้ไหลไปอย่างไร้เป้าหมาย ณ ชั่วขณะหนึ่งในแต่ละวันกันเถอะ
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก