พาองค์กรให้รุ่งได้ด้วยการจับคู่ 4 ฮอร์โมนความสุขให้ถูกกับคนทำงาน 4 แบบ

สูตรบริหารคนในองค์กร พัฒนาทีมงานล้วนมากมี แต่ถ้าบอสมีความเข้าใจว่า ลูกทีมแต่ละคนถูกโปรแกรมมาให้มีพฤติกรรมตอบสนองต่อฮอร์โมนที่แตกต่างกัน แล้วสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ช่วยให้ลูกทีมแต่ละคนหลั่งฮอร์โมนความสุขที่เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นได้ล่ะ? ทีนี้ล่ะบันเทิงแน่ องค์กรเติบโต คนทำงานเติบใจ

The Optimized ไปทำความรู้จักกับฮอร์โมนความสุข 4 ชนิด ดังต่อไปนี้

1.D = DOPAMINE

2.O = OXYTOCIN

3.S = SEROTONIN

4.E = ENDORPHINS

Photo: Freepik

D – Dopamine

จำง่ายๆ ว่าคือ DRIVE โดพามีนเป็นฮอรโมนที่ตอบสนองต่อรางวัล กระตุ้นให้เราแสวงหาความสำราญ และผลักดันให้เราทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ โดพามีนยังควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์ ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่ารางวัลที่ได้น่าจะเป็นอะไรหากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันยังช่วยให้เราเกิดแรงขับอยากเดินหน้าไปคว้าเป้าหมายหรือให้ได้มาซึ่งรางวัลที่หมายปองด้วย

หากสมองมีโดพามีนในระดับต่ำ เราจะรู้สึกไม่กระตือรือร้น ไม่มีแรงขับเคลื่อน สงสัยในตัวเองและผัดวันประกันพรุ่ง อีกทั้งชี้นำให้เรามีพฤติกรรมลุ่มหลงหรือเสพติดอีกด้วย

การเพิ่มระดับของโดพามีนนั้นทำได้ง่ายมาก เช่น ไถมือถือไม่วาง ส่องโซเชียลบ่อยๆ ดูซีรีส์ กินจังก์ฟู้ด ติดเกม หรือทำพฤติกรรมง่ายๆ ที่ให้ตัวเองรู้สึกดีหรือหนีความรู้สึกไม่สบายใจได้เร็วๆ

วิธีเพิ่มโดพามีน

คนทำงานแบบโดพามีนจะรู้สึกดีเมื่อตนเองได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ทำความเป้าหมายได้ ได้รับการยอมรับหรือได้รับคำชม

O: OXYTOCIN

ฮอร์โมนที่สื่อถึง ONENESS ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับทีมหรือสังคมรอบข้าง ออกซีโทซินมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างความรู้สึกเข้าอกเข้าใจคนอื่น รู้สึกใกล้ชิดสนิทสนามและความไว้เนื้อเชื่อใจ ทั้งยังเป็นฮอร์โมนที่กำกับดูแลการตอบสนองทางสังคมต่างๆ ของเรา ช่วยให้เราสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่พึงปรารถนาไว้ได้

คนที่มีระดับฮอร์โมนออกซีโทซินต่ำมักจะขี้กลัว หวาดระแวง ไม่เชื่อใจใครง่ายๆ สันโดษ และรู้สึกเหงาซึ่งตัวหลังนี่ละคือฆาตกรเงียบที่คร่าชีวิตคนมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก

วิธีเพิ่มออกซีโทซิน

สายสัมพันธ์รูปแบบใดๆ ก็ตามมักเพิ่มระดับของออกซีโทซินในสมองได้ เช่น การกอด แตะบ่า ลูบหลัง จับมือให้กำลังใจ มีปฏิกิริยาตอบสนองกันและกัน ใช้เวลาหรือทำงานเป็นทีมกับคนที่เราพึงใจก็จะทำให้เรารู้สึกดี

Photo: Freepik

S – SEROTONIN

หรือ STABILITY ฮอร์โมนแห่งความมั่นคง เซโรโทนินควบคุมการนอน ความอยากอาหารและการย่อยอาหาร รวมไปถึงความรู้สึกวิตกกังวล เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เรารู้สึกมั่นคง ช่วยให้อารมณ์สมดุลและมีส่วนร่วมต่อการทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ได้อย่างปลอดโปร่งโล่งใจมากขึ้น ทั้งยังช่วยกำกับดูแลความทรงจำและการเรียนรู้ ช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อได้ดีขึ้น ช่วยให้บันทึกและดึงข้อมูลในสมองมาใช้งานได้ดีขึ้น

