หลอกแบบ 1.0 ไปจนถึงมิจฉาชีพ Deepfake เมื่อพื้นฐานการหลอกคือการ ‘ปลอม’ และ ‘ตีเนียน’    

เห็นมากับตา ได้ยินมากับสองหู ฯลฯ การเชื่อมั่นในประสาทสัมผัสของตัวเองกลับทำเรากลายเป็น ‘เหยื่อ’ ง่ายกว่าที่คิด บทความนี้จะมาพูดถึงการเสียรู้มิจฉาชีพที่เข้าอีรอบสำนวน The Wolf in Sheep’s Clothing (หมาป่าในคราบลูกแกะ) ทั้งในแบบหลอกกันซึ่งๆ หน้า และหมาป่าในร่าง AI ที่กำลังออกอาละวาดในเวลานี้ “อยากให้คุณรู้ไว้ ก่อนโดนหมาป่าตัวไหนมาขย้ำ”

Photo: rawpixel.com on Freepik

หมาป่าในคราบลูกแกะ (ปฐมบท)

สำนวน The Wolf in Sheep’s Clothing (หมาป่าในคราบลูกแกะ) มาจากนิทานอีสปที่เราเคยได้ยินในสมัยเด็กๆ เหตุเกิดขึ้นเมื่อหมาป่าตัวหนึ่งหิวโซ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปกินแกะในฝูงได้เพราะเจ้าของแกะเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าหมาป่าเห็นขนแกะตกอยู่ จึงได้นำขนแกะมาสวมและตีเนียนเข้าฝูงอย่างแยบยล เหล่าลูกแกะผู้น่าสงสารหลงเชื่อและกลายเป็นอาหารอันโอชะไปทีละตัวๆ

ดังนั้นสำนวนดังกล่าวจึงหมายถึงคนที่มีจิตใจหยาบช้าคดโกงแต่เสแสร้งว่าเป็นคนใสซื่อบริสุทธิ์ ซึ่งกว่าเหยื่อจะมีสติรู้เท่าทันก็เจ็บหนักจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

Photo: DC Studio on Freepik

คุณยายหมาป่าและคุณยายปีศาจ

เช่นเดียวกันในเรื่องหนูน้อยหมวกแดง หนูน้อยที่เดินทางไปหาคุณยายเพื่อนำเสบียงไปให้ แต่ระหว่างทางได้เจอหมาป่า เมื่อหมาป่าทราบเจตจำนงของเธอก็ชิงบึ่งไปบ้านคุณยายและจับซ่อนไว้ในตู้ จากนั้นจึงปลอมตัวเป็นยายเสียเองหวังจับทั้งหนูน้อยและคุณยายกินเป็นอาหารเมื่อมาถึง แต่เรื่องมาจบที่นายพรานเข้ามาช่วยเหลือและได้ยิงสังหารหมาป่าให้ตายตกไป

SPOIL ALERT!

ดูเหมือนว่าพลอตเรื่องคนบาปในคราบนักบุญจะถูกบอกเล่าอยู่เสมอ อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Devil ของเอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน ฉลาดเล่าเรื่องในลิฟต์ตัวเดียว โดยเนื้อเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อคนแปลกหน้า 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้รักษาความปลอดภัย, หญิงสาว, เซลล์แมน, หญิงชราและชายหนุ่ม ติดในลิฟต์ตัวเดียวกัน ซึ่งเรื่องค่อยๆ เฉลยว่าแต่ละคนที่มารวมตัวกันในลิฟต์ล้วนแล้วแต่มีอดีตอันมืดบอดและมือสกปรก จากนั้นผู้คนในลิฟต์ก็ถูกทำร้ายร่างกายจนตายตกไปทีละคนโดยน้ำมือของปีศาจซึ่งปลอมแปลงมาเป็น 1 ใน 5 คนนี้ โดยเรื่องจะหลอกให้เราระแวงว่าปีศาจคือคนนั้นคนนี้ทีอย่างชาญฉลาด แต่สุดท้ายแล้วปีศาจเลือกสวมบทเป็นคนที่ดูอ่อนแอที่สุด นั่นคือ ‘หญิงชรา’

ภาพยนตร์เรื่อง Devil ของเอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน ฉลาดเล่าเรื่องในลิฟต์ตัวเดียว

Photo: Courtesy of Universal Studios

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเรื่องราวที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ที่ย้ำเตือนให้ระวังหมาป่าในคราบลูกแกะ แต่ไม่วายเรื่องก็มาเกิดกับผู้เขียนในชีวิตจริง ชนิดที่ว่าโดนหมาป่าขย้ำคอด้วยแววตาใสซื่อ

ย้อนกลับไปในสมัย ม.5 ที่บ้านของผู้เขียนมีธุรกิจเช่าหนังสือเล็กๆ และผู้เขียนเป็นผู้ทำการคัดเลือกหนังสือเข้าร้าน โดยวันนั้นมีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิติ์ และได้รับความไว้ใจจากคุณแม่ไม่ต่างจากพลอตเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ผู้เขียนได้กำเงินแสนใส่ในกระเป๋าสะพาย และในสมัยนั้นยังไม่มีแอปฯ ธนาคารสำหรับโอนเงินใดๆ

Photo: DC Studio on Freepik

หนังสือเซตแรกที่ควักเงินจ่ายคือ ‘The Da Vinci Code’ และคงแสดงให้มิจฉาชีพเห็นว่าในกระเป๋าของผู้เขียนมีเงินหนัก ระหว่างนั้นสายตาเหลือบไปเห็นกลุ่มป้า 5 คนที่ตีผมฟาร่าพร้อมใส่ชุดผ้าไหมไทยมีสง่าราศี ราวกับว่ามาจับจ่ายซื้อหาหนังสือเช่นกัน

เมื่อผู้เขียนเขยิบไปดูหนังสือของบูธสำนักพิมพ์แจ่มใส สายตาก็เหลือบไปเห็นกลุ่มป้ากลุ่มเดิมที่กำลังทำท่าทีดูหนังสือรักหวานแหววสไตล์แจ่มใสอยู่ แม้จะดูขัดแย้งชอบกลแต่ก็เป็นไปได้ ไม่ว่าเพศไหน วัยไหนก็สามารถอ่านหนังสือรักหวานแหววได้ เป็นเรื่องของความชื่นชอบ

Photo: DC Studio on Freepik

เราเจอกัน 2 ครั้งในสถานการณ์ที่ดูทะแม่งชอบกล ผู้เขียนจึงป้องกันด้วยเองด้วยการเอาเงินทั้งหมดใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์ที่มิดชิดแทน พร้อมเอามือจับอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระเป๋าสะพายมีเพียงกระดาษทิชชูและโบรชัวร์งานที่แจกกันดาษดื่น

ระหว่างยืนอยู่ที่หน้าบูธสำนักพิมพ์เพิร์ล ก็สังเกตว่ากระเป๋าของผู้เขียนค่อยๆ นูนขึ้นและขยับเล็กน้อย ผู้เขียนเอามือตบลงไป ‘โป๊ะ’ เป็นมือคนที่กำลังล้วงอยู่ ผู้เขียนรีบหันไปก็พบป้า 5 ท่าน ที่ 2 ท่านกำลังกำลังดูต้นทางซ้ายขวา อีก 2 ท่านประกบด้านหลัง และคนกลางเป็นผู้ล้วงกระเป๋า ป้าคนกลางอุทาน “อุ๊ย” แล้วทั้งหมดก็จ้ำอ้าวออกไปโดยไม่ทราบว่าได้หยิบทิชชูใช้แล้วไปกี่แผ่น

Photo: DC Studio on Freepik

ผู้เขียนงงเพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้ เมื่อนึกย้อนไปก็เสียดายว่าทำไมเราไม่ร้องโวยวายพร้อมชี้ไปที่คุณป้าเหล่านั้น แต่ที่ไม่กล้าก็เพราะว่าเงินไม่หาย การโจรกรรมยังไม่สำเร็จและปราศจากหลักฐานใดๆ คาแรกเตอร์ (เด็กสาว) ภายใต้ร่างหนุ่มกำยำของผู้เขียนกับป้าผู้น่าสงสาร 5 คน ถ้าทั้งหมดปฏิเสธมา วินาทีนั้นสังคมจะตัดสินใคร

หมาป่าในร่างคุณยายช่างใจร้ายกับเด็ก (สาว) ในร่างหนุ่มผู้อ่อนโยนมากนัก และนั่นคือการเกือบเป็นเหยื่ออันโอชะของหมาป่าในร่างคุณยาย

คุณยายหมาป่าผู้น่าเชื่อถือ

ตัดภาพมาในวัย 36 ปีที่ผู้เขียนมีความเจนโลกพอสมควร แต่ก็ไม่วายตกเป็นเหยื่อคุณยายหมาป่าอีกครั้ง สืบเนื่องจากแฟนของผู้เขียนได้เข้าไปใช้บริการอู่ซ่อมสีรถยนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอู่ทำสีรถกระบะและรถบรรทุก โดยได้ซ่อมในอู่นี้มาแล้ว 1 ครั้งไม่พบความผิดปกติใดๆ จนต่อมาเมื่อประกันรถยนต์ชั้น 1 หมด พนักงานคุณป้าใจดีท่านหนึ่ง (ซึ่งเป็นเครือญาติกับพนักงานอื่นๆ ในอู่เนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัว) จึงอาสามาดูแลการต่อประกันชั้น 1 ให้

