เที่ยวเยอะก็ซึมเศร้าได้กับ Post-Holiday Blues ภาวะหดหู่หลังวันหยุดยาว

เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ได้ผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์มาแล้ว ซึ่งการพักผ่อนทั้งอยู่กับบ้าน หรือไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ นั้น สามารถชาร์จแบตเตอรีชีวิตเพื่อกลับมาลุยงานต่อ แต่ทว่าความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น หลังจากกลับมาเที่ยวแล้วทำไมสมองอึนๆ พร้อมรู้สึกเศร้าและหดหู่ ส่งผลให้การทำงานไม่เต็มที่ บางคนรู้สึกเหนื่อยหน่ายกว่าตอนก่อนได้พักผ่อนอีก อาการดังกล่าวนี้อาจไม่ใช่เพราะคุณขี้เกียจก็ได้ แต่คุณกำลังเข้าข่ายเป็น Post-Holiday Blues อยู่หรือเปล่า?

Photo: jcomp on Freepik

ทริปเชียงใหม่ที่เหนื่อยกว่าเดิม

อยากแชร์ประสบการณ์เที่ยวแล้วหดหู่ให้ผู้อ่านฟัง ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ลาพักร้อนประมาณ 7 วันติดเพื่อเดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนได้สัมผัสความงดงามทั้งธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่แบบประทับใจจนลืมไม่ลง

7 วัน 6 คืนที่โฮมสเตย์ ที่อำเภอแม่ออน เจ้าของเด็ดผักสดมาทำกับข้าวให้กินทุกมื้อ ผู้เขียนกับแฟนตื่นเช้ามาปั่นจักรยานพร้อมมีหมาสองตัว (ชื่อเอ็ดเวิร์ดกับเออร์วิน) วิ่งตามไปตลอด แล้วเราจะไปนอนเล่นในสวนที่มีแพะฝูงใหญ่ ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อย แพะบางตัวเดินเลียบๆ เคียงๆ มาใกล้พุ่มไม้ หลังเล็มผักเล็มหญ้าจนอิ่ม ตกเย็นไปดูพระอาทิตย์ตกดินที่ฝาย และขึ้นไปไหว้พระที่ถ้ำแม่ออน พร้อมขับรถไปเดินตลาดถนนคนเดินท่าแพและวัวลาย

Photo: Freepik

ผู้เขียนได้รับการฮีลใจมากจนกระทั่งวันแรกที่กลับมากรุงเทพฯ และเข้าสู่วังวนการทำงานแถวถนนสาทร ก็เกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เหนื่อยล้าหัวใจ ผู้เขียนรู้สึกเศร้า คิดงานไม่ออกบ้าง ไม่อยากทำงานบ้าง สิ่งที่ทำได้ต่อมาคือเปิดปฏิทินดูว่าเมื่อไหร่จะถึงวันหยุดจะได้กลับไปเชียงใหม่อีก

จะว่าเป็นอาการขี้เกียจได้ไหม? ผู้เขียนพูดได้เต็มปากว่าไม่ เพราะตลอดทั้งชีวิตผู้เขียนเป็นคนขยันมากๆ หรือถ้าถามว่าเหนื่อยไหม? ก็ไม่ เพราะช่วงเวลาที่อยู่ที่เชียงใหม่ ก็ได้ชาร์จแบตเตอรีชีวิตมาเต็ม จนในที่สุดถึงรู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญภาวะ Post-Holiday Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุด

Photo: jcomp on Freepik

Post-Holiday Blues คืออะไร มีอาการอย่างไร

Post-Holiday Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุด คืออาการที่ร่างกายและจิตใจยังโหยหาช่วงเวลาดีๆ ในวันหยุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป จึงแสดงออกผ่านทางจิตใจและส่งผลกระทบต่ออารมณ์ โดยมีอาการคล้ายกับภาวะซึมเศร้าอ่อนๆ ผสมผสานกับอาการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งปรากฏอาการตั้งแต่

  1. เกิดความรู้สึกเศร้า รู้สึกหดหู่กับชีวิต โดยส่วนใหญ่ความคิดจะวนเวียนเปรียบเทียบกับช่วงเวลาปัจจุบันกับช่วงเวลาประทับใจในวันหยุดที่ผ่านมา
  2. รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง อ่อนเพลีย เหมือนคนไม่ได้พักผ่อน
  3. อารมณ์แปรปรวน มีอาการเครียดอ่อนๆ ไปจนถึงขั้นนอนไม่หลับ
  4. รู้สึกไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดแรงจูงใจ หรือแรงกระตุ้นในการทำงาน
  5. จิตใจวนเวียนอยู่กับการไปเที่ยว โหยหาการไปเที่ยวในครั้งต่อไปอย่างต่อเนื่อง

Photo: Freepik

Post-Holiday Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุด หากเป็นติดต่อกันไม่นานและไม่ถี่ ทางจิตวิทยาไม่ถือว่าเป็นโรค ซึ่งโดยทั่วไปหากเวลาผ่านไปความคิดเราจะแปรเปลี่ยนเป็นความทรงจำที่ประทับใจในเชิงบวก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วคุณยังจดจำช่วงเวลาเหล่านี้ด้วยความเศร้าอย่างต่อเนื่องอาจต้องปรึกษาหรือพูดคุยกับจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

วิธีเบื้องต้นในการรับมือ

ทั้งนี้ The Optimized จึงรวบรวมวิธีการเบื้องต้นเพื่อรับมือกับอาการ Post-Holiday Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวหลังสงกรานต์ เพื่อคุณจะได้เข้มแข็งและกลับมาทำงานได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเดิม ดังนี้

ให้เวลากับตัวเองมากขึ้น

เมื่อสัมผัสได้ว่าอารมณ์และสภาพจิตใจยังไม่ปกติ คุณอาจให้เวลาตัวเองในการทำงานมากขึ้น วันแรกหลังกลับมาอาจจะเริ่มต้นแค่อ่านและตอบเฉพาะอีเมลที่สำคัญ และเริ่มจัดระเบียบความคิดไม่ให้ยุ่งเหยิง

Photo: jcomp on Freepik

จัดทำรายการสิ่งที่ต้องทำและขีดฆ่าออก

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตใจเหนื่อยล้าคือ ช่วงเวลาที่เราพักผ่อนมันดีที่ไม่ต้องคิดอะไร แต่พอกลับมาทำงานดันกลายเป็นมีรายการที่ต้องทำยุ่งเหยิงอีนุงตุงนังไปหมด เมื่อสมองมองว่าเป็นเรื่องยากก็ไม่แปลกใจที่จะส่งสัญญาณต่อต้าน ดังนั้นจัดระเบียบงานด้วยการเขียนหัวข้อสั้นๆ ว่าสิ่งที่ต้องทำ 1 2 3 มีอะไรบ้าง และอะไรที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จในวันนี้ จากนั้นให้ขีดฆ่าหัวข้อที่ไม่รีบเร่งออกไปเพื่อบอกสมองว่าจริงๆ แล้วคุณสามารถปิดจบงานเหล่านี้ได้ง่ายและเร็วกว่าที่กังวล

กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอและออกกำลังกาย

อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทแห่งความสุขช่วยลดความวิตกและอาการเศร้าที่เกิดขึ้นได้

Photo: Freepik

จัดทริปสั้นๆ ที่มาถึงได้เร็วๆ

ในเมื่อจิตใจยังพะวงถึงการเที่ยว ก็จงจัดทริปเล็กๆ ที่ไปได้จริงแบบไม่ใช้เงินเยอะ เช่น ผู้เขียนกลับจากเชียงใหม่คงไม่มีเวลาพักร้อนในเร็ววันเพื่อไปท่องเที่ยวที่ไหนไกลๆ อีก ผู้เขียนจะมองหาคาเฟ่สำหรับวันเสาร์อาทิตย์ใกล้ๆ รวมไปถึงการไปเดินตลาดนัด ถนนคนเดินในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีพลังใจ ฮึดสู้ได้อีก เป็นต้น

ทำกิจกรรมที่ตัวเองหลงใหล

หากคุณรู้ว่ากิจกรรมใดสามารถฮีลใจได้ เช่นไปดูแพะ ไปเล่นกับแมวกับหมา ก็พาตัวเองไปหาสิ่งนั้นแบบง่ายๆ ผู้เขียนใช้วิธีไปเล่นกับแมวร้านขายของชำใกล้ออฟฟิศบ่อยๆ หรือหาเวลาไปคาเฟ่สัตว์ในช่วงวันหยุด เป็นต้น ส่วนเพื่อนผู้เขียนที่เคยประสบปัญหานี้เช่นกัน เธอจะใช้วิธีสุ่มกล่องสุ่มของเล่นที่เธอโปรดปรานมาเก็บไว้ และเปิดในช่วงเวลาที่ทำงานเสร็จราวกับเป็นการให้รางวัลตัวเอง

Photo: jcomp on Freepik

กฎ 10 นาที ใช้ได้เสมอ

กฎ 10 นาที ช่วยกู้ชีวิตคุณยามที่พลังใจเหลือน้อยแต่ปริมาณงานยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณไม่อยากจะแตะงานที่อยู่ตรงหน้าสักชิ้น ลองบอกตัวเองว่าฉันจะเริ่มทำมันแค่ 10 นาที แล้วพอครบ 10 นาทีให้คุณถามตัวเองอีกครั้งว่าอยากทำต่อให้เสร็จหรือไม่อยากทำแล้ว ถ้าไม่อยากทำแล้วก็เลิกไว้เท่านั้น ไว้คุณฮีลใจได้เมื่อไหร่ค่อยมาทำ

แต่สำหรับประสบการณ์ของผู้เขียน เมื่อใดก็ตามที่งัดกฎ 10 นาทีมาใช้ ผู้เขียนจะเกิดคำพูดในหัวว่า “อุตส่าห์เปิดคอมมาแล้ว ทำๆ ให้เสร็จไปเลย เพราะถ้าเลิก เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องมาเปิดคอม หาไฟล์ หาข้อมูล ยุ่งยากไปอีก” เมื่อกฎ 10 นาทีทำงาน ร้อยทั้งร้อยไม่เคยมีโปรเจกต์ไหนที่ไม่เสร็จ

Photo: jcomp on Freepik

เราคงไม่มาบอกให้คุณมูฟออนไวๆ เพราะขนาดผู้เขียนเองยังจมอยู่ในทริปเชียงใหม่ถึง 1 สัปดาห์เต็ม แต่เป็นกำลังใจให้ผู้ที่ประสบภาวะ Post-Holiday Blues หลังวันหยุดยาวหลังสงกรานต์ทุกท่าน ให้กลับมาเข้มแข็งได้ในเร็ววัน แต่ถ้าอารมณ์ดิ่งลงเรื่อยๆ อย่าลืมแวะไปพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์ผู้เชียวชาญนะคะ

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมลจาก:

you might like

Scroll to Top