ข้อมูลจากระบบสถิติทางการทะเบียนในปี 2565 [1] แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ประเมินได้จากจำนวนประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้นสูงถึงกว่า 12 ล้านคน โดยคิดเป็นอัตราส่วนที่มากถึง 18.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไป และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2574 ประเทศไทยจะมีอัตราประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้นถึง 28% ซึ่งถือว่าเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” (Super-Aged Society) อย่างเป็นทางการ [2]
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัย ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะสุขภาพที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงครอบครัวหรือผู้ที่ต้องดูแลใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้กลุ่มผู้สูงวัยสามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตในอีกช่วงวัยอย่างมีความสุข
สุขภาพกายปลอดภัย
แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ กับร่างกาย ไม่รู้สึกคล่องตัวเหมือนก่อน ความแข็งแรงทางร่างกายถดถอยลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสี่ยงต่อโรคภัยได้ง่ายขึ้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง จึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ ทั้ง การเสริมความรู้ด้านโภชนาการ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการพลังงานและสารอาหารที่ต่างกัน รวมถึงการปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด เป็นต้น
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 15-20 นาทีต่อวัน จะช่วยรักษาความแข็งแรงและยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเลือกการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และแรงกระแทกต่ำ เช่น การเดินแกว่งแขน ว่ายน้ำ หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล เพื่อเสริมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงกิจกรรมประเภทแอโรบิค โยคะ หรือไทเก๊ก เพื่อช่วยเสริมการทรงตัวให้กับผู้สูงอายุ
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะนอกจากจะเป็นการเฝ้าระวังและดูแลร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการตรวจพบโรคได้เร็ว ลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันดังกล่าวยังรวมถึง การเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โควิด-19 ยังคงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป จึงควรได้รับการเสริมภูมิคุ้มกันให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน นอกจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ด้วยการเข้ารับ แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม หรือ LAAB (Long-acting Antibody) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเพิ่มการใช้ LAAB ในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ทั้งที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยสามารถแจ้งแพทย์ผู้ให้การรักษาหรือสอบถามสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินและดำเนินการแจ้งความจำนงขอรับยาต่อไป
สุขภาพใจแข็งแรง
นอกจากสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจของผู้สูงวัยก็ต้องได้รับการดูแลเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุต้องเผชิญกับภาวะความแปรปรวนภายในจิตใจ จากปัญหาความเครียดและความวิตกกังวลอันเนื่องมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ที่ส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของผู้สูงวัยด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อสภาพจิตใจผู้สูงวัยไม่น้อย คือ ความรู้สึกไร้คุณค่าหลังเกษียณงาน แนะนำให้ลอง หากิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรก ที่ตัวเองถนัด เพื่อช่วยผ่อนคลายและเสริมสร้างกำลังใจ เช่น การปลูกต้นไม้ (ได้เฝ้าดูการเติบโตทุกวัน) การออกไปพบปะเพื่อน ๆ (ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและคลายความเหงา) การทำงานฝีมือ (ได้ฝึกทักษะและสร้างความภูมิใจในตนเอง) การออกกำลังกาย (ได้สุขภาพที่แข็งแรงพร้อมสร้างพลังใจที่แจ่มใส) ไปจนถึง การเลือกดูซีรีส์หรือคอนเทนต์จากช่องทางใหม่ ๆ (ได้เปิดมุมมองใหม่และสร้างแรงบันดาลในการใช้ชีวิต) เป็นต้น
การดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของผู้สูงวัย บทบาทของลูกหลาน ครอบครัว และผู้ที่ดูแลใกล้ชิด นั้นมีความสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างพลังใจเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นขึ้น การสร้างการมีส่วนร่วม เข้าไปพูดคุยขอคำปรึกษา หรือคอยถามถึงอาการเจ็บป่วยอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังมีความสำคัญ รับรู้ถึงความห่วงใย ทำให้มีกำลังใจเดินหน้าต่อไป และยังเป็นการช่วยสานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย
[1] รายงานของระบบสถิติทางการทะเบียน โดย กรมการปกครอง
[2] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.co และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca