เคล็ดลับของคนที่พูดได้หลายภาษา ไม่ใช่เพราะเป็นอัจฉริยะ แต่เพราะกล้าพูดผิด 

คนที่พูดได้หลายภาษา หรือ Polyglot มียีนอัจฉริยะเหนือคนอื่นหรือไม่ พวกเขามีทักษะในการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าคนอื่นหรือเปล่า มันคือพรสวรรค์หรือสิ่งที่ฟ้าประทานมาให้ใช่หรือไม่

และคุณสามารถจะเป็นคนที่พูดได้หลายภาษาได้อย่างไร The Optimized มีคำตอบ

Sara Maria พูดได้ 5 ภาษาอย่างคล่อง และอีก 5 ภาษาที่พอสนทนาได้ ส่วน Benny Lewis พูดได้เหมือนเจ้าถิ่นถึง 6 ภาษา ส่วนอีก 4 ภาษานั้นสื่อสารได้ระดับกลางๆ ซาร่าไม่มีปัญหาหากเจอใครก็ตามที่พูดภาษาเกาหลี อินโดนีเซีย ภาษาจีนกวางตุ้ง หรือภาษาไทย (เธอยังรู้ภาษามือของชาวนิคารากัวอีกด้วย) ขณะที่เบนนีพูดคล่องปร๋อในภาษาเยอรมัน ไอริช เอสเปอรันโต ดัตช์ อิตาเลียน โปรตุเกส และ เอิ่ม ภาษาคลิงงอน ซึ่งเป็นภาษาใหม่ที่แต่งขึ้นพูดกันในจักรวาล Star Trek

พวกเขาทำได้อย่างไร?

YOUTUBE : JIN’s street interview

คนต่างชาติพูดภาษาเกาหลีคล่องได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ ซาร่า มาเรียเรียนภาษาสเปนอยู่ 6 ปี และมีพ่อเป็นชาวเอลซัลวาดอร์ ประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ แต่พ่อก็พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก และอารีช่วยทำการบ้านวิชาภาษาสเปนให้ลูกสาวอยู่เสมอ จนแล้วจนรอด ซาร่า มาเรียจึงพูดภาษาสเปนไม่ได้อยู่ดี เธอถอดใจ คิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์กับภาษานี้ หรืออาจเป็นเพราะมาเรียนภาษาใหม่เอาตอนที่โตแล้ว “ถ้าหากฉันได้เรียนภาษามาตั้งแต่เด็กๆ ป่านนี้ฉันคงพูดคล่องปร๋อไปแล้ว” นั่นคือสิ่งที่ซาร่า มาเรียและเบนนีคิด

แต่โพลีกลอตพิสูจน์แล้วว่า คุณไม่ต้องเป็นอัจฉริยะก็เรียนรู้ภาษาใหม่ได้แม้อายุมากแล้ว และไม่ใช่เป็นเพราะคุณก้าวข้ามกำแพงภาษาได้ แต่คนเราพูดได้หลายภาษาเพราะ ‘สบายใจกับสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจ’ ซึ่งต้องใช้ความกล้า 3 แบบ ได้แก่

  1. กล้าทิ้งวิธีการเดิมๆที่เชื่อว่าจะใช้ได้ผล
  2. กล้าออกไปเจอของจริงแม้ยังไม่พร้อม
  3. กล้าทำผิดพลาดให้มากกว่าพยายามจะทำ

วิธีการที่จะทำให้คุณเรียนภาษาใหม่ได้ก้าวหน้าเร็วที่สุดก็คือ ข้อ 4 จงสบายใจที่จะอยู่กับความไม่สบายใจ

เรามาดูกันว่าในแต่ละข้อจะช่วยให้คุณกลายเป็นคนที่พูดได้หลายภาษา หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆอย่างรวดเร็วได้อย่างไร

YOUTUBE : KruPAnn – ครูพี่แอน

How to ฝึกพูด ENG ฉบับสาวโรงงานชื่อดัง อัดคลิปฟาดอังกฤษใส่คนบูลลี่ จนคลิปไวรัลทั่วประเทศ โดยครูพี่แอน ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง

1.กล้าทิ้งวิธีการเดิมๆที่เชื่อว่าจะใช้ได้ผล

ในระบบการศึกษา มีวิธีการเรียนรู้อยู่ 4 แบบ ได้แก่

  • การเรียนรู้ด้วยภาษาพูด : ต้องใช้การอ่านและเขียน
  • การเรียนรู้ด้วยภาพ : ต้องเห็นภาพ กราฟ หรือตาราง
  • การเรียนรู้ด้วยเสียง : ต้องฟังข้อมูลหรือเรื่องราว
  • การเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหว : ต้องแสดงออกหรือพาตัวเองไปสัมผัสประสบการณ์นั้นๆ

เรามักเจอคนที่ดูภาพการประกอบชั้นวางของ IKEA ไม่รู้เรื่อง แต่พออ่านวิธีการประกอบเป็นข้อๆจะเข้าใจได้ทันที หรือบางคนเปิดหนังสือมาเจอตัวอักษรยุ่บยั่บแล้วตาลาย แต่จำเรื่องที่นักจัดพอดแคสต์เล่าได้ทุกเม็ด ขณะที่บางคนไม่สามารถเข้าใจตัวหนังสือ ภาพ และเสียงได้เลยหากว่าไม่ได้ลงมือทำ

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเราเรียนรู้ไม่ได้ แต่เราต้องมีวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเราด้วย กล่าวคือเราต้องรู้ก่อนว่าเราเป็นที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยวิธีใด อ่าน ดูภาพ ฟัง หรือลงมือทำ

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ‘วิธีการเรียนรู้ด้วยการอ่าน ดูภาพ ฟัง และลงมือทำ’ เป็นเรื่องที่คิดไปเอง ไม่ได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา หรือศาสตร์ใดๆมารองรับทั้งสิ้น

หรือมายาคติอีกอย่างคือ เราจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด เมื่อเรารู้สึกสบายใจกับเรื่องนั้นๆ ก็ไม่จริงอีกเช่นกัน บางทีการอยู่กับเรื่องที่ไม่สบายใจกลับจะทำให้คุณเรียนรู้ได้ดีกว่า เพราะคุณจะพยายามมากขึ้น

YOUTUBE : World Friends

สองสาวโพลีกลอตพูด 8 ภาษาสลับกันไปมาแบบไฟแล่บ

2.กล้าออกไปเจอของจริงแม้ยังไม่พร้อม

การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องของการหาวิธีการที่เหมาะสำหรับคุณ แต่คือการหาวิธีการที่เหมาะกับงานที่ต้องทำมากกว่า

ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ซาร่า มาเรียเลือกเอกภาษาศาสตร์ เธอซื้อพจนานุกรมและหนังสือไวยกรณ์มากมาย ทำสมุดจดคำศัพท์ จดย่อ ขีดไฮไลต์เต็มหนังสือ โดยไม่ได้พูดภาษาใหม่กับเจ้าของภาษาหรือกับใครมากนัก เธอเรียนภาษาจากการอ่านเสียเป็นส่วนใหญ่

นั่นเหมือนกับคนที่พยายามเล่นเปียโนให้เป็นโดยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเปียโน หรือหัดเล่นสเก็ตด้วยการนั่งดูคลิปนักเล่นสเก็ต แล้วก็หวังว่าพอใส่รองเท้าสเก็ตครั้งแรก หรือนิ้วได้แตะคีย์เปียโนปุ๊บ จะเล่นได้คล่องปร๋อเพราะอ่านมามาก ศึกษามาเยอะ

ซาร่า มาเรียตัดสินใจย้ายไปอยู่เมืองมาดริดในสเปน เธอจงใจเลือกอยู่กับครอบครัวที่พูดได้แค่ภาษาสเปนเท่านั้น สถานการณ์ทั้งหมดนี้บังคับให้เธอกล้าพูดภาษาสเปนแม้จะพูดผิดๆถูกๆ และไม่ต้องรู้ศัพท์ 1,000 คำหรือประโยคที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน 500 ประโยคเสียก่อน

ภายในเวลา 2 เดือน เธอพูดภาษาสเปนได้ จากที่ก่อนหน้านี้พยายามเรียนภาษาสเปนมา 6 ปีแต่พูดไม่ได้เสียที

เธอตระหนักว่าถ้าเธอสบายใจกับความไม่สบายใจ เธอจะเรียนภาษาอะไรก็ได้ทั้งโลก

ถ้าเธอเริ่มเลยแม้ยังไม่พร้อม อย่างน้อยก็ได้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ขณะที่มีความพร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้ารอให้พร้อมก่อนแล้วค่อยเริ่ม ในระยะเวลาเท่ากัน เธอจะก้าวหน้าได้น้อยกว่ามาก

YOUTUBE : What I’ve Learned

Steve Kaufmann โพลีกลอตที่พูดได้ถึง 20 ภาษา

3.กล้าทำผิดพลาดให้มากกว่าพยายามจะทำ

เบนนีตั้งเป้าหมายทุกครั้งเมื่อเริ่มเรียนรู้ภาษาใหม่ว่า ‘ฉันจะพูดผิดวันละ 200 ครั้ง’ เขาแนะนำเพศของตัวเองผิด เขาบอกว่าตกหลุมรักรถเมล์ สั่งอาหารด้วยการบอกว่าขอวิทยุกินกับไวน์ขาว ชมคนว่ายิ้มสวยเหมือนจาน ฯลฯ ทุกครั้งที่เขาพูดผิด เจ้าของภาษาจะหัวเราะ แนะนำว่าที่ถูกต้อง เขาควรพูดว่าอย่างไร และชมที่เขาพยายามพูดภาษาอื่น

ทุกครั้งที่เขาทำผิดพลาด เขามีแรงฮึดที่จะพยายามฝึกฝนตัวเองต่อไป

นักจิตวิทยาเรียกวงจรนี้ว่า ความพากเพียรในการเรียนรู้ (Learned Industriousness) เมื่อคุณได้รับคำชมที่ได้พยายาม คำรู้สึกว่าได้พยายามจะเป็นรางวัลรองลงไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ รู้สึกดึงดูดในสิ่งที่ทำ แทนที่ต้องผลักดันตัวเองให้ทำสิ่งนั้น

เบนนีเรียนภาษาใหม่ด้วยการพูดภาษานั้นตั้งแต่วันแรก ซึ่งเปลี่ยนความคิดของเราต่อกระบวนการเรียนรู้ว่าต้องเป็นเส้นตรง: ความรู้ >> ความสบายใจ >> การฝึกฝน >> พัฒนาการ

แต่จริงๆแล้ว คนเราเรียนรู้ไปทำผิดพลาดไป แล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ อยากจะเลิก แต่ก็ฝืนฝึกฝนต่อไป และค่อยๆก้าวหน้าขึ้น จนในที่สุดก็รู้สึกสบายใจกับการเรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้น รู้ตัวอีกที เบนนีพูดภาษาใหม่ได้อีกภาษาหนึ่งแล้วภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

จงสบายใจที่จะอยู่กับความไม่สบายใจ 

Word: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก

  • Hidden Potential: The Science of Achieving Greater Things, Adam Grant

you might like

Scroll to Top