เราถูกปลูกฝังให้มองชีวิตในด้านบวกแม้เผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ในขณะที่ต้องการสะสมพลังเพื่อไปจัดการชีวิตต่อ แต่มีการมองบวกอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้ส่งผลดีกับสุขภาพจิตเท่าใดนัก นั่นคือ Toxic Positivity หรือการคิดบวกที่เป็นพิษ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นภายในตัวเราเองหรือจากผู้อื่นที่พยายามปลอบประโลมเราโดยมองข้ามอารมณ์ที่แท้จริงในขณะนั้น
Photo: Courtesy of Pixar Animation Studios
เคยตกอยู่ในสถานการณ์นี้บ้างไหม
สถานการณ์ที่ 1: ความรุนแรงภายในบ้าน ภรรยาโดนผู้เป็นสามีที่ติดสุราทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้ง แต่เธอเลือกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์นี้เพราะเชื่อว่าแท้จริงแล้วเขารักเธอมาก เพียงแต่ขาดสติบ่อยครั้งเพราะฤทธิ์สุรา และเธอก็ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงต่อไป
สถานการณ์ที่ 2: สอบตก คุณทำคะแนนสอบได้ไม่ดีจึงปรึกษาเพื่อนหรือครอบครัว แต่กลับได้รับคำตอบว่า “เดี๋ยวมันก็ไป ทุกอย่างถือเป็นประสบการณ์” และคุณไม่ได้รู้สึกว่าเขาเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
สถานการณ์ที่ 3: ผู้จัดการที่คาดหวังแต่ผลลัพธ์ เมื่อพนักงานคนหนึ่งเล่าให้ผู้จัดการฟังว่ารู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักและผู้จัดการตอบว่า “ทุกคนก็ต้องทำงานหนักกันหมด” หรือ “คิดซะว่าเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง” โดยไม่สนใจความรู้สึกของพนักงานหรือหาวิธีแก้ไขปัญหาใดๆ
Photo: Freepik
สถานการณ์ที่ 4: คู่รักประคับประคอง เมื่อคู่รักเกิดปัญหาในชีวิตแต่ทั้งคู่ก็ปลอบใจกันและกันว่า “เราทั้งคู่เคยผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้ว และเราจะผ่านไปได้อีกครั้ง” โดยที่ผ่านมาก็ไม่ได้หาทางแก้ไขรูปแบบในการใช้ชีวิตใดๆ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการมองโลกในแง่บวกแบบกล้ำกลืน โดยที่เลือกโฟกัสไปในแง่ดีขณะที่ปัญหาต่างๆ ก็ยังคงลุกลามราวกับกวาดเศษฝุ่นไปไว้ใต้พรม
Photo: Freepik
Toxic Positivity คืออะไร?
Toxic Positivity หรือการคิดบวกที่เป็นพิษ คือการบังคับตัวเองให้มองโลกในแง่ดี แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือสถานการณ์เจ็บปวดรุนแรง จนกลายเป็นการปฏิเสธความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง เช่น ความเศร้า ความโกรธ หรือความกลัว ฯลฯ
บางกรณีอาจเป็นความคิดที่เกิดจากตัวบุคคลโดยพยายามแสดงออกถึงความสุขตลอดเวลา แต่ในบางกรณีอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่นการปลอบประโลมที่ปราศจากการรับฟังและเข้าใจปัญหาของผู้เผชิญอย่างแท้จริง เช่นบอกให้คนที่กำลังเศร้าให้ “เลิกเสียใจ” หรือ “มองหาสิ่งดีๆ” ในความสูญเสียดังกล่าว เป็นต้น
Photo: Freepik
ความแตกต่างระหว่างความคิดบวกที่เป็นประโยชน์กับ Toxic Positivity
การคิดบวกที่ดีกับ Toxic Positivity ฟังดูคล้ายกันแต่ก็มีจุดแตกต่างกันดังนี้
- ความคิดบวกที่ดี (Positive Thinking) คือการมองเห็นปัญหาอย่างถ่องแท้ เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของตัวเองทั้งด้านบวกและด้านลบ มีมุมมองว่าสถานการณ์ที่สามารถเป็นไปได้ทั้งดีและแย่พอๆ กัน และเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพที่รับมือให้เหมาะสมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และความรู้สึกในแง่บวกดังกล่าวต้องเกิดขึ้นภายในจริงๆ ไม่ใช่การฝืนหรือกล้ำกลืนให้แสดงออกมา
- ความคิดบวกที่เป็นพิษ (Toxic Positivity) จะแสดงออกต่อโลกว่าตัวเองมองบวกหรือมีความสุขแม้กระทั่งตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ซึ่งเป็นการบังคับอารมณ์จนกลายเป็นการปฏิเสธความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งการไม่สามารถยอมรับอารมณ์ดังกล่าวนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต ทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลข้างตัวเสียหาย หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือในสิ่งที่เกินกำลัง เป็นต้น “ไม่เป็นไรหรอก ทุกอย่างจะต้องดีขึ้นเอง” (ในขณะที่ยังคงรู้สึกเศร้าและต้องการความช่วยเหลือ) หรือ “ฉันต้องเข้มแข็งเข้าไว้” (แม้ว่าจะรู้สึกเหนื่อยล้าและต้องการพักผ่อน)