หากมีระดับฮอร์โมนเซโรโทนินต่ำเกินไป เราจะรู้สึกวิตกกังวล ขุ่นเคือง หงุดหงิด นอนไม่หลับ เจ็บปวด ตื่นตระหนก ซึมเศร้า ไม่ค่อยมีสมาธิและหลงๆ ลืมๆ

วิธีเพิ่มเซโรโทนิน

การรักษาร่างกายและจิตใจให้สมดุลจะช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนินในสมองได้ เราจึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารไม่ปรุงแต่ง ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของตนเอง

E  ENDORPHINS

หรือ EASE เอนดอร์ฟินส์ออกฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน ทำหน้าที่กำกับการตอบสนองต่อกลไกการระงับปวดในสมอง จึงช่วยให้เรารับมือต่อความเครียดและความวิตกกังวลได้ดีขึ้น ทั้งยังควบคุมดูแลเรื่องการตอบสนองทางกายภาพ ช่วยให้เรารับมือต่อความเจ็บป่วยทางกายและความเจ็บปวดทางใจได้

หากมีระดับเอนดอร์ฟีนส์น้อยเกินไป เราจะรู้สึกเนือย ทานทนต่อความเจ็บปวดน้อยลง วิตกกังวลและเกิดอาการผิดปกติทางกายภาพที่หาสาเหตุไม่ได้มากมาย

วิธีเพิ่มเอนดอร์ฟินส์

ออกกำลังกาย หัวเราะ กินอาหารที่ช่วยให้ปลดปล่อยฮอร์โมนเอนดอร์ฟินส์ เช่น พริกหรือช็อกโกแลต ทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และทำสิ่งที่เรามีความสุข

Photo: Freepik

แล้วฮอร์โมนความสุข 4 ชนิดนี้เกี่ยวอะไรกับการเพิ่มประสิทธิภาพในที่ทำงานด้วย?

คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า ความสุขจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราทำเป้าหมายได้สำเร็จ ความสำเร็จและผลงานของเรามาจากการทำงานหนัก แต่สมการนี้อาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าเราบอกว่า ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ของความสำเร็จล่ะ

แล้วอะไรกันเล่าที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีความสุข

เมื่อเรารู้สึกดี สมองจะหลั่งฮอร์โมนความสุขทั้งสี่ ได้แก่ โดพามีน ออกซีโทซิน เซโรโทนินและเอนดอร์ฟินส์ออกมา เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากสมองและอวัยวะอื่นๆ เมื่อไรก็ตามที่ฮอร์โมนเหล่านี้ถูกผลิต สมองของเราจะเกิดความต้องการอยากใช้งานฮอร์โมนเหล่านี้ขึ้นมา

แต่ความต้องการนั้นก็ไม่ได้รับการตอบสนองเสมอไป

สมองของเราจะหลั่งฮอร์โมนความสุขก็ต่อเมื่อมันตอบสนองต่อพฤติกรรมเอาชีวิตรอดต่างๆ เท่านั้น เช่น การกิน รู้สึกปลอดภัยหรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคม เป็นต้น

เมื่อความจำเป็นต่อการเอาชีวิตรอดเหล่านี้ได้รับการตอบสนองอย่างเป็นที่น่าพอใจแล้ว เราจึงรู้สึกดีขึ้นมากะทันหัน เนื่องจากสมองหลั่งฮอร์โมนความสุขออกมา จากนั้นสมองจะเข้าสู่โหมดเป็นกลางและรอคอยให้เกิดความรู้สึกว่าต้องเอาตัวรอดอีกครั้งนั่นละ สมองจึงจะหลั่งฮอร์โมนความสุขออกมาอีกครั้ง ดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ก็ให้รู้ไว้ว่าเป็นเพราะฮอร์โมนของเราเองที่กำลังพยายามช่วยให้เรามีชีวิตรอดจากสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ (ทั้งในทางกายภาพหรือคิดมโนไปเองว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นนี้)

Photo: Freepik

ในหนังสือ Habits of a Happy Brain ของ Dr. Loretta Graziano Breuning เขียนไว้ว่า เมื่อฮอร์โมนความสุขหมดฤทธิ์ ซึ่งก็หมดไวมากด้วยนั้น เราจะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่ามีอะไรแหม่งๆ ไม่ชอบมาพากล ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ ดังนั้น เราจะพยายามกลับไปหาประสบการณ์ที่เคยสร้างความสุขให้เราอีกครั้งอย่างไว ซึ่งสมองของเราก็จดจำได้ดีเสียด้วยว่ากิจกรรมอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าทำแล้วได้รางวัลให้ตัวเองได้ (เช่น กิน เล่นกีฬา เล่นโซเชียลมีเดีย เล่นเกม ฯลฯ) เราจึงพยายามทำในสิ่งที่เคยได้ผลก่อนหน้านี้อีกครั้ง แต่ไม่มีกิจกรรมใดที่จะทำให้เรามีความสุขไปได้ตลอด ดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้นว่าสมองของเราไม่ได้ทำงานแบบนั้น

ยิ่งเราแสวงหาฮอร์โมนความสุขเหล่านี้มากเท่าไร เราก็ยิ่งต้อง ‘เสพ’ เพื่อพยายามรักษาระดับความสุขเอาไว้ ที่สุดแล้ว เราจะกลายเป็นคนเสพติดฮอร์โมนความสุข ซึ่งพฤติกรรมนี้จะบ่อนทำลายตัวเราเอง อะไรที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปจึงดีที่สุด

Photo: healthmanagementdc.ch

ปรับใช้ฮอร์โมนความสุข 4 ชนิดกับคนทำงาน 4 แบบ
1.คนทำงานแบบโดพามีน

โดยเริ่มจากตั้งเป้าหมายระยะสั้นหรือเรื่องเล็กๆ ที่ช่วยให้คนทำงานแบบโดพามีนบรรลุผลสำเร็จได้ง่าย เช่น ใช้สีถูกต้องกับสีขององค์กรลูกค้า ถ้าคนในทีมทำได้ บอสก็ชมเชยไป เพียงเท่านี้คนทำงานแบบโดพามีนจะรู้สึกดีขึ้นได้ง่ายๆ จากนั้นค่อยๆ ป้อนเป้าหมายสั้นๆ งานเล็กๆ ไปเรื่อยๆ อย่าโยนงานช้าง โปรเจกต์ใหญ่ให้ทำ เพราะคนทำงานแบบนี้จะรู้สึกเครียดท่วมท้นเหมือนคนจะจมน้ำทันที ควรเพิ่มระดับความยากและเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นให้คนทำงานประเภทนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

2.คนทำงานแบบออกซีโทซิน

ในทีมอาจมีคนที่ต้องการให้เชียร์เยอะๆ นี้ดกำลังใจ การสนับสนุนและความเข้าอกเข้าใจอย่างแท้จริงจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าทีม เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาตอนแม่คลอดลูก บอสต้องทำตัวเหมือนแม่ เช่น แตะไหล่เบาๆ ถามด้วยความจริงใจและใส่ใจว่า “มีอะไรให้ช่วยไหม” “มีอะไรปรึกษาได้นะ” เพียงเท่านี้ เขาจะรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาเพราะรู้สึกไม่โดดเดี่ยว แต่มีใครสักคนที่พึ่งพาได้

หรือหากเป็นพนักงานใหม่ ลองจัดพนักงานเก่าให้ไปเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล ถามไถ่ ให้คำปรึกษา หรือแม้กระทั่งชวนไปกินข้าว จะช่วยให้เขารู้สึกมั่นคงทางจิตใจได้มาก

3.คนทำงานแบบเซโรโทนิน

คนแบบนี้มักมีนิสัยแบบผู้นำ และคำพูดว่า “ขอบคุณ” ก็ไปกระตุ้นฮอร์โมนเซโรโทนินให้หลั่งออกมาได้แล้ว ดังนั้น บอสหรือคนในทีมอาจจะพูดขอบคุณ แสดงความซาบซึ้งใจทั้งโดยคำพูดหรือเขียนโน้ตให้กับคนทำงานแบบนี้ และที่สำคัญเขาจะรู้สึกดีมากหากได้ทำงานที่มีคุณค่ามีความหมาย หรือได้ทำโปรเจกต์ที่เขารู้สึกว่าตนเองทำได้ ทำแล้วตนเองเก่งขึ้น

4.คนทำงานแบบเอนดอร์ฟีนส์

สังเกตง่ายมาก คนทำงานแบบนี้จะชอบออกกำลังกาย ดังนั้น ลูกทีมคนไหนชอบไปฟิตเนส ชอบวิ่ง บอสแจกโปรเจกต์งานที่มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ได้ออกแรงไปเลย หรือส่งไปทำงานนอกสถานที่ วิ่งพบลูกค้า อย่าให้คนทำงานแบบนี้นั่งอยู่ในคอกจ้องคอมพิวเตอร์ทั้งวัน หรือว่างๆ ก็ชวนพูดคุยเรื่องขำๆ เรียกเสียงหัวเราะ หรือประชุมแบบ walk & talk เดินไปคุยงานไปด้วยจะได้ผลดียิ่ง

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top