ด้วยท่าทางใจดี ดูเป็นมืออาชีพ บวกกับที่แฟนเคยได้ใช้บริการซ่อมสีมาครั้งหนึ่ง จึงไม่ได้ระแคะระคายอะไร โดยป้าท่านนี้เสนอให้โอนเงินเป็นจำนวนกว่า 20,000+ บาท โดยแบ่งชำระ 5 งวด และจะได้สิทธิการคุ้มครองจากประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 บริษัท ส. (นามสมมติ) ทันที

Photo: DC Studio on Freepik

เมื่อเวลาผ่านไปเราถามหาตารางกรมธรรม์ก็ไม่ส่งมาให้ จนเรื่องมาแดงเมื่อรถยนต์เกิดเหตุการณ์เฉี่ยวชน จึงย้ำถามหาตารางกรมธรรม์อีกครั้งเพื่อทำการเคลม พนักงานป้าท่านนี้ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ พร้อมทั้งไม่อ่านไลน์และขาดการติดต่อไปโดยทันที

หลังจากที่แฟนทวงถามเป็น 10 กว่าครั้ง วันหนึ่งคุณป้าได้ส่งสำเนาตารางกรมธรรม์มาทางไลน์ และมีเพียงสำเนาเท่านั้น ยังไม่ได้รับตัวจริงและใบเสร็จรับเงินอื่นๆ ที่แนบพ่วงมาตามที่สมควรได้ และบริษัทดังกล่าวหาได้เป็นประกันของบริษัท ส. ตามที่ตกลงไว้ไม่ แต่เป็นบริษัทประกันใหม่ ม. (นามสมมติ) ที่เบี้ยประกันต่ำกว่าที่จ่ายไป โดยที่คุณป้ากินเงินส่วนต่างแล้วขาดการติดต่อไปเสียดื้อๆ

Photo: jcomp on Freepik

ที่น่าฉงนคือเมื่อดูวันที่คุ้มครอง กลายเป็นว่าสิทธิการคุ้มครองล่าช้าไปถึง 8 เดือนกับ 15 วัน ราวกับเพิ่งทำเรื่อง ทำให้รอยแผลจากการเฉี่ยวชนครั้งนั้นกลายเป็นเกิดขึ้นก่อนทำประกันโดยไม่รู้ตัว

และผู้เขียน แฟน ตลอดจนครอบครัวนั่งอยู่ในรถที่ปราศจากการคุ้มครองใดๆ โดยไม่รู้ตัวอีกเช่นกัน ทั้งหมด 8 เดือน กับ 15 วัน นับตั้งแต่วันชำระเงินประกันงวดแรก นั่นหมายถึงหากเสียชีวิต ทุพลภาพ หรือเฉี่ยวชนจนเสียทรัพย์สินเสียหายเป็นหลักแสน หลักล้าน เราต้องออกค่าเสียหายหรือค่ารักษาพยาบาลต่างๆ เองทั้งหมด

Photo: rawpixel.com on Freepik

เมื่อเดินทางไปที่อู่เพราะอยากทราบว่าในกรณีนี้อู่เยียวยาอะไรได้บ้าง อู่กลับปัดความรับผิดชอบและให้แฟนมาติดต่อป้าพนักงานเอง ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่าติดต่อไม่ได้ แต่อู่เสนอได้แค่เพียงช่วยติดต่อให้แต่ก็คิดว่าติดต่อไม่ได้เหมือนกัน (เอ้า!)

เหตุการณ์นี้เราเจอหมาป่ามนุษย์ป้าขย้ำคอจนเหวอะหวะและกำลังแจ้งดำเนินคดีฟ้องร้องตามกฎหมายอยู่

หมาป่าไซเบอร์

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือกลยุทธ์การหลอกของมิจฉาชีพ 1.0

ขอเท้าความไปถึงแนวคิดจากหนังสือการตลาดของฟิลิป คอตเลอร์ที่แบ่งยุคของการทำการตลาดออกตั้งแต่ยุค 1.0 ไปจนถึง 6.0 ซึ่งก็ได้แสดงใจความสำคัญของการตลาดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุค 4.0 เป็นต้นไปที่เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยเฉพาะการตลาด 6.0 ที่เน้นผู้บริโภคเจนซีและอัลฟ่าเป็นหลัก ในหลายส่วนของหนังสือกล่าวถึง AI ที่เข้ามาร่วมงานกับมนุษย์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด

และแล้วหมาป่าก็เรียนรู้ AI ได้อย่างชำช่องไม่ต่างอะไรกับนักการตลาด! กลายเป็นหมาป่าร่างทองโดยสมบูรณ์แบบ โดยในบทความข่าวเทคโนโลยีของเดลินิวส์ได้แบ่งวิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพออกเป็น 1.0 ถึง 5.0 เช่นเดียวกับแนวคิดในหนังสือดังกล่าว (ในบทความอ้างอิงถึงแค่ 5.0) สามารถอ่านบทความเต็มได้ที่ https://www.dailynews.co.th/news/3421734/ และผู้เขียนเห็นว่าชัดเจน เข้าใจง่าย

Photo: Freepik

โดยยุคแห่งการหลอกเริ่มต้นที่ 1.0 ซึ่งเป็นการหลอกกันซึ่งหน้า, 2.0 คือการโทรและ SMS มาหลอก, 3.0 คือการสร้างเพจหลอก, 4.0 คือการหลอกแบบ Personalized ที่หลอกแบบรู้ใจ โดยทำการบ้านเรื่องข้อมูลเฉพาะของเหยื่อ และสร้างรูปแบบการหลอกเฉพาะบุคคล และ 5.0 คือการหลอกด้วย AI ในรูปแบบ Deep Fake

หมาป่า Deep Fake

และอะไรคือ Deepfake?

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ Deepfake คือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาสร้างเนื้อหาภาพ เสียง หรือวิดีโอราวกับเป็นมนุษย์จริงๆ ด้วยระบบการเรียนรู้ขั้นสูงแบบ Deep Learning ที่สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล ทั้งเค้าโครงใบหน้า สีผิว องคาพยพ ตลอดจนอวัจนภาษาต่างๆ โดยละเอียด และประมวลผลตามชุดคำสั่งที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป

แท้จริงแล้ว Deepfake มีประโยชน์มากมายทั้งในวงการภาพยนตร์และธุรกิจ อย่างที่ในภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious 7 ที่ได้จำลองใบหน้าของพอล วอล์กเกอร์ นักแสดงหลักที่ได้เสียชีวิตไปแล้วให้ปรากฏในเรื่อง เป็นต้น

แต่หมาป่าในร่าง AI นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แบบอกุศล เช่น นำมาใช้เปลี่ยนหน้าผู้มีชื่อเสียงใส่เข้าไปใส่คลิปอนาจาร และนำมาใช้เป็นสแกมเมอร์หลอกลวงให้คนหลงเชื่อจนเสียผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพราะเทคโนโลยี Deepfake ค่อนข้างเสมือนจริงหากมองด้วยตาเปล่า หรือฟังด้วยหู ตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้เมื่อต้นบทความว่าการเชื่อมั่นในประสาทสัมผัสของตัวเองกลับทำเรากลายเป็น ‘เหยื่อ’ ได้ง่ายกว่าที่คิด

Photo: Freepik

หนูน้อยหมวกแดงถือปืนลูกซอง

ผู้เขียนถอนหายใจในฐานะ มิจฉาชีพ 1.0 ก็ยังเอาตัวไม่รอด ไหนจะบรรดาคุณลุงคุณน้าที่ออกข่าวว่าโดน SMS หลอกดูดเงินจนเกลี้ยงบัญชี และบรรดาเพื่อนในเฟซบุ๊กที่เคยจ่ายเงินจองโรงแรมให้เพจปลอมก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มิจฉาชีพอยู่รอบตัวและพร้อมพัฒนาความสามารถขึ้นทุกวัน ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะหายใจร่วมกับเหล่ามิจฉาชีพร่างทองเหล่านี้ ทางที่ดีก็จงเป็นหนูน้อยหมวกแดงที่ยิงปืนลูกซองเป็นซะ เรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้หมด อะไรมาใหม่ก็ให้เข้าใจคอนเซปต์เทคโนโลยีคร่าวๆ อัปเดตข่าวคราวสแกมเมอร์ว่าพัฒนาไปใช้รูปแบบการหลอกลวงอย่างไรบ้างในปัจจุบัน เผื่อเจอหมาป่าจะได้ยิงแสกหน้าได้ทันถือว่าเป็นการช่วยเพื่อนร่วมโลกไปในตัว

Photo: Freepik

หมาป่าในคราบลูกแกะ (อวสาน)

ผู้เขียนเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายและจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด แล้วรู้ไหมว่านิทานเรื่อง a Wolf in Sheep’s Clothing (หมาป่าในคราบลูกแกะ) จบอย่างไร จบตรงที่คนเฝ้าแกะเกิดอยากกินซุปแกะ เลยเปิดประตูไปอุ้มแกะหมายเชือด แต่ก็ดวงดีเกิน จับแกะตัวที่หมาป่าสวมรอยมาต้มแทน แต่แม้ชีวิตจริงไม่รู้ว่าเราพึ่งโชคได้ไหม แต่อย่างที่บอก สอดส่องและขัดปืนให้เงาวับรอ พร้อมแล้ว เรามาล่าหมาป่าให้หายจากโลกกันเถอะ!

 

Words: Varichviralya Srisai

you might like

Scroll to Top