‘มาสาย’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เกี่ยวเนื่องกับอีโก้ การหลอกตัวเองและการด้อยค่า

‘มาสาย’ เรื่องใกล้ตัวของชาวออฟฟิศโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเมืองหลวงที่ขึ้นชื่อว่ารถติดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และอันดับ 32 ของโลก นอกจากนั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับสาเหตุอื่นๆ เช่นอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด การหลงทาง ปัญหาสุขภาพฉับพลันอย่างท้องเสีย เวียนหัว เจ็บกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากมองข้ามเหตุผลอันแสนธรรมดาเหล่านี้ การมาสายยังเกี่ยวเนื่องกับอัตตาและพฤติกรรมต่อต้านต่างๆ อีกด้วย

The Optimized พาสำรวจมุมจิตวิทยาแห่งการมาสาย เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมตัวเองหรือคนข้างตัวมากขึ้น หลังอ่านบทความนี้จบคุณจะรู้ว่า ‘การมาสาย’ นั้นซับซ้อนกว่าที่คิด

Photo: Vecstock on Freepik

เมื่อคุณมาสาย

ถ้าตามหลักความเป็นจริงแล้วต่อให้คุณมาช้าเพียง 1 นาที นั่นก็นับว่า ‘สาย’ แต่ในเชิงสังคมจะเริ่มนับเมื่อผู้คนรู้สึกว่าคุณสร้างผลกระทบทางจิตใจไม่ว่าจะเป็นรำคาญ โกรธหรือกระอักกระอ่วน การมาสายยังแสดงถึงการขาดความเคารพต่อผู้อื่น และระดับความหงุดหงิดจะเพิ่มมากขึ้น หากบุคคลดังกล่าวอยู่ใน (หรือคิดว่าอยู่ใน) ลำดับทางสังคมที่สูงกว่า

การมาสายและอีโก้

การมาสายยังเป็นพฤติกรรมที่แฝงไปด้วยอีโก้ “เวลาของฉันมีค่ามากกว่าของคุณ” ซึ่งแปลได้ว่า “ฉันสำคัญกว่าคุณ” และบางทีถึงขั้น “ดีแค่ไหนที่ฉันอุตส่าห์มา…มาช้ายังดีกว่าไม่มา” และในบางสถานการณ์ยิ่งทวีคูณความไม่สุภาพมากขึ้นอย่างเช่นงานแต่งงาน งานศพ หรืองานสังสรรค์ต่างๆ ที่คุณไม่ได้ถูกเซตให้มี ‘ซินเดอเรลลาโมเมนต์’ ที่มาแย่งซีนใหญ่จากเจ้าภาพ

Photo: Freepik

จิตวิทยาการมาสาย

การมาสายนอกจากจะเสียมารยาทต่อผู้อื่นแล้ว ยังส่งผลเสียต่อตัวตัวเองอีกด้วย เพราะอาจสื่อถึง

1.การขาดทักษะในการวางแผนชีวิต

2.การตั้งเป้าหมายที่ไม่สมจริง

3.การไม่สามารถควบคุมตนเองได้

4.การขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

Photo: Freepik

แต่บางครั้งการมาสายก็มีเหตุผลอื่นๆ ทางด้านจิตวิทยาที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆ ได้แก่
1.เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรม Passive-Aggressive

พฤติกรรมความโกรธและความก้าวร้าวแบบแฝง หรือ Passive-Aggressive ที่ไม่ได้ตะโกนด่าหรือพูดออกมาตรงๆ ว่าโกรธ เกลียด หรือไม่พอใจอะไร แต่แสดงพฤติกรรมผ่านอวัจนภาษาอื่นๆ ที่มองออกได้ทันทีว่าโกรธอยู่ เช่น ปากบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่โกรธ” แต่สีหน้าบึ้งตึง นิ่งเงียบและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมปกติที่เคยทำ เป็นต้น ซึ่งการมาสายก็ถือว่าเป็นหนึ่งในพฤติกรรมก้าวร้าวแบบเงียบชนิดนี้เช่นกัน

2.เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรม Self-Deception

การมาสายยังเป็นพฤติกรรมหนึ่งของการหลอกตัวเองหรือ Self-Deception ที่กำลังสื่อสารโดยอัตโนมัติว่า “ฉันสำคัญกว่าคุณ” บุคคลที่มาสายอาจจรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าจึงพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อดึงดูดความสนใจ และกำลังต้องการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เราอาจสังเกตผู้ที่มาสายว่ามักจะมีพฤติกรรมที่เล่นใหญ่มากขึ้น เช่น ขอโทษอย่างออกนอกหน้า แนะนำตัวกับทุกคน ขอแก้วน้ำใหม่ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสื่อไปถึงความก้าวร้าวแบบแฝงหรือ Passive-Aggressive เช่นกัน

Photo: Freepik

3.เป็นพฤติกรรมแสดงความไม่เห็นด้วย

การมาสายยังเป็นพฤติกรรมที่แสดงความไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจในผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้บางประการ โดยในระหว่างการทำจิตบำบัด ผู้เข้ารับการบำบัดมักแสดงพฤติกรรมต่อต้านที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยพบได้ตั้งแต่การมาสาย การเปลี่ยนหัวข้อสนทนา การเพิกเฉย หรือการขาดนัดหมายไปเลย เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้คล้ายสัญชาตญาณที่บ่งชี้ว่าคุณรู้สึกเสียเวลาและไม่อยากอยู่ที่นั่นโดยไม่รู้ตัว

Photo: Freepik

จริงๆ แล้วการมาสายเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มีแง่มุมที่น่าสนใจว่าการมาสายบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่างที่เราอาจไม่รู้ตัว ลองใช้โอกาสนี้สำรวจตัวเองว่าเหตุผลการมาสายของคุณแท้จริงแล้วคืออะไรเพื่อหาทางแก้ไขและพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก:

  • https://www.psychologytoday.com/intl/blog/hide-and-seek/201406/the-psychology-of-lateness

you might like

Scroll to Top