Photo: Freepik
สรุปลักษณะของ Toxic Positivity
- การปฏิเสธความรู้สึก ไม่ยอมรับความรู้สึกเชิงลบ
- การมองโลกในแง่ดีเกินจริง มองข้ามปัญหา
- บังคับให้ตัวเองมีความสุข แม้ว่าภายในใจจะรู้สึกไม่ดีก็ตาม
- การไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น เพียงแค่พยายามที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกดี
Photo: Freepik
ผลกระทบของ Toxic Positivity
Toxic Positivity ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเราเองและผู้คนรอบข้างในหลากหลายมิติ ดังนี้
1.ขาดการรับรู้ในตัวเอง : การบังคับตัวเองให้มองโลกในแง่ดีตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถยอมรับและจัดการกับความรู้สึกเชิงลบได้อย่างเหมาะสม ความรู้สึกเหล่านี้จะถูกกดทับเอาไว้ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล เป็นต้น
2.ลดทอนความสามารถในการปรับตัว: การหลีกเลี่ยงความจริงและปัญหา ทำให้ขาดทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างเหมาะสม
3.เพิ่มความเครียด: การพยายามรักษาภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง ทำให้เรารู้สึกเครียดสะสมได้
4.ความสัมพันธ์ไม่มั่นคง: เมื่อไม่สามารถเปิดใจพูดคุยในความรู้สึกที่แท้จริงกับผู้อื่น ความสัมพันธ์จะเริ่มห่างเหิน ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน อีกทั้งการในคำแนะนำต่อผู้อื่นในแบบฉบับ Toxic Positivity เช่น “เอาน่า เดี๋ยวก็ผ่านไป” “โชคดีแค่ไหนที่แขนขายังครบ” ยิ่งสร้างความไม่สนิทใจ เนื่องจากผู้ฟังรู้สึกว่าคุณไม่ได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น
Photo: Freepik
รู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้คุณเผชิญกับภาวะ Toxic Positivity
ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองก่อน หากคุณรู้สึกกดดัน เหนื่อยล้าหรือไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงได้โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยากลำบาก แล้วคุณพยายามแสดงถึงความแข็งแกร่ง ความสุขหรือแสดงมุมมองในแง่บวกออกมาตลอดเวลา ดังนั้นคุณกำลังเข้าข่าย Toxic Positivity แล้ว
วิธีรับมือและป้องกัน Toxic Positivity
1.ยอมรับความรู้สึกในทุกๆ ด้าน
อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความโกรธ หรือความกลัว ฯลฯ การยอมรับความรู้สึกเหล่านี้เป็นขั้นตอนแรกในการจัดการกับภาวะความคิดแง่บวกที่เป็นพิษ
2.ฝึกมองโลกตามความเป็นจริง
ยอมรับว่าชีวิตทุกคนมีทั้งสุขและทุกข์ เราทุกคนเผชิญในทุกอารมณ์และความรู้สึกอยู่เสมอ การพยายามมองโลกในแง่ดีตลอดเวลาอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เสมอไป
3.พูดคุยกับผู้อื่น
การแบ่งปันความรู้สึกกับคนสนิทหรือผู้ที่ให้คำปรึกษาได้ในเชิงลึก เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นและได้รับกำลังใจมากขึ้น
Photo: Freepik
4.ปฏิบัติกับตัวเองให้ดี
ดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5.เรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือ
การขอความช่วยเหลือไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เก่งหรือไม่ดี เป็นเรื่องปกติที่จะขอคำชี้แนะจากบุคคลอื่นๆ หากพบว่าเกินกำลัง
6.ทำกิจกรรมที่ช่วยให้คุณผ่อนคลาย
เช่นการทำสมาธิ ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรืออยู่กับธรรมชาติ เป็นต้น
7.ปรึกษาจิตแพทย์
หากค้นพบว่าไม่สามารถหลุดพ้นจากความคิดในแง่บวกที่สร้างความกดดันในจิตใจได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพูดคุยหรือหาทางออก
Photo: Freepik
บางครั้งการเดินเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์บ้างไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณรู้สึกฝืนเกินไปก็ปล่อยตัวเองให้โอบรับและเข้าใจอารมณ์ในด้านอื่นๆ บ้าง ยอมรับและเดินหน้าต่อ จงหาเส้นแบ่งระหว่างความคิดแง่บวกที่เป็นประโยชน์กับ Toxic Positivity ให้ดี สำคัญอยู่ที่วันนี้คุณซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองหรือยัง
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก
- https://www.psychologytoday.com/us/basics/toxic-positivity
- https://www.medicalnewstoday.com/articles/toxic-positivity