แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดมุมมองตลาดงานในเขต EEC เผย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเด่น ได้แก่ อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ ,ยานยนต์สมัยใหม่ ,การแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก และการซ่อมยานยนต์ พร้อมชี้ความโดดเด่นด้านฝีมือแรงงานตลาดส่งออกยานยนต์ไทยสู่ตลาดยุโรป-อเมริกา ด้านแรงงานเร่งอัพสกิล-รีสกิล รองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมเปิดรับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
มร.ไซมอน แมททิวส์, ผู้จัดการระดับภูมิภาค ประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำที่ปรึกษาด้านแรงงานเชิงนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้มีการอัปเดตสถานการณ์ภาพรวมของตลาดแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุด ได้มีการสำรวจตลาดแรงงานระบุ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเด่นประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีดีมานด์สูงสุดและต่อเนื่อง 2.อุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) 3.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) มีความต้องการต่อเนื่องในทุกตำแหน่งเนื่องจากเป็นกลุ่มที่เติบโตจากสถานการณ์โควิดประกอบกับประเทศไทยเป็นกลุ่มที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพสูงโดยเฉพาะจากผู้ใช้บริการจากตะวันออกกลาง ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ การบริการที่ดีและค่าใช้จ่ายไม่สูงทำให้มีการจัดแพ็กเกจบริการเจาะตลาดนี้ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรมีสูงขึ้น 4.อุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก จากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัว และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจซ่อมยานยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบุคลากร 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นับเป็นการส่งสัญญาณอันดีในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย
สำหรับมุมมองของประเทศไทยกับบทบาท “Detroit of Asia” ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย จากข้อมูลประเทศยังเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในแต่ละแบรนด์รถยนต์จะมีการแบ่งกลุ่มประเทศที่ในลักษณะของการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ โดยหลักๆ จะมีประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทยและเวียดนาม ถึงแม้ประเทศไทยจะมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย แต่เรามีความโดดเด่นด้านฝีมือแรงงานและคุณภาพในการผลิตเพื่อการส่งออกทำให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกอบการกลุ่มตลาดยุโรปและอเมริกาอย่างมากโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลัก นอกจากนี้ ในภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมยังมีความต้องการอยู่และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งกำลังก้าวไปสู่ยุค “รถยนต์ไฟฟ้า” แทนเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้พลังงานน้ำมัน จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมทำให้มีแนวโน้มเติบโตมากใน 4-5 ปีต่อจากนี้ ทางด้านแรงงานต้องเร่งพัฒนาทักษะเทคโนโลยีใหม่รองรับการเติบโตของโลกอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ หากเราเร่งพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถจะทำให้มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันมากขึ้น พร้อมกันนี้ ประเทศไทยวางโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ได้อย่างมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นทำให้สามารถเชื่อมโยงการลงทุน การขนส่ง สร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตในพื้นที่ EEC สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดธุรกิจใหม่และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้อย่างดี
น.ส.สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับมุมมองเกี่ยวกับตลาดแรงงาน สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพแรงงานไทย คือ การเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ (Upskill) การพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง(Reskill) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากสถานการณ์ตลาดแรงงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการเกือบทุกอุตสาหกรรมต้องรับมือกับปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน (Labor shortage) และอัตราการเปลี่ยนพนักงานสูง (Turnover) ดังนั้น แนวทางการรับมือการรักษากำลังคน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงานที่มีต่องานและองค์กร (Employee Engagement) ให้มากขึ้น พร้อมการสนับสนุนและส่งเสริมการเพิ่มทักษะความรู้ให้กับพนักงาน เพื่อดูแลรักษาพนักงานขององค์กรและพร้อมต่อการทำงานในอนาคตซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวพร้อมให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้น ทางด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมาไทยจากข้อจำกัดแรงงานต่างด้าวในการเดินทางช่วงโควิดและแม้มีแนวโน้มการหันมาใช้แรงงานมากขึ้นของภาคอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบัน ยังพบการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจะดีขึ้นเมื่อมีการฉีดวัคซีนได้แพร่หลายและครอบคลุมในแต่ละกลุ่มแรงงานและจะสามารถรองรับกับการผลิตและส่งออกที่ในไตรมาส 4 นี้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จะสามารถสรรหาและบริหารจัดการแรงงานป้อนให้กับลูกค้าได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มุ่งนักศึกษากลุ่มอาชีวศึกษาและปริญญาตรีที่จะเข้ามาสู่ตลาดงานมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มที่เข้ามาตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้ง First S-curve อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ New S-curve อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ภาคการศึกษาจึงต้องปรับหลักสูตรและผลิตบัณฑิตให้ตรงกับทิศทางอุตสาหกรรม ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มแรงงานไทยจึงไม่ได้อยู่ในภาคการทำงานในระดับทั่วไป แต่จะเน้นทักษะด้านเทคนิค (Technical Skill) เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่และความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งจะไม่ได้เน้นการปฏิบัติอย่างเดียวแต่จะผนวกการปฏิบัติงานจริงควบคู่กัน
สุดท้ายนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ให้มุมมองสำหรับแนวทางการจัดการแรงงานอนาคตใน EEC สิ่งแรกคือ การพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับ EEC Model ซึ่งเชื่อมกับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต่อมาคือการพัฒนาทางด้านการศึกษาในระดับความรู้ขั้นพื้นฐานที่กระจายได้อย่างเท่าเทียมกันและทันสมัยกับโลกปัจจุบันรวมทั้ง ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งประเทศไทยมีความเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในจุดนี้ พร้อมยังเสนอแนวทางการร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาในการผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายส่วนที่ต้องสอดคล้องและรองรับการก้าวสู่โลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G มากขึ้น ในการนำพาแรงงานของไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศกำลังส่งสัญญาณดีขึ้น หากตั้งรับอย่างทันท่วงทีด้วยความร่วมมือจากทุกคนและทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หากพื้นที่อีอีซี สามารถเป็นพื้นที่นำร่องในการทรานส์ฟอร์มระบบการศึกษาและการพัฒนาคนยุคใหม่ EEC Model นี้ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างในการขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ได้ต่อไป
#ตลาดงานEEC #แมนพาวเวอร์กรุ๊ป