รู้จัก ‘Eustress’ ความเครียดเชิงบวกที่ผลักดันให้ชีวิตพุ่งสู่เป้าหมาย

ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่กับความเครียดอ่อนๆ ตลอดเวลา แม้กระทั่งบทความนี้ก็ขับเคลื่อนด้วยความเครียด ในวันที่อยากเขียนบทความฮีลใจแบ่งปันกับผู้อ่านดันเกิดกังวลเล็กๆ ประมาณว่าจะเขียนหัวข้อนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายและไม่น่าเบื่อ มีมวลความเครียดบางอย่างแต่เป็นมวลความเครียดที่ช่วยให้งานต่างๆ เดินหน้าจนสำเร็จได้

แต่ถึงอย่างนั้นเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าความเครียดเป็นสิ่งไม่ดี สามารถบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้เขียนก็พยายามยุบหนอพองหนอเวลาเกิดอาการวิตก และก็เคยลองใช้ชีวิตแบบไม่มีเจ้าก้อนความเครียดนี้แบบที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ‘ปล่อยจอย’ แล้วให้ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยความชิลล์ ปรากฏว่างานเละเป็นโจ๊ก ผลงานออกมาเหมือนง่ายๆ สบายๆ เกินไป ไม่แตะมาตรฐานของตัวเองแม้แต่น้อย

ตกลงแล้วความเครียดนี้ดีหรือไม่ดี? บทความนี้เกิดขึ้นได้เพราะคำถามนี้ ผู้เขียนจึงพยายามหาคำตอบเพื่อจะนำไปปรับใช้ในชีวิต เพื่อดึงประสิทธิภาพด้านต่างๆ ออกมาให้มากที่สุด โดยที่เหนื่อย (สมอง) น้อยที่สุด

Photo: Freepik

ทีมฮีโร่

มีโอกาสร่วมงานกับเอเจนซีแห่งหนึ่ง ซึ่งในนั้นมี HR ที่ทำหน้าที่เป็นแมวมองเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงาน เมื่อพนักงานคนไหนฉายแววความเก่งกาจ องค์กรก็จะให้หยุดทำงานให้กับลูกค้าแล้วดึงตัวมาเข้าทีมฮีโร่หรืออเวนเจอร์สตามที่เอเจนซีที่นี่เรียก โดยจะเปลี่ยนมาดูแลงานในองค์กรแทนเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จในด้านต่างๆ ผู้เขียนเป็นพวกอยากรู้พอประมาณ จึงเลียบๆ เคียงๆ สนทนากับ HR ว่ามีวิธีคัดน้องๆ เข้าทีมฮีโร่นี้อย่างไร และนี่คือเกณฑ์การคัดเลือก

  • พวกเขาปราศจากอีโก้ พร้อมเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย
  • พวกเขามักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว และอยากเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ
  • พวกเขาเป็นคนที่ซื่อสัตย์และไว้ใจได้
  • พวกเขามีมุมมองกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่นและมีความคิดสร้างสรรค์
  • พวกเขาทำให้งานเสร็จสิ้นได้ในวิธีของตัวเอง
  • พวกเขามีความรับผิดชอบสูง
  • พวกเขามีบุคลิกภาพที่วิตกกังวลในเรื่องงานเป็นพิเศษ จดจ่อและสามารถใช้เป็นพลังเพื่อขับเคลื่อนให้งานสำเร็จได้

ข้อสุดท้ายจะเห็นได้ว่า HR และองค์กรดันชอบ ‘คนที่เครียดในงาน’ ซึ่งถือว่าเปิดโลกผู้เขียนเหมือนกัน จนได้หาข้อมูลเพิ่มเติมก็ถึงบางอ้อ แท้จริงแล้วความเครียดนี้มีทั้งความเครียดที่ดีและความเครียดที่ไม่ดี ซึ่งความเครียดที่ดีนี้นักจิตวิทยาเรียกว่า Good Stress หรือ Eustress ซึ่งเป็นความเครียดที่ช่วยผลักดันให้มนุษย์บรรลุเป้าหมายได้

Photo: Freepik

เครียดบ้างเถอะ

Good Stress หรือ Eustress คือความเครียดที่นำไปสู่ผลตอบรับเชิงบวก ขอสรุปสั้นๆ เป็นหัวข้อเพื่อความเข้าใจง่าย ดังนี้

  • เป็นความเครียดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเรื่องร่างกาย หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์และอื่นๆ
  • โดยทั่วไปมักมีอาการคล้าย Distress หรือความเครียดเชิงลบที่ปรากฏผ่านอาการวิตกกังวล ความกลัวหรือความหวาดระแวงในใจ
  • แต่แตกต่างกันตรงที่ Eustress จะมีแนวโน้มว่าเป็นความเครียดในระยะสั้น เกิดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วน Distress จะสร้างความหนักใจในระยะยาว
  • Eustress เป็นความเครียดที่ควบคุมและสามารถจัดการได้
  • มักจะเกี่ยวเนื่องกับความตื่นเต้น ความท้าทาย ตลอดจนความต้องการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ
  • Eustress จะกระตุ้นให้เกิดการปรับตัว หาวิธีการแก้ไขปัญหา จนถึงเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์

Photo: Freepik

Eustress กับการเล่นเกม ROV

ขณะที่ผู้เขียนกำลังอยู่ในช่วง Eustress ว่าจะเขียนบทความนี้ให้เจนซีเข้าใจง่ายๆ ได้อย่างไร และภาวะ Eustress ก็ไม่ทรยศ ท่ามกลางความกดดัน จู่ๆ ก็ปิ๊ง! “เรามาอธิบายง่ายๆ ผ่านการเล่นเกม ROV กันเถอะ”

การลงแรงก์ต่อสู้ใน ROV คือตัวอย่างของประสบการณ์ร่วมในภาวะ Eustress ที่ทุกคน (ที่เคยเล่น) ต้องเผชิญ การลงแรงก์จะมีการเก็บคะแนนเพื่อไต่ระดับความสามารถ ซึ่งหากแพ้ก็จะถูกตัดแต้มจนอันดับล่วงลงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือจุดแตกต่างของการเล่นเอามันกับการเล่นเพื่อไต่แรงก์ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่หนุ่มๆ หลายคนจะหัวร้อนถ้าแฟนสะกิดถามขณะกำลังเมามันหรือแม้กระทั่งเหล่าวัยรุ่นที่แม่เรียกไปล้างจาน

สมมติว่าเรากำลังลงแรงก์อยู่ที่หลังจากเลือกฮีโร่ในเกมแล้ว เราจะเกิดทั้งความหวาดระแวงในผู้เล่นทีมเดียวกันที่ระบบสุ่มใครก็ไม่รู้ทั้งเก่งและไม่เก่งมารวมกัน เราจะกดดันตัวเองทำทุกวิถีทางไม่ให้ถูกฆ่าบ่อยๆ เพราะจะทำให้โอกาสชนะของทีมน้อยลง เราจะวิตกและหวาดระแวงผู้เล่นฝั่งตรงข้ามเพราะไม่รู้ว่าจะโผล่มาฟาดฟันกันเมื่อไหร่ รวมถึงกลยุทธ์ในการออกอาวุธที่ต้องอาศัยการพิจารณาตัวละครฝั่งตรงข้าม และในกระบวนการโจมตีก็ต้องงัดทักษะต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสและและการมีสมาธิเพื่อทำลายฐานทัพ (ป้อมใหญ่) ของฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก

ภาวะกดดัน เครียด วิตกกังวลเพื่อไปสู่ชัยชนะหรือคะแนนที่ทำให้เราเลื่อนขั้นนี่แหละคือภาวะที่ทุกคนเข้าสู่ความเครียดแบบ Eustress ที่ได้พยายามบรรลุเป้าหมายในใจของตัวเอง

และสำหรับคนที่ไม่ได้เล่น ROV คุณลองจินตนาการเมื่อคุณกำลังเปลี่ยนงานในที่ทำงานใหม่แล้วความรู้สึกที่คุณพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ หรือแม่บ้านที่เพิ่มได้สูตรอบขนมเทพ แล้วพยายามทำตามเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีเหมือนต้นแบบ เป็นต้น

Photo: rawpixel.com on Freepik

ดังนั้น Eustress ให้อะไรกับเรา

ลองพิจารณาไปพร้อมๆ หากคุณกำลังอยู่ในภาวะ Eustress คุณจะได้รับผลกระทบเชิงบวกเหล่านี้หรือไม่?

  • คุณพบว่ามีสมาธิและจดจ่อกับงานหรือสิ่งที่สนใจมากขึ้น
  • คุณกล้าที่เผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ
  • คุณโฟกัสไปเป้าหมายอย่างไม่ลดละ
  • คุณสามารถรับมือกับความท้าทายตลอดอุปสรรคแบบยืดหยุ่น
  • คุณค้นพบศักยภาพและจุดมุ่งหมายในชีวิต

และหัวข้อเหล่านี้คือประโยชน์ของ Eustress นั่นเอง

Photo: Freepik

ระวัง Eustress อาจเปลี่ยนเป็น Distress ได้

ภาวะ Eustress หรือความเครียดเชิงบวก สามารถเปลี่ยนเป็นภาวะ Distress หรือความเครียดเชิงลบได้ หากคุณปล่อยให้คงอยู่กับชีวิตยาวนานเกินไป หรือคุณกำลังทำในสิ่งที่คุณปราศจากความพร้อมหรือความชอบ เช่น การทำงานใหม่ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหากคุณปราศจากความรู้และค้นพบว่าสิ่งที่ทำอยู่คุณไม่ได้ชอบแม้แต่น้อย แรกเริ่มความท้าทายที่จะเอาชนะอุปสรรคอาจเกิดขึ้น แต่ต่อมาคุณจะเครียดและวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ หากถึงขั้นนี้แนะนำว่าให้คุณไปพูดคุยหรือปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรับมือกับความเครียดเชิงลบนี้

ในดีมีเสีย…ในเสียมีดี! ความเครียดที่ทุกคนพยายามวิ่งหนีหนักหนา เพราะชีวิตอยากรายล้อมไปด้วยความสุขและความเบาสมอง แต่ช้าก่อนความเครียดบางประเภทอาจกำลังขับเคลื่อนโลกนี้อยู่ และมอบกลไกการก้าวผ่านอุปสรรค กระบวนการคิดสร้างสรรค์ และการมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายในชีวิต ดังนั้นเรามาเครียด (เชิงบวก) กันเถอะ!

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมลจาก:

you might like

Scroll to Top