‘กลบเสียงลบ-สยบการเปรียบเทียบ’ วิธีสร้างความสำเร็จให้ก้าวไกลในที่ทำงาน

โปรเจกต์นี้ไม่เคยทำ ฉันจะทำพังไหมนะ? ถ้าเป็นรุ่นพี่คงทำงานนี้ได้ดีกว่านี้ ไอเดียที่คิดมาควรนำเสนอในห้องประชุมไหม เมื่อระดับความมั่นใจในที่ทำงานต่ำลง คุณจะมีวิธีการจัดการปัญหานี้อย่างไร ลองไปดูเคล็ดลับเสริมสร้างความมั่นใจในฉบับคนทำงาน ที่จะทำให้คุณกล้าเผชิญหน้ากับเสียงลบๆ ในหัว

Photo: Freepik

หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

ความไม่มั่นใจหลายครั้งเกิดจากเปรียบเทียบกับคนอื่น แม้โดยธรรมชาติมนุษย์มีพฤติกรรมเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ แต่การเปรียบเทียบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งฐานเงินเดือน มีแต่จะทำให้ความมั่นใจในตัวเองสั่นคลอน

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Personality and Individual Differences ในปี 2018 พบว่าวิธีที่เรารู้สึกกับตัวเองมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความอิจฉา ซึ่งนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นนั่นแสดงว่ารู้สึกอิจฉา และเมื่อมีมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

วิธีการรับมือเมื่ออยากเปรียบเทียบกับผู้อื่น

  1. เขียนบันทึกขอบคุณตัวเอง เพื่อระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ ก็ตาม เมื่อคุณรู้สึกอยากเปรียบเทียบกับใครก็ให้นำบันทึกมาอ่าน จะทำให้คุณมองเห็นจุดแข็งและศักยภาพที่เคยมองข้าม
  2. ใช้พลังในการเข้ากลุ่มสังคมที่คุณสนใจ เป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายร่วมกัน พร้อมสนับสนุนและผลักดันไปข้างหน้า เช่น ไปเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพ ไปร่วมกันแบ่งปันเทคนิคการใช้ AI ในการทำงาน ฯลฯ ซึ่งการเรียนรู้ควบคู่กับการพัฒนาทักษะ รวมถึงการเปิดรับเสียงวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์สามารถทำให้คุณค้นพบศักยภาพในตัวเองได้
  3. โฟกัสในตัวเองให้มากขึ้น ชัดเจนกับเป้าหมายว่าชีวิตต้องการอะไร ทำมันแบบไหน เรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาดอย่างไร วันนี้ฉันมีจุดไหนที่พัฒนาขึ้น มันคือการเปรียบเทียบตัวเองโดยปราศจากการรู้สึกอิจฉา และยังเป็นการผลักดันตัวเองในเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย

Photo: Freepik

พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่คิดบวก

สภาพแวดล้อมรอบข้างสามารถส่งอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติของตัวคุณเอง ลองคิดดูว่าคนรอบตัวคุณในตอนนี้ช่วยผลักดันให้คุณก้าวไปข้างหน้าหรือฉุดรั้งคุณให้จมลง? พวกเขามักตัดสินคุณหรือยอมรับในสิ่งที่คุณเป็น? หากคุณใช้เวลาอยู่กับใครแล้วทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่าคุณควรดึงตัวเองออกมาสักพักเพื่อคิดทบทวน และเริ่มมองหากลุ่มคนที่คิดบวก เพราะความมั่นใจในตัวเองกับทัศนคติเชิงบวกเป็นของคู่กัน

Photo: Freepik

ดูแลตัวเอง

ความมั่นใจจะไม่เกิดขึ้นหากคุณยังไม่รักตัวเอง ดังนั้นใส่ใจทั้งส่วนของร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงจิตวิญญาณเพื่อสร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อตนเองทีละเล็กทีละน้อยด้วยวิธีเหล่านี้

1.ควบคุมอาหาร

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานก่อนไปสู่การพัฒนาสุขภาพจิต ทัศนคติและแนวคิด

2.ออกกำลังกาย

ช่วยในเรื่องของสุขภาพ กระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทในสมอง จนไปถึงช่วยให้มีรูปร่างและบุคลิกภาพที่ดีขึ้น และทำให้คุณมีความมั่นใจมากขึ้น

3.ทำสมาธิ

นอกจากการทำสมาธิช่วยให้คุณผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยให้คุณตระหนักและยอมรับตัวเอง ช่วยหยุดความคิดเชิงลบและความฟุ้งซ่านในจิตใจที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิต

4.นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนหลับที่เพียงพอสามารถส่งผลให้อารมณ์เบิกบาน มองโลกในแง่ดีทั้งในมุมมองที่มีต่อโลก รวมถึงมุมมองที่มีต่อตนเองอีกด้วย

Photo: Freepik

หัดใจดีกับตัวเอง

หลายครั้งมนุษย์เราปฏิบัติกับคนอื่นด้วยความเมตตา พร้อมให้อภัยในความผิดพลาดต่างๆ แต่สำหรับตัวเองกลับกลายเป็นเรื่องยาก เมื่อคุณเผชิญหน้ากับความผิดพลาดหรือล้มเหลว ให้เริ่มจากการมองว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยปกติ ความไม่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้ทุกแง่มุมในชีวิตมนุษย์ ลองฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง ให้อภัยตัวเอง ก้าวต่อไปแล้วเรียนรู้ความผิดพลาดครั้งนั้น

ฝึกพูดเชิงบวกกับตัวเอง

หากเสียงในหัวของคุณมีแต่คำพูดเชิงลบ ‘ฉันทำไม่ได้หรอก’ ‘โปรเจกต์นี้ยากไป’ ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นการจำกัดความสามารถของคุณยังไม่เริ่มทำเลยด้วยซ้ำ แต่การคิดหรือพูดกับตัวเองในแง่ดีถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้คุณมีความเห็นอกเห็นใจตัวเองมากขึ้น และกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายใหม่ๆ ลองเปลี่ยนคำพูดในหัวลบๆ ให้เป็นคำพูดเชิงบวก เช่น

  1. “เรื่องนี้ฉันไม่เคยทำ” หรือ “ฉันไม่เชี่ยวชาญ” เป็น “เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การพยายาม”
  2. “ฉันไม่เคยทำอะไรได้ถูกต้องเลย” เป็น “ฉันจะทำได้ดีขึ้นในครั้งถัดไป” “อย่างน้อยฉันก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง”
  3. “ฉันรู้สึกว่าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้แย่มาก” เป็น “ฉันพูดในมุมมองที่ฉันเห็นและควรค่าแก่การรับรู้”

Photo: Freepik

เผชิญหน้ากับความกลัว

หากคุณกลัวที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่ฉีกกับขนบเดิมๆ ที่องค์กรเคยทำ หรือกลัวที่จะเอ่ยปากขอโปรโมตตำแหน่ง คุณจะเอาชนะความกลัวต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เลยถ้าคุณไม่เผชิญหน้ากับมัน แม้ว่าจะเกิดความคิดว่าผลลัพธ์จะออกมาในทิศทางตรงกันข้ามแต่ก็ต้องลองทำ เพราะแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ตรงใจแต่ท้ายที่สุดแล้วคุณได้ก้าวไปข้างหน้า ส่งผลให้ครั้งต่อไปคุณจะมีความมั่นใจในสถานการณ์เช่นนี้มากขึ้น

ทำสิ่งที่คุณทำให้ดี

แม้ว่าการทำงานในยุคนี้ต้องการบุคลากรที่มีทักษะหลากหลาย แต่คุณคงมีบางสิ่งที่สามารถทำแล้วรู้สึกถนัดที่สุดหรือมีคุณค่าที่สุด ลองระบุจุดแข็งนี้ของคุณแล้วให้เวลากับมันมากขึ้น เช่นคุณอาจจะถนัดทำพรีเซนเทชันนำเสนองานก็จงฝึกมันจนชำนาญ หรือคุณอาจถนัดคิดสร้างสรรค์แคมเปญก็จงทุ่มเวลากับไอเดียของคุณ เมื่อสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นจุดแข็งของคุณอย่างชัดเจน ก็สามารถสร้างความมั่นใจให้กับคุณได้

Photo: Freepik

รู้ว่าเมื่อใดควรปฏิเสธ

ขีดเส้นขอบเขตความสบายใจของตัวเองให้ชัดเจน แม้ว่าเราแนะนำให้คุณกล้าเผชิญหน้ากับความกลัวและตระหนักถึงจุดแกร่งของตัวเอง แต่บางสถานการณ์ที่คุณประเมินแล้วว่ายิ่งทำยิ่งส่งผลให้ความมั่นใจลดลง ก็ควรปฏิเสธไปด้วยความเคารพ แม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องสนุกของคนอื่นๆ ก็ตาม เช่น เวทีการแสดงประจำปีของออฟฟิศที่อาจเป็นสปอตไลท์ของใครหลายคน แต่ถ้าคุณทำแล้วมันยิ่งกระอักกระอ่วนคุณก็มีสิทธิเจรจาที่จะไม่ทำ

แต่อย่างไรก็ดีคุณไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้นไปตลอด หลังจากเรียนรู้วิธีสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น ในอนาคตคุณอาจจะลองเปิดรับสิ่งท้าทายนี้ด้วยความสบายใจได้เช่นกัน

Photo: Freepik

ตั้งเป้าหมายที่ปฏิบัติได้จริง

ตั้งเป้าหมายในการทำงานให้จับต้องได้จริง โดยถามคำถามกับตัวเองว่าเป้าหมายดังกล่าวนี้มีสิทธิเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าตั้งเป้าหมายสูงจนอัตราการเกิดขึ้นแทบจะเป็นศูนย์ จะยิ่งทำลายระดับความมั่นใจ ในทางกลับกันเป้าหมายที่จับต้องได้ จะสร้างความเชื่อมั่นทุกครั้งที่คุณบรรลุ

ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่แนะนำไปเป็นเรื่องง่าย แต่หากเริ่มต้นด้วยทัศนคติที่เป็นบวกต่อตัวเอง ก็เท่ากับกับว่าประตูแห่งความสำเร็จบานแรกเปิดออก ดังนั้นลองปรับทีละนิดให้เข้ากับบริบทของคุณ เพื่อการเป็นมนุษย์ทำงานในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น ดีขึ้นกว่าใคร? ดีขึ้นกว่าคุณคนเมื่อวานยังไงละ

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top