ย้อนกลับไปในยุค 90 ผู้เขียนในฐานะเด็กเจนวายวัยกระเตาะที่เปิดหน้าหนังสือพิมพ์โลโก้เขียวอ่านทุกเช้า ซึ่งนอกจากข่าวฆาตกรรมรายวันและคอลัมน์ดูดวงแล้วที่น้าๆ ป้าๆ ชื่นชอบแล้ว ผู้เขียนพบว่าโฆษณาพิมพ์สีหน้าสุดท้ายมักปรากฏภาพบ้านหลังโตที่เปี่ยมไปด้วยความฝัน
“เป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวใจกลางเมืองในราคา 4.XX ล้าน ได้แล้ววันนี้” ข้อความโปรโมตโปรยอยู่เหนือคฤหาสน์หลังยักษ์ที่มีรถสปอร์ตคันสวยจอดอยู่ภายใน ภาพพ่อแม่ลูกยืนขนาบข้างสุนัขพันธุ์ดัลเมเชียน ซึ่งเป็นสุนัขบ้านยอดฮิตตามความโด่งดังของภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง 101 Dalmatians – ทรามวัยกับไอ้ด่าง สีหน้าทุกคนในภาพดูมีความสุขและผู้เขียนก็อยากมีความสุขในอุดมคติเช่นนั้นบ้าง
“แม่หนูอยากซื้อบ้านแถมหมา” ผู้เขียนในร่างเด็กน้อยวัย 7 ขวบ พูดขึ้น ขณะที่แม่ๆ และป้าๆ ก็เอาแต่หัวเราะ
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดฝังหัว “คนมีบ้านหลังโต = คนมีความสุข”
Photo: Freepik
From American Dream to Thai Dream
เหมือนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยในยุคนั้นรับอิทธิพลมาจาก ‘American Dream – ความฝันของอเมริกันชน’ พ่อแม่ส่งลูกไปศึกษาหาความรู้ จบปริญญาตรี หางานที่มั่นคงทำ แต่งงานมีครอบครัวและลงหลักปักฐานในบ้านหลังอบอุ่น และผู้เขียนก็พยายามสานฝันนี้ด้วยการสร้างบ้านสไตล์ชนบทอังกฤษ ในหมู่บ้านถิ่นอีสานด้วยวัย 28 ปี
แต่ความภูมิใจอยู่กับเราไม่นาน ในที่สุดบ้านก็กลายเป็นสิ่งที่เหนื่อยที่สุดในชีวิตตั้งแต่บรรทัดนี้ค่ะ
Photo: Freepik
Quiet Ambition
ผู้คนยืนปรบมือให้เราอยู่พักหนึ่งและก็เดินจากไปอย่างไม่ใยดี ด้วยความที่มุ่งมั่นสานฝันเพื่อที่จะมีชีวิตงดงามดั่งหน้าหนังสือพิมพ์ เราเลินเล่อเรื่องดอกเบี้ยอันมหาศาลที่ต้องผ่อนไปถึง 35 ปีเสียได้
ผู้เขียนค้นพบว่าดอกเบี้ยบ้านหลังจากผ่านไป 3 ปี ดีดขึ้นมาสูงทีเดียว ชนิดที่ว่าหากคุณปาเงิน 15,000 บาท ก็เป็นดอกเบี้ยไปแล้ว 8,000 บาท จึงต้องทำงานให้หนักเพื่อหาเงินมาโปะเพิ่มทีละ 2,000 – 3,000 ในทุกๆ เดือน ซึ่งตัวเลขนี้สำหรับการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ถือว่าไม่เบาเลยค่ะ
และรูปแบบชีวิตที่ผู้เขียนเลือกที่จะมีช่างต่างจากความฝันอเมริกันชนยุค 90 ลิบลับ เพราะในวัย 30 ปี ก็เริ่มไม่อยากเป็นลูกจ้างพนักงานบริษัท ผู้เขียนกลายเป็นคนที่มีแนวคิดแบบ Quiet Ambition แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยากทำงานหนักและเลื่อนขั้นเป็นตำแหน่งหัวหน้า เพื่อแลกกับเกียรติหรือเงินเพิ่มเพียงน้อยนิดพร้อมแบกรับความเครียดอีกมากโข แต่พวกเขาต้องการเรียนรู้ทักษะเชิงลึกในสายงานที่ตัวเองชอบ โดยมีเวลา Work Life Balance ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ อีกด้วย
อันที่จริงผู้เขียนอยากได้เวลามากขึ้น เพื่อมาพัฒนากิจการตัวเองด้วยซ้ำ
การก้าวมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ เป็นรูปแบบชีวิตที่มีความสุขมาก แต่เกี่ยวอะไรกับการผ่อนบ้าน? เกี่ยวมากค่ะ เพราะอาชีพฟรีแลนซ์หรือกิจการตัวเองจะทำให้การปรับดอกเบี้ยบ้านหรือการรีไฟแนนซ์ยากมากกว่างานประจำ นั่นเป็นเหตุที่ทั้งปีนี้ผู้เขียนแบกรับดอกเบี้ยอันหนักอึ้งจนเลือดตาแทบกระเด็นยังไงละ
Photo: Freepik
ไม่ใช่ 101 ดัลเมเชียนแต่เป็นสกูบี้-ดู
จากสุนัขพันธุ์ดัลเมเชียนในหนังสือพิมพ์วันนั้นเป็นเพียงหมอกแห่งความฝัน แต่สกูบี้-ดูสิของจริง ผู้เขียนกับแฟนและน้องสาวเดินทางไปในหลายๆ จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นไปขายของ ไปคุยงาน ไปท่องเที่ยว ฯลฯ อาศัยเดินทางด้วยกระบะเล็กๆ ที่เคยตั้งใจว่าอยากทำเป็นฟู้ดทรัค เพื่อสะดวกต่อการไปขายในทำเลอย่างทะเล ถนนคนเดิน หรือภูเขา ที่ชื่นชอบ ราวกับ 4 เกลอกับอีก 1 หมาในเรื่อง Scooby-Doo, Where Are You! ได้แก่ เฟรด, แดฟนี, เวลมา, แชกกี และสกูบี้-ดู
ผู้เขียนค้นพบความสุขแบบชาวยิปซีที่ร่อนเร่ไม่เป็นหลักแหล่ง เก็บเกี่ยวความสุขตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งนั่นตรงข้ามกับหน้าโฆษณาบ้านแถมหมาโดยสิ้นเชิง และบ้านสไตล์ชนบทอังกฤษหลังนั้นก็ทำให้ความฝันการเป็นแก๊งสกูบี้-ดูเหนื่อยมากขึ้น
Photo: Freepik
Home Alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก
นอกเหนือจากภาระในการผ่อนบ้านแล้ว ด้วยความที่ผู้เขียนเดินทางตลอดเวลา บ้านสไตล์อังกฤษในถิ่นอีสานจึงกลายเป็นความห่างเหิน ผู้เขียนคงจะไปอยู่ก็ต่อเมื่อมีเม็ดเงินมากมายใช้หลังเกษียร และไม่รู้จะเป็นได้แบบนั้นไหม เพราะทำเลดังกล่าวเอื้อต่ออยู่แบบสงบมากกว่าไปขายของหรือทำธุรกิจ
ดังนั้นแม่จึงกลับไปอาศัยอยู่คนเดียว ท่ามกลางญาติๆ ที่เดินทางมาแวะทักทายได้เป็นบางครั้ง คนเรายอมที่จะอยู่บ้านหลังโตคนเดียวเพื่อกล้ำกลืนอัตตาของพวกเราแม่ลูกได้อย่างมีความสุขแค่ไหนเชียว โดยที่เราทั้งสองต้องห่างเหินกัน คนหนึ่งต้องไปทำงานหาเงินในย่านเศรษฐกิจ อีกคนต้องเฝ้ามองอัตตาที่ภาคภูมิใจหนักหนาว่า “บ้านหลังโตสวย = ความสุข”
Photo: Freepik
คำว่า ‘บ้าน’ ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง
ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘อัด-อวัช รัตนปิณฑะ’ และ ‘เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ’ นักแสดงในเรื่อง ‘ดอยบอย’ ที่ครั้งนั้นกำลังเข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งอัดรับบทเป็น ‘ศร’ เด็กหนุ่มจากรัฐฉานที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็น Sex Worker และเอม รับบทเป็น ‘วุธ’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดนอำนาจมืด ทำให้เขาต้องเร่ร่อนห่างไกลประเทศไทยซึ่งเคยคิดว่าเป็นบ้านของเขา
ผู้เขียนอยากทราบนิยามของคำว่า ‘บ้านคืออะไร’ และก็ได้คำตอบที่ผู้เขียนถึงขั้นสั่นเทา และคำตอบของนักแสดงในครั้งนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ถ่ายทอดเนื้อหาออกมาเป็นบทความนี้
เอมให้คำนิยามว่า “บ้านคือสิ่งที่เราเลือกและสามารถเปลี่ยนไปตามเรา ซึ่งไม่จําเป็นว่าบ้านหลังแรกจะต้องเป็นบ้านหลังสุดท้าย และสถานที่ที่เคยเป็นบ้านก็อาจไม่ใช่บ้านในปัจจุบันของเรา หรือหากวันนี้คุณยังไม่เจอบ้านของตัวเอง อีกสัก 5 ปี 10 ปี คุณอาจเจอสิ่งที่คล้ายคลึงหรือที่พอจะเรียกมันว่าบ้านก็ได้ สําหรับคนบางคนก็จีรังเหลือเกิน สําหรับบางคนก็ชั่วคราวเหลือเกิน มันเป็นสิ่งลึกลับครับ และจะเป็นสถานที่ไหนก็ให้บุคคลในแต่ละช่วงเวลา หรือเคมีในร่างกายตัดสินว่าสิ่งนี้คือบ้านของคุณหรือเปล่า”
Photo: Freepik
ส่วนอัดให้คำนิยามว่า “ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ไหนคือบ้านของผม อันนี้เรื่องจริงครับ ผมกําลังตามหาอยู่เหมือนกันว่าบ้านของผมเป็นอย่างไร เป็นบุคคล หรืออะไร สิ่งไหนก็ยังตอบไม่ได้ และก็ยังตามหาเช่นเดียวกับตัวละครในหนัง”
นั่นหมายถึงบ้านไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่แค่ความโอ่อ่าโก้หรู บ้านสามารถเป็นอะไรก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เมื่อกลายเป็นบริบทรอบตัวคุณ แล้วคุณเรียกมันว่าบ้านอย่างสบายใจ และบ้านก็ไม่ต่างอะไรจากทุกสรรพสิ่ง บ้านไม่มีอะไรแน่นอน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขก็เวลาก็ดี สภาพแวดล้อมก็ดี หรือตัวคุณเองก็ดี
ดังนั้นการปลูกบ้านเพื่อความมั่นคงตามความคิดของคุณใน 5 ปีที่แล้ว อาจจะไม่ใช่ความมั่นคงในวันนี้ของคุณ แท้จริงแล้วในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรมั่นคงเสียด้วยซ้ำ แต่วงเล็บว่าภาระผ่อนบ้านกลับตามติดไปอีกนาน
Photo: Freepik
แนวคิดของ GENT RENT
หากย้อนกลับไปใน 10 ปีที่แล้ว หากหมอดูทายว่าจะไม่มีบ้านของตัวเองให้อยู่อาศัย จะต้องเช่าบ้านอยู่ตลอดชีวิต ฟังแล้วเราคงหากร้องไห้ แต่ในวินาทีนี้กลับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสรรเสริญตามเทรนด์ GEN RENT
GEN RENT หรือ Generation Rent คือแนวคิดของกลุ่มคนในเจนวายและเจนซีที่นิยมการเช่าแทนการซื้อ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่พวกเขาเข้าใจดีว่าบ้านมีราคาสูงกว่าในรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าของพวกเขา และสามารถสร้างความผูกพันทางการเงินไปตลอดชีวิต โดยที่มีดอกเบี้ยโหดมหาศาล และหลายๆ คนมองว่าการลงหลักปักฐานในที่หนึ่งๆ ไม่ได้ตอบโจทย์ความอิสระที่พวกเขาต้องการ
ผลสำรวจของ Real Page พบว่าคนเจนซีอเมริกันกว่า 51% พอใจกับการเช่าบ้านมากกว่าการซื้อ และผลสำรวจของ DDproperty พบว่ามีคนไทยเพียง 21% เท่านั้นที่มีเงินเก็บพียงพอที่จะซื้อบ้าน และ 64% ของคนที่เคยคิดว่าอยากจะซื้อบ้านกลับเลือกที่จะเช่าแทน โดย 41% มองว่าเช่าบ้านดีกว่า เพราะมีอิสระมากกว่าและไม่อยากเป็นหนี้ตลอดชีวิต
ดังนั้นการเลือกที่จะเช่าบ้านตลอดชีวิตอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และไม่ใช่สิ่งแสดงถึงความล้มเหลวใดๆ หากปลายทางแล้วสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้คุณกล้านิยามคำว่าบ้านได้อย่างมีความสุข
Photo: Freepik
จะซื้อก็ไม่ได้ห้าม
บทความนี้ไม่ได้ต้องการเขียนเสือให้วัวกลัว หรือต้องการดิสเครดิตความฝันแห่งอเมริกันชนใดๆ แต่เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์และแนวคิดที่ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดเพื่อให้ทั้งคนที่กำลังจะซื้อบ้าน และคนที่เลือกที่จะเช่าบ้านพึงตระหนักไว้ โดยสรุปหัวข้อสั้นๆ ประกอบการพิจารณา ดังนี้
- จงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าคุณอยากมีรูปแบบชีวิตแบบไหนในอนาคต และพึงระลึกเสมอว่าทุกบริบท ทุกความฝันสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
- พิจารณาว่ารายได้และเงินเก็บของคุณครอบคลุมสำหรับผ่อนบ้านหากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝันหรือไม่ เช่นตกงาน โควิด คนช่วยผ่อนกู้ร่วมจากไป เป็นต้น
- นิยามคำว่าบ้านของคุณคือแบบไหน จำเป็นต้องสวยหรือโอ่อ่าแค่ไหน และพึงระลึกเสมอว่าบ้านไม่ใช่เวทีที่ใครจะมายืนปรบมือให้ ผู้คนอาจมองด้วยตาลุกวาวไม่กี่นาทีและก็จากไป แต่ผู้ต้องผ่อนชำระตลอดชีวิตคือตัวคุณ
- ทำเลเป็นสิ่งสำคัญ จงเลือกให้ตอบโจทย์ชีวิตระยะยาว เช่น ใกล้ที่ทำงาน ย่านการค้า ย่านนอกเมือง พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย
- รูปแบบการเช่าไปตลอดชีวิตไม่ผิด มีผู้คนที่มีแนวคิดเช่นนี้มากมายทั่วโลก
- พึงระลึกไว้ว่าเราจะอยู่กับมันเกือบทั้งชีวิต จงมีความแข็งแรงทั้งสุขภาพ การเงิน และแผนสำรอง ให้ดี
สุดท้ายนี้ของให้ทุกคนหานิยามคำว่า ‘บ้าน’ ของตัวเองให้เจอ และขอให้รูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ว่าจะซื้อบ้านก็ดี หรือเช่าอยู่ดี ก็ขอให้เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขนะคะ ด้วยรักจากคนหาเงินมาผ่อนบ้านจนหน้ามืดค่ะ (หัวเราะ)
Words: Varichviralya Srisai