เอาชนะความกลัวในยุคโควิด-19 ด้วย “ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป” ทางเลือกของผู้ป่วยโรคไต

อุปสรรคของการใช้ชีวิตในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) คือการที่มาตรการป้องกันต่างๆ เริ่มผ่อนคลาย เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด ในขณะที่ เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 แล้วก็กลับมาติดเชื้อซ้ำได้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงยังคงมีความจำเป็นในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เพื่อช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงรวมไปถึงการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้น

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยร้ายแรงจากโควิด-19  เนื่องจากพวกเขามีข้อจำกัดในการรับวัคซีน ประชากรเหล่านี้รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด และผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ ที่ได้รับเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิหลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไตกว่า 200,000 ราย ในประเทศไทย ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่าประชากรทั่วไป

ลดความกังวลของผู้ป่วยโรคไต

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เผยให้เห็นถึงปัญหาของผู้ป่วยโรคไตว่า “สำหรับผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันน้อยแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ดังนั้นเมื่อไรที่ร่างกายรับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เข้าไปอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือกด้วยเครื่องไตเทียม เนื่องจากหน่วยบริการล้างไตที่สามารถรองรับผู้ป่วยโรคไตที่เป็นโควิด-19 ได้มีไม่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นของเสียคั่งหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งของเสียพวกนี้ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแย่ลง ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย และนำไปสู่การเสียชีวิตในท้ายที่สุด”

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จึงได้จัดงานเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับ LAAB (Long-acting Antibody) หรือ แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว ที่จะเข้ามาเป็นทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยงในกลุ่มประชากรที่เปราะบางและมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งอาจมีการตอบสนองต่อวัคซีนไม่เพียงพอ ถึงแม้จะได้วัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วก็ตาม  ทั้งนี้ LAAB ไม่ได้เข้ามาแทนที่วัคซีน เพราะการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตในประชากรหมู่มาก ดังนั้น LAAB จึงเป็นทางเลือกในการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป

LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimab ใช้ฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อสะโพกทีละข้าง พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ทันทีหลังฉีด 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแบบมีเงื่อนไขในประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับใช้เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี และมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กก. ซึ่งสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่กำลังระบาดอยู่ได้[1]

เกณฑ์การรับยาสำหรับผู้ป่วย

สำหรับเกณฑ์การให้ยา LAAB นั้น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก คือ กลุ่มคนไข้เป้าหมายตามประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขฉบับแรก ดังนั้นหากผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์การรับยา LAAB ก็สามารถแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ได้ประเมินพร้อมแจ้งความจำนงไปทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดสรรยา สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ทางผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพมองว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากยากลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่กำลังได้รับการรักษาหรือเพิ่งหยุดการรักษาภายใน 6 เดือน, ผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยโรคไตที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยโรคข้ออักเสบและแพ้ภูมิตัวเองที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาและต้องรอประกาศจากกระทรวงฯ ต่อไป

ในทางปฏิบัติ ผู้ป่วยควรรับยาในวันที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติ เช่น ไม่ได้อยู่ในระหว่างมีอาการป่วยหรือเพิ่งหายป่วย และควรเว้นระยะห่างในการฉีดยาปฏิชีวนะหรือการฟอกเลือดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือหากผู้ป่วยเพิ่งรับวัคซีนมาควรเว้นระยะ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หลังได้รับยา LAAB ควรมีการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจากการศึกษาวิจัย พบว่า LAAB มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้และไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ส่วนมากมักพบอาการปวดชั่วคราวบริเวณจุดที่ฉีดยาเท่านั้น*

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยะ นับว่าเป็นอีกกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องรับประทานยากดภูมิอยู่เป็นประจำทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อฉีดวัคซีนภูมิจะไม่ขึ้น ซึ่งข้อมูลการฉีด LAAB แก่ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะในต่างประเทศ ณ ปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง รวมถึงไม่มีผลต่ออวัยวะที่ปลูกถ่าย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงเป็นอีกกลุ่มที่เข้าเกณฑ์การรับยา LAAB เช่นกัน 

สำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ดูแล รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะรับชมการเสวนาออนไลน์ดังกล่าวย้อนหลังเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) สำหรับป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่แนวทางการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ รวมถึงการปฏิบัติทั้งก่อนและหลังได้รับยา สามารถรับชมได้ผ่านเฟซบุ๊กสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/kidneythai/videos/758722868675856 และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/watch/?v=426384412798817

you might like

Scroll to